xs
xsm
sm
md
lg

ฟินันซ่าโกลบอลคอมมอดิตี้ แชมป์FIFผลตอบแทนสูงสุดเดือนพ.ค.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

หากมองย้อนกลับไปในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ความต้องการบริโภคสินค้าต่างๆ มีการขยายตัวเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของน้ำมัน ข้าว หรือแม้แต่โลหะจำพวกแร่เหล็กต่าง ที่ราคาปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมาในช่วงที่ผ่านมา ทำให้บรรดานักลงทุนต่างมองเห็นความต้องการจากผู้บริโภคที่เพิ่มมากขึ้นเป็นเงาตามตัว และดูว่าจะไม่ลดน้อยถอยลงไปเลย จึงทำให้นักลงทุนหันมาให้ความสนใจลงทุนในกลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์ (คอมมอดิตี้) มากยิ่งขึ้น และยังผลักดันให้มีการลงทุนในคอมมอดิตี้ ในต่างประเทศเพิ่มขึ้นอีกด้วย

คอลัมน์ "Best of Fund" ฉบับนี้ จึงขอตามกระแส ด้วยการหยิบเอาผลการดำเนินงานของกองทุนที่ลงทุนในต่างประเทศที่ให้ผลตอบแทนสูงสุด 10 อันดับมานำเสนอ พร้อมเปิดกลยุทธ์การลงทุนของบริษัทที่ได้อันดับที่ 1 มานำเสนออีกด้วย ว่าอะไรเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้กองทุนมีผลตอบแทนสูงสุดในรอบเดือน

สำหรับกองทุนที่ให้ผลตอบแทนสูงสุดมาเป็นอันดับ 1 คือ กองทุนฟินันซ่า โกลบอล คอมมอดิตี้ ภายใต้การบริหารของ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.)ฟินันซ่า จำกัด โดยมีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิที่ 1,304.54 ล้านบาท มีผลตอบแทนย้อนหลังตั้งแต่ต้นปีอยู่ที่ 25.72% และสามารถให้ผลตอบแทนสูงกว่าดัชนีตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่ 33.25% อันดับ 2 กองทุนเปิดเอ็มเอฟซีอินเตอร์เนชั่นแนลแนชเชอรัลรีซอร์สฟันด์ภายใต้การบริหารของ บลจ.เอ็มเอฟซีโดยมีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิที่ 229.61 ล้านบาท มีผลตอบแทนย้อนหลังตั้งแต่ต้นปีอยู่ที่ 19.36% และสามารถให้ผลตอบแทนสูงกว่าดัชนีตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่ 26.92%

อันดับ 3 กองทุนเปิดหน่วยลงทุนทิสโก้ พันธบัตรออสเตรเลีย ภายใต้การบริหารของ บลจ.ทิสโก้ โดยมีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิที่ 1288.9 ล้านบาท มีผลตอบแทนย้อนหลังตั้งแต่ต้นปีอยู่ที่ 5.41% และสามารถให้ผลตอบแทนสูงกว่าดัชนีตลาดหลักทรัพย์ฯที่ 12.97% อันดับ 4 กองทุนเปิดกรุงไทยดอยซ์ แบงก์ เอฟเอ็กซ์ คุ้มครองเงินต้น ภายใต้การบริหารของ บลจ.กรุงไทย โดยมีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิที่ 845.73 ล้านบาท มีผลตอบแทนย้อนหลังตั้งแต่ต้นปีอยู่ที่ 5.41% และสามารถให้ผลตอบแทนสูงกว่าดัชนีตลาดหลักทรัพย์ฯที่ 12.97%

อันดับ 5 กองทุนเปิดกองทุนเปิดแอสเซทพลัสนิปปอนโกรท ภายใต้การบริหารของ บลจ.แอสเซทพลัส โดยมีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิที่ 602.59 ล้านบาท มีผลตอบแทนย้อนหลังตั้งแต่ต้นปีอยู่ที่ 4.43% และสามารถให้ผลตอบแทนสูงกว่าดัชนีตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่ 11.99% อันดับ 6 กองทุนเปิดธนชาตโกลบอล บอนด์ ฟันด์ ภายใต้การบริหารของ บลจ.ธนชาต โดยมีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิที่ 1,386.39 ล้านบาท มีผลตอบแทนย้อนหลังตั้งแต่ต้นปีอยู่ที่ 3.61% และสามารถให้ผลตอบแทนสูงกว่าดัชนีตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่ 11.17%

อันดับ 7 กองทุนเปิดบีที FIFโกลด์ ลิงค์ ฟันด์ 2 ภายใต้การบริหารของ บลจ. บีทีโดยมีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิที่ 772.93 ล้านบาท มีผลตอบแทนย้อนหลังตั้งแต่ต้นปีอยู่ที่ 3.58% และสามารถให้ผลตอบแทนสูงกว่าดัชนีตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่ 11.14% อันดับ 8 กองทุนเปิดเปิดเค โกลบอล อิควิตี้ ภายใต้การบริหารของ บลจ. กสิกรไทย โดยมีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิที่ 1669.31 ล้านบาท มีผลตอบแทนย้อนหลังตั้งแต่ต้นปีอยู่ที่ 3.46% และสามารถให้ผลตอบแทนสูงกว่าดัชนีตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่ 11.02%

อันดับ 9 กองทุนเปิดพรีมาเวสท์ (ไทยแลนด์) อีเมอร์จิ้ง มาร์เก็ต บอนด์ ฟันด์ ภายใต้การบริหารของ บลจ.พรีมาเวสท์ โดยมีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิที่ 140.6 ล้านบาทให้ผลตอบแทนย้อนหลังตั้งแต่ต้นปีอยู่ที่ 3.21% และสามารถให้ผลตอบแทนสูงกว่าดัชนีตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่ 10.77% และอันดับ 10 กองทุนเปิดบีที FIFโกลด์ ลิงค์ ฟันด์ 3 ภายใต้การบริหารของ บลจ.บีที โดยมีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิที่ 760.46 ล้านบาท ให้ผลตอบแทนย้อนหลังตั้งแต่ต้นปีอยู่ที่ 2.99% และสามารถให้ผลตอบแทนสูงกว่าดัชนีตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่ 10.55%

เปิดกลยุทธ์การลงทุน
กองทุนเปิดหน่วยลงทุนฟินันซ่า โกลบอล คอมมอดิตี้ หรือ Finansa Global Commodities Fund (FAM GCF) เป็นกองทุนรวมหน่วยลงทุนที่ลงทุนในต่างประเทศ โดยไม่มีกำหนดอายุของโครงการ ซึ่งกองทุนได้รับการอนุมัติให้จัดตั้งกองทุนเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2549 และเข้าจดทะเบียนในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ด้วยมูลค่าโครงการ 3,000 ล้านบาท

โดยกองทุนดังกล่าวมีนโยบายที่จะนำเงินส่วนใหญ่ที่ได้จากการจำหน่ายหน่วยลงทุนไปลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุนในต่างประเทศเพียงกองทุนเดียว คือ กองทุน UBS (Lux) Stuctured Sicav – Rogers International Commodity Index ที่มีนโยบายหลักในการลงทุนในตราสารทุนที่มีการดำเนินการด้วยวิธีการใด ๆ เพื่อสร้างผลการดำเนินงานของกองทุนให้มีมูลค่าใกล้เคียงหรือเช่นเดียวกับผลตอบแทนจากการลงทุนในดัชนีสินค้าโภคภัณฑ์ Rogers International Commodity Index โดยตรง โดยกองทุนดังกล่าวจดทะเบียนในประเทศลักเซมเบอร์ก และบริหารจัดการโดย UBS Global Asset Management

สำหรับส่วนแบ่งตามประเภทของหลักทรัพย์ที่กองทุนเข้าไปลงทุน ณ เดือนเมษายน 2551 ประกอบด้วย 1. น้ำมันปิโตรเลียม 41.00% 2. เมล็ดธัญพืช 19.9% 3. โลหะที่ใช้ในอุตสาหกรรม 14.00% 4. โลหะมีค่า 7.10% 5. สินค้าเกษตร 5.70% 6. เส้นใยต่าง ๆ 4.30% 7. ปศุสัตว์ 3.00% 8. ก๊าซธรรมชาติ 3.00% และ 9. อื่น ๆ 2.00%

ส่วน 10 รายการที่มีกองทุนให้น้ำหนักเข้าไปลงทุนสูงสุด ณ เดือนเมษายน 2551 แบ่งออกเป็น 1. น้ำมันดิบ 35.00% 2. ข้าวสาลี 7.00% 3. ข้าวโพด 4.75% 4. ฝ้าย 4.10% 5. อลูมิเนียม 4.00% 6. ทองแดง 4.00% 7. ทองคำ 3.00% 8. น้ำมันไร้สารตะกั่ว 3.00% 9. ก๊าซธรรมชาติ 3.00% และ 10. ถั่งเหลือง 3.00%

นอกจากนี้ กองทุนเปิด FAM GCF มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ ณ วันที่ 11 มิถุนายน 2551 อยู่ที่1,415 ล้านบาท มีมูลค่าหน่วยลงทุนที่ 15.9582 บาท

ธีระ ภู่ตระกูล ประธานกรรมการเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ฟินันซ่า จำกัด เปิดเผยว่า กองทุนเปิดหน่วยลงทุนฟินันซ่า โกลบอล คอมมอดิตี้ ฟันด์ (FAM GCF) เป็นกองทุนที่สามารถให้ผลตอบแทนที่ดีแก่นักลงทุนขณะนี้ เนื่องจากว่ากองทุนดังกล่าวนั้นสามารถเอาชนะเงินเฟ้อ

ทั้งนี้ สาเหตุกลุ่มโภคภัณฑ์ (คอมมูนิตี้) ให้ผลตอบแทนที่ดีนั้น เพราะปัจจุบันผลกระทบจากปัญหาภาวะโลกร้อนรวมถึงในเรื่องของราคาน้ำมันที่มีการปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้ราคากลุ่มโภคภัณฑ์มีการปรับตัวสูงขึ้น ดังนั้น หมวดธุรกิจดังกล่าวจึงสามารถให้ผลตอบแทนที่ดีแก่นักลงทุนได้
กำลังโหลดความคิดเห็น