xs
xsm
sm
md
lg

ตลาดหุ้นขาลง...!!! ถึงเวลาเก็บของดีราคาถูกเเล้วหรือยัง?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ทีมงาน "ผู้จัดการกองทุนรวม" มีโอกาสไปร่วมฟังเสวนาที่จัดโดยสมาคมบริษัทจัดการกองทุน เเละตลาดหลักทรัพย์เเห่งประเทศไทย ในหัวข้อ "มีแต่ข่าวร้าย...เลิกยุ่งกับหุ้นดีไหม" ซึ่งภายในงานนี้ได้เชิญ ประภาส ตันติพิบูย์ศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่การลงทุน บริษัหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม (บลจ.) อยุธยา (เอวายเอฟ) จำกัด มนต์ชัย จาตุรันต์ภิญโญ ซีไอโอ บลจ.ฟินันซ่า เเละสหัทยา สรรค์ประสิทธิ์ ผู้จัดการกองทุนอาวุโส บลจ.วรรณ...ซึ่งเนื้อหาของสัมมนาดังกล่าวถือว่าน่าสนใจทีเดียว ดังนั้น ผู้จัดการกองทุนรวมจึงหยิบมาฝาก ไปดูกันว่าผู้จัดการกองทุน มีมุมมองอย่างไรกับตลาดหลักทรัพย์ของไทยในช่วงนี้

ปัจจัยที่ใด....ที่ทำให้ตลาดหุ้นไทยยังคงผันผวน
ประภาส ตันติพิบูย์ศักดิ์
ให้ความเห็นไว้ว่า "เศรษฐกิจโลก เงินเฟ้อ การเมือง ซับไพรม์ เเละราคาน้ำมัน" ปัจจัยทั้ง 5 นี้ยังเป็นปัจจัยสำคัญที่จะยังส่งผลต่อการลงทุนในตลาดหุ้นไทย โดยปัจจัยต่างประเทศเอง ยังมีความต่อเนื่องจากซับไพรม์ที่มีเเนวโน้มไปสู่ภาคธุรกิจ ซึ่งคาดว่าน่าจะยังอยู่ต่อจากนี้ไปอีกอย่างน้อย 1 ปี ส่วนปัจจัยภายในประเทศ ก็ยังคงมีเรื่องเงินเฟ้อหลังจากเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ตัวเลขเงินเฟ้อขยับขึ้นมาอยู่ที่ 9.2% ซึ่งบลจ.อยุธยาเองก็ประเมินว่า เดือนสิงหาคมนี้ อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยจะขยับขึ้นมาอยู่ที่ 9- 10% ก่อนจะปรับลดลงเฉลี่ยอยู่ที่ 7% ในปีนี้

"ราคาน้ำมันที่ปรับลดเเล้ว เเต่ทำไมตัวเลขเงินเฟ้อยังสูงอยู่ เราต้องดูว่าราคาน้ำมันที่ปรับเพิ่มขึ้น เเต่ราคาสินค้าบางอย่างหรือต้นทุนในส่วนอื่นๆ ยังไม่ได้ปรับขึ้น เพราะสินค้าบางตัวยังไม่ถึงระยะเวลาในการปรับราคา เเละอีกส่วนหนึ่งคือภาครัฐควบคุมดูเเลราคาสินค้า โดยยังไม่อนุมัติให้สินค้าเหล่านั้นขึ้นราคา เมื่อเป็นเช่นนี้ภาครัฐเองก็หยืดหยุ่นให้มีการทยอยขึ้นราคา จึงทำให้เงินเฟ้อปัจจุบันยังอั้นอยู่บางส่วน เเต่ถ้าราคาน้ำมันอยู่ประมาณ 120 เหรียญสหรัฐสิ้นปีนี้ ตัวเลขเงินเฟ้อก็ไม่น่าจะสูงกว่า 7-8% ซึ่งอัตราเงินเฟ้อปีหน้าเฉลี่ยอยู่ที่ 4-6% ถ้าเกิดไม่มีปัจจัยเรื่องของราคน้ำมัน"

เเต่อย่างไรก็ตาม ตลาดหุ้นมักจะมองอะไรล่วงหน้าเสมอ อย่างเช่นตลาดในสหรัฐเองที่คิดว่าเศรษฐกิจจะไม่ดี สมมุติว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะเลวร้ายในกลางปีหน้า ตลาดหุ้นสหรัฐเองจะฟื้นในช่วงไตรมาส 3เเละไตรมาส 4 โดยเขามองไปข้างหน้า 6-12 เดือน แต่ตอนนี้ ตลาดหุ้นอเมริกายังไม่ไปไหน เพราะเขามองว่าเศรษฐกิจของเขายังไม่ดี นั่นอาจหมายถึงว่าในปีหน้าหรือในช่วงครึ่งปีหลัง เศรษฐกิจอาจจะถึงจุดต่ำสุด เมื่อฟังข่าวเป็นเช่นนี้เเล้ว ผู้ลงทุนมักจะตื่นตกใจว่าเศรษฐกิจไม่ดี เเต่เราอย่าลืมว่าตลาดการเงินมีปฏิกิริยาก่อนอยู่เเล้ว

ส่วนเศรษฐกิจไทยเเละการเมืองไทยยังมองว่าไม่ดีไปซักระยะหนึ่ง ซึ่งหากเราก็มองย้อนกลับมาในช่วง 6-12 เดือนก่อนหน้านี้ ก็อาจเป็นช่วงที่จังหวะน่าลงทุนได้ แต่ตอนนี้เราอยู่ในไตรมาส 3 เเล้ว ดังนั้น ถ้าเรามองเรื่องของเศรษฐกิจการเมืองหรือปัจจัยต่างๆ น่าจะไปจบสิ้นในไตรมาสเเรกของปี 51 หรือไตรมาส 2 นั่นหมายความว่า ไตรมาส 3 เเละไตรมาส 4 ในปีนี้ น่าจะเป็นช่วงจังหวะที่ดีในการลงทุน

สหัทยา สรรค์ประสิทธิ์ มองว่า ถ้าดูปัจจัยต่างๆในตอนนี้ ในเเง่ของซับไพรม์เอได้ผ่านช่วงเวลาที่สุดขีดไปเเล้ว เเต่เราก็ยังมองว่าเรื่องนี้ยังเป็นระเบิดเวลาที่สามารถระเบิดได้ตลาดเวลา สิ่งที่น่ากลัวตอนนี้คือเรื่องของเงินเฟ้อที่กระจายไปทั่วเอเชีย ซึ่งเรื่องนี้นักลงทุนต่างชาติกลัวมากเพราะในตัวของนักลงทุนเองก็มีปัญหาอยู่เเล้ว และเมื่อเจอปัญหาเรื่องเงินเฟ้อในเอเชียต่างพากันดึงเงินกลับประเทศ เพื่อทดเเทนในตลาดหุ้นของประเทศนั้นๆ เราก็จะเห็นว่านักลงทุนต่างประเทศขายสุทธิเพื่อนำเงินกลับประเทศ เเละหันมาถือครองเงินสดมากขึ้น

ในส่วนของประเทศไทยเอง เรื่องการเมืองเป็นปัจจัยที่กดดันอยู่ มองว่าถ้าเรายังมีความหวังเรื่องทางออกของการเมือง เช่นมีการประกาศยุบสภาเลือกตั้งใหม่ เราคิดว่าจุดนั้น นักลงทุนอาจจะกลับเข้ามาลงทุนอีกครั้ง ตัวซับไพรม์เองปัญหาก็จะเบาบางลง ส่วนเรื่องอัตราเงินเฟ้อส่วนใหญ่นักลงทุนจะดูช่วงเวลาที่พีคสุดเเล้ว ก็จะนำเงินกลับเข้ามาลงทุนอีกครั้ง

"ตอนนี้ตลาดหุ้นไทยราคาถูกมาก เนื่องจากปัจจัยพื้นฐานอาจจะไม่ได้มีส่วนมากเเล้ว ซึ่งตอนนี้หลายคนหันมาสนใจการเคลื่อนไหวของเงินทุนจากต่างชาติแทน แต่คงต้องรออีกซักประมาณ 6 เดือนข้างหน้า หากเรามองย้อนไปในปี 2549 ก็มีเรื่องของอัตราเงินเฟ้อเช่นกัน เเต่เกิดขึ้นในเเถบยุโรป เเละอเมริกา ซึ่งการตีกลับของตลาดใช้เวลา 6 เดือนเช่นกัน"

มนต์ชัย จาตุรันต์ภิญโญ ให้ความเห็นว่า ปัจจัยหลักของการลงทุนในตอนนี้ คือ เศรษฐกิจโลก เงินเฟ้อ การเมือง ซึ่งสิ่งที่นักลงทุนสนใจเเละติดตามมากที่สุดคือเรื่องของเศรษฐกิจโลก เพราะหุ้นในตลาดจะเป็นไปตามกำไรของบริษัทจดทะเบียน กำไรดีหุ้นก็ขึ้น กำไรไม่ดีหุ้นก็ตก ในส่วนของเศรษฐกิจโลกต้องยอมรับกันว่า ช่วงนี้อเมริกาเองมีข่าวลบค่อนข้างมาก คาดว่าเราคงจะได้ยินข่าวลบของอเมริกาที่กระทบกับตลาดอีกหลายระลอก สำหรับเรื่องอัตราเงินเฟ้อส่วนตัวมองว่าเราได้ผ่านจุดสูงสุดมาเเล้ว ต่อจากนี้น่าจะเบาใจได้ ซึ่งถ้าอเมริกาชะลอตัวลง ในเเง่ของเงินเฟ้อก็ไม่น่าสูงขึ้นอีก เพราะเศรษฐกิจโลกเติบโตช้าลง เงินเฟ้อจะลดลงตามธรรมชาติของมัน

ส่วนเรื่องการเมือง เรานำมาใช้เป็นปัจจัยมองเรื่องเศรษฐกิจขาลงค่อนข้างมาก เท่าที่ดูประวัติศาสตร์ของเราเอง จะพบว่าการเมืองประเทศไทยไม่นิ่ง ผกผันมาเรื่อยๆ ซึ่งเมื่อปีที่เเล้วการเมืองก็ไม่ได้ดีกว่าปีนี้ ท้ายที่สุดการเมืองก็มีทางออก ดังนั้นถ้า เราเชื่อว่าการเมืองจะมีทางออกที่ดีเเน่นอน คนก็หันกลับมาดูเรื่องการเติบโตของเศรษฐกิจ ซึ่งถ้านักลงทุนเชื่อว่าเศรษฐกิจดีขึ้น ตลาดหุ้นดีขึ้น นักลงทุนก็จะดันเรื่องการเมืองเป็นปัจจัยรองไป และเมื่อขมวดปมเเล้ว เราก็จะต้องมาดูปัจจัยเรื่องของเศรฐกิจโลก เพราะหุ้นจะสะท้อนอนาคต 12-18 เดือน ดังนั้น เราคงต้องอดทนกับเศษฐกิจโลกไปอีกพักหนึ่ง

หุ้นเด่น-หุ้นร้อน
สหัทยา ให้คำเเนะนำว่า เราคงต้องดูการเติบโตของหุ้นที่ราคาถูก อย่างเช่นหุ้นกลุ่มธนาคาร ซึ่งถือว่าราคาถูกมาก ก็ไปเลือกเอาว่าจะเลือกหุ้นตัวไหน ส่วนหุ้นกลุ่มพลังงาน-ปิโตรเคมี คงต้องชะลอไปการลงทุนไปก่อน ส่วนกลุ่มสื่อสาร บางตัวที่ให้ผลตอบเเทนสูงมาเลยทีเดียว เเต่เเนะนำให้ดูหุ้นบิ๊กเเคปก่อน เพราะตอนนี้ราคาหุ้นตกค่อนข้างมาก ก็อยากให้เลือกดูให้ดี

ประภาส มองว่า ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ในเเง่ของการเติบโตของผลประกอบการบริษัทในตลาดหลักทรัพย์โดยภาพรวม เรายังด้อยกว่าประเทศอื่นในเอเชีย ซึ่ง 2 ปีที่ผ่านมาการเติบโตของผลประกอบการในตลาดหุ้นเอเชียอยู่ที่ประมาณ 10-30% ค่าเฉลี่ยอยู่เกือบ 20% ค่าเฉลี่ยของเราอยู่ที่ 0% ทำให้หุ้นของเราไม่ไปไหน ซึ่งสะท้อนผลประกอบการของบริษัทในตลาดได้ เเต่ในทางกลับกัน ปี 2551 ประเทศไทยมีการเติบโตค่อนข้างดี โดยเฉพาะไตรมาสเเรกของปี ผลประกอบการของบริษัทในตลาดค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 41% เเต่ในขณะที่ทั้งปีอาจโต 15-20% ซึ่งค่าเฉลี่ยของทั้งเอเชียน่าจะโตที่ 10% ซึ่งกลุ่มธนาคาร เเละกลุ่มสื่อสาร ให้เงินปันผลสูงมาก เหมาะมากสำหรับการเก็บหุ้นเข้าพอร์ตช่วงนี้ เเต่ต้องบอกก่อนว่าช่วงนี้จะต้องเจอกับความเสี่ยงในระยะเวลาสั้นๆนี้ก่อน เเต่เมื่อผ่านไปช่วงระยะเวลาหนึ่งหรือลงทุนระยะยาว จะได้ผลตอบเเทนที่ดีเเน่นอน

สำหรับ มนต์ชัย ได้เเบ่งความน่าสนใจของหุ้นดังนี้ ตลาดหุ้นไทยเเบ่งออก เป็น 3 ส่วน คือกลุ่มพลังงานเเละสินค้าโภคภัณฑ์ กลุ่มธนาคาร เเละกลุ่มที่ไม่เกี่ยวข้องกับสิ่งใดเเต่ขับเคลื่อนในตัวของมันเอง โดยกลุ่มของพลังงาน ปัจจัยหลักคือน้ำมัน เเต่ทั้งนี้ก็ต้องขึ้นอยู่กับความคิดเห็นส่วนบุคคลด้วย ถ้าคิดว่าราคาน้ำมันที่ลดลงมาเป็นเรื่องชั่วคราว ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าราคาน้ำมันอาจจะเพิ่มขึ้นประกอบกับความต้องการน้ำมันยังมีอยู่อีกในอนาคต ก็คงต้องให้น้ำหนักกับกลุ่มนี้ซึ่ง ณ วันนี้ราคาปรับลดลงมาค่อนข้างมาก เป็นช่วงที่ดีในการเก็บหุ้นเข้าพอร์ต

ในขณะเดียวกันนักลงทุนไม่เชื่อในข้อเเรก ซึ่งคิดว่าราคาน้ำมันได้ผ่านจุดที่สูงที่สุดมาเเล้ว เเละจะปรับตัวลงมา ก็ลองหันไปดูกลุ่มธนาคารเเละกลุ่มบริโภค เเละกลุ่มสุดท้ายที่ไม่ค่อยสนใจกับภาวะตลาดหรือเรื่องของน้ำมันมากนัก ก็อาจจะหันไปลงทุนในกลุ่มหุ้นที่ไม่เกี่ยวข้องกับสิ่งใดเเต่มีเเบรนด์เป็นของตัวเอง ผลประกอบการบริษัทดีเเละจ่ายเงินปันผลทุกครั้ง ที่สำคัญไม่ได้รับผลกระทบเรื่องของราคาน้ำมันหรือปัจจัยอื่นเท่าใดหนัก

ข้อคิดการลงทุนในหุ้นในช่วงขาลง
วิทยากรทั้ง 3 คน ได้ให้คำเเนะนำคล้ายกันในส่วนของการลงทุนกับตลาดหุ้นว่า ควรเน้นลงทุนระยะยาว เมื่อนักลงทุนฟังเเล้วอาจจะเบื่อ เเต่การลงทุนระยะยาวนี้เป็นสิ่งที่อยู่คู่กับการลงทุนในหุ้นมานานเเล้ว เพราะหุ้นเเต่ะละปีผันผวนค่อนข้างมาก อย่างเช่นมีทฤษฏีหนึ่งที่บอกว่า ธุรกิจเดินไปทุกวัน เเต่หุ้นที่กระพริบอยู่บนกระดานทุกวันมันเป็นอารมณ์ร่วมของตลาด ณ ขณะนั้น ฉะนั้นถ้าเกิดวันใดตลาดหุ้นมั่นใจมากราคาก็ปรับเพิ่มกว่าราคาพื้นฐาน เมื่อตลาดตกใจราคาอาจไม่ได้สะท้อนมูลค้าที่เเท้จริง ถ้าเราลงทุนระยะยาวจะช่วยให้เราไปสู่จุดมุ่งหมายของการลงทุน ถ้าเกิดไม่มั่นใจในตลาดหุ้นไทย ก็อาจจะหาโอกาสไปลงทุนต่างประเทศก็ได้ ซึ่งหลายบลจ.ก็มีหลายเเบบหลายสไตล์ให้นักลงทุนได้เลือกลงทุน

ขณะเดียวกัน ก่อนตัดสินใจลงทุนก็ควรที่จะศึกษาบริษัทที่เราจะเลือกลงทุน ทั้งผลประกอบการ กำไร เป็นต้น นอกจากนี้วิทยากรยังได้เเนะนำวิธีการลงทุนที่เรียกว่าลงทุนเเบบถัวเฉลี่ย หรือ Dollar Cost Averaging เป็นต้น

สำหรับผลการดำเนินงานกองทุนหุ้นทั้งหมดภายในอุตสหกรรมกองทุนรวม ณ วันที่ 31 กรกฏาคม 2551 มีผลการดำเนินงานดังนี้ กองทุนหุ้นมีทั้งสิ้น 107 กอง ให้ผลตอบเเทนเฉลี่ยอยู่ที่ -18.54% ถ้าเป็นกองทุนหุ้นระยะยาวหรือ LTF มีทั้งหมด 52 กอง ให้ผลตตอบเเทนอยู่ที่ -16.64% เเต่บางกองทุนก็ให้ผลตอบเเทนเป็นบวกก็มีเช่นกัน ขณะที่กองทุนเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) มีทั้งหมด 19 กอง ให้ผลตอบเเทนเฉลี่ยอยู่ที่ -17.8% ซึ่งเกณฑ์มาตรฐานดัชนีตลาดหลักทรัพย์อยู่ที่ -21.18% ถึงอย่างไรก็ตาม ผลการดำเนินงานของกองทุนทั้งหมดก็ยังสามารถเอาชนะดัชนีตลาดหลักทรัพย์ได้

กำลังโหลดความคิดเห็น