xs
xsm
sm
md
lg

เงินเฟ้อพุ่งกดเงินฝากขาดทุน บลจ.จับจังหวะส่งบอนด์สั้น-ยาวเพิ่มทางเลือก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

บลจ.ระดมออกกองทุนตราสารหนี้เพิ่มทางเลือกนักลงทุน หลังเงินเฟ้อพุ่ง 7.6% ฉุดผู้ฝากเงินขาดทุน "แอสเซทพลัส" ชี้ เงินเฟ้อทั่วโลกกดผลตอบแทนสุทธิในตลาดเงินมีแนวโน้มลดลง จับจังหวะแนวโน้มดอกเบี้ยขาขึ้น ส่งกองทุนระยะสั้น 3 เดือน ลงทุนบอนด์ในประเทศ ให้ยิลด์ 3.10% ต่อปี ด้าน"เอวายเอฟ-ธนชาต" ชูกองพันธบัตรเกาหลีใต้ เอาใจนักลงทุนที่ชอบกระจายความเสี่ยง

รายงานข่าวเปิดเผยว่า จากภาวะเงินเฟ้อที่ปรับตัวสูงขึ้นมในระดับ 7.6% ในปัจจุบัน ทำให้นักลงทุนที่ฝากเงินกับธนาพาณิชย์ส่วนใหญ่ขาดทุน เพราะอัตราดอกเบี้ยเงินฝากอยู่ในระดับตํ่ากว่าอัตราเงินเฟ้อค่อนข้างมาก ซึ่งปัจจัยดังกล่าว ส่งผลให้นักลงทุนเริ่มมองหาการลงทุนในสินทรัพย์อื่นๆ ที่สูงกว่าและสามารถเอาชนะเงินเฟ้อในระดับดังกล่าวได้ ซึ่งการลงทุนในกองทุนรวมเป็นทางเลือกหนึ่งที่สามารถให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าการฝากเงิน และจากแนวโน้มดังกล่าว ส่งผลให้บริษัทจัดการกองทุนต่างพากันออกกองทุนระยะสั้นๆ เพื่อลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อเสนอเป็นทางเลือก โดยกองทุนที่ได้รับความสนใจ ยังเป็นกองทุนตราสารหนี้ ที่ความเสี่ยงไม่มาก และยังมีโอกาสได้รับผลตอบแทนที่ดีจากอัตราดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มสูงขึ้น

นางลดาวรรณ เจริญรัชต์ภาคย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) แอสเซท พลัส จำกัด ระบุว่า ตัวเลขเงินเฟ้อเดือนพฤษภาคมปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงถึง 7.6% โดยทำสถิติสูงสุดในรอบ 9 ปี ที่ผ่านมา ซึ่งเกิดจากแรงกดดันของราคาสินค้า ทั้งในหมวดอาหาร และสินค้าชนิดอื่น โดยเฉพาะต้นทุนราคาน้ำมันที่ส่งผลกระทบไปยังต้นทุนการผลิต ทั้งนี้หากราคาน้ำมันยังคงทรงตัวในระดับสูง คาดว่าเงินเฟ้อในช่วงที่เหลือของปีนี้อาจสูงถึง 10% ใกล้เคียงกับราคาสูงสุดที่ 10.6% ในปี 2541

โดยปัจจุบันด้านต้นทุนราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นรุนแรง ได้กดดันเงินเฟ้อทั่วโลก ส่งผลให้ผลตอบแทนสุทธิในตลาดเงินมีแนวโน้มลดลง และเป็นแรงผลักดันให้ธนาคารกลางหลายแห่งของโลก หันมาใช้นโยบายการเงินตึงตัวมากขึ้น ส่วนประเทศไทยคาดว่าธนาคารแห่งประเทศไทยจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในช่วงครึ่งปีหลังนี้ หลังจากที่คงไว้ที่ระดับ 3.25% แม้ว่าจะมีความกังวลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ภายในประเทศที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่นในการลงทุนก็ตาม

นอกจากนี้ แนวโน้มดอกเบี้ยที่จะปรับตัวขึ้น ทำให้บริษัทฯ เริ่มนำเสนอการลงทุนในตราสารหนี้ในประเทศ ระยะสั้น ๆ เพื่อให้ผู้ลงทุนมีช่องทางการลงทุนที่รับกับจังหวะการปรับตัวขึ้นของอัตราดอกเบี้ยในอนาคต ทั้งนี้ ผลตอบแทนของตราสารหนี้ระยะสั้นในประเทศเริ่มกลับมาอยู่ในระดับที่น่าสนใจ เมื่อเปรียบเทียบกับการลงทุนระยะสั้นในตราสารหนี้ต่างประเทศ

ทั้งนี้ เพื่อตอบสนองความต้องการของนักลงทุนที่มองหาการลงทุนในตราสารหนี้ระยะสั้น บริษัทฯ จึงเสนอขายกองทุนเปิด แอสเซทพลัสทวีเงินออม 3 (ASP-MMF3) เน้นลงทุนในตราสารหนี้คุณภาพในประเทศที่ผู้ออกได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือในระดับที่สามารถลงทุนได้ (Investment grade) รอบการลงทุนทุก 3 เดือน ผลตอบแทนเฉลี่ยของตราสารที่คาดว่าจะลงทุนประมาณ 3.30% ซึ่งหลังจากหักค่าใช้จ่ายทั้งหมดประมาณ 0.20% แล้ว คาดว่าผลตอบแทนจากการลงทุนจะอยู่ในระดับ 3.10% ต่อปี

สำหรับ กองทุนเปิดแอสเซทพลัสทวีเงินออม 3 (ASP-MMF3) เป็นกองทุนประเภท กองทุนรวมผสมที่ไม่มีการลงทุนในตราสารทุนประเภทรับซื้อคืนหน่วยลงทุนและมีการกระจายการลงทุนน้อยกว่าเกณฑ์มาตรฐาน มีมูลค่าโครงการ 2,000 ล้านบาท โดยมีนโยบายการลงทุนในตราสารแห่งหนี้ ตราสารกึ่งหนี้กึ่งทุน ตราสารทางการเงิน และ/หรือเงินฝาก โดยอาจจะพิจารณาลงทุนในตราสารหนี้ต่างประเทศสัญญาซื้อขายล่วงหน้าเพื่อป้องกันตวามเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน และตราสารหนี้ที่มีลักษณะของสัญญาซื้อขายล่วงหน้าแฝง

นายประภาส ตันติพิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่การลงทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) อยุธยา จำกัด เปิดเผยว่า กระแสการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลประเทศเกาหลีใต้ในขณะนี้ได้รับความสนใจจากนักลงทุนอย่างมาก โดยหลักจากที่บริษัทได้เปิดขายกองทุนเปิดอยุธยาตราสารหนี้พลัส 3M2 และ กองทุนเปิดอยุธยาตราสารหนี้พลัส 6M3 ไปเมื่อวัน 4 มิถุนายนนั้น ทั้ง 2 กองได้รับการตอบรับที่ดีจากนักลงทุน ซึ่งมองการลงทุนในช่วงนี้ว่าเป็นช่วงที่อัตราดอกเบี้ยอยู่ในช่วงขาขึ้นรวมทั้งบรรดาธนาคารต่างๆเริ่มส่งสัญญาณในการขึ้นอัตราดอกเบี้ยด้วยเช่นกัน ทำให้นักลงทุนส่วนใหญ่หันมาลงทุนในช่วงระยะเวลาประมาณ 3 - 6 เดือนมากขึ้น โดยกระแสการลงทุนในช่วงระยะสั้นๆนี้น่าจะได้รับความสนใจไปถึงช่วงประมาณปีหน้า

ทั้งนี้ ในเรื่องของผลตอบแทน นายประภาส กล่าวว่า กองทุนเปิดอยุธยาตราสารหนี้พลัส 3M2 ให้ผลตอบแทนอยู่ที่ 3.00% ส่วน กองทุนเปิดอยุธยาตราสารหนี้พลัส 6M3 อยู่ที่ 3.25%

สำหรับ กองทุนเปิดอยุธยาตราสารหนี้พลัส 3M2 (AYF Fixed Income Plus 3M2 Fund : AYF3MPLS2) เป็นกองทุนประเภท กองทุนรวมตราสารแห่งหนี้ต่างประเทศที่มีการกระจายการลงทุนน้อยกว่าเกณฑ์มาตรฐาน อายุประมาณ 3 เดือน มีมูลค่าโครงการ 1,500 ล้านบาท โดยมีนโยบาการลงทุนอย่างน้อยร้อยละ 80 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนไปลงทุนในตราสารหนี้ที่เสนอขายในต่างประเทศที่ได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือใน 2 อันดับแรก ส่วนที่เหลือจะลงทุนในเงินฝากและ/หรือตราสารหนี้ในประเทศที่มีอายุไม่เกิน 1 ปี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการสำรองเงินไว้สำหรับการดำเนินงาน รอการลงทุน หรือรักษาสภาพคล่องของกองทุน ทั้งนี้ กองทุนอาจพิจารณาลงทุนในสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่มีตัวแปรเป็นอัตราแลกเปลี่ยนเงิน
 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการลดความเสี่ยง (hedging) โดยให้เป็นไปตามเงื่อนไขและหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ( ก.ล.ต.) หรือสำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต. ประกาศกำหนด และจะไม่ลงทุนในตราสารที่มีลักษณะของสัญญาซื้อขายล่วงหน้าแฝง (Structured Note)
ส่วน กองทุนเปิดอยุธยาตราสารหนี้พลัส 6M3 (AYF Fixed Income Plus 6M3 Fund : AYF6MPLS3) เป็นกองทุนประเภทกองทุนตราสารหนี้ต่างประเทศอายุประมาณ 6 เดือน มูลค่าโครงการ 1,500 ล้านบาท โดยมีนโยบาการลงทุนเหมือนกับ กองทุนเปิดอยุธยาตราสารหนี้พลัส 3M2

ขณะเดียวกันรายงานข่าวจาก บลจ. ธนชาต เปิดเผยว่าบริษัทได้ออกองทุน 2 กองทุนได้แก่ กองทุนเปิดธนชาตตราสารหนี้ต่างประเทศ 7 (T-FixFIF7) และ กองทุนเปิดธนชาตตราสารหนี้ต่างประเทศ 8 (T-FixFIF8) ซึ่งเปิดขายตั้งแต่วันที่ 4 - 10 มิถุนายน 2551

โดย กองทุนเปิดธนชาตตราสารหนี้ต่างประเทศ 7 (T-FixFIF7) เป็นกองทุนประเภท กองทุนรวมตราสารแห่งหนี้ ประเภทรับซื้อคืนหน่วยลงทุน ที่มีการกระจายการลงทุนน้อยกว่าเกณฑ์มาตรฐาน อายุโครงการ ประมาณ 5 -7 เดือน มีมูลค่าโครงการ 1,400 ล้านบาท โดยในระหว่างระยะเวลาการเสนอขายหน่วยลงทุนครั้งแรก อาจเสนอขายหน่วยลงทุนเกินจำนวนเงินทุนของโครงการได้ไม่เกิน 210 ล้านบาท มีนโยบายเน้นลงทุนในหลักทรัพย์ และ/ หรือทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับตราสารแห่งหนี้ เงินฝาก และ/ หรือตราสารทางการเงินต่างๆ ของภาครัฐและ/ หรือเอกชน โดยกองทุนจะลงทุนในตราสารแห่งหนี้ต่างประเทศไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนกองทุนเปิดธนชาตตราสารหนี้ต่างประเทศ 8 2ซึ่งการลงทุนดังกล่าวจะต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ประกาศคณะกรรมการ ก.ล.ต. หรือประกาศสำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต. หรือ กฎหมายที่เกี่ยวข้องกำหนด หรือตามที่สำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต. เห็นชอบให้ลงทุนได้

ทั้งนี้ กองทุนอาจลงทุนในสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (Derivatives) เพื่อป้องกันความเสี่ยง (Hedging) และ/หรือจัดให้มีการป้องกันความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับการลงทุน เช่น อัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา ที่อาจเกิดขึ้นได้จากการลงทุนในต่างประเทศตามความเหมาะสม และสภาวการณ์ในแต่ละขณะ โดยจะไม่ลงทุนในสัญญาซื้อขายล่วงหน้าเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ตอบแทน และตราสารที่มีลักษณะของสัญญาซื้อขายล่วงหน้าแฝง (Structured Note)

ขณะที่ กองทุนเปิดธนชาตตราสารหนี้ต่างประเทศ 8 (T-FixFIF8) ประเภท กองทุนรวมตราสารแห่งหนี้ ประเภทรับซื้อคืนหน่วยลงทุน ที่มีการกระจายการลงทุนน้อยกว่าเกณฑ์มาตรฐานอายุโครงการ ประมาณ 22 - 24 เดือน จำนวนเงินทุนของโครงการ 1,400 ล้านบาท โดยในระหว่างระยะเวลาการเสนอขายหน่วยลงทุนครั้งแรก อาจเสนอขายหน่วยลงทุนเกินจำนวนเงินทุนของโครงการได้ไม่เกิน 210 ล้านบาท โดยมีนโยบายการลงทุน เหมือนกับ กองทุนเปิดธนชาตตราสารหนี้ต่างประเทศ 7 โดยทั้ง 2 กองทุน เป็นกองทุนที่ลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลประเทศเกาหลีใต้
กำลังโหลดความคิดเห็น