บลจ.บีที ปรับแผนออกกองทุนรับภาวะเงินเฟ้อ จ่อคิวกองใหม่อีก 8 – 9 กองทุน ทั้ง "เอฟไอเอฟ-พร็อพเพอร์ตี้ฟันด์-หุ้น" ดันเอยูเอ็มทั้งปีโต 20,000 ล้านบาท พร้อมร่วมวงแจมพันธบัตรแดนกิมจิและออสซี่ ด้านดัชนีหุ้นไทยปีนี้ ประเมินอานิสงส์กลุ่มธนาคาร-สื่อสาร-พลังงาน-กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ ดันดัชนีถึง 900 จุด เผยหากไตรมาส 3 ซับไพรม์คลี่คลาย มีลุ้นแตะ 950-1,000 จุดได้
นายอนุสรณ์ บูรณกานนท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) บีที จำกัด เปิดเผยว่า จากปัญหาเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นในขณะนี้ บริษัทจึงการปรับเปลี่ยนแผนการลงทุนใหม่ โดยในปีนี้บริษัทเตรียมออกกองทุนตลอดทั้งปีประมาณ 8 – 9 กองทุน ประกอบด้วยกองทุนรวมต่างประเทศ (เอฟไอเอฟ) 4 – 5 กองทุน กองทุนอสังหาริมทรัพย์ (พร็อพเพอร์ตี้ฟันด์) 2 กองทุน และกองทุนหุ้นอีก 1 กองทุน
โดยในช่วงครึ่งปีแรกบริษัทเตรียมออกกองทุน 5 กองทุนประกอบด้วย กองทุนเอฟไอเอฟที่มีนโยบายลงทุนในตราสารหนี้ประเทศเกาหลีในระดับ AA- ขึ้นไป โดยมีมูลค่าโครงการ 1,500 ล้านบาท กองทุนเปิดบีที เอฟไอเอฟ ตราสารหนี้ 12/1 ที่มีนโยบายการลงทุนค่าเงินสกุลออสเตรีย มูลค่าโครงการ 1,500 ล้านบาท ซึ่งได้ทำการเปิดขายไปเมื่อวันที่ 14 มีนาคมที่ผ่านมา รวมถึงกองทุนรวมบีที เอฟไอเอฟ โกลด์ ลิงค์ ฟันด์ จะมีการเปิดขายออกมาเพื่อเป็นการชดเชยให้แก่กองทุนกองแรกที่จะครบกำหนดอายุในช่วงเดือนมิถุนายน นี้
ส่วนกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ จะเป็นกองทุนที่ลงทุนในสินทรัพย์ประเภทอาคารสำนักงานที่ตั้งอยู่ใจกลางเมือง โดยมูลค่าโครงการ 1,500 ล้านบาท และคาดว่าจะเปิดขายกองทุนได้ประมาณช่วงเดือนพฤษภาคมหรือมิถุนายนนี้
นอกจากนี้ ยังเตรียมเปิดขายกองทุนเปิดบีที หุ้น ทาร์เก็ต 15/1 ในระหว่างวันที่ 21 – 28 เมษายนนี้ ซึ่งกองทุนดังกล่าวเป็นกองทุนประเภทตราสแห่งทุน โดยมีอายุการลงทุนประมาณ 18 เดือน มูลค่าโครงการทั้งสิ้น 1,000 ล้านบาท โดยกองทุนดังกล่าวเหมาะกับนักลงทุนที่ต้องการแสวงหาโอกาสในการสร้างผลตอบแทนจากการลงทุนที่สูงกว่าเงินฝากประจำ อย่างไรก็ตาม นักลงทุนนั้นจะต้องมีความเข้าใจในเรื่องของความผันผวนในตลาดหุ้นได้ รวมถึงยังสามารถยอมรับความเสี่ยงของการลงทุนในตราสารทุนได้
ทั้งนี้ กองทุนเปิดบีที หุ้น ทาร์เก็ต 15/1 มีนโยบายการลงทุนในตราสารแห่งทุนโดยเฉลี่ยในรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่า 65% ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน โดยกองทุนจะเน้นลงทุนในตราสารทุนที่มีปัจจัยพื้นฐานดี หรือเกี่ยวข้องกับธุรกิจหรืออุตสาหกรรมที่มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ หรือเป็นธุรกิจอุตสาหกรรมที่ได้รับการสนับสนุนหรือมีโอกาสได้รับผลดีจากนโยบายของรัฐบาล หรือมีศักยภาพในการเติบโตสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจ
นอกจากนี้ ในการพิจารณาหลักทรัพย์ที่กองทุนจะเข้าไปลงทุน จะพิจารณาจากปัจจัยต่างๆ ในช่วง 1 ปีข้างหน้า โดยในช่วงที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยอยู่ในภาวะปกติ กองทุนจะพิจารณาลงทุนในหลักทรัพย์ในแต่ละไตรมาสเฉลี่ยประมาณ 5 – 6 กลุ่มหลักทรัพย์ และกองทุนอาจจะเข้าไปลงทุนในสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่มีตัวแปรเป็นอัตราแลกเปลี่ยน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันความเสี่ยงเท่านั้น ทั้งนี้ กองทุนจะไม่ลงทุนในตราสารหนี้ที่มีลักษณะของสัญญาซื้อขายล่วงหน้าแฝง
นายอนุสรณ์กล่าวว่า ในช่วงครึ่งปีหลังบริษัทเตรียมออกกองทุนอีกประมาณ 3 – 4 กองทุน ประกอบด้วย กองทุนเอฟไอเอฟ 1 – 2 กองทุน ได้แก่กองทุนเอฟไอเอฟที่มีนโยบายการลงทุนในกลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์เกษตร รวมถึงกองทุนตราสารหนี้ที่เข้าไปลงทุนในประเทศเกาหลี หรือในสกุลเงินออสเตรีย อีกจำนวน 1 กองทุน โดยจะดูในเรื่องของความเหมาะสมและสถานการณ์ในช่วงนั้น ๆ นอกจากนี้ ในช่วงครึ่งปีหลังบริษัทยังมีแผนที่จะออกกองทุนอสังหาริมทรัพย์อีก 1 กองทุนเป็นประเภทธุรกิจโรงแรมในย่านสุขุมวิท โดยมีมูลค่าโครงการประมาณ 1,500 ล้านบาท
“ในปีนี้ บริษัทตั้งเป้ามูลค่าทรัพย์สินสุทธิภายใต้การบริหารเอวไว้ที่ 20,000 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่แล้วจะได้มาจากการเปิดขายกองทุนตราสารหนี้เป็นหลัก รวมถึงการออกกองทุนใหม่ ๆ เพื่อมาทดแทนกองทุนที่จะมีการครบกำหนดอายุไป เช่น กองทุนรวมต่างประเทศที่มีนโยบายลงทุนในตราสารหนี้ของประเทศเกาหลี เป็นต้น” นายอนุสรณ์กล่าว
นายอนุสรณ์กล่าวว่า การจะสู้ภาวะเงินเฟ้อได้นั้น บริษัทจึงต้องมีการมีการออกไปลงทุนยังต่างประเทศเพื่อสามารถให้ผลตอบแทนที่ดี รวมถึงให้น้ำหนักในการลงทุนไทยตลาดหุ้นด้วย เพราะมองว่าในปีนี้นโยบายการลงทุนของภาครัฐบาลมีความชัดเจนมากกว่าปีที่ผ่านมา ส่งผลให้การลงทุนในหุ้นจะสามารถจ่ายเงินปันผลสูงถึง 4% นอกจากนี้ การเข้าไปลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ในปีนี้ จะสามารถให้ผลตอบแทนสูงประมาณ 7 – 8% เนื่องจากปัจจุบันรัฐบาลได้เข้าสนับสนุนในเรื่องเมกกะโปรเจกต์มากขึ้น
ส่วนกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (อาร์เอ็มเอฟ) และกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (แอลทีเอฟ) นั้น จากการรายงานของ ลิปเปอร์ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา พบว่าทั้ง 2 กองทุน สามารถให้ผลตอบแทนมาเป็นอันดับหนึ่ง ซึ่งเป็นผลมาจากบริษัทได้มีการปรับเปลี่ยนแผนการลงทุนในหุ้นให้มีจำนวนน้อยตัวลงจากที่เคยเข้าไปลงทุนประมาณ 25 – 30 ตัว โดยขณะนี้ปรับลดลงมาอยู่ที่ประมาณ 15 – 16 ตัวเท่านั้น เพื่อให้ผู้จัดการกองทุนสามารถดูความเคลื่อนไหวได้อย่างใกล้ชิดมากยิ่งขึ้น
ด้านนายเจิดพันธุ์ นิธยายน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ด้านจัดการลงทุน บลจ.บีที กล่าวถึงการลงทุนในตลาดหุ้นไทยว่า ในปีนี้ บริษัทมองว่าดัชนีตลาดหุ้นไทย น่าจะอยู่ที่ประมาณ 900 จุด ถึงแม้ว่าจะมีปัจจัยภายนอกมีผลเข้ามากระทบบ้างก็ตาม โดยหุ้นกลุ่มธนาคาร กลุ่มสื่อสาร กลุ่มพลังงาน และกลุ่มอสังหาริมทรัพย์จะเป็นตัวกระตุ้นให้ดัชนีขึ้นไปถึง 900 จุดได้ นอกจากนี้ บริษัทมองว่าในช่วงไตรมาส 3 ไปแล้วปัญหาซับไพรม์จะเริ่มความคลี่คลายลงไปในทางที่ดี และอาจส่งผลให้ดัชนีหุ้นไทยปรับตัวสูงขึ้นถึง 950 จุด หรือทะลุไปถึง1,000 จุดได้
ส่วนการที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ได้ประกาศมาตรการฉุกเฉินเพื่อกอบกู้วิกฤตสินเชื่อครั้งใหม่ ด้วยการปรับลดอัตราดอกเบี้ยมาตรฐานลงอีก 0.25% โดยให้มีผลบังคับใช้ทันทีนั้น บริษัทมองว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นจะไม่ได้เข้ามากระทบโดยตรงในประเทศไทยและจะเป็นการกระทบในทางอ้อมมากกว่า และเป็นผลกระทบที่น้อยมากสำหรับธนาคารในประเทศไทย โดยในช่วงสัปดาห์หน้าคาดว่าธนาคารกลางสหรัฐ จะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีกประมาณ 0.75% ซึ่งคาดว่าจะไม่มีผลกระทบต่อประเทศไทย เนื่องจากรัฐบาลไทยได้มีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่าง ๆ ที่สามารถช่วยได้