2 บลจ.เครือโบรกเกอร์ เล็งส่งกองทุนมันนี่มาร์เกตรับเงินซื้อขายหุ้น “บลจ. ซีมิโก้” เปิดให้บริการเต็มรูปแบบต้นเดือนหน้า ประเดิมลูกค้าหลักทรัพย์ซีมิโก้ ก่อนขยายสู่โบรกอื่นอีก 2 ราย ตั้งเป้าดึงฐานเป็น 200 บัญชีปลายปีนี้ ด้าน “บลจ.ฟิลลิป” อยู่ระหว่างหารือบริษัทแม่ เหตุยังห่วงผลกระทบต่อผลตอบแทน หากมีเงินไหลออกไปซื้อหุ้นเป็นจำนวนมาก เผยอาจตั้งกองใหม่รับเงินซื้อขายหุ้นโดยเฉพาะ
นายกิตติโชค จิตต์สดศรี กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ซีมิโก้ จำกัดเปิดเผยว่า บริษัทจะเปิดให้บริการรับชำระเงินซื้อขายหุ้นผ่านกองทุนกองทุนเปิดซีมิโก้เดลี่ พลัส (S-DPF) ซึ่งเป็นกองทุนมันนี่มาร์เกตภายใต้การบริหารจัดการของบริษัทอย่างเต็มรูปแบบในเดือนหน้า จากปัจจุบันที่สามารถทำได้อยู่แล้ว แต่เป็นระบบการจัดการแบบแมนนวล โดยในเบื้องต้น บริการดังกล่าวจะรองรับเงินซื้อขายหุ้นจากบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ซีมิโก้ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทแม่ก่อน
ทั้งนี้ กองทุนเปิดซีมิโก้เดลี่ พลัส ถือเป็นทางเลือกในการลงทุนสำหรับผู้ลงทุนที่นิยมการฝากเงินกับธนาคาร โดยมีข้อดีคือให้โอกาสสร้างผลตอบแทนสูงกว่าการฝากเงินกับธนาคาร ซื้อขายหน่วยลงทุนได้ทุกวันทำการ เหมาะสำหรับนักลงทุนประเภทสถาบันและประชาชนทั่วไปที่ต้องการการลงทุนที่มีความเสี่ยงต่ำ ซึ่งกองทุนนี้เน้นการลงทุนในตราสารหนี้ภาครัฐและส่วนที่เหลือจะลงทุนในตราสารหนี้ภาคเอกชนที่มีอันดับความน่าเชื่อถืออยู่ในสามอันดับแรก (AAA,AA,A)
โดยในปัจจุบันกองทุนเปิดซีมิโก้เดลี่ พลัส มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิประมาณ 51 ล้านบาท จำนวนบัญชีประมาณ 50 บัญชีเช่นกัน ซึ่งเงินลงทุนส่วนใหญ่เป็นลูกค้าทั่วไปของบลจ.เป็นหลัก โดยหลังจากเปิดบริการดังกล่าวแล้วคาดว่าจะมีฐานบัญชีลูกค้าเพิ่มขึ้นเป็น 200 บัญชีภายในสิ้นปีนี้
อย่างไรก็ตาม หลังจากเปิดให้บริการกับลูกค้าของบล.ซีมิโก้แล้วประมาณ 1-2 เดือน เราคาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการดังกล่าวกับบริษัทหลักทรัพย์อื่นๆ ได้ โดยในช่วงนี้อยู่ระหว่างเจรจากับบริษัทหลักทรัพย์ที่จะเข้าร่วมบริการดังกล่าวประมาณ 2 บริษัท
“ลูกค้าหุ้นจะต่างกับลูกค้าเงินฝาก เพราะลูกค้าเงินฝากจะเห็นชัดเจนว่ากองทุนมันนี่มาร์เกตให้ผลตอบแทนที่สูงกว่าเงินฝาก ในขณะที่นักลงทุนที่ซื้อขายหุ้นอยู่ แน่นอนว่าถ้าหุ้นปรับตัวดีย่อมให้ความสนใจการลงทุนในหุ้นมากกว่าอยู่แล้ว ดังนั้น เราจึงไม่คาดหวังว่าเป็นจำนวนเงินเท่าไหร่” นายกิตติโชค
ด้านนายวรรธนะ วงศีสีนิล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ฟิลลิฟ จำกัด กล่าวว่า ขณะนี้บลจ.ฟิลลิปเองกำลังอยู่ระหว่างการศึกษารูปแบบบริการใช้กองทุนมันนี่มาร์เกตรองรับเงินซื้อขายหุ้นของลูกค้าบริษัทหลักทรัพย์เช่นกัน โดยอยู่ระหว่างการหารือกับบล.ฟิลลิปซึ่งเป็นบริษัทแม่ ซึ่งบริษัทเองมีกองทุนมันนี่มาร์เกตอยู่ 1 กองทุน นั่นคือ กองทุนเปิดฟิลลิปบริหารเงิน (PCASH)
อย่างไรก็ตาม เรื่องดังกล่าวต้องศึกษาอย่างรอบคอบ ไม่ว่าจะเป็นระบบไอที รวมถึงระบบบริหารจัดการ เนื่องจากการซื้อขายหุ้นนั้นมีการเข้าออกค่อนข้างมากในแต่ละธุรกรรม ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น อาจจะส่งผลต่อผลตอบแทนของกองทุนได้ ซึ่งตรงนี้เรายังเป็นห่วงอยู่เลยต้องวางแผนระบบให้ดีก่อน
“การเข้าออกของเงินซื้อขายหุ้นในแต่ละครั้ง มีจำนวนค่อนข้างมาก โดยเฉพาะหากมีการซื้อหุ้นมากๆ ในช่วงที่ตลาดตก ก็อาจจะส่งผลกระทบต่อผลตอบแทนของกองทุนได้ ซึ่งในส่วนของลูกค้าที่มาจากเงินฝากและต้องการผลตอบแทนสูงกว่า หากได้รับผลกระทบนี้อาจจะไม่แฟร์ ซึ่งเราเองมีแนวคิดว่าจะจัดตั้งกองทุนใหม่ขึ้นมาอีกกองทุน เพื่อรองรับเงินที่มาจากการซื้อขายหุ้นโดยเฉพาะ”นายวรรธนะกล่าว
ทั้งนี้ ยังไม่สามารถบอกได้ว่าบริการดังกล่าวจะทันภายในปีนี้หรือไม่ เพราะต้องดูความพร้อมของบริษัทหลักทรัพย์ด้วย อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจาก บล.ฟิลลิปแล้ว เราเองกำลังคุยกับบริษัทหลักทรัพย์อีกประมาณ 2 ราย ซึ่งสนใจให้เราใช้กองทุนมันนี่มาร์เกตเป็นแหล่งพักเงินจากการซื้อขายหุ้นด้วย
สำหรับกองทุนเปิดฟิลลิปบริหารเงิน เป็นกองทุนรวมตลาดเงิน ประเภทรับซื้อคืนหน่วยลงทุน โดยมีนโยบายลงทุนในตราสารแห่งหนี้และเงินฝาก หรือตราสารการเงินอื่นใด ที่มีกำหนดชำระคืนเมื่อทวงถามหรือจะครบกำหนดชะรำคืนไม่เกิน 1 ปี นับตั้งแต่วันที่ลงทุน รวมทั้งหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินอื่นหรือการหาดอกผลโดยวิธีอื่นตามที่สำนักงาน ก.ล.ต.กำหนดหรือให้ความเห็นชอบลงทุนได้ ทั้งนี้กองทุนจะดำรงพอร์ตโฟลิโอ ดูเรชั่น (Portfolio Duration) ของกองทุน ณ ขณะใดขณะหนึ่งไม่เกิน 6 เดือน
โดยในช่วงที่ผ่านมา กองทุนดังกล่าวมีสินทรัพย์ลดลงพอสมควรจากจำนวนเงินลงทุนรวมประมาณ 200 ล้านบาทมาอยู่ที่ประมาณ 100 ล้านบาทในปัจจุบัน โดยสาเหตุมาจากการระดมเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ด้วยการให้ดอกเบี้ยสูงจูงใจ ซึ่งเชื่อว่ากองทุนประเภทนี้คงได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าวทุกกองทุน