xs
xsm
sm
md
lg

กองทุนฯเร่งBT-ทิสโก้ ชงเข้าบอร์ดสัปดาห์นี้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คณะทำงานกองทุนฟื้นฟูฯ เลือกขายหุ้น 42.13% ในไทยธนาคารให้ทิสโก้จากทั้งหมดผู้ยื่นซื้อ 5 ราย เผยมีเพียงทิสโก้สัญชาติไทย อีก 4 รายรวมนิวบริดจ์เป็นต่างชาติ ยอมรับเลือกทิสโก้เพื่อตัดปัญหากลายเป็นต่างชาติต้องขออนุญาตคลัง ที่สำคัญเท่ากับยอมรับว่าแบงก์เจ๊ง ชงที่ประชุมบอร์ดกองทุนฟื้นฟูฯ อนุมัติสัปดาห์นี้ ลงนามภายในกลางเดือน ลุ้นราคา 1.20-1.30 บาทต่อหุ้น ต้องเร่งปิดดีลเพราะถูกการเมืองเพ่งเล็ง

แหล่งข่าวธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า คณะทำงานกองทุนฟื้นฟูฯ ได้ข้อสรุปในการขายหุ้นธนาคารไทยธนาคาร จำกัด (มหาชน) (BT) จำนวน 42.13% ให้กับธนาคารทิสโก้ จำกัด (มหาชน) (TISCO) โดยจะเสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูฯ เพื่ออนุมัติภายในสัปดาห์นี้ หากคณะกรรมการฯ ไม่ขัดข้องคาดว่าจะลงนามการขายหุ้นในสัปดาห์ถัดไปหรือกลางเดือน มิ.ย.นี้ สำหรับราคาหุ้นคาดว่าจะอยู่ระหว่าง 1.20-1.30 บาทต่อหุ้น

"จริงๆ เรายังมีเวลาถึงสิ้นเดือน แต่หลังจากแบงก์ชาติถูกฝ่ายการเมือง โดยเฉพาะกลุ่มที่ปรึกษา รมว.คลังและนายกรัฐมนตรีให้ข่าวโจมตีกองทุนฟื้นฟูฯ และไทยธนาคารมาแล้ว 2 ครั้ง เราจึงต้องเร่งปิดดีลให้เร็วที่สุด แต่ต้องรอบคอบและไม่ให้กองทุนฟื้นฟูฯ หรือแบงก์ต้องเสียหาย"

แหล่งข่าวกล่าวถึงการข้อกล่าวหาว่าไม่มีการลดทุนก่อนนั้น ข้อเท็จจริงแล้ว ครั้งแรกไทยธนาคารมีการลดทุน เพื่อล้างขาดทุนสะสมช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 50 แล้วจากราคา 10 บาทต่อหุ้นเหลือ 3.75 บาทต่อหุ้น แต่ในช่วงปลายปี 50 ที่ผ่านมา เลือกใช้วิธีเพิ่มทุนแทนการลดทุน เพราะการลดทุนจะมีผู้ถือหุ้นรายใหม่เข้ามา ถือเป็นการเข้ามาแชร์สัดส่วนการถือหุ้นเพิ่มขึ้นอาจยิ่งเป็นการซ้ำเติมปัญหาได้ จึงเลือกให้ผู้ถือหุ้นรายเก่าใส่เงินเพิ่มทุนเข้ามาช่วยเหลือแทนซึ่งเป็นการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าก่อนจากปัญหาเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (บีไอเอส เรโช) ต่ำแล้วค่อยหาพันธมิตรที่มีศักยภาพเข้ามาช่วยเสริมธุรกิจต่อไป

แหล่งข่าวตั้งข้อสังเกตด้วยว่า การที่ไทยธนาคารมีข่าวเชิงลบในช่วงที่ผ่านมา อาจเกิดจากกลุ่มบุคคลบางพวกพยายามสร้างสถานการณ์ข่าวแง่ลบ เพื่อหวังให้ราคาขายลดลง แต่กองทุนฟื้นฟูฯ ยืนยันว่าไทยธนาคารยังมีศักยภาพที่ดี กลุ่มทีพีจี นิวบริดจ์ ในฐานะผู้ถือหุ้นเก่ารายใหญ่ 42% ก็สนใจ นอกจากนี้ยังมีต่างชาติอีก 3 แห่ง สนใจยื่นตรวจสอบฐานะ (ดิว ดิลิเจนท์) ส่วนสัญชาติไทยได้แก่ ธนาคารทิสโก้

การเลือกธนาคารทิสโก้ นอกจากเหตุผลทางด้านราคาหุ้นแล้ว คณะทำงานฯ เห็นว่าเหมาะสมกับสถานการณ์ ธนาคารฯ ก็ยังเป็นของคนไทย หากเลือกขายให้รายอื่น ไทยธนาคารจะเป็นของต่างชาติ ต้องขอนุญาตกระทรวงการคลัง เข้าข่ายธนาคารมีปัญหาผลการดำเนินงาน และฝ่ายการเมืองอาจโจมตีว่าธนาคารเจ๊ง นำไปสู่ข้ออ้างการตรวจสอบการทำงานของนางธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าฯ ธปท.

ก่อนหน้านี้ นายปลิว มังกรกนก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารทิสโก้ ยอมรับว่าแสดงความสนใจเข้าไปซื้อหุ้นจากกองทุนฟื้นฟูฯ ทั้ง 42.13% โดยเสนอซื้อไปยังกองทุนฟื้นฟูฯ แล้ว ทั้งนี้ หากธนาคารทิสโก้ซื้อหุ้นจากกองทุนฟื้นฟูฯ ได้แล้ว ตามหลักเกณฑ์ของคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ธนาคารฯ จะต้องเข้าไปทำการเสนอซื้อหุ้น (เทนเดอร์ ออฟเฟอร์) จากทีพีจีนิวบริดจ์และผู้ถือหุ้นรายย่อย

ฝ่ายวิเคราะห์และติดตามฐานะ สายกำกับสถาบันการเงิน ธปท. ให้เหตุผลที่การเพิ่มทุนครั้งล่าสุด ไม่เลือกใช้วิธีลดทุนก่อนว่า เนื่องจากในช่วงนั้นไทยธนาคารมีเงินกองทุนต่ำกว่ามาตรฐานที่ ธปท.กำหนด คือ 8.5% หากลดทุนจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้นใหญ่ เพราะต้องเอาเงินใหม่มาเติม ถือว่าไม่ยุติธรรมสำหรับผู้ถือหุ้นรายใหม่ที่ต้องเข้ามาร่วมรับผิดชอบกับความเสียหายที่เกิดขึ้น

ส่วนฐานะไทยธนาคารปัจจุบัน แม้จะเข้าไปลงทุนในตราสารหนี้ที่มีสินทรัพย์หนุนหลัง (ซีดีโอ) แต่ได้มีการกันสำรองมาโดยตลอดตามคำสั่งของ ธปท.จึงเป็นเรื่องยากที่จะเลือกใช้วิธีการลดทุน เพื่อบรรเทาความเสียหาย เพราะต้องมีการตัดรายการในงบการเงินออก ซึ่งหากทำเช่นนี้จะยิ่งทำให้งบการเงินไม่สมดุล

ส่วนกรณีที่มีการระบุว่าในช่วงปลายปีที่มีการตกลงซื้อขายหุ้นตามราคาตลาดสูงถึง 1.36-1.38 บาทต่อหุ้น แต่แท้จริงราคาหุ้นตามบัญชีกลับต่ำกว่ามากถึง 0.30 บาทต่อหุ้นนั้น การคำนวณราคาตลาดมาเทียบกับราคาตามบัญชีไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้อง เพราะราคาตามบัญชีเป็นเพียงการอ้างอิงพื้นฐานของหุ้น แต่การตกลงซื้อขายกันของนักลงทุนจะตกลงกันในราคาตลาดมากกว่า

ทั้งนี้ จากการตรวจสอบของสายกำกับสถาบันการเงิน พบว่า ราคาหุ้นในช่วงเดือนต.ค.-พ.ย.50 ถือเป็นช่วงแรกที่กองทุนฟื้นฟูฯ จะตัดสินใจเพิ่มทุน ซึ่งช่วงนั้นราคาหุ้นในตลาดอยู่ที่ระดับ 1.73-1.75 บาทต่อหุ้น แต่ในช่วงกลางปีมีปัญหาเรื่องสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ด้อยคุณภาพ (ซับไพรม์) ของสหรัฐ ทำให้มูลค่าหุ้นลดลงส่งผลให้ต้องมีการตกลงราคากันใหม่และจบการเจรจาด้วยราคา 1.36 บาทต่อหุ้นช่วงเดือน ธ.ค.50 ถือว่าเป็นราคาที่สมเหตุสมผล ซึ่งเมื่อเทียบกับช่วงที่ผู้ถือหุ้นรายเก่านำเงินใส่เข้าไปมูลค่าหุ้นราคาตลาดตกลงแค่ 0.09 บาทต่อหุ้นเท่านั้น จากระดับ 1.27 บาทต่อหุ้นในช่วงเดือน ม.ค.51

ขณะที่ราคาตามบัญชีของหุ้นไทยธนาคารปลายเดือน ธ.ค.อยู่ที่ระดับ 0.64 บาท แต่หลังจากเพิ่มทุนแล้วในช่วงเดือน ม.ค.ราคากลับเพิ่มเป็น 1.05 บาท.
กำลังโหลดความคิดเห็น