xs
xsm
sm
md
lg

เอกชนจี้ภาครัฐคุมเงินเฟ้อเร่งลงทุนกระตุ้นเศรษฐกิจ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการรายวัน – “ศุภวุฒิ”แนะภาครัฐสร้างปัจจัยบวกคุมเงินเฟ้อ โดยเฉพาะหยุดการปรับขึ้นดอกเบี้ยพันธบัตรระยะยาว เพราะสะท้อนถึงการคาดการณ์เงินเฟ้อในอนาคต ขณะเดียวกันภาครัฐต้องเร่งลงทุนอีก 7-8 แสนล้านต่อปีกระตุ้นเศรษฐกิจ ส่วนปัญหาการเมือง ยังตรึงเครียดไปอีก 3-4 เดือนข้างหน้า สุดท้ายแล้วคงจบแบบประนีประนอมไม่ได้ ด้านบล.ทิสโก้ระบุ ไตรมาส 3 ปัญหาเงินเฟ้อทั้งโลกจบ แนะหุ้นโรงกลั่น ปิโตรเคมีน่าสน เหตุกำไร Q2 พุ่ง

นายศุภวุฒิ สายเชื้อ กรรมการผู้จัดการ หัวหน้าสายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ภัทร จำกัด (มหาชน) กล่าวในงานสัมมนาหัวข้อ “ภาวะเศรษฐกิจและตลาดทุนปี 2551” ซึ่งจัดขึ้นโดยบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) แมนูไลฟ์ (ประเทศไทย) จำกัดว่า แนวทางที่จะแก้ไขปัญหาเรื่องเงินเฟ้อในช่วงครึ่งปีหลังนั้น รัฐบาลจะต้องเป็นผู้สร้างปัจจัยบวกขึ้นมาเอง โดยเฉพาะการควบคุมเงินเฟ้อให้อยู่ รัฐบาลต้องหยุดการปรับขึ้นของผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาว เพราะปัจจัยดังกล่าวสะท้อนการคาดการณ์ของตลาดที่มีต่อแนวโน้มเงินเฟ้อในประเทศ

ทั้งนี้ ในช่วงที่ผ่านมา จะเห็นว่าอัตราดอกเบี้ยของพันธบัตรระยะยาวอายุ 10 ปี ปรับขึ้นไปถึง 2% จาก 4% ในช่วง 3 เดือนก่อนหน้านี้เป็น 6% กว่าๆ ในปัจจุบัน ซึ่งการปรับขึ้นดังกล่าวสะท้อนว่าเงินเฟ้อต้องขยับขึ้นไปอีก 2% เช่นกัน เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรระยะยาวสะท้อนถึงการคาดการณ์เงินเฟ้อในอนาคต

นอกจากนั้น รัฐบาลจะต้องเร่งการลงทุนให้เกิดขึ้นโดยเร็ว เพราะปัจจุบันการลงทุนของภาครัฐต่ำกว่ามาตรฐานถึง 7-8% ของจีดีพี หรือคิดเป็นเงินลงทุนที่หายไปถึง 7-8 แสนล้านบาทต่อปี ซึ่งหากรัฐบาลสามารถลงทุนเพิ่มในสัดส่วนดังกล่าวได้ จะสามารถช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศได้อีกมาก เพราะจะมีส่วนผลักดันให้เกิดการลงทุนจากภาคเอกชนตามมา ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น เศรษฐกิจไทยสามารถขยายตัวได้ถึง 6-7% ได้ไม่ยาก ขณะเดียวกัน ภาครัฐต้องช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย ไม่ให้ได้รับผลกระทบจากปัญหาเงินเฟ้อไปมากกว่านี้ด้วย

“ภาครัฐต้องควบคุมเงินเฟ้อไม่ให้สูงกว่า 3-4% ซึ่งวิธีคุมนั้น อาจจะขึ้นดอกเบี้ยบ้าง เพื่อให้การคาดการณ์เงินเฟ้อมีจุดยึดเหนี่ยว ขณะเดียวกัน อัตราแลกเปลี่ยนที่ไม่อ่อนค่าลงมาก ก็จะเป็นอีกปัจจัยหนึ่งในการยึดเหนี่ยวการคาดการณ์เงินเฟ้อด้วยเช่นกัน”นายศุภวุฒิกล่าว

ทั้งนี้ คาดการณ์ว่าในช่วงครึ่งปีหลัง อัตราเงินเฟ้อของไทยไม่น่าจะถึงเลขสองหลัก และน่าจะอยู่ที่ 7-8% ก่อนขยับลงมาเป็น 5-6% ในปีหน้า ในขณะที่อัตราดอกเบี้ยมองว่าทั้งปีจะขึ้นไปอีก 0.50% ส่วนราคาน้ำมันเองก็คาดว่าราคาเฉลี่ยทั้งปีจะอยู่ที่ 107-110 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เพราะหากมองปัจจัยพื้นฐานของราคาน้ำมันในขณะนี้ไม่ควรเกิน 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล แต่ราคาที่ปรับขึ้นมาเกิดขึ้นจาก 2 ส่วน คือ การแก้ปัญหาเงินเฟ้อของสหรัฐที่ทำให้เงินดอลลาร์อ่อนค่า รวมถึงการเก็งกำไรของในตลาดล่วงหน้า

นายศุภวุฒิกล่าวว่า การลงทุนทั่วโลกในขณะนี้ สิ่งที่ตลาดรวมถึงนักลงทุนต่างชาติให้ความสนใจมากที่สุด คือการควบคุมเงินเฟ้อได้ดีหรือไม่ ซึ่งการขายหุ้นของนักลงทุนต่างชาติอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะในเอเชีย ไม่ว่าจะเป็นจีน เวียดนาม เนื่องจากไม่มั่นใจว่าประเทศในเอเชียจะสามารถบริหารจัดการเรื่องเงินเฟ้อได้อย่างถูกต้อง โดยเฉพาะนโยบายการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยหากควบคุมเงินเฟ้อไม่อยู่ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น ก็จะส่งผลต่อความสามารถในการทำกำไรของบริษัทจดทะเบียน ขณะเดียวกันยังเป็นการปิดกั้นการลงทุนในอนาคตด้วย ดังนั้นจึงเห็นว่าตลาดหุ้นใยเอเชีย ปรับลดลงสูงกว่าสหรัฐอเมริกาแม้จะประสบปัญหาซับไพรม์ที่ยังไม่จบอยู่ในขณะนี้

ส่วนปัญหาการเมืองในประเทศไทย มองว่าอีก 3-4 เดือน จะทราบว่าจุดสูงสุดของการเมืองจะเป็นอย่างไร เพราะขณะนี้ยังไม่สามารถบอกได้ ซึ่งหลังจากนี้ เชื่อว่าการเมืองจะเริ่มตรึงเครียดมากขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นเปราะๆ ไป จนสุดท้ายแล้วคงหาทางออกอย่างประนีประนอมไม่ได้ เนื่องจากมีความแตกแยกของอุดมการณ์อย่างชัดเจน

“หลังจากผ่านการอภิปรายไม่ไว้วางใจแล้ว เชื่อว่ากลุ่มพันธมิตรฯ ก็น่าจะกดดันต่อ นอกจากนั้น ยังมีคดีการยุบพรรค การโยกย้ายทหารรออยู่ และยังไม่รวมกรณีของเขาพระวิหาร ที่กำลังขยายวงมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งในไทยเองและกัมพูชาด้วยอย่างไรก็ตาม ในช่วงที่มีปัญหาทางการเมืองในช่วงนี้ ถือเป็นโอกาสดีในการซื้อลงทุน”นายศุภวุฒิกล่าว

ด้านนายวิศิษฐ์ องค์พิพัฒนกุล กรรมการบริหารสายงานวิจัย บล. ทิสโก้ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปัญหาเงินเฟ้อทั่วโลกในขณะนี้ น่าจะถึงจุดต่ำสุดในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี เช่นเดียวกับในประเทศไทย ซึ่งมองว่าไม่น่าจะเป็นปัจจัยลบถาวร และเมื่อปัญหาเรื่องเงินเฟ้อจบไปแล้ว ตลาดหุ้นก็จะกลับมา โดยหุ้นกลุ่มที่น่าสนใจในช่วงนี้ คือ หุ้นกลุ่มน้ำมัน ซึ่งหากพิจารณาถึงผลประกอบการที่จะออกมาในช่วงไตรมาส 2 หุ้นหลายตัวมีกำไรเพิ่มขึ้นถึง 40-50% โดยเฉพาะหุ้นโรงกลั่น ปิโตรเคมีที่ราคาลงไปค่อนข้างลึก ส่วนหุ้นกลุ่มแบงก์ปัญหาเอ็นพีแอลน่าจะยังไม่เห็นในช่วงไตรมาส 2 โดยหุ้นที่ราคาลงไปลึกก็น่าสนใจเช่นกัน ทั้งนี้ มองว่าดัชนีหุ้นในช่วงครึ่งหลังของปีจะเคลื่อนไหวอยู่ที่ 700-895 จุด และ 700-1100 จุดในปีหน้า

นายสุขวัตน์ ประเสริฐยิ่ง ประธานเจ้าหน้าที่สายการลงทุน บลจ.แมนูไลฟ์ กล่าวว่า ในระยะยาวตลาดหุ้นในเอเชีย ประเทศเกิดใหม่ รวมถึงไทยยังน่าลงทุน เพราะยังเป็นประเทศที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจค่อนข้างสูง แต่จากปัญหาเงินเฟ้อที่เกิดขึ้น ส่งผลให้นักลงทุนให้ไปลงทุนสินทรัพย์อื่นๆ ที่ให้ผลตอบแทนเอาชนะเงินเฟ้อได้พอสมควร

อย่างไรก็ตาม สำหรับไทยมองว่าจังหวะนี้ถือเป็นจังหวะของการลงทุน ถึงแม้จะมีปัญหาการเมืองอยู่แต่ก็ถือเป็นเรื่องปกติของกลุ่มประเทศเกิดใหม่ ประกับกับที่ผ่านมา มีหุ้นหลายตัวราคาปรับลดลงต่ำกว่าปัจจัยพื้นฐาน ดังนั้น หุ้นที่สามารถจัดการต้นทุนที่เพิ่มขึ้นได้ดี น่าจะเป็นหุ้นที่น่าสนใจลงทุน เช่น หุ้นสื่อสารที่ไม่มีต้นทุนเพิ่ม ส่วนหุ้นน้ำมันเองที่น่าสนใจอยู่แล้ว ส่วนหุ้นที่ไม่น่าสนใจคงจะเป็นกลุ่มขนส่ง รวมถึงหุ้นกลุ่มก่อสร้าง ที่ไม่สามารถผลักภาระต้นทุกออกไปได้
กำลังโหลดความคิดเห็น