xs
xsm
sm
md
lg

ผวาน้ำมันสะเทือนแบงก์-บจ.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

"บิ๊กแบงก์-บลจ." เตือนหน่วยงานภาครัฐรวมพลังแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ส่วนเอกชนต้องปรับตัวและให้ความร่วมมือสกัดวิกฤตน้ำมันด่วน "วิชิต สุรพงษ์ชัย" ระบุตั้งแต่ปี 40 เพิ่งมีปีนี้ที่สถานการณ์ใกล้เคียง แต่ครั้งนี้ปัญหาเริ่มจากรากหญ้าและเอสเอ็มอีขึ้นมาข้างบน หากไม่ตั้งรับให้ดีแบงก์ก็เลี่ยงไม่ได้ ด้าน "ณรงค์ชัย" ห่วงตลาดเงินตลาดทุนเริ่มมีปัญหา จี้รัฐบาลบริหารจัดการราคาสินค้า ให้ความสำคัญกับเงินเฟ้อ หวังสถานการณ์ยังไม่โหดร้ายเท่ากับสมัยรัฐบาล พล.อ.เปรม

นายวิชิต สุรพงษ์ชัย ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) (SCB) เปิดเผยถึงสถานการณ์เศรษฐกิจในขณะนี้ว่า น่าเป็นห่วง เพราะราคาน้ำมันนอกจากไม่มีวี่แววลดลงแล้ว หลายฝ่ายคาดการณ์ว่าแนวโน้มจะปรับตัวอย่างต่อเนื่อง ปรากฏการณ์ดังกล่าวส่งผลกระทบต่อดุลการค้าของไทย เนื่องจากประเทศไทยต้องใช้เงินดอลลาร์ซื้อน้ำมัน ขณะที่อัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นได้กดดันซ้ำเติมปัญหา ดังนั้นตั้งแต่วิกฤตค่าเงินบาทปี 2540 ครั้งนี้มีความเป็นไปได้ที่เศรษฐกิจจะเกิดภาวะถดถอย เพียงแต่ปัญหาเศรษฐกิจรอบนี้สวนทางจากครั้งก่อน

"วิกฤตรอบที่แล้ว บริษัทขนาดใหญ่ที่มีเครดิตกู้เงินต่างประเทศได้รับผลกระทบโดยตรง ส่วนรอบนี้กลายเป็นประชาชนและผู้ประกอบการเอสเอ็มอีขึ้นมาข้างบน" นายวิชิตกล่าวและว่า หากสถานการณ์ไม่กระเตื้องธุรกิจขนาดใหญ่รวมถึงธนาคารพาณิชย์ก็ไม่อาจหลีกเลี่ยง ดังนั้นมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ภาครัฐและเอกชนต้องร่วมมือแก้ก่อนปัญหาบานปลาย

"ขณะนี้ธุรกิจการบินก็ได้รับผลกระทบจนต้องปรับราคาค่าโดยสาร หากไม่รีบแก้จะลำบาก แม้วัฏจักรของเศรษฐกิจมีขึ้นมีลงเป็นธรรมชาติ แต่สิ่งที่กำลังเผชิญผมคิดว่าทุกฝ่ายต้องปรับตัวขนานใหญ่ การปรับตัวลดลงของดัชนีตลาดหลักทรัพย์ซึ่งอ่อนไหวต่อสถานการณ์ เป็นเครื่องชี้วัดภาวะเศรษฐกิจโดยรวมได้ค่อนข้างชัด" นายวิชิตย้ำ

"ณรงค์ชัย" หวั่นตลาดเงิน-ทุนเดี้ยง

นายณรงค์ชัย อัครเศรณี ประธานกรรมการธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) ในฐานะประธานกรรมการบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน) หรือ MFC เปิดเผยว่า ขณะนี้ภาคตลาดการเงินของไทยเริ่มส่งสัญญาณอ่อนไหวมากขึ้น หลังจากมีความเข้มแข็งค่อนข้างมากในช่วงต้นปีที่ผ่านมา สิ่งที่เกิดขึ้นดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า เริ่มมีปัญหา โดยสาเหตุหลักมาจากราคาสินค้าที่เพิ่มสูงขึ้น ประกอบกับความไม่มั่นใจว่าภาครัฐจะสามารถบริหารจัดการราคาสินค้าได้ดีหรือไม่ ซึ่งการบริหารจัดการราคาสินค้านี่เอง เป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องรีบทำตอนนี้ เพราะว่าส่งผลกระต่อต่อตลาดเงินตลาดทุน การกำหนดอัตราดอกเบี้ย และความสามารถในการทำกำไรด้วย

"โจทย์หลักของประเทศไทยในปีก่อนเป็นเรื่องของการบริหารอัตราแลกเปลี่ยน แต่โจทย์หลักของประเทศไทยในปีนี้คือการบริหารราคาสินค้าที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งถ้าทำผิดทางก็อาจส่งผลร้ายต่อเศรษฐกิจได้เช่นกัน แต่เรื่องการบริหารราคาสินค้าก็เช่นเดียวกับการบริหารอัตราแลกเปลี่ยนที่ไม่สามารถทำคนเดียวได้ใช้หน่วยงานหนึ่งหน่วยงานใดทำเพียงหน่วยงานเดียวได้ แต่จะต้องร่วมมือกันแก้ไขปัญหาแล้วแบ่งงานกันไปให้หน่วยงานแต่ละหน่วยงานเข้าไปดูแลอย่างถูกต้อง จึงจะสามารถบริหารจัดการราคาสินค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ" นายณรงค์ชัยกล่าว

ทั้งนี้ การที่รัฐบาลเข้าไปแซกแซงราคาสินค้า หรือการเข้าไปควบคุมราคาสินค้า มีแต่จะส่งผลให้ราคาสินค้าปรับตัวสูงขึ้น ไม่ได้ทำให้ราคาสินค้าปรับตัวลดลง เพราะกำไรของบริษัทมาจากราคาขายลบด้วยต้นทุน ในขณะที่รัฐบาลไปควบคุมราคาขายเอาไว้ แต่ผู้ประกอบการต้องแบกรับต้นทุนการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้น เมื่อกำไรบริษัทลดลงเขาก็จะลดการผลิตลง เมื่อซัพพลายในตลาดมีน้อยลงในขณะที่ดีมานด์มีมากราคาสินค้าก็จะปรับตัวสูงขึ้นไปอีก หรือผู้ประกอบการบางแห่งที่ได้รับผลกระทบจากต้นทุนการผลิตที่ปรับตัวสูงขึ้น ในที่สุดก็จะมาขอปรับขึ้นราคาขายกับรัฐบาล ซึ่งตัวเลขที่ผู้ประกอบการจะขอปรับขึ้นนั้น จะเป็นตัวเลขที่สูงเผื่อการต่อรองของรัฐบาลเอาไว้แล้ว เมื่อรัฐบาลอนุมัติราคาสินค้าก็จะปรับสูงขึ้นโดยทันที ดังนั้นปีนี้โจทย์ใหญ่ของรัฐบาลจึงอยู่ที่การบริหารจัดการในด้านราคาสินค้าเป็นสำคัญ

สำหรับผลกระทบต่อการลงทุนในตลาดหุ้น จะแสดงให้เห็นที่ผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียน ซึ่งหากราคาที่ขายได้ถูกควบคุมโดยกระทรวงพาณิชย์ แต่ต้นทุนทีผู้ประกอบการมีกลับต้องจ่ายเพราะไม่มีการควบคุม ดังนั้น หากยังไม่มีการบริหารจัดการราคาสินค้า หรือยังมีการคุมอยู่ กำไรของบริษัทจดทะเบียนเหล่านี้ ก็จะไม่ดี และจะส่งผลต่อราคาหุ้นในระยะปานกลางต่อไปด้วย

นายณรงค์ชัย กล่าวว่า ปีนี้เรื่องของเงินเฟ้อและราคาน้ำมันยังเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ ขณะเดียวกันอาจจะได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและผู้ค้าสำคัญ อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาดูทั้งปีแล้ว ตลาดการเงินไทยน่าจะอยู่ในฐานะที่ดีพอสมควร ทั้งนี้ทั้งนั้น ขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการเงินเฟ้อ ซึ่งเรื่องดังกล่าวโยงไปถึงภาครัฐและการเมืองในที่สุด

“สิ่งที่ประเทศไทยเจอในปัจจุบัน เรียกว่าเป็นสถานการณ์ที่ดีกว่าช่วงปี 1979-1981 ที่เจอ 3 สูง คือ ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐสูง ราคาน้ำมันสูง อัตราดอกเบี้ยสูง ในช่วงนั้นเศรษฐกิจโต 2% ในขณะที่เงินเฟ้อสูงเป็น 10% ในขณะที่เศรษฐกิจไทยช่วงนี้ ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐก็ไม่สูง อัตราดอกเบี้ยก็ไม่สูง มีแต่ราคาน้ำมันเท่านั้นที่สูง สถานการณ์ยังไม่โหดร้ายเท่ากับในช่วงสมัยรัฐบาล พล.เปรมเลย ดังนั้น ใครที่บอกว่าสถานการณ์นี้แก้ไขได้ยากคงต้องพิจารณาดูอีกครั้ง” นายณรงค์ชัย กล่าว

"พิชิต" ชี้ขึ้น ดบ.แก้เงินเฟ้อที่ปลายเหตุ

นายพิชิต อัคราทิตย์ กรรมการผู้จัดการ บลจ.เอ็มเอฟซี กล่าวว่า ปัญหาเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นในปัจจุบัน การขึ้นอัตราดอกเบี้ยไม่ใช่วิธีแก้ไขปัญหาเสมอไป เพราะเรื่องดังกล่าวไม่ได้อยู่ที่เรื่องของเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นเท่านั้น แต่ขึ้นอยู่กับกลไกของราคาสินค้าด้วย ทั้งนี้ ในการพิจารณากำหนดอัตราดอกเบี้ยของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อยากเห็นความสอดคล้องของนโยบายการเงินและนโยบายการคลังเป็นหลัก ไม่เช่นนั้นก็ไม่ได้ประโยชน์ เพราะการขึ้นดอกเบี้ยเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ

"ถ้าพูดคุยกันแล้วว่านโยบายการเงินเป็นแบบนี้ นโยบายการคลังเป็นแบบนี้ แล้วมีความจำเป็นต้องขึ้นดอกเบี้ย ก็ปรับขึ้น แต่ไม่อยากเห็นการขึ้นดอกเบี้ยดังกล่าวเป็นไปตามแรงกดดันทางสังคม ซึ่งส่วนตัวมองว่าความจำเป็นที่ธปท. จะไม่ขึ้นดอกเบี้ยยังสามารถทำได้อีกสักพักหนึ่ง" นายพิชิตกล่าวและว่า ถ้ามองในแง่ของของการดูแลต้นทุนการผลิตแล้ว การปรับขึ้นดอกเบี้ยมีผลค่อนข้างเยอะต่อต้นทุนการผลิตที่จะเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งภาวะดังกล่าวมีผลต่อการลงทุนที่จะลดลง การจ้างงานที่ลดลง และต่อเนื่องไปถึงการสร้างรายได้ที่น้อยลงตามไปด้วย

อย่างไรก็ตาม ไม่ได้มองว่า ธปท.จะขึ้นดอกเบี้ยไม่ได้ แต่การปรับขึ้นดังกล่าวต้องคิดให้รอบคอบ ไม่ใช่แค่ทำเพียงหยาบๆ เพียงอย่างเดียว ขณะเดียวกัน ยังมีเครื่องมืออื่นในการบริหารจัดการเรื่องนี้ ว่าทำจะอย่างไรให้ต้นทุนการผลิตลดลงเพิ่มปริมาณสินค้าในตลาดให้เพิ่มขึ้นได้ เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องของอุปสงค์อุปทาน

"ประเด็นเรื่องนี้เป็นเรื่องของการลงทุน ถ้าเราดูไม่ดีเราก็จะไม่หลุดจากภาวะแบบนี้ว่าเมื่อขึ้นดอกเบี้ยไปแล้วจำทำอะไรต่อ ขึ้นแล้วก็เหมือนเป็นการบอกว่า ให้คนกินน้อยๆ ใช้น้อยๆ แต่หลังจากนั้นจะเป็นยังไงต่อ ภาครัฐต้องตอบโจทย์และคำนึงถึงรายได้ของประชาชนว่าจะเพิ่มขึ้นหรือการผลิตที่เพิ่มขึ้นได้ยังไง เรื่องการบริหารจัดการเงินเฟ้อเองที่ผ่านมาในอดีตก็มีให้เห็นแล้ว ดังนั้น จะดูเพียงภาพแมคโครเพียงอย่างเดียวไม่ได้ ต้องดูระบบรากฐานของเศรษฐกิจด้วย"นายพิชิตกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น