xs
xsm
sm
md
lg

ภาวะตลาดตราสารหนี้ - ทุน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

 ตลาดตราสารหนี้

 สถานการณ์ในเดือนเมษายน

มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยแบบ Outright ต่อวันในเดือนเมษายน 2551 ของตลาดตราสารหนี้เพิ่มขึ้นเป็น 84.209 พันล้านบาทจาก 66.39 พันล้านบาทในเดือนก่อนหน้า โดยดัชนีพันธบัตรรัฐบาลมีอัตราผลตอบแทนปรับตัวลดลงคิดเป็นร้อยละ -1.14 และดัชนีหุ้นกู้ภาคเอกชนมีอัตราผลตอบแทนปรับตัวลดลงเช่นกันโดยคิดเป็นอัตราผลตอบแทนร้อยละ -0.81 ณ สิ้นเดือนเมษายน ดัชนีพันธบัตรรัฐบาลมีอัตราผลตอบแทนเฉลี่ยร้อยละ 4.69 และมีอายุเฉลี่ยเท่ากับ 5.34 ปี ในขณะที่ดัชนีหุ้นกู้ภาคเอกชนมีอัตราผลตอบแทนเฉลี่ยร้อยละ 4.89 และอายุเฉลี่ยเท่ากับ 2.92 ปี อัตราผลตอบแทนมีคามผันผวน โดยอัตราผลตอบแทนระยะสั้นตั้งแต่ อายุ 1-6 เดือนปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.01 ถึง 0.20 พันธบัตรระยะสั้นอายุ 1-3 ปีปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.30 ถึง 0.58 พันธบัตรระยะกลางอายุ 4-10 ปีปรับตัวเพิ่มขึ้นในช่วงร้อยละ 0.15 ถึง 0.50 และพันธบัตรระยะยาวปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.15 ถึง 0.25

 
แนวโน้ม

สภาวะตลาดในเดือนพฤษภาคม ยังไม่เห็นปัจจัยบวกเข้ามากระตุ้นตลาดตราสารหนี้เท่าที่ควร ทิศทางยังคงผันผวนตามภาวการณ์เรื่องอัตราดอกเบี้ยภายในประเทศ การประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันที่ 21 พฤษภาคม 51 น่าจะเป็นตัวกำหนดทิศทางในการลงทุน โดยอัตราเงินเฟ้อที่ยังคงอยู่ในระดับสูง ทำให้ตลาดมองว่าคณะกรรมการนโยบายการเงินจะยังไม่ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ดังนั้นในช่วงนี้นักลงทุนเน้นการลงทุนในตราสารระยะสั้น เพื่อหลีกเลี่ยงความผันผวนของราคา

#กลยุทธ์ประจำเดือน

กลยุทธ์การลงทุนคือ เน้นการลงทุนในตราสารหนี้ระยะสั้น

 
ตลาดตราสารทุน

 
ตัวเลขเศรษฐกิจ
- อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับตัวสูงขึ้นมาก เพิ่มขึ้นร้อยละ6.2 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน กระทรวงพาณิชย์รายงานตัวเลขอัตราเงินเฟ้อทั่วไปของเดือนเมษายนว่าสูงสุดในรอบ 2 ปี เพิ่มขี้นร้อยละ 6.2 จากร้อยละ 5.3 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และสูงเกินกว่าที่ตลาดคาดการณ์ร้อยละ 5.2 โดยปัจจัยผลักดันสำคัญให้เงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้นเกิดจากหมวดพลังงาน (ราคาโดยรวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 16.8 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน หรือร้อยละ 3.2 จากเดือนที่แล้ว) และหมวดอาหารสด (ราคาโดยรวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 14 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน หรือร้อยละ 5 จากเดือนที่แล้ว) แต่สำหรับในช่วงสี่เดือนแรกของปี 2551 นี้ ราคาน้ำมันดิบดูไบปรับตัวสูงขึ้นกว่าร้อยละ 55 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน สำหรับราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศได้ปรับเพิ่มขึ้นถึง 7 ครั้งในเดือนเมษายน เนื่องจากราคาน้ำมันดิบดูไบสูงเกินกว่าระดับ 100 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรลนับตั้งแต่วันที่ 10 เมษายน โดยล่าสุดคงตัวอยู่ที่ระดับ 104.7 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ณ วันที่ 1 พฤษภาคม 2551

- อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานปรับตัวสูงขึ้นเช่นกัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.1 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในเดือนเมษายน ปรับตัวขึ้นร้อยละ 2.1 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน (เทียบกับเดือนที่ผ่านมาที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.7 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน) ซึ่งเกินกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ว่าจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.9 สาเหตุที่ขึ้นค่อนข้างสูงนี้เป็นเพราะการปรับขึ้นของราคาสินค้าในหมวดพลังงานและหมวดอาหารสดที่ได้ส่งผลกระทบผ่านมาที่ต้นทุนของสินค้าโภคภัณฑ์อย่างรวดเร็ว

- ดัชนีราคาผู้ผลิตยังคงเพิ่มสูงขึ้น ร้อยละ 12.7 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ดัชนีราคาผู้ผลิตในเดือนเมษายน ปรับตัวสูงขึ้นเช่นกันที่ระดับร้อยละ 12.7 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน หรือร้อยละ 3.4 จากเดือนที่แล้ว โดยราคาสินค้าในหมวดผลผลิตทางเกษตรกรรมและหมวดผลิตภัณฑ์ทางอุตสาหกรรมเพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 15.4 และร้อยละ 12.6 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ สาเหตุที่ปรับตัวขึ้นแรงเพราะการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าเกษตร ราคาอาหารและราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นอย่างรุนแรงเช่นกัน

 
สรุปภาวะตลาด

SET ค่อยๆปรับตัวขึ้นจาก 817.03 จุด สู่ 832.45 จุด เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.89 (มีจุดสูงที่ 853.50 จุด) เพราะภาพรวมภายในประเทศปรับตัวดีขึ้น ทั้งๆที่อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้น คณะกรรมการนโยบายการเงินคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับร้อยละ 3.25 ในการประชุมเมื่อวันที่ 9 เมษายน 2551 SET อยู่ในระดับที่ค่อนข้างทรงตัวในครึ่งแรกของเดือนเมษายน เพราะเป็นช่วงเทศกาลวันหยุด Easter และสงกรานต์ แต่ภายหลังเทศกาลวันหยุดได้ผ่านไป SET ก็ยังไม่สามารถผ่านระดับ 850 จุด (จุดสูงอยู่ที่ 853.50 จุด) ได้เนื่องจากนักลงทุนทยอยทำกำไรขายหุ้นในกลุ่มธนาคารออกหลังจากหุ้นธนาคารประกาศผลประกอบการไตรมาส 1 ปี 2551 ไปเข้าลงทุนในกลุ่มพลังงาน โดยเฉพาะในหุ้น PTTEP และ PTT เนื่องจากราคาน้ำมันได้ทำสถิติสูงสุดใหม่ที่ 119.37 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล และในช่วงเวลาที่เหลือของเดือนเมษายน นักลงทุนในตลาดไปให้ความสนใจกับการประกาศผลประกอบการณ์ของหุ้นขนาดใหญ่ในขณะที่รอการเคลื่อนไหวของธนาคารกลางสหรัฐฯ (ตลาดคาดว่าจะลดอัตราดอกเบี้ยลงร้อยละ 0.25)

แนวโน้มตลาดเดือนพฤษภาคม

เราเชื่อว่าดัชนีตลาดฯน่าจะเคลื่อนตัวอยู่ในช่วงแคบๆต่อไปในเดือนพฤษภาคมนี้ คาดว่าจะทรงตัวอยู่ในกรอบ 820 – 850 ระดับเดียวกันกับเมื่อเดือนเมษายน เนื่องจาก SET ยังขาดปัจจัยสำคัญใหม่ๆมาหนุน ในขณะที่ปัจจัยทางการเมืองอาจจะส่งผลลบกับบรรยากาศการลงทุนซึ่งโดยรวมอาจทำให้ SET ปรับตัวลงได้ แต่คาดว่าจะไม่รุนแรงมาก เนื่องจากนักลงทุนส่วนใหญ่คาดการณ์ไว้แล้วว่าสถานการณ์การเมืองที่ไม่แน่นอนจะเป็นปัจจัยเสี่ยงระยะสั้นต่อการลงทุนเท่านั้น ดังนั้นหุ้นไทยมีโอกาสที่จะเคลื่อนไหวไปตามกระแสข่าวจากต่างประเทศเป็นหลัก

กลยุทธ์ประจำเดือนพฤษภาคม

ให้น้ำหนักการลงทุนมากกว่าตลาดในหมวดพลังงาน ธนาคารขนาดใหญ่ และอสังหาริมทรัพย์ ให้น้ำหนักเท่ากับตลาดในหมวดสื่อสาร ห้น้ำหนักการลงทุนน้อยกว่าตลาดในหมวดปิโตรเคมี และวัสดุก่อสร้าง
กำลังโหลดความคิดเห็น