xs
xsm
sm
md
lg

กรุงไทยขายกองทุนECP-บอนด์ไทย รับเฟด-ธปท.คงดอกเบี้ยหนุนตลาด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

บลจ.กรุงไทย ส่งกองทุนตราสารหนี้ลุยตลาดต่อเนื่อง ล่าสุด เปิดขายกองทุนในบอนด์ในประเทศ 3 เดือน และกองทุนต่างประเทศ ลงทุน ECP ในเกาหลีใต้ ออสเตรเลีย ยุโรป ไอพีโอ 20-26 สิงหาคมนี้ ระบุแนวโน้มดอกเบี้ยทั้งในและต่างประเทศนิ่ง หนุนแรงซื้อจากนักลงทุนเข้ามาในตลาดตราสารหนี้ไทย ส่วนต่างประเทศ คงผลตอบแทนน่าสนใจต่อเนื่องเช่นกัน
นายสมชัย บุญนำศิริ
นายสมชัย บุญนำศิริ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ในสัปดาห์นี้บริษัทจะเปิดจำหน่ายหน่วยลงทุนกองทุนตราสารหนี้ทั้งในและต่างประเทศอีก 2 กองทุน ในระหว่างวันที่ 20-26 สิงหาคม 2551 ได้แก่ กองทุนรวมกรุงไทยตราสารหนี้ระยะสั้น 3 เดือน41 (KTST3M41) และ กองทุนรวมกรุงไทยตราสารหนี้ต่างประเทศ 6 เดือน 15 (KTFIF6M15)

โดยกองทุน KTST3M41 มีอายุโครงการ 3 เดือน มูลค่า 2,000 ล้านบาท เป็นกองทุนที่มีนโยบายการลงทุนตราสารหนี้ในประเทศ ได้แก่ ตราสารแห่งหนี้ที่มีลักษณะคล้ายเงินฝาก ตราสารหนี้ทั่วไป เงินฝากในสถาบันการเงิน โดยกองทุนจะเน้นลงทุน ในพันธบัตรรัฐบาล และตราสารหนี้ภาคสถาบันการเงิน ผลตอบแทนอยู่ที่ประมาณ 3.60%ต่อปี ยังไม่หักค่าใช้จ่ายในการดำเนินการของกองทุน

ส่วนกองทุน KTFIF6M15 เป็นกองทุนที่เน้นลงทุนในตราสารหนี้ประเภทตราสารการเงิน ของสถาบันการเงินต่างประเทศ (Euro Commercial Paper : ECP) ของสถาบันการเงินชั้นนำ ที่มีอันดับความน่าเชื่อถือระยะสั้น 2 อันดับแรกขึ้นไป เบื้องต้นจะเน้นลงทุนในตราสารที่ออกโดยสถาบันการเงินในเกาหลีใต้ ออสเตรเลีย ยุโรป หรือเอเชียประเทศอื่นๆ ผลตอบแทนของตราสารอยู่ที่ประมาณ 4.20% ต่อปี ซึ่งยังไม่หักค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานของกองทุน

นายสมชัยกล่าวถึงภาวะตลาดตราสารหนี้ในสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า อัตราผลตอบแทนพันธบัตรมีการปรับลดลง เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มขยายตัวชะลอลง จากราคาน้ำมันและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกลดลง ส่งผลให้แรงกดดันต่อการปรับอัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีน้อยลง และมีการคาดการณ์ว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน ธปท. อาจไม่ปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมวันที่ 27 ส.ค. 51 จึงทำให้มีแรงซื้อจากทั้งนักลงทุนไทยและต่างชาติเข้ามาในตลาดตราสารหนี้ไทยเพิ่มขึ้น โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรของตลาดตราสารหนี้ในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับตัวลดลง 0 - 18 bps. ยกเว้นในส่วนของพันธบัตรอายุ 1 เดือนและ 6 เดือนที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น 1 bps. ส่งผลให้ดัชนีราคาชนิดไม่รวมดอกเบี้ยค้างรับ (Clean Price) ปรับเพิ่มขึ้น 0.72 จุดหรือ 0.74%

ส่วนภาวะเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัวลง ทำให้ประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่อย่าง สหรัฐอเมริกา ยูโรโซน อังกฤษ และญี่ปุ่น จำเป็นต้องคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับเดิม แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นอยู่ในระดับสูงกว่าเป้าหมายที่ธนาคารกลางแต่ละประเทศกำหนด ซึ่งการไม่ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางต่างประเทศ ทำให้การลงทุนในตราสารการเงินของสถาบันการเงินชั้นนำต่างประเทศ (Euro Commercial Paper: ECP) ยังคงให้ผลตอบแทนที่ดีอยู่ โดยเฉพาะผู้ออก ECP ที่เป็นสถาบันการเงินในเอเชีย เช่น เกาหลีใต้ ซึ่งปัจจุบันให้ผลตอบแทนประมาณ 4.20% เมื่อคิดผลตอบแทนภายหลังจากการป้องกันความเสี่ยงในตลาดอัตราแลกเปลี่ยนแล้ว จะทำให้นักลงทุนได้รับผลตอบแทนมากกว่าการลงทุนในตราสารหนี้ภายในประเทศ

สำหรับความเสี่ยงของการลงทุนใน ECP นั้นก็มีไม่มากนัก เนื่องจาก มีการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนไว้ทั้งจำนวน และ มีการลดความเสี่ยงด้านเครดิตด้วยการลงทุนในสถาบันการเงินในเอเชียที่ได้รับผลกระทบค่อนข้างน้อยจากปัญหาสถาบันการเงินในตลาดโลก รวมทั้งเน้นลงทุนในตราสารที่มีอันดับความน่าเชื่อถือระยะสั้น 2 อันดับแรกขึ้นไป ซึ่งการลงทุนในตราสารหนี้เป็นอีกทางเลือกหนึ่งของการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนมากกว่าการฝากเงินกับธนาคารพาณิชย์
กำลังโหลดความคิดเห็น