xs
xsm
sm
md
lg

ภาวะตลาดตราสารหนี้เดือนเมษายน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


คอลัมน์คุยกับผู้จัดการกองทุน
โดย บลจ.แอสเซท พลัส

ภาวะตลาดตราสารหนี้ในประเทศ yield curve ตั้งแต่อายุ 1-3 ปี ปรับตัวเพิ่มขึ้น 30-58 bps. ในขณะที่ yield 10 ปีขึ้นไป ปรับตัวเพิ่มขึ้นเพียง 15 bps. เนื่องจากความกังวลต่อการพุ่งขึ้นของอัตราเงินเฟ้อ และตลาดคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) น่าจะเข้าใกล้จุดต่ำสุดของวงจรการลดดอกเบี้ยแล้ว ส่งผลให้ yield curve มีความชันลดลง (Bear Flattening) โดยส่วนต่าง yield 2-10 ปี ลดลงจาก 152 bps. เป็น 117 bps.

ด้านตัวเลขเศรษฐกิจที่ออกมาในเดือนมีนาคม แสดงให้เห็นถึงการขยายตัวของเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง โดยดัชนีภาคการผลิต (MPI) ปรับเพิ่มขึ้น 10.1% YoY และดัชนีการบริโภคภาคเอกชน (PCI) เพิ่มขึ้น 6.80% YoY เทียบกับ 6.00% ในเดือนกุมภาพันธ์ 2551 ส่วนดัชนีการลงทุนภาคเอกชน (PII) ขยายตัวที่ 7.20% YoY เทียบกับ 5.60% ในเดือนกุมภาพันธ์ 2551 นอกจากนี้ ตัวเลขการนำเข้าสินค้าเพื่อการบริโภค และตัวเลขการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ที่เพิ่มขึ้นก็บ่งชี้ถึงการขยายตัวของการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภค อีกทั้งตัวเลขการใช้กำลังการผลิต (Capacity Utilization) ปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 74.6% เฉลี่ยทั้งปี 2550 เป็น 78% ในเดือนมีนาคม 2551

ด้านดุลการค้าเดือนมีนาคมกลับมาเป็นยอดเกินดุล 342 ล้านดอลล่าสหรัฐฯ หลังจากขาดดุลในเดือนกุมภาพันธ์ เนื่องจากการขยายตัวของการนำเข้า ซึ่งโตสูงถึง 31.20% YoY หรือ 14,306 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่การส่งออกขยายตัวลดลงเหลือ 15.10% YoY หรือ 14,648 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ นำโดยการส่งออกสินค้าเกษตรจากการที่ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ปรับตัวดีขึ้น

นอกจากนี้ รายได้จากภาคบริการกว่า 579 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดปรับตัวดีขึ้นเป็นบวกอยู่ 920 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

อัตราเงินเฟ้อทั่วไป และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจาก 5.30% และ 1.70% ในเดือนมีนาคม เป็น 6.20% และ 1.80% ตามลำดับในเดือนเมษายน ซึ่งเป็นอัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่สูงที่สุดในรอบ 23 เดือน

กลยุทธ์การลงทุน
บลจ.แอสเซท พลัส ปรับลด Duration ของ Portfolio ลงเหลือ 0.5-1.0 ปี หลังจากปรับเปลี่ยนมุมมองว่า ธปท. อาจจะคงอัตราดอกเบี้ย RP-1 วัน ไปจนสิ้นปี 2551 เพื่อควบคุมภาวะเงินเฟ้อ


กำลังโหลดความคิดเห็น