xs
xsm
sm
md
lg

Money Tips : กองทุนหุ้นกับความหลากหลายที่ต้องเข้าใจ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

Money Tips โดย บลจ.บัวหลวง

โลกการลงทุนในปัจจุบันมีความซับซ้อนมากขึ้นเรื่อยๆ การเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้าการเงินต่างๆ ขึ้นกับปัจจัยหลายอย่างพร้อมๆ กัน การอธิบายความเคลื่อนไหวทำได้ไม่ง่ายเหมือนแต่ก่อน ทั้งในตลาดหุ้น ตลาดตราสารหนี้ และตลาดตราสารลงทุนใหม่ๆ ที่ได้รับความนิยม อย่างอนุพันธ์ สินค้าโภคภัณฑ์ ทองคำ น้ำมัน ในมุมของนักลงทุนเองการวิเคราะห์เพื่อหาจังหวะลงทุนซื้อขายก็ทำได้ยากขึ้น ต้องคิดให้มากกว่าแต่ก่อนโดยเฉพาะการลงทุนในหุ้นที่มีความเสี่ยงสูง นักลงทุนหลายคนจึงเลือกวิธีซื้อ “กองทุนตราสารทุนหรือกองทุนหุ้น” เพื่อให้ผู้จัดการกองทุนทำหน้าที่แทน อีกทั้งกองทุนหุ้นในปัจจุบันยังก้าวกระโดดในเชิงกลยุทธ์การลงทุนไปมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งเชิงนโยบายวิธีการบริหาร ตราสารที่ลงทุน และลูกเล่นใหม่ๆ แล้วแบบนี้การจะเลือกซื้อกองทุนหุ้นสักกอง นักลงทุนควรจะต้องรู้อะไรบ้าง

กองทุนหุ้นทุกวันนี้แบ่งแยกได้หลายอย่างขึ้นกับเกณฑ์ที่จะใช้แบ่ง แต่หลักสำคัญที่ใช้แบ่งเพื่อให้นักลงทุนใช้แยกแยะประเภทกองทุนและคัดเลือกเพื่อลงทุนได้ก็คือ สไตล์และวิธีบริหารกองทุนนั้นๆ ตราสารที่ลงทุนตามนโยบาย และรูปแบบของกองทุน

วิธีบริหารกองทุนและสไตล์ของผู้จัดการกองทุน สิ่งแรกที่ผู้ลงทุนในกองทุนหุ้นจะต้องรู้ก่อนนั่นคือ กองทุนนี้เป็นกองทุนที่บริหารแบบใด เป็นกองทุนที่บริหารแบบเชิงรุก (Active Fund) หรือบริหารแบบอนุรักษ์ (Passive Fund) เพราะกองทุนทั้งสองประเภทมีวิธีการทำงาน วิธีการบริหารและแนวทางการสร้างผลตอบแทนที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน กองทุนที่บริหารแบบเชิงรุก กองทุนหุ้นส่วนใหญ่ในบ้านเราจะเป็นกองทุนแนวนี้ มีเป้าหมายของการบริหารเพื่อสร้างผลตอบแทนให้ดีที่สุด ให้มากกว่าเกณฑ์มาตรฐาน โดยอยู่ภายใต้ความเสี่ยงที่ยอมรับได้ กองทุนกลุ่มนี้เชื่อว่าตลาดหุ้นยังมีช่องให้ลงทุนที่ให้ผลตอบแทนดีกว่าดัชนีมาตรฐานที่เพิ่มขึ้นของไทยก็จะหมายถึง SET Index หรือ SET50 Index ผลตอบแทนที่ได้จะขึ้นอยู่กับภาวะเศรษฐกิจ ทิศทางราคาหุ้นที่ลงทุน และฝีมือของผู้จัดการกองทุน ผลลัพธ์ที่ได้หากผู้จัดการกองทุนตัดสินใจผิดพลาดก็ย่อมส่งผลเสียหายกับผลตอบแทนของกองทุนได้ แต่กรณี กองทุนที่บริหารแบบอนุรักษ์หรือกองทุนดัชนี เป็นกองทุนที่เชื่อว่าในที่สุดแล้วไม่มีผู้จัดการคนไหนเอาชนะตลาดได้ ผู้จัดการกองทุนก็เป็นมนุษย์สามารถตัดสินใจถูกผิดได้ หากเชื่อว่าเศรษฐกิจจะดี ราคาหุ้นและดัชนีหุ้นจะขึ้นแน่ๆ ก็ไม่จำเป็นต้องไปเสี่ยงกับการตัดสินใจของผู้จัดการกองทุนในการคัดเลือกหุ้น เพราะอาจผิดพลาดได้ หุ้นที่เลือกลงทุนอาจได้ผลตอบแทนต่ำกว่าตลาด ดังนั้นแค่ลงทุนให้ได้ผลตอบแทนตามดัชนีของตลาดน่าจะเป็นวิธีที่ดีกว่า เสี่ยงน้อยกว่า ซึ่งในประเทศไทยจะมีทั้งกองทุนที่อิงตามดัชนี SET Index SET50 Index และดัชนีภายในที่บางบริษัทคิดค้นเอง

สำหรับสไตล์ของผู้จัดการกองทุนที่บริหารกองทุนสไตล์ Active ก็เป็นอีกเรื่องที่น่าสนใจเพราะผู้จัดการกองทุนแต่ละแต่ละค่ายจะมีแนวทาง มีสไตล์ที่ไม่เหมือนกัน ซึ่งถ้านักลงทุนสามารถทราบได้ว่ากองทุนของค่ายไหน หรือผู้จัดการกองทุนคนไหนมีสไตล์แบบไหนได้ ก็จะสามารถช่วยให้การตัดสินใจเลือกกองทุนหุ้นทำได้ง่ายและตรงกับความต้องการของแต่ละคนมากขึ้น

ตราสารที่ลงทุนตามนโยบาย กองทุนหุ้นส่วนใหญ่โดยเฉพาะกองทุนที่จัดตั้งสมัยแรกๆ จะไม่ระบุเฉพาะเจาะจงว่าลงทุนในหุ้นกลุ่มไหน แต่เขียนกรอบกว้างๆ ว่าเป็นหุ้นพื้นฐานดี มีศักยภาพการเติบโตสูง การคัดเลือกว่าจะเป็นหุ้นกลุ่มใดจะขึ้นกับการตัดสินใจของผู้จัดการกองทุน แต่ก็มีกองทุนบางกลุ่มที่มีนโยบายการลงทุนที่เฉพาะเจาะลงลงไป เพื่อสร้างความแตกต่างและเป็นทางเลือกให้กับผู้ลงทุนที่มีความต้องการพิเศษ เช่น กองทุนที่เน้นลงทุนในบางกลุ่มธุรกิจ อย่างธุรกิจเกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐาน สถาบันการเงิน สื่อสาร ซึ่งมีทั้งกองทุนที่ระบุอย่างชัดเจนในนโยบายกองทุนให้รับรู้ หรือบางกองทุนเขียนนโยบายไว้กว้างๆ เหมือนกองทุนหุ้นทั่วไป แต่นโยบายการบริหารคือเน้นกลุ่มสถาบันการเงินเป็นพิเศษ เป็นต้น หรือ กองทุนที่เลือกลงทุนเฉพาะหุ้นบางกลุ่ม เช่น หุ้นเติบโตสูง (Growth Stock) หุ้นปันผล (Dividend Stock) หุ้นคุณค่า (Value Stock) หุ้นขนาดกลางและขนาดเล็ก (Small & Medium Stock) หรือหุ้นขนาดใหญ่เฉพาะใน SET50 เป็นต้น ความแตกต่างของนโยบายเช่นนี้จะเป็นตัวกำหนดผลตอบแทนของกองทุนในแต่ละช่วงเวลา และใช้อธิบายได้ว่าทำไมผลตอบแทนถึงดีเป็นพิเศษมากกว่ากองทุนอื่น เช่น กองทุนที่เน้นกลุ่มพลังงานในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา หรือผลตอบแทนต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน (SET Index) เมื่อกลุ่มหุ้นในกองทุนนั้นๆ ไม่ได้รับความนิยมหรือมีข่าวร้ายมากระทบกับราคาหุ้นทั้งกลุ่ม (ทั้งกองทุน) ในช่วงเวลานั้นๆ ทั้งที่ผู้จัดการกองทุนได้คัดเลือกหลักทรัพย์เพื่อลงทุนไว้ดีแล้วเท่าที่สามารถทำได้ตามกรอบการลงทุนที่กำหนดเป็นนโยบาย

เรื่องนี้ถือว่าเป็นสิ่งสำคัญที่นักลงทุนจักต้องทำความเข้าใจเพื่อให้เลือกกองทุนได้ถูกต้อง ตรงกับแนวคิดที่มองไปข้างหน้า และสอดคล้องกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและทิศทางของตลาด เพราะกองทุนที่มีนโยบายเฉพาะเจาะจงแบบนี้ หากลงทุนถูกจังหวะหรือผู้จัดการกองทุนมีฝีมือดี จะสร้างผลตอบแทนได้สูงกว่ากองทุนหุ้นที่เป็นแบบกองทุนทั่วไปได้อย่างมีนัยสำคัญแน่นอน

รูปแบบของกองทุน กองทุนรวมปัจจุบันมีความหลากหลายมากขึ้น รูปแบบที่เหมาะสมกับแต่ละคนไม่เหมือนกัน เช่น 1)นโยบายการจ่ายปันผลหรือขายคืนอัตโนมัติ ผู้ลงทุนที่เน้นผลตอบแทนระยะยาว ไม่ต้องการเงินคืนระหว่างการลงทุน กองทุนที่ไม่จ่ายปันผลหรือขายคืนอัตโนมัติจะเหมาะสมกว่า เพราะเงินปันผลที่ได้ต้องเสียภาษีหัก ณ ที่จ่าย 10% และเงินที่ได้คืนกลับมาจะเสียโอกาสสร้างผลตอบแทนจากการนำกลับไปลงทุน (reinvest) 2)อายุกองทุน ปัจจุบันกองทุนหุ้นมีหลายรูปแบบมากขึ้น ส่วนใหญ่จะเป็นกองทุนเปิดทั่วไปซื้อขายได้ทุกวันไม่มีอายุโครงการ แต่ก็มีรูปแบบใหม่ๆ เข้ามาเช่นเป็นกองทุนอายุสั้นๆ 2-3 ปี ที่ตั้งขึ้นเพื่อลงทุนเฉพาะช่วงเวลานั้นๆ ซึ่งผู้จัดการกองทุนมองแล้วว่าเป็นจังหวะที่ดีของการลงทุนเพิ่มเติม หรือกำหนดเป็นทาร์เก็ตฟันด์ มีอายุและเป้าหมายชัดเจน เช่น กองทุนอายุ 3 ปี แต่ถ้าสร้างผลตอบแทนได้ถึง 30% ก่อนกำหนดก็จะปิดกองทุนก่อน เป็นต้น
กำลังโหลดความคิดเห็น