เมื่อเร็วๆนี้ สมาคมนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ ได้ปรับเป้าหมายดัชนีตลาดหลักทรัพย์เฉลี่ย ณ ปลายปี 2551 มาอยู่ที่ 927 จุด ซึ่งลดลงจากที่คาดไว้เดิมเมื่อ มค.ที่ผ่านมาซึ่งเคยคาดการณ์ไว้ที่ 958 จุด โดย สมบัติ นราวุฒิชัย เลขาธิการสมาคมฯ ให้เหตุผล เกี่ยวกับผลสำรวจความเห็นนักวิเคราะห์ล่าสุด ถึงเรื่องแนวโน้มการลงทุนในตลาดหุ้นว่า นักวิเคราะห์ต่างมีความเห็นตรงกันในเรื่องอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจปีนี้อยู่ที่ร้อยละ 5 ในขณะที่ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียน จะมีกำไรสุทธิต่อหุ้นเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 19.7 โดยกลุ่มที่มีผลประกอบการเติบโตสูงที่สุด คือ กลุ่มธนาคาร ภายใต้เงื่อนไขให้รัฐบาลมีนโยบายเศรษฐกิจที่ชัดเจน และเรียกร้องให้มีความสมานฉันท์ในชาติ
ทั้งนี้ ผู้ที่ชื่นชอบการลงทุนผ่านกองทุน ก็ไม่ควรมองข้ามการคาดการณ์ดังกล่าว เพราะมีหลายเหตุผล หลายปัจจัยที่ส่งผลเกี่ยวข้องกับการลงทุนของผู้จัดการกองทุน ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนในตลาดหุ้น ภาวะอัตราดอกเบี้ย และอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งจะมีผลต่อกองทุนหุ้น และกองทุนตราสารหนี้ ที่ทุกท่านมีหน่วยลงทุนครอบครองไว้อยู่แน่ๆ.....
ส่วนปัจจัยที่จะเข้าสร้างความรบกวนต่อการเติบโตของดัชนีตลาดหลักทรัพย์นั้นๆ บรรดากูรูทั้งไทย และต่างประเทศรวม 21 แห่งร่วมหยิบยกมาให้รับฟัง คือ ปัจจัยทางการเมืองและปัจจัยอื่นๆ อันได้แก่ แนวโน้มของสถานการณ์ทางการเมือง ตัวเลขสำคัญทางเศรษฐกิจซึ่งรวมถึง แนวโน้มอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจ อัตราดอกเบี้ย ค่าเงินบาท คาดการณ์อัตราการขยายตัวของกำไรต่อหุ้นของบริษัทจดทะเบียนโดยรวมและใน 6 กลุ่มธุรกิจสำคัญ เป้าหมายดัชนีตลาดหลักทรัพย์ หุ้นที่แนะนำให้ลงทุนในช่วงนี้ คำแนะนำให้นักลงทุน รวมถึงข้อแนะนำที่เป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจ ตลาดทุน และสังคม
สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ นักวิเคราะห์ที่ตอบแบบสอบถามทั้งหมดมองตรงกันว่า ปัจจัยการเมือง ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ โดยประเด็นทางการเมืองที่ส่งผลกระทบมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ อันดับ 1 มีผู้ตอบร้อยละ 67 คือ การชุมนุมทางการเมืองของกลุ่มที่คัดค้านรัฐบาล ซึ่งมีความกังวลว่าจะมีการยืดเยื้อและนำไปสู่ความรุนแรง อันดับ 2 มีผู้ตอบร้อยละ 52 คือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ อันดับ 3 มีผู้ตอบร้อยละ 24 คือ ประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของรัฐบาล
ขณะที่ ทิศทางของสถานการณ์ทางการเมืองในระยะ 6 เดือนข้างหน้านั้น นักวิเคราะห์ร้อยละ 52 มองว่าจะแย่ลง ในขณะที่ร้อยละ 33 คาดว่าจะดีขึ้น และอีกร้อยละ 14 เห็นว่าไม่เปลี่ยนแปลง
นอกเหนือจากปัจจัยทางการเมือง ปัจจัยที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการลงทุนในช่วงครึ่งหลังของปี 2551 แบ่งเป็นปัจจัยบวก และปัจจัยลบ ประกอบด้วย
ปัจจัยบวก
อันดับ 1 ผู้ตอบร้อยละ 52 คือ การลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ
อันดับ 2 ผู้ตอบร้อยละ 29 คือ แนวโน้มรายได้และกำลังซื้อของภาคเกษตรกรเพิ่มมากขึ้น จากการที่ราคาสินค้าเกษตรอยู่ในระดับสูง
อันดับ 3 ผู้ตอบร้อยละ 19 มีสองปัจจัย คือ เงินทุนไหลเข้าจากต่างประเทศ เนื่องจากค่าเงินดอลลาร์มีแนวโน้มอ่อนค่าในระยะยาว และอีกปัจจัยหนึ่งคือ ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนมีอัตราการขยายตัวในระดับที่ดี
ปัจจัยลบ
อันดับ 1 ผู้ตอบร้อยละ 71 มีสองปัจจัยซึ่งเกี่ยวเนื่องกัน คือ ราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น ซึ่งได้รับผลกระทบมาจากราคาน้ำมันที่สูง
อันดับ 2 ผู้ตอบร้อยละ 67 คือ อัตราดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มจะปรับตัวสูงขึ้น
อันดับ 3 ผู้ตอบร้อยละ 29 คือ เศรษฐกิจทั่วโลกที่ชะลอตัวลง จากปัญหาเศรษฐกิจและการเงินทั้งของสหรัฐและหลายประเทศ
อย่างไรก็ตาม ตัวเลขสำคัญทางเศรษฐกิจสำหรับทั้งปี 2551 คือ อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจ หรือ GDP Growth จากการสำรวจของสมาคมนักวิเคราะห์ฯ พบว่า ตัวเลขคาดการณ์เฉลี่ยก่อนเกิดเหตุชุมนุมอยู่ที่ 5.3% เทียบกับในปัจจุบันมีตัวเลขเฉลี่ยอยู่ที่ 5% ซึ่งยังสูงขึ้นเล็กน้อยจากระดับเฉลี่ย 4.8% ในการสำรวจครั้งที่แล้วเมื่อปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา สำหรับผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียน หรือ EPS Growth ในปี 2551ก่อนเหตุชุมนุม นักวิเคราะห์คาดว่าเฉลี่ยอยู่ที่ 21% เทียบกับปัจจุบันเฉลี่ยอยู่ที่ 19.7% ซึ่งสูงขึ้นจากการสำรวจครั้งที่แล้วที่ 18.9%
นอกจากนี้ นักวิเคราะห์คาดการณ์อัตราดอกเบี้ยสูงขึ้นจากการประเมินครั้งก่อน โดยเมื่อ 29 มค.51 เคยคาดการณ์ดอกเบี้ย RP 1 วัน ณ สิ้นปี 2551 อยู่ที่เฉลี่ย 3.10% แต่ปัจจุบันคาดการณ์ไว้ที่เฉลี่ย 3.56%
ขณะเดียวกัน นักวิเคราะห์มีการปรับประมาณการ อัตราแลกเปลี่ยนระหว่างเงินบาทและดอลลาร์สหรัฐ ณ สิ้นปี 2551 เช่นกัน โดยก่อนเหตุชุมนุม คาดไว้เฉลี่ยอยู่ที่ 31.9 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่ปัจจุบันปรับประมาณการใหม่เป็น 32.7 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ
ทั้งนี้ ประมาณการผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในปีนี้ ประเมินจากอัตราการเติบโตของกำไรต่อหุ้น (EPS Growth) ของกลุ่มธุรกิจสำคัญ จากผลที่ได้จากแบบสอบถาม พบว่า กลุ่มธนาคารยังคงมีอัตราการเติบโตสูงสุด โดยมีค่าเฉลี่ย EPS Growth ที่ 466.6% อันดับสองคือ อสังหาริมทรัพย์ เติบโตเฉลี่ยที่ 28.1% อันดับต่อมาคือ กลุ่มเดินเรือ เติบโตเฉลี่ยที่ 12.2%
ข้อเสนอแนะเพื่อชาติ...จากสายตาโบรกเกอร์
1.นโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลควรมีความชัดเจนและคำนึงถึงผลกระทบในระยะยาว
2.ควรร่วมมือกันประหยัดพลังงาน
3.ประชาชนควรมีความสมานฉันท์ และร่วมมือกัน ลดความขัดแย้ง เพื่อช่วยให้ประเทศฝ่าฟันปัญหาเศรษฐกิจและการเมืองไปได้
คำแนะนำการลงทุนโดยสรุป
สำหรับการลงทุนระยะกลางและยาว ให้ทยอยสะสมหุ้นเมื่ออ่อนตัวลง เน้นลงทุนในหุ้นที่มีปัจจัยพื้นฐานดี ได้รับผลกระทบน้อยจากอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น มีกระแสเงินสดดี และมีเงินปันผลสูง
ความเห็นของผู้จัดการกองทุน
ประภาส ตันพิบูลย์ศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่การลงทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) อยุธยา จำกัด (เอวายเอฟ)กล่าวว่า จากผลสำรวจของสมาคมนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ ที่คาดว่าปลายปีนี้หุ้นจะปรับตัวลดลงจาก 958 จุด เหลือเพียง 927 จุด นั้นมีความเป็นไปได้ เนื่องจากขณะนี้ตลาดหุ้นมีความผันผวนอยู่ที่ประมาณ 20 - 25% หรือมีการขึ้นลงอยู่ตลอดเวลา
สำหรับในช่วงที่ผ่านมา ตลาดหุ้นได้รับผลกระทบจากปัจจัยลบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น เงินเฟ้อ ราคาน้ำมัน รวมถึงปัญหาการเมือง จึงเปรียบเหมือนในช่วงฝนตกท้องฟ้าปิด แต่เมื่อผ่านไปอีกสักระยะหนึ่งเมื่อฝนผ่านพ้นไป ท้องฟ้าจะเปิดและกลับมาสดใส เหมือนกับตลาดหุ้นบ้านเรา ที่ขณะนี้หุ้นได้ปรับตัวลดลง แต่อีกสักพักก็จะดีขึ้น โดยปีนี้คิดว่าตลาดหุ้นภายในประเทศอาจจะถึง 900-950 จุด
" เรามีมุมมองในเรื่องดังกล่าวไม่ต่างไปจากผลสำรวจนักวิเคราะห์ที่ออกมา โดยกองทุนหุ้นของบลจ.เอวายเอฟ หากเล็งเห็นว่าหุ้นมีการปรับตัวลดลง ทางบลจ.ก็จะซื้อหุ้นมาเก็บไว้ในพอร์ต และในช่วงที่ผ่านมา บลจ.ได้มีการขายหุ้นบางตัวออกสู่ตลาด ทำให้บริษัทมีเงินเพิ่มขึ้น"
ธีรนาถ รุจิเมธาภาส รองกรรมการผู้จัดการ หัวหน้าฝ่ายธุรกิจกองทุนรวมและกองทุนส่วนบุคคล บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ทิสโก้ จำกัด กล่าวว่า จากผลสำรวจดังกล่าวใกล้เคียงกับที่บลจ.ทิสโก้ประเมินไว้ แต่ยังมีความเป็นไปได้ที่ดัชนีจะปรับตัวลดลงมาถึง 900 จุด โดยตลาดหุ้นในช่วงนี้ได้ปรับตัวลงมาเยอะมาก ส่งผลให้นักลงทุนไม่มีความเชื่อในที่จะลงทุน ประกอบกับผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจเวียดนาม จึงทำให้หุ้นตกลงมามากกว่าช่วงปกติ
อย่างไรก็ตาม ผลการสำรวจนี้เป็นเพียงแค่หลักการ เพราะว่าไม่มีใครจะรู้ได้ว่า ตลาดหุ้นปลายปีนี้จะสามารถลงมาถึง 900 จุดหรือไม่ ขณะเดียวกันปลายปีนี้นักลงทุนอาจมีมุมมองใหม่ เมื่อราคาน้ำมันปรับตัวลดลง เศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้นจะสามารถดึงความสนใจจากนักลงทุนต่างประเทศได้ และอาจทำให้ดัชนีปรับตัวดีไปจนถึงปีหน้า
"นักลงทุนที่กล้าลงทุนในตลาดหุ้นที่มีความผันผวนสูงจะสามารถทำกำไรจากตลาดหุ้นได้มาก และเนื่องจากตลาดหุ้นบ้านเรามีนักลงทุนสนใจลงทุนอยู่แล้ว ดังนั้นเรื่องดังกล่าวจึงมีความเป็นไปได้ตามผลสำรวจของสมาคมบล."
นอกจากนี้ความผันผวนของหุ้น ทำให้นักลงทุนสามารถเกร็งกำไรหุ้นได้ และเมื่อนักลงทุนทะยอยเข้าซึ้อ จะทำให้ P/E เท่ากับหรือใกล้เคียงเมื่อปีที่แล้ว โดยเข้าซื้อหุ้นในช่วงที่หุ้นปรับตัวลดลงลง และขายคืนตลาดในช่วงที่หุ้นปรับตัวเพิ่มขึ้น ดังนั้นจากผลวิเคราะห์ที่ใกล้เคียงกันนี้ ทำให้ปลายปีนี้บริษัทจะเดินหน้าลงทุนในตลาดหุ้นเต็มที่