xs
xsm
sm
md
lg

กูรูเศรษฐกิจ...ชี้ช่องสกัดเงินเฟ้อ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

การประกาศตัวเลขเงินเฟ้อ 6.7% ในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ทำเอาหลายคนกังวลพอสมควร เหตุผลไม่ใช่เพียงเพราะการปรับขึ้นดังกล่าวจะเป็นสถิติใหม่ในรอบ 10 ปีเท่านั้น แต่ความกังวลที่อาจจะเป็นไปได้ว่าจะเห็นเงินเฟ้อเป็นตัวเลข 2 หลัก เป็นปัจจัยที่หลายคนให้ความสำคัญและจับตามองมากกว่า โดยเฉพาะผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจและนักวิเคราะห์ ต่างไม่ไว้วางใจต่อการจัดการปัญหาเงินเฟ้อของผู้ที่เกี่ยวข้อง

ถึงแม้ว่าหลายปัจจัยที่ส่งผลต่อการเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้อ จะไม่สามารถควบคุมได้ โดยเฉพาะราคาน้ำมันในตลาดโลก รวมถึงการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐ แต่หากมีการบริหารจัดการที่ดีจากภาครัฐ เป็นคีย์ที่ถูกมองว่าน่าจะช่วยบรรเทาปัญหาเงินเฟ้อให้เบาบางลงได้

หลายคนมองว่าอาจจะเป็นเรื่องง่าย ตามหลักเศรษฐศาสตร์หากเงินเฟ้อขึ้น ก็แค่ปรับขึ้นดอกเบี้ยเพื่อสกัดกั้นไม่ให้เพิ่มสูงขึ้นไปมากกว่านี้ แต่คำตอบนี้ ไม่ใช่คำตอบที่ถูกต้องเสมอไป เพราะการขึ้นดอกเบี้ยเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ขณะเดียวกัน การขึ้นดอกเบี้ยเป็นการเพิ่มต้นทุนให้กับภาคการผลิต ซึ่งอาจจะส่งผลต่อเนื่องไปถึงความสามารถในการทำกำไรของผู้ประกอบการในอนาคตด้วย

อีกประเด็นที่มีการพูดถึงค่อนข้างมากคือ การควบคุมราคาสินค้า ที่ถูกมองว่าเป็นการบิดเบือนกลไกตลาด เนื่องจากภาวะต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ไม่สอดคล้องกับราคาสินค้าที่โดนควบคุมไม่ให้ปรับขึ้น...ทั้งหมดทั้งมวลที่กล่าวมา จึงเป็นที่มาของเสนอแนวทางในการบริหารจัดการเรื่องเงินเฟ้อให้มีประสิทธิภาพ ซึ่งที่ผ่านมา มีกูรูหลายต่อหลายคน ออกมาเสนอแนวทางเพื่อกระตุ้นให้เกิดการปฏิบัติมากขึ้น โดยวันนี้ ผู้จัดการกองทุนรวม ขอหยิบคำพูดของ "ณรงค์ชัย อัครเศรณี" และ "ศุภวุฒิ สายเชื้อ" ซึ่งน่าสนใจทีเดียว
ณรงค์ชัย อัครเศรณี
"ณรงค์ชัย"จี้รัฐเร่งดูแลราคาสินค้า
ณรงค์ชัย อัครเศรณี ในฐานะประธานกรรมการบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ขณะนี้ภาคตลาดการเงินของไทยเริ่มส่งสัญญาณอ่อนไหวมากขึ้น หลังจากมีความเข้มแข็งค่อนข้างมากในช่วงต้นปีที่ผ่านมา ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า ในภาคตลาดการเงินไทยเริ่มมีปัญหา โดยสาเหตุหลักมาจากราคาสินค้าที่เพิ่มสูงขึ้น ประกอบกับความไม่มั่นใจว่าภาครัฐจะสามารถบริหารจัดการราคาสินค้าได้ดีหรือไม่ ซึ่งการบริหารจัดการราคาสินค้านี่เอง เป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องรีบทำตอนนี้ เพราะว่าส่งผลกระต่อต่อตลาดเงินตลาดทุน การกำหนดอัตราดอกเบี้ย และความสามารถในการทำกำไรด้วย

" โจทย์หลักของประเทศไทยในปีก่อนเป็นเรื่องของการบริหารอัตราแลกเปลี่ยน แต่โจทย์หลักของประเทศไทยในปีนี้คือการบริหารราคาสินค้าที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งถ้าทำผิดทางก็อาจส่งผลร้ายต่อเศรษฐกิจได้เช่นกัน แต่เรื่องการบริหารราคาสินค้าก็เช่นเดียวกับการบริหารอัตราแลกเปลี่ยนที่ไม่สามารถทำคนเดียวได้ใช้หน่วยงานหนึ่งหน่วยงานใดทำเพียงหน่วยงานเดียวได้ แต่จะต้องร่วมมือกันแก้ไขปัญหาแล้วแบ่งงานกันไปให้หน่วยงานแต่ละหน่วยงานเข้าไปดูแลอย่างถูกต้อง จึงจะสามารถบริหารจัดการราคาสินค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ"นายณรงค์ชัยกล่าว

ทั้งนี้ การที่รัฐบาลเข้าไปแซกแซงราคาสินค้า หรือการเข้าไปควบคุมราคาสินค้า มีแต่จะส่งผลให้ราคาสินค้าปรับตัวสูงขึ้น ไม่ได้ทำให้ราคาสินค้าปรับตัวลดลง เพราะกำไรของบริษัทมาจากราคาขายลบด้วยต้นทุน ในขณะที่รัฐบาลไปควบคุมราคาขายเอาไว้ แต่ผู้ประกอบการต้องแบกรับต้นทุนการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้น เมื่อกำไรบริษัทลดลงเขาก็จะลดการผลิตลง เมื่อซัพพลายในตลาดมีน้อยลงในขณะที่ดีมานด์มีมากราคาสินค้าก็จะปรับตัวสูงขึ้นไปอีก หรือผู้ประกอบการบางแห่งที่ได้รับผลกระทบจากต้นทุนการผลิตที่ปรับตัวสูงขึ้น ในที่สุดก็จะมาขอปรับขึ้นราคาขายกับรัฐบาล ซึ่งตัวเลขที่ผู้ประกอบการจะขอปรับขึ้นนั้น จะเป็นตัวเลขที่สูงเผื่อการต่อรองของรัฐบาลเอาไว้แล้ว เมื่อรัฐบาลอนุมัติราคาสินค้าก็จะปรับสูงขึ้นโดยทันที ดังนั้นปีนี้โจทย์ใหญ่ของรัฐบาลจึงอยู่ที่การบริหารจัดการในด้านราคาสินค้าเป็นสำคัญ

สำหรับผลกระทบต่อการลงทุนในตลาดหุ้น จะแสดงให้เห็นที่ผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียน ซึ่งหากราคาที่ขายได้ถูกควบคุมโดยกระทรวงพาณิชย์ แต่ต้นทุนทีผู้ประกอบการมีกลับต้องจ่ายเพราะไม่มีการควบคุม ดังนั้น หากยังไม่มีการบริหารจัดการราคาสินค้า หรือยังมีการคุมอยู่ กำไรของบริษัทจดทะเบียนเหล่านี้ ก็จะไม่ดี และจะส่งผลต่อราคาหุ้นในระยะปานกลางต่อไปด้วย

นายณรงค์ชัยกล่าวว่า ตั้งแต่ปี 2550 ถึงปัจจุบัน เศรษฐกิจได้รับผลกระทบจากปัญหาความไม่แน่นอนทางการเมืองมาโดยตลอด รวมถึงราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้น จนทำให้การลงทุนภาคเอกชนชะลอตัวลง แต่ก็ยังได้การส่งออกเป็นตัวช่วย ส่วนในช่วงไตรมาสแรกของปี 2551 ที่ผ่านมา เศรษฐกิจขยายตัวค่อนข้างดีจากการบริโภคในประเทศที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยได้อานิสงส์มาจากราคาสินค้าเกษตรที่เพิ่มขึ้น แต่เรื่องของเงินเฟ้อและราคาน้ำมันยังเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญสำหรับปีนี้ ขณะเดียวกัน อาจจะได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและผู้ค้าสำคัญ อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาดูทั้งปีแล้ว ตลาดการเงินไทยน่าจะอยู่ในฐานะที่ดีพอสมควร ทั้งนี้ทั้งนั้น ขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการเงินเฟ้อ ซึ่งเรื่องดังกล่าวโยงไปถึงภาครัฐและการเมืองในที่สุด

“สิ่งที่ประเทศไทยเจอในปัจจุบัน เรียกว่าเป็นสถานการณ์ที่ดีกว่าช่วงปี 1979-1981 ที่เจอ 3 สูง คือ ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐสูง ราคาน้ำมันสูง อัตราดอกเบี้ยสูง ในช่วงนั้นเศรษฐกิจโต 2% ในขณะที่เงินเฟ้อสูงเป็น 10% ในขณะที่เศรษฐกิจไทยช่วงนี้ ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐก็ไม่สูง อัตราดอกเบี้ยก็ไม่สูง มีแต่ราคาน้ำมันเท่านั้นที่สูง สถานการณ์ยังไม่โหดร้ายเท่ากับในช่วงสมัยรัฐบาลพล.เปรมเลย ดังนั้น ใครที่บอกว่าสถานการณ์นี้แก้ไขได้ยากคงต้องพิจารณาดูอีกครั้ง”นายณรงค์ชัยกล่าว
ศุภวุฒิ สายเชื้อ
"ศุภวุฒิ"แนะรัฐลงทุนกระตุ้นเศรษฐกิจ
ศุภวุฒิ สายเชื้อ กรรมการผู้จัดการ หัวหน้าสายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ภัทร จำกัด (มหาชน) กล่าวในงานสัมมนาหัวข้อ “ภาวะเศรษฐกิจและตลาดทุนปี 2551” ซึ่งจัดขึ้นโดยบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) แมนูไลฟ์ (ประเทศไทย) จำกัดว่า แนวทางที่จะแก้ไขปัญหาเรื่องเงินเฟ้อในช่วงครึ่งปีหลังนั้น รัฐบาลจะต้องเป็นผู้สร้างปัจจัยบวกขึ้นมาเอง โดยเฉพาะการควบคุมเงินเฟ้อให้อยู่ รัฐบาลต้องหยุดการปรับขึ้นของผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาว เพราะปัจจัยดังกล่าวสะท้อนการคาดการณ์ของตลาดที่มีต่อแนวโน้มเงินเฟ้อในประเทศ

ทั้งนี้ ในช่วงที่ผ่านมา จะเห็นว่าอัตราดอกเบี้ยของพันธบัตรระยะยาวอายุ 10 ปี ปรับขึ้นไปถึง 2% จาก 4% ในช่วง 3 เดือนก่อนหน้านี้เป็น 6% กว่าๆ ในปัจจุบัน ซึ่งการปรับขึ้นดังกล่าวสะท้อนว่าเงินเฟ้อต้องขยับขึ้นไปอีก 2% เช่นกัน เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรระยะยาวสะท้อนถึงการคาดการณ์เงินเฟ้อในอนาคต

นอกจากนั้น รัฐบาลจะต้องเร่งการลงทุนให้เกิดขึ้นโดยเร็ว เพราะปัจจุบันการลงทุนของภาครัฐต่ำกว่ามาตรฐานถึง 7-8% ของจีดีพี หรือคิดเป็นเงินลงทุนที่หายไปถึง 7-8 แสนล้านบาทต่อปี ซึ่งหากรัฐบาลสามารถลงทุนเพิ่มในสัดส่วนดังกล่าวได้ จะสามารถช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศได้อีกมาก เพราะจะมีส่วนผลักดันให้เกิดการลงทุนจากภาคเอกชนตามมา ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น เศรษฐกิจไทยสามารถขยายตัวได้ถึง 6-7% ได้ไม่ยาก ขณะเดียวกัน ภาครัฐต้องช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย ไม่ให้ได้รับผลกระทบจากปัญหาเงินเฟ้อไปมากกว่านี้ด้วย

“ภาครัฐต้องควบคุมเงินเฟ้อไม่ให้สูงกว่า 3-4% ซึ่งวิธีคุมนั้น อาจจะขึ้นดอกเบี้ยบ้าง เพื่อให้การคาดการณ์เงินเฟ้อมีจุดยึดเหนี่ยว ขณะเดียวกัน อัตราแลกเปลี่ยนที่ไม่อ่อนค่าลงมาก ก็จะเป็นอีกปัจจัยหนึ่งในการยึดเหนี่ยวการคาดการณ์เงินเฟ้อด้วยเช่นกัน”นายศุภวุฒิกล่าว

ทั้งนี้ คาดการณ์ว่าในช่วงครึ่งปีหลัง อัตราเงินเฟ้อของไทยไม่น่าจะถึงเลขสองหลัก และน่าจะอยู่ที่ 7-8% ก่อนขยับลงมาเป็น 5-6% ในปีหน้า ในขณะที่อัตราดอกเบี้ยมองว่าทั้งปีจะขึ้นไปอีก 0.50% ส่วนราคาน้ำมันเองก็คาดว่าราคาเฉลี่ยทั้งปีจะอยู่ที่ 107-110 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เพราะหากมองปัจจัยพื้นฐานของราคาน้ำมันในขณะนี้ไม่ควรเกิน 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล แต่ราคาที่ปรับขึ้นมาเกิดขึ้นจาก 2 ส่วน คือ การแก้ปัญหาเงินเฟ้อของสหรัฐที่ทำให้เงินดอลลาร์อ่อนค่า รวมถึงการเก็งกำไรของในตลาดล่วงหน้า

นายศุภวุฒิกล่าวว่า การลงทุนทั่วโลกในขณะนี้ สิ่งที่ตลาดรวมถึงนักลงทุนต่างชาติให้ความสนใจมากที่สุด คือการควบคุมเงินเฟ้อได้ดีหรือไม่ ซึ่งการขายหุ้นของนักลงทุนต่างชาติอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะในเอเชีย ไม่ว่าจะเป็นจีน เวียดนาม เนื่องจากไม่มั่นใจว่าประเทศในเอเชียจะสามารถบริหารจัดการเรื่องเงินเฟ้อได้อย่างถูกต้อง โดยเฉพาะนโยบายการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยหากควบคุมเงินเฟ้อไม่อยู่ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น ก็จะส่งผลต่อความสามารถในการทำกำไรของบริษัทจดทะเบียน ขณะเดียวกันยังเป็นการปิดกั้นการลงทุนในอนาคตด้วย ดังนั้นจึงเห็นว่าตลาดหุ้นใยเอเชีย ปรับลดลงสูงกว่าสหรัฐอเมริกาแม้จะประสบปัญหาซับไพรม์ที่ยังไม่จบอยู่ในขณะนี้

ส่วนปัญหาการเมืองในประเทศไทย มองว่าอีก 3-4 เดือน จะทราบว่าจุดสูงสุดของการเมืองจะเป็นอย่างไร เพราะขณะนี้ยังไม่สามารถบอกได้ ซึ่งหลังจากนี้ เชื่อว่าการเมืองจะเริ่มตรึงเครียดมากขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นเปราะๆ ไป จนสุดท้ายแล้วคงหาทางออกอย่างประนีประนอมไม่ได้ เนื่องจากมีความแตกแยกของอุดมการณ์อย่างชัดเจน

“หลังจากผ่านการอภิปรายไม่ไว้วางใจแล้ว เชื่อว่ากลุ่มพันธมิตรฯ ก็น่าจะกดดันต่อ นอกจากนั้น ยังมีคดีการยุบพรรค การโยกย้ายทหารรออยู่ และยังไม่รวมกรณีของเขาพระวิหาร ที่กำลังขยายวงมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งในไทยเองและกัมพูชาด้วยอย่างไรก็ตาม ในช่วงที่มีปัญหาทางการเมืองในช่วงนี้ ถือเป็นโอกาสดีในการซื้อลงทุน”นายศุภวุฒิกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น