xs
xsm
sm
md
lg

ไทยธนาคารขายหนี้เน่า 3.8 พันล. ดิ้นหนีตายพยุงฐานะก่อนขายหุ้น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้ถือหุ้นไทยธนาคารซักฟอกกรณีขาย NPL 3,877 ล้านบาท ผู้บริหารแจงเหตุเพื่อลดการกันสำรองเพิ่ม และดัน BISให้อยู่ในเกณฑ์ที่แบงก์ชาติกำหนด ย้ำเป็นทางรอดเดียว และโบ้ยเหตุมาจากกองทุนฟื้นฟูไม่พร้อมเพิ่มทุน ยันดำเนินการให้รัดกุมและเป็นประโยชน์ต่อผู้ถือหุ้นมากที่สุด ส่วนกรณีการขายหุ้นคาดรู้ผลเร็วๆนี้

วานนี้ (12 มิ.ย.) ธนาคารไทยธนาคาร จำกัด (มหาชน) หรือ BT ได้จัดประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 1/2551 ขึ้น ณ ห้องประชุมชั้น 23 ธนาคารไทยธนาคาร โดยมีวาระการประชุมทั้งสิ้น 3 วาระ คือ วาระที่ 1 พิจารณารับรองรายงานการประชุมใหญ่สามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 14 เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2551 วาระที่ 2 พิจารณาอนุมัติขายสินทรัพย์ด้อยคุณภาพของบริษัท บริหารสินทรัพย์สาทร จำกัด (STAMC) ให้แก่ บริษัท บริหารสินทรัพย์กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (BAM) และบริษัท บริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด (SAM) ซึ่งถือเป็นรายการที่เกี่ยวโยงกัน และวาระที่ 3 เรื่องอื่น ๆ

ทั้งนี้ ในการประชุมผู้ถือหุ้นได้มีการซักถามเกี่ยวกับประเด็นการขายสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ (NPL) ซึ่งจะเสนอขายให้กับ BAM จำนวน 1,448 ราย ในราคา 3,741 ล้านบาท และขายให้กับ SAM จำนวน 41 ราย ในราคา 136 ล้านบาท หรือรวม NPL ที่จะขายทั้งสิ้น 1,489 ราย จะมีมูลค่ารวมกันไม่น้อยกว่า 3,877 ล้านบาท โดยภาระหนี้ตามสิทธิประกอบด้วยเงินต้น 10,815 ล้านบาท ดอกเบี้ย 18,898 ล้านบาท รวมภาระหนี้ตามสิทธิ 29,713 ล้านบาท โดยมีมูลค่าตามบัญชี ณ 29 กุมภาพันธ์ 2551 จำนวน 3,306 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจาราคาซื้อขายเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับผู้ถือหุ้น โดยธนาคารจะแจ้งราคาซื้อขายให้ผู้ถือหุ้นทราบภายในเดือนมิถุนายน 2551

นายทวี บุตรสุนทร ประธานกรรมการ ธนาคารไทยธนาคาร กล่าวชี้แจงต่อข้อซักถามของผู้ถือหุ้นในประเด็นการขายNPL ดังกล่าวว่า ธนาคารจำเป็นต้องขาย NPL ให้กับ BAMและ SAM เพราะหากเก็บไว้ธนาคารก็ต้องทำการกันสำรองเพิ่ม ซึ่งทุนของธนาคารที่มีอยู่ก็จะหมดไป รวมถึงเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS) ของธนาคารอยู่ในระดับต่ำกว่ามาตรฐาน ทำให้ธนาคารไม่สามารถปล่อยสินเชื่อไม่ได้ ซึ่งถ้าธนาคารใดปล่อยสินเชื่อไม่ได้ก็จะอยู่ไม่ได้ จากเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ที่กำหนดว่าธนาคารใด BIS ต่ำกว่า 8.5% ก็จะเพิ่มสินเชื่อไม่ได้

สรุปโดยรวมคือสาเหตุที่ต้องขาย NPL ออกขณะนี้เนื่องจาก 1. ต้องการจะลดภาระการกันสำรอง และ 2.ต้องการจะเพิ่มBIS รับเอาเงินจากการขายที่จะได้รับทันทีให้เข้ามาในเดือนมิถุนายนนี้ เพื่อเพิ่มBISและให้ปล่อยสินเชื่อได้

ด้านนายพีรศิลป์ ศุภผลศิริ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคาร ไทยธนาคาร กล่าวว่า การแก้ปัญหาของธนาคารแห่งนี้ก็คือการเพิ่มทุน แต่ติดปัญหาคือผู้ถือหุ้นรายใหญ่ซึ่งหมายถึงกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ไม่พร้อมที่จะเพิ่มทุน แต่ตอนนี้ BIS ของธนาคารยังดีอยู่ แต่ที่ต้องขาย NPL ออกก็เพราะจะทำให้ BIS ของธนาคารอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับ 9% และหากมีการตีกลับของเงินที่ใช้กันสำรอง CDO เข้ามาเป็นกำไรก็จะทำให้ BIS อยู่ที่ 9% กลาง ๆ

"ตอนนี้ไม่มีอะไรที่วางใจได้ในการทำธุรกิจแบงก์ เพราะเศรษฐกิจเป็นแบบนี้ โกแมนแซคบอกว่าราคาน้ำมันจะขึ้นถึง 200 เหรียญต่อบาเรลล์ แม้ผมไม่อยากจะเชื่อ แต่ว่าตอนนี้ถ้าแบงก์ไม่ทำอะไรก็วางใจไม่ได้ ธุรกิจแบงก์ต้องอยู่ในความไม่ประมาท ถ้าหากจะให้ขาย NPL นี้ช้าก็อาจจะมีความเสี่ยง เพราะสิ้นเดือนนี้แบงก์จะต้องคำนวณ BIS ให้กับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และแนวทางนี้เป็นหนทางเดียวที่จะเพิ่ม BIS เพราะกองทุนฯ อยู่ระหว่างการทยอยขายหุ้นของธนาคารพาณิชย์ทุกแห่งที่ถือหุ้นอยู่ โดยส่วนของธนาคารไทยธนาคารอยู่ระหว่างการคัดเลือกพันธมิตร ซึ่งก็คาดว่าจะจบได้เร็วๆนี้"นายพีรศิลป์กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น