xs
xsm
sm
md
lg

อะไรบ้างที่ต้องพิจารณา ก่อนตัดสินใจซื้อกองทุนรวม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เมื่อวันที่15 สิงหาคมที่ผ่านมา "ผู้จัดการกองทุนรวม"มีโอกาสไปฟังบรรยายเกี่ยวกับการวัดผลการดำเนินงานของกองทุนรวม เผยแพร่บนเว็บไซต์ของสมาคมบริษัทจัดการลงทุน www.aimc.or.th ซึ่งใครที่ลงทุนอยู่แล้ว เชื่อว่าน่าจะคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี

โดยการเผยเเพร่ผลการดำเนินงานของกองทุนครั้งนี้ ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) โดยทาง ก.ล.ต. ได้มีมติให้ สมาคม บลจ.เริ่มบังคับให้สมาชิกทุกรายใช้ดัชนีชี้วัดผลการดำเนินงานของกองทุนรวมประเภทตราสารทุนและตราสารหนี้ในประเทศภายในเดือนตุลาคมนี้ ซึ่งดัชนีดังกล่าวจะต้องสอดคล้องกับนโยบายการลงทุน

ทั้งนี้ เพื่อเป็นเครื่องมือให้ผู้ลงทุนใช้เปรียบเทียบผลการดำเนินงานของกองทุนรวม และประเมินความสามารถในการบริหารกองทุนรวมของผู้จัดการกองทุน สำหรับดัชนีชี้วัดผลการดำเนินงานของกองทุนรวมที่มีความซับซ้อน เช่น กองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศ (FIF) จะมีการตั้งคณะทำงานซึ่งประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้ความสามารถ และผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อศึกษาและวางแนวทางในเรื่องนี้ต่อไป โดยผลบังคับดังกล่าวจะบังคับใช้ในวันที่ 1 ตุลาคม 2551 นี้

ขนาดเดียวกัน ภายในการบรรยายครั้งนี้ มิได้มีเพียงเเค่การรวบรวมผลการดำเนินงานของกองทุนมานำเสนอเท่านั้น เเต่ยังได้ความรู้เพิ่มเติมจากทีมงานเจ้าหน้าที่จากสถาบันจัดอันดับ Lipper ซึ่งเป็นแกนสำคัญในการรวบรวมข้อมูลผลการดำเนินงานของทุนอีกด้วย

สุธี เหลืองอร่ามกุล นักวิจัย สถาบันจัดอันดับ Lipper อธิบายถึงเครื่องมือการเลือกกองทุนรวมว่า เราต้องประเมินก่อนว่า เราจะเลือกลงทุนประเภทไหน เเละสิ่งที่สำคัญคือเรารับความเสี่ยงจากการลงทุนได้มากน้อยเเค่ไหน ซึ่งเครื่องมืออีกหนึ่งเครื่องมือในการเลือกกองทุน คือ การวิเคราะห์เเละประเมินผลการดำเนินงานของกองทุนรวม นั้นเอง

โดยวิธีเเรกที่ สุธี เเนะนำคือ ดูมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ (NAV) โดยมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ หรือ Net Asset Value คือเงินลงทุนเบื้องต้นบวกด้วยผลตอบเเทนสะสมที่ได้จากการลงทุนจนถึง ณ วันที่คำนวณ NAV นั้นเอง หรือวิธีคิดที่ง่ายกว่านี้ ก็คือ นำ NAV เก่า- NAV( t-1) ใหม่เเละหารด้วย NAV( t-1)

อันดับต่อมาคือเปรียบเทียบเเละวัดผลเกณฑ์มาตรฐาน (Benchmark) ซึ่งเเต่ละกองทุนก็จะมีเกณฑ์มาตรฐานเเตกต่างออกไป โดยกองทุนตราสารทุน หรือกองทุนหุ้น จะเปรียบเทียบกับอัตราการเปลี่ยนเเปลงของดัชนีหลักทรัพย์ (SET Index) ทั้ง SET 50 เเละ SET 100 อีกด้วย โดยจะขึ้นอยู่กับประเภทสินทรัพย์ที่กองทุนเข้าไปลงทุน

"คนทั่วไปมองว่ากองทุนหุ้นบางกองมีผลการดำเนินการเเพ้เกณฑ์มาตรฐานมาระยะหนึ่ง ก็เชื่อว่ากองทุนนั้นไม่ดี เเต่ความจริงเเล้วการลงทุนไม่ว่าจะเป็นกองทุนหุ้นหรือกองทุนตราสารหนี้ เราควรดูผลการดำเนินงานระยะยาว อย่าดูเเค่เพียง 3 เดือน 6 เดือนเท่านั้น"

สำหรับการเกณฑ์มาตรฐานของกองทุนตราสารหนี้นั้นจะเปรียบเทียบกับ Zero Rate Return Index หรือ ThaiBMA Goverment Bond Index ส่วนกองทุนตลาดเงินจะใช้Benchmark เป็นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารพาณิชย์ 1 ปี

ส่วนอันดับที่ 3 คือ การเปรียบเทียบผลประกอบการของกองทุนที่มีนโยบายการลงทุนที่เหมือนกัน อันดับที่ 4 ระยะเวลาที่ใช้ในการเปรียบเทียบ อันดับ 5 นโยบายการจ่ายเงินปันผล เเละอันดับที่ 6. ผลการดำเนินงานที่ดีอย่างต่อเนื่อง นั้นเอง

Standard deviation
สุธี อธิบายว่า Standard deviation (Std dev)คือ ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ที่เป็นเครื่องมือพื้นฐานในการวัดความเสี่ยง ที่เเสดงถึงความผันผวน (volatility)หรือการเเกว่งตัวขึ้นลงของผลตอบเเทน ซึ่งกองทุนที่มีค่า Standard deviation สูงจะเเสดงให้เห็นว่ากองทุนดังกล่าวมีผลตอบเเทนที่ผันผวนมากนั้นเอง ทั้งนี้ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ดังกล่าว เป็นเครื่องมือหนึ่งที่ทำให้เราสามารถตัดสินใจเลือกกองทุนที่มีนโยบายเหมือกัน เเละให้ผลตอบเเทนที่ใกล้เคียงกันดังนี้

เช่น มีการจัดอันดับผลตอบเเทนกองทุนหุ้นภายในอุตสหกรรมกองทุนรวม โดยกองทุนที่ถูกจัดอันดับนั้น จะเป็นกองทุนที่มีนโยบายในการลงทุนเหมือนกัน ซึ่งกองทุนหุ้น ก. ของบลจ.เอ ให้ผลตอบเเทนเป็นที่ 1 ของอุตสหกรรม โดยมีผลตอบเเทนย้อยหลัง 3 ปีตั้งเเต่วันที่ 29 กรกฎาคม 2551- 31 กรกฎาคม 2551 อยู่ที่ 38.42% ซึ่งค่าเบี่ยงเบนมาตรฐานหรือ Std dev อยู่ที่ 18.88% ขณะที่กองทุนหุ้น ข. ของบลจ.D ที่อยู่ในอันดับที่ 6 ของการจัดอันดับ โดยให้ผลตอบเเทนย้อนหลัง 3 ปีอยู่ที่ 30.67%ส่วนค่า Std dev อยู่ที่ 12.97%

จะเห็นได้ว่า กองทุนหุ้น ก. นั้นให้ผลตอบเเทนสูงที่สุดเเต่เมื่อมาดูที่ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐานนั้นจะพบว่าสูงถึง 18.88% เลยทีเดียว ซึ่งอย่าลืมว่า ถ้าค่าเบี่ยงเบนมาตรฐานสูงนั้นก็หมายความว่ากองทุนนี้ให้ผลตอบเเทนผันผวนมากเช่นกัน เมื่อเป็นเช่นนี้หลายคนคงจะเลือกลงทุนในกองทุน ข. ของบลจ D เนื่องจาก กองทุน ข. ให้ผลตอบเเทนน้อยกว่ากองทุนก. ก็จริง เเต่ในเเง่ของ Std dev นั้นจะพบว่ากองทุน ข .นั้นมีความผันผวนของอัตราผลตอบเเทนต่ำกว่า กองทุน ก. นั้นเอง เเต่ข้อมูลเพียงเท่านี้อย่าด่วนตัดสิน เพราะยังมีการหาค่า Information Ratio ซึ่งจะเป็นเครื่องมือในการตัดสินใจอีกครั้งหนึ่ง

Information Ratio
Information Ratio (Info Ratio) คือการเเสดงถึงความสามารถของกองทุนในการสร้างผลตอบเเทนที่เหนือกว่า (Benchmark) ที่ปรับด้วยความเสี่ยง โดยการหาค่าเเบบ Information Ratio นั้นมีวิธีคิดดังนี้ Return - Benchmark เเละหารด้วย Standard deviation ซึ่งวิธีคิดนั้นค่อนข้างซับซ้อนเลยทีเดียว เเล้วเจ้าInfo Ratio นั้นมีประโยชน์อย่างไร.....

จากตัวอย่างข้างบน นั้นจะเห็นว่ากองทุน ข. นั้นน่าลงทุนกว่ากองทุน ก. เพราะความผันผวนของอัตราผลตอบเเทนนั้นต่ำกว่าเเม้กองทุน ก. จะให้ผลตอบเเทนที่มากกว่า เเต่เมื่อเรานำค่าของ Info Ratio มาเพิ่มจะได้ดังนี้ กองทุนหุ้น ก. ของบลจ.เอ ให้ผลตอบเเทนเป็นที่ 1 ของอุตสหกรรม โดยมีผลตอบเเทนย้อยหลัง 3 ปีตั้งเเต่วันที่ 29 กรกฎาคม 2551- 31 กรกฎาคม 2551 อยู่ที่ 38.42% ซึ่งค่าเบี่ยงเบนมาตรฐานหรือ Std dev อยู่ที่ 18.88% เเละค่า Info Ratio อยู่ที่ 1.18%

ขณะที่กองทุนหุ้น ข. ของบลจ.D ที่อยู่ในอันดับที่ 6 ของการจัดอันดับ โดยให้ผลตอบเเทนย้อนหลัง 3 ปีอยู่ที่ 30.67%ส่วนค่า Std dev อยู่ที่ 12.97% ซึ่งค่าInfo Ratio คือ 0.40%

สำหรับค่า Information Ratio นั้นหมายถึง ความเสี่ยงที่เท่ากันของเเต่ละกองทุน ซึ่งขึ้นอยู่ว่ากองทุนไหนให้ผลตอบเเทนที่สูงกว่ากัน เมื่อเป็นเช่นนี้กองทุน ก. ก็ถือว่าน่าลงทุนมากกว่า กองทุน ข. เพราะกองทุน ก.นั้นให้ผลตอบเเทนที่สูงถึง 1.18% ภายใต้ความเสียงที่เท่ากันนั้นเอง

อย่างไรก็ตาม หลายคนอาจสงสัยว่าข้อมูลทั้งหมดเหล่านี้หาดูได้ที่ไหน ข้อมูลทั้งหมดสามารถหาได้ที่ www.aimc.or.th ซึ่งทางสมาคมบลจ.จะมีข้อมูลการดำเนินงานของกองทุนทั้งหมด ที่สาคัญจะมีการคิดค่า Standard deviation เเละInformation Ratio อีกด้วย เชื่อว่าข้อมูลดังกล่าวจะเป็นเครี่องมือหนึ่งที่ทำให้ผู้ที่กำลังตัดสินใจลงทุน เลือกลงทุนได้อย่างถูกต้อง หรือผู้ที่ลงทุนอยู่เเล้ว มีข้อมูลเกี่ยวกับกองทุนมากขึ้นอีกด้วย




กำลังโหลดความคิดเห็น