xs
xsm
sm
md
lg

Money Tips : ทำความรู้จักกองทุน FIF

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

Money Tips
บลจ.บัวหลวง


ในช่วงระยะเวลา 1-2 ปีที่ผ่านมานั้น หนึ่งในกองทุนรวมที่ได้รับความนิยมจากนักลงทุนมากที่สุด น่าจะเป็น “กองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศ” จากการที่ธนาคารแห่งประเทศไทยได้เปิดโอกาสให้นักลงทุนที่สนใจลงทุนในต่างประเทศสามารถลงทุนผ่านบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวมได้ ทำให้นักลงทุนในประเทศไทยมีทางเลือกที่หลากหลายมากขึ้น

แต่ทั้งนี้ผู้ลงทุนที่คิดจะลงทุนในกองทุนต่างประเทศ ควรจะต้องเข้าใจถึงประเภทของสินทรัพย์ที่จะไปลงทุนซึ่งจะมีทั้งหุ้น ตราสารหนี้ กองทุนแบบผสม และอื่นๆ ขอบเขตการลงทุนในกองทุนต่างประเทศนั้นสามารถเปิดกว้างให้ลงทุนได้ทั่วโลก โดยอาจเลือกทวีปใดทวีปหนึ่ง หรือประเทศใดประเทศหนึ่ง ตลอดจนต้องพิจารณาถึงความเสถียรภาพทางการเมืองและเศรษฐกิจของประเทศนั้นๆควบคู่กันไป นอกจากนั้นก็จะต้องรู้ว่ากองทุนที่จะไปลงนั้นบริหารจัดการโดยใคร วิธีลงทุนเป็นแบบไหน ข้อจำกัดในการซื้อขายมีอะไรบ้าง และผู้ลงทุนต้องมีความชัดเจนในเรื่องผลตอบแทนที่คาดว่าจะได้รับ ตลอดจนต้องมีความเข้าใจในเรื่องความเสี่ยงต่างๆที่อาจจะเกิดขึ้น

สำหรับกองทุนรวมที่ออกไปลงทุนต่างประเทศผ่านบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวมที่เป็นที่นิยมส่วนมาก มีนโยบายการลงทุนหลักๆ 2 รูปแบบคือ

1.Fund of funds กองทุนรวมหน่วยลงทุน ที่เน้นลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุนต่างประเทศหลายกองทุน

2.Feeder fund กองทุนรวมหน่วยลงทุน ที่เน้นลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุนต่างประเทศเพียงกองทุนเดียว เรียกว่า กองทุนหลัก หรือ Master Fund

ทั้งนี้ การลงทุนทั้ง 2 รูปแบบจะต้องมีการเปิดเผยข้อมูลการลงทุนทั้งหมดผ่านหนังสือชี้ชวน ตามระเบียบข้อบังคับของ กลต. เพื่อให้นักลงทุนทราบและใช้พิจารณาก่อนการตัดสินใจลงทุน

สำหรับการพิจารณาคัดเลือกกองทุนที่จะลงทุนนั้นมีด้วยกันหลายประการ วันนี้เราจะลองมาดูกันคร่าวๆ ว่ามีอะไรบ้าง

ประการที่แรก
ผลการดำเนินงานย้อนหลัง อาจพออ้างอิงได้จากในอดีตที่บริษัทจัดการเปิดเผย และเปรียบเทียบกับตัวชี้วัด (Benchmark) เช่น กองทุนที่ลงทุนในตลาดหุ้นทั่วโลกก็มักจะใช้ MSCI World Index เป็นเกณฑ์มาตรฐานในการเปรียบเทียบผลการดำเนินงาน อย่างไรก็ตามผลตอบแทนในอดีตมิได้เป็นหลักประกันถึงผลตอบแทนในอนาคตเนื่องจากภาวการณ์ลงทุนในอนาคตมีโอกาสเปลี่ยนแปลงได้เสมอ

ประการที่สอง
ความสม่ำเสมอของผลตอบแทน ผู้ลงทุนควรพิจารณากองทุนที่ให้ผลตอบแทนที่ดีอย่างต่อเนื่องมายาวนานหลายปีหรือตั้งแต่จัดตั้งกองทุนได้ยิ่งดี ซึ่งจะทำให้เห็นถึงความฝีมือของผู้จัดการกองทุนในการบริหารกองทุน

ประการที่สาม
ความเสี่ยงที่น่าห่วงต่างๆ เช่น
ความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน เช่น การขึ้นลงของอัตราแลกเปลี่ยนซึ่งการเคลื่อนไหวขึ้นลงของค่าเงินดังกล่าวอาจส่งผลกระทบในทางลบต่อมูลค่าการลงทุนของกองทุนหรือมีผลให้ผลตอบแทนจากการลงทุนของกองทุนดังกล่าวลดลงได้ แต่ไม่ว่ากองทุนแบบใด ลงทุนในตลาดหุ้นหรือลงทุนในตลาดตราสารหนี้ก็จะมีความเสี่ยงเหมือนๆกันในเรื่องความผันผวนของค่าเงิน ถ้ากองทุนนั้นไม่มีนโยบายป้องกันความเสี่ยงเรื่องความผันผวนของค่าเงินแบบป้องกันทั้งหมด (Fully Hedge)

ความเสี่ยงจากการขาดสภาพคล่อง เช่น ข้อจำกัดทางด้านการซื้อขายทำให้ในช่วงเวลาที่ตลาดมีความผันผวนอาจไม่สามารถขายหน่วยลงทุนในราคาและจังหวะที่เหมาะสมได้

ความเสี่ยงของประเทศที่กองทุนไปลงทุน เป็นความเสี่ยงในการลงทุนที่ขึ้นอยู่กับความมั่นคงทางด้านเศรษฐกิจหรือการเมืองของประเทศที่กองทุนนำเงินไปลงทุนหรือหาผลตอบแทน โดยทั่วไปแล้วประเทศที่พัฒนาแล้วถือได้ว่ามีเสถียรภาพและความมั่นคงทางเศรษฐกิจและการเมืองสูงกว่าประเทศที่กำลังพัฒนา

ประการที่สี่
นักลงทุนควรรู้ว่ากองทุนที่จะไปลงทุนมีความน่าสนใจอย่างไร ทางบริษัทจัดการมีวิธีการคิดและนำเสนอขายอย่างไร มีอนาคตหรือไม่ เช่น กองทุนรวม B-Care ซึ่งเป็นกองทุนรวมที่เน้นลงทุนใน Health Care Sector ทั่วโลกนั้น บลจ.บัวหลวง มีแนวคิดและมุมมองที่ว่า “กองทุนเปิดบัวหลวงโกลบอลเฮลธ์แคร์ (BCARE) มีนโยบายเน้นลงทุนในกองทุนที่เน้นลงทุนในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ (Healthcare) ทั่วโลก ได้แก่ ธุรกิจเภสัชกรรม ธุรกิจบริการรักษาพยาบาล ธุรกิจเทคโนโลยีชีวภาพ ตลอดจนธุรกิจเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ ซึ่งถือได้ว่าเป็นปัจจัย 4 ของมนุษย์ และเมื่อจำนวนประชากรทั้งโลกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ก็ยิ่งมีความต้องการใช้บริการจากธุรกิจ Healthcare มากขึ้นตามไปด้วย ส่งผลให้ตั้งแต่ปี 2538 จนถึงปัจจุบัน อุตสาหกรรม Healthcare ทั่วโลก มีกำไรสุทธิสูงกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมอื่นรวมกันประมาณ 10% โดยลงทุนผ่านกองทุนรวมรวมWellington's Global Health Care Equity Portfolio (Class A)”

ประการสุดท้าย
นักลงทุนควรต้องระมัดระวังในการลงทุนกองทุนต่างประเทศและไม่ควรทุ่มเงินทั้งหมดไปลงทุนในประเทศใดประเทศหนึ่งหรือกองทุนใดกองทุนเดียว ทั้งนี้นักลงทุนควรกระจายการลงทุน เพื่อลดความเสี่ยงไม่ให้เงินลงทุนกระจุกตัวมากเกินไป และเพื่อเพิ่มโอกาสแสวงหาผลตอบแทนจาการลงทุนในหลักทรัพย์ในภูมิภาคต่างๆทั่วโลก นอกจากนี้การลงทุนในต่างประเทศควรเป็นการลงทุนระยะยาว คือจะให้ดีควรมีระยะเวลาลงทุน 1 ปีขึ้นไป เพราะการลงทุนระยะยาวเป็นการช่วยลดความเสี่ยงในบางช่วงและเพิ่มผลตอบแทนจากการลงทุนได้
กำลังโหลดความคิดเห็น