xs
xsm
sm
md
lg

ทิสโก้มองบอนด์ระยะยาวรุ่ง แนะเพิ่มน้ำหนักรอฟันกำไรQ4

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ทิสโก้แนะเพิ่มน้ำหนักลงทุนพันธบัตร และตราสารหนี้เอกชนระยะกลาง 3-5 ปี เหตุผลตอบแทนตราสารหนี้ระยะสั้น สะท้อนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของแบงก์ชาติไปมากแล้ว พร้อมคาดอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรระยะยาวจะปรับลดลงได้ในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี หลังเงินเฟ้อ และราคาน้ำมันมีแนวโน้มปรับตัวลดลงจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว

รายงานจากบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน(บลจ.) ทิสโก้ จำกัด เปิดเผยว่า กลยุทธ์การลงทุนในตราสารหนี้ช่วงไตรมาส 3 ของปี 2551 บริษัทแนะนำให้ปรับลดการลงทุนในตราสารหนี้ระยะสั้น และทยอยเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในพันธบัตร หรือตราสารหนี้เอกชนในช่วงอายุ 3-5 ปี ซึ่งเป็นช่วงที่มีความชันของเส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลค่อนข้างมากแทน เนื่องจากการปรับขึ้นของอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาล ได้สะท้อนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นของ ธปท. ไปค่อนข้างมาก และระดับของอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรระยะยาวในปัจจุบัน อยู่ในระดับเดียวกันกับช่วงที่มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ไปสู่ระดับ 5.00% ในครั้งก่อน

ทั้งนี้ จากสาเหตุดังกล่าวทำให้พันธบัตรรัฐบาลอายุปานกลางถึงยาวมีความน่าสนใจค่อนข้างมาก ให้ผลตอบแทนที่ดี และมีโอกาสได้กำไรจากการที่ อัตราผลตอบแทนของมีโอกาสที่จะปรับตัวลดลงได้ในช่วงไตรมาส 4 จากปัจจัยเงินเฟ้อที่คาดว่าจะผ่อนคลายลง เนื่องจากฐานในการคำนวณเงินเฟ้อจะค่อนข้างสูง และราคาน้ำมันมีโอกาสที่จะอ่อนตัวลงจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก

สำหรับภาวะการลงทุนในตราสารหนี้ช่วงที่ผ่านมานั้น ได้รับผลกระทบจากการที่ราคาน้ำมัน และราคาสินค้าโภคภัณฑ์ปรับตัวสูงขึ้นอย่างมาก ทำให้ทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทยต้องประสบปัญหาเงินเฟ้ออย่างรุนแรง ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อการซื้อขายพันธบัตรและตราสารหนี้ในช่วงไตรมาส 2

โดยอัตราเงินเฟ้อในเดือนมิถุนายน ปี พ.ศ. 2551 สูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ที่ร้อยละ 8.90 ขณะที่เงินเฟ้อพื้นฐานปรับตัวสูงขึ้นมาที่ระดับร้อยละ 3.60 โดยสูงเกินเป้าหมายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ทำให้ตลาดคาดหมายว่า ธปท. จะต้องมีการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายจากระดับปัจจุบันที่ร้อยละ 3.25 ซึ่งส่วนใหญ่คาดหมายว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะปรับขึ้นไปที่ร้อยละ 3.75-4.00 ภายในสิ้นปี 2551 โดยจะมีการปรับขึ้นครั้งแรกในช่วงกลางเดือนกรกฎาคม

อย่างไรก็ตาม ทิสโก้คาดหมายว่าธปท.อาจจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยได้ไม่มากนัก เนื่องจากเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มที่จะชะลอตัวอย่างชัดเจน จากปัจจัยทางด้านราคาน้ำมัน และเงินเฟ้อที่ทรงตัวอยู่ในระดับสูง ประกอบกับปัจจัยทางด้านการเมือง และเสถียรภาพของรัฐบาลลดลงอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา ทำให้การบริโภคและการลงทุนของภาคเอกชนมีแนวโน้มชะลอตัว อีกทั้งภาคส่งออกซึ่งเป็นตัวจักรที่สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมา มีโอกาสสูงที่จะอ่อนตัวลงในช่วงครึ่งปีหลัง เนื่องจากปัญหาเศรษฐกิจในประเทศคู่ค้าโดยเฉพาะสหรัฐ ในขณะเดียวกันปริมาณการออกพันธบัตรรัฐบาลใหม่ในช่วงไตรมาส 3 มีปริมาณค่อนข้างน้อย ทำให้ช่วยลดแรงกดดันต่อการซื้อขายตราสารหนี้ไทยได้ในระดับหนึ่ง

จากเหตุผลที่กล่าวมา อัตราผลตอบแทน (Yield ) ของพันธบัตรรัฐบาลไทยได้ปรับตัวสูงขึ้นอย่างมากในช่วงไตรมาส 2 โดยเฉพาะพันธบัตรระยะกลางถึงยาว ซึ่งปรับขึ้นถึง 1.40%-1.80% โดยประมาณ ขณะที่ มา อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลอายุต่ำกว่า 1 ปี ปรับขึ้นเพียงเล็กน้อย เนื่องจาก ธปท. ยังไม่ได้มีการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายจริงตามที่ตลาดคาด โดยในช่วงไตรมาส 2 ดัชนีพันธบัตรรัฐบาลปรับลดลงถึง 6.31% มาปิดที่ 161.77 จุด สำหรับดัชนีตราสารหนี้เอกชน ดัชนีปรับลดลงเช่นเดียวกัน โดยปรับลดลง 3.46% มาปิดที่ระดับ 142.38
กำลังโหลดความคิดเห็น