xs
xsm
sm
md
lg

เลือก บลจ. อย่างไร… ให้มั่นใจในการลงทุน (1)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คอลัมน์ บัวหลวง Money Tips

ปัจจุบันธุรกิจกองทุนรวมได้รับความนิยมมากขึ้นอย่างแพร่หลาย มีบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนเกิดขึ้นใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง แม้จะไม่ใช่ง่ายๆ เลยสำหรับการเข้ามาทำธุรกิจจัดการกองทุนรวม ปัจจุบันมีบริษัทที่ดำเนินธุรกิจจัดการกองทุนรวมทั้งที่อยู่ในเครือธนาคาร บริษัทหลักทรัพย์ และในกลุ่มสถาบันการเงินของต่างประเทศถึง 21 บริษัท และคาดหมายว่าจะมีเพิ่มขึ้นอีกเรื่อยๆในอนาคต อย่างน้อยก็อีก 1 บริษัทในปี 2551 นี้ เมื่อบริษัทจัดการมากขึ้น กองทุนรวมก็เพิ่มขึ้นตามเช่นกัน ปัจจุบันมีกองทุนรวมภายใต้การบริหารของบริษัทจัดการต่างๆ อยู่มากมายถึง 904 กองทุน กว่าครึ่งเป็นกองทุนหุ้น 196 กองทุน และกองทุนตราสารหนี้ 445 กองทุน (ข้อมูล ณ 11 เมษายน 2551)

แม้ว่าจะมีกองทุนรวมจำนวนมากมายให้เลือกแต่กองทุนรวมที่คนไทยคุ้นเคยและนิยมส่วนใหญ่ก็ยังเป็นกองทุนหุ้น และกองทุนตราสารหนี้ แม้แต่กองทุนลดภาษีที่นิยมกันมากขึ้นอย่าง RMF และ LTF ก็ยังเป็นกองทุนประเภทกองทุนหุ้น และกองทุนตราสารหนี้เช่นกัน

การเลือกลงทุนในกองทุนหุ้นและกองทุนตราสารหนี้ หลายครั้งที่ผู้ลงทุนเลือกประเภทกองทุนที่อยากได้เรียบร้อยแล้วก็ประสบปัญหาเพราะไม่รู้ว่าจะเลือกกองทุนของบริษัทจัดการไหนดี เพราะแต่ละบริษัทจัดการต่างก็มีกองทุนในประเภทที่ต้องการเหมือนๆ กันไปหมด ไม่ได้มีความแตกต่างกันในเชิงนโยบายการลงทุน จึงเกิดคำถามยอดฮิตทุกยุคทุกสมัยก็คือ ซื้อกองไหน ของใครดี??

เป็นคำถามที่ถามง่ายแต่ตอบยาก เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าการจะนำเงินเก็บออมมาซื้อกองทุนรวม ผู้ลงทุนก็มุ่งหวังผลตอบแทนกันทั้งนั้น แต่ในโลกนี้ไม่มีกองทุนไหนดีที่สุดได้ตลอดเวลา ประเภทความเสี่ยงต่ำแต่ได้ผลตอบแทนสูงที่ผู้ลงทุนต่างอยากได้ การเลือกว่าจะลงทุนกองทุนของบริษัทจัดการไหนดี เราสามารถนำหลักพื้นฐานการเลือกซื้อสินค้าทั่วไปมาใช้ได้ นั่นคือ เรื่องของคุณภาพและบริการ

กรณีกองทุนหุ้น ในเรื่องคุณภาพเนื่องจากหลักการพื้นฐานของการลงทุนในหุ้นหรือกองทุนหุ้นก็คือ การยอมรับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นเพื่อเพิ่มโอกาสการได้ผลตอบแทนที่ดี ดังนั้นการคัดเลือกกองทุนโดยดูผลตอบแทนจึงเป็นเรื่องปกติสำหรับกองทุนประเภทนี้

การเปรียบเทียบผลการดำเนินงานของกองทุนหุ้น ผู้ลงทุนควรดูสองอย่างด้วยกัน คือ ดูผลตอบแทนเทียบกับเกณฑ์มาตรฐาน และเทียบกับกองทุนหุ้นในกลุ่มเดียวกันของบริษัทจัดการต่างๆ เกณฑ์มาตรฐานของกองทุนหุ้นจะใช้เกณฑ์ของสมาคมบริษัทจัดการลงทุน นั่นคือเปรียบเทียบกับ SET Index หรือ SET50 Index โดยวัดเทียบย้อนหลัง 3 เดือน 6 เดือน 1 ปี หรือมากกว่านั้น แต่การดูคุณภาพของกองทุนหุ้น จะต้องวัดเปรียบเทียบกองทุนหุ้นที่มีนโยบายการลงทุนที่ใกล้เคียงกัน (เช่น กองทุนหุ้นทั่วไปเหมือนกัน กองทุนหุ้นที่เน้นหุ้นขนาดใหญ่เหมือนกัน ฯลฯ) และดูผลตอบแทนอย่างเดียวไม่เพียงพอ ผู้ลงทุนควรต้องดูเรื่องความสม่ำเสมอของผลตอบแทนด้วย โดยดูว่ากองทุนของบริษัทนั้นๆ มีระดับความผันผวนของผลตอบแทนแค่ไหน กองทุนที่ผันผวนมาก มูลค่าทรัพย์สินสุทธิต่อหน่วยลงทุน (NAV) แต่ละวันจะหวือหวา โอกาสที่ผู้ลงทุนจะพลาดเข้าไปซื้อกองทุนในวัน NAV สูง ก็มีมากกว่ากองทุนหุ้นที่ NAV ผันผวนน้อยกว่า ทำให้ต้นทุนของการลงทุนสูง

อย่างไรก็ตามการดูความสม่ำเสมอของราคา NAV ไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับผู้ลงทุน วิธีที่ช่วยได้ก็คือการดูผลตอบแทนในระยะยาวขึ้น ยิ่งกองทุนของบริษัทจัดการใดให้ผลตอบแทนที่ดีได้ในระยะยาว โอกาสที่ผู้ลงทุนจะลงทุนแล้วมีต้นทุนสูงเมื่อเปรียบเทียบกับผลตอบแทนที่ได้รับก็น้อยลง

นอกจากนี้การดูผลการดำเนินงานในระยะยาว ก็ช่วยให้เลือกบริษัทจัดการที่มีคุณภาพได้ถูกต้องมากขึ้น ยิ่งปัจจุบันการลงทุนในหุ้นยากขึ้น เพราะตลาดการเงินทั่วโลกเชื่อมโยงกัน ปัจจัยที่มีผลกระทบกับราคาหุ้นมากขึ้น ราคาหุ้นที่ส่งผลต่อราคา NAV ผันผวนมากกว่าเดิม การเปรียบเทียบผลตอบแทนช่วงสั้นเกินไปอาจทำให้การคัดเลือกกองทุนผิดพลาดได้ เพราะกองทุนอาจทำผลงานได้โดดเด่นแค่ช่วงจังหวะสั้นๆ ตอนวัดผลการดำเนินงานเท่านั้น

สำหรับด้านการบริการ เนื่องจากการลงทุนในกองทุนหุ้นที่ดี ควรเป็นการลงทุนในระยะยาว เรื่องความสะดวกในการซื้อขายจึงถือเป็นเรื่องรองหากต้องตัดสินใจเลือกลงทุน เมื่อเทียบกับเรื่องคุณภาพของกองทุน เพราะไม่ต้องทำธุรกรรมบ่อยๆ เว้นแต่ผู้ลงทุนต้องการลงทุนต่อเนื่องอย่างสม่ำเสมอ ความสะดวกเรื่องการบริการซื้อขายก็จะจำเป็นมากขึ้น หรือหากสามารถเลือกบริษัทจัดการที่มีบริการซื้อขายทางอินเตอร์เน็ต ระบบโทรศัพท์ หรือตู้เอทีเอ็มได้ ก็จะเป็นความสะดวกสบายส่วนเพิ่มของผู้ลงทุน แต่สิ่งที่สำคัญสำหรับกองทุนหุ้นก็คือข้อมูลการลงทุนที่บริษัทจัดการเผยแพร่ให้ผู้ลงทุนทราบ การให้ข้อมูลกับผู้ลงทุนที่ดีไม่ใช่เรื่องความรวดเร็ว เพราะการเปิดเผยข้อมูลที่เร็วเกินไปอาจส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจลงทุนของผู้จัดการกองทุนได้ แต่การเปิดเผยข้อมูลที่ดีควรมีระดับที่เหมาะสม ครบถ้วนในสิ่งที่ผู้ลงทุนควรรู้ในเวลาที่เหมาะแก่การเปิดเผยมากกว่า

ตอนหน้า มาดูตอนจบเรื่องหลักการเลือกบริษัทจัดการของกองทุนตราสารหนี้กันต่อครับ…..
กำลังโหลดความคิดเห็น