xs
xsm
sm
md
lg

ความรู้ความเข้าใจในกองทุนรวมRMF และPROVIDENT FUND

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นักลงทุนหลายท่านมีความเข้าใจผิดในการลงทุนระหว่างกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ และกองทุนรวมสำรองเลี้ยงชีพ ว่าทั้ง 2 กองทุนนี้เหมือนกัน แต่จริง ๆ แล้วทั้ง 2 กองทุนนี้มีทั้งความเหมือนกันและแตกต่างกันบ้างอย่างชัดเจน ซึ่งในบทความนี้ ผมขออธิบายให้นักลงทุนทุกท่าน ได้เข้าใจกันในส่วนสาระสำคัญๆ อย่างพอสังเขป เพื่อจะได้ตัดสินใจลงทุนได้อย่างถูกต้อง

กองทุนเพื่อการเลี้ยงชีพ (Retirement Mutual Fund หรือ RMF)  จัดตั้งขึ้นเพื่อต้องการส่งเสริมการออมระยะยาวเพื่อการเลี้ยงชีพของผู้ถือหน่วยลงทุนในยามเกษียณอายุ และเพื่อเป็นแรงจูงใจให้แก่นักลงทุน ท่านจะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี กล่าวคือ นักลงทุนสามารถนำเงินที่จ่ายเป็นค่าซื้อหน่วยลงทุน
ไปลดหย่อนภาษีได้ แต่ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขดังนี้

- ผู้ลงทุนต้องซื้อหน่วยลงทุน RMF ไม่น้อยกว่าปีละ 1 ครั้ง และจะเว้นการซื้อขายได้ไม่เกิน 1 ปี ติดต่อกัน (กล่าวคือจะต้องลงทุนต่อเนื่องกันทุกปี หรือ ปีเว้นปี)

- เงินที่ลงทุนใน RMF ต้องมีจำนวนไม่น้อยกว่า 3 % ของรายได้ต่อปี หรือ ไม่น้อยกว่า 5,000 บาทต่อปี (แล้วแต่จำนวนไหนจะต่ำกว่า)

- จำนวนสูงสุดที่ลงทุนได้ต้องไม่เกิน 15 % ของรายได้ต่อปี ทั้งนี้เงินที่จ่ายไปในกองทุน RMF ดังกล่าว เมื่อรวมกับเงินสะสมที่จ่ายเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Provident Fund) หรือกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข) แล้วจะต้องไม่เกิน 500,000 บาท

-ผู้ลงทุนจะต้องถือหน่วยลงทุน RMF ไปจนถึงอายุ 55 ปี และลงทุนมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปีจึงสามารถขายคืนหน่วยลงทุนได้

-เงินหรือผลประโยชน์ (Capital Gain) ใดๆที่ได้รับจากการขายคืนหน่วยลงทุนของกองทุน RMF จะได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ เมื่อท่านได้ถือหน่วยลงทุนนั้นมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี

หมายเหตุ :  ส่วนสำคัญอื่นๆ ของกองทุน RMF ท่านสามารถอ่านได้จากหนังสือชี้ชวนของ บลจ .ต่างๆได้

สิ่งที่นักลงทุนส่วนใหญ่อยากรู้และเข้าใจกันอีกก็คือ ข้อดีของการลงทุนในกองทุน RMF คืออะไร

ตอบ  ผู้ลงทุนลงทุนได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี มีเงินออมเป็นหลักประกันให้กับตัวเองและครอบครัวเมื่อพ้นวัยทำงานแล้ว

ในส่วนนโยบายการลงทุนของกองทุน RMF ก็จะเหมือนกับกองทุนทั่วๆไป ท่านสามารถที่จะเลือกลงทุนได้หลายกองทุนด้วยกันขึ้นอยู่กับความเสี่ยงที่ท่านได้รับ เริ่มจากความเสี่ยงระดับน้อยมากๆก็เน้นลงลงทุนในกองทุนที่ลงทุนในตราสารหนี้ ไปจนถึงกองทุนที่มีความเสี่ยงที่สูง ก็ลงทุนในตราสารทุน ซึ่งนักลงทุนสามารถเลือกลงทุนได้ และสามารถเปลี่ยนนโยบายลงทุนได้ตามสภาวการณ์การลงทุน และเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไปได้ เช่นช่วงที่ตลาดหุ้นมีความผันผวนสูง ท่านที่ลงทุนในกองทุนหุ้นก็สามารถ สับเปลี่ยนหน่วยลงทุนมาที่กองทุนตราสารหนี้ ก็ได้ (เนื่องจากกอง RMF เป็นกองทุนระยะยาว จึงเปิดโอกาสให้เปลี่ยนนโยบายการลงทุนได้ และยังสามารถโอนย้ายข้ามไปยัง บลจ.อื่นได้)

กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Provident Fund) คือกองทุนที่ประกอบด้วยลูกจ้าง และนายจ้าง ร่วมตกลงกันจัดตั้งกองทุน โดยลูกจ้างจะต้องสะสมเงินเข้ากองทุนนี้ และนายจ้างจะต้องสมทบเงินเพิ่มเข้าไปด้วย โดยทั่วไปแผนการออมของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพก็ขึ้นอยู่กับนโยบายของแต่ละบริษัท (รายละเอียดติดตามตอนต่อไปนะครับ)

สรุป : กองทุนรวม RMF เป็นกองทุนที่นักลงทุนสมัครใจที่จะออมเอง ซึ่งถือว่าเป็นส่วนที่ออมเพิ่มขึ้นมา เนื่องจากคาดว่าการออมในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Provident Fund) อาจจะไม่เพียงพอต่อการใช้ชีวิตหลังวัยเกษียน จึงถือว่าการลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) เป็นการเพิ่มทางเลือกในการออม และเพิ่มเงินจากการลดหย่อนภาษี และผลประโยชน์ต่างๆที่จะเกิดขึ้นในยามที่นักลงทุนอายุมาขึ้น

ที่มา : ขอขอบคุณ คุณสุชาดา กุลสุขรังสรรค์ จากบริษัทหลักทรัพย์ สินเอเซีย จำกัด (ACLS) ที่เอื้อเฟื้อข้อมูลและเนื้อหาที่น่าสนใจนี้


กำลังโหลดความคิดเห็น