น้ำมันแพง ข้าวของแพง แต่ที่เห็นตื่นตัวกันมากอีกเรื่องสำหรับประเทศไทยอันอุดมสมบูรณ์ มองไปในน้ำมีปลา ในนามีข้าว แต่ทุกวันนี้ราคาข้าวกลับปรับตัวสูงขึ้น แม้เทคโนโลยีด้านการเกษตรจะก้าวหน้าปลูกข้าวได้ปีละ 2 ครั้งก็ตาม
มองกันตามจริงแล้วทุกวันนี้ผลผลิตข้าวเมื่อเทียบกับการบริโภคภายในประเทศ ค่อนข้างจะเกินพออยู่แล้ว แต่ที่ราคามันสูงขึ้นอยู่ทุกวันนี้เป็นเพราะกลไกของตลาดโลกมากกว่า โดยส่วนใหญ่ข้าวที่ผลิตได้มักจะส่งออกเป็นสินค้าหลัก ถึงขั้นมีคนไทยบ้างคนน้อยใจว่าข้าวหอมมะลิเกรดเอ น้อยคนนักที่จะได้ลิ้มลอง เนื่องจากมันถูกส่งออกไปเกือบหมด(หรือว่าหมดเลยมิทราบได้) และราคาในต่างประเทศนั้นแหละที่เป็นสิ่งล่อใจ
เมื่อราคาดีสิ่งที่ตามมาคือการเก็งกำไร นักลงทุนที่เริ่มมองวงจรการบริโภคและ ผลผลิตออก จะมองเห็นลู่ทางนี้ได้ไม่ยากนัก
ในช่วงเวลาไตรมาสแรกของปี 2551 ถือได้ว่าเป็นช่วงเวลาทองคำของสินค้าเกษตรในประเทศไทย โดยเฉพาะราคาข้าวซึ่งถือเป็นสินค้าเกษตรส่งออกหลักของประเทศ ก็มีการปรับเพิ่มขึ้นสูงกว่า 100% จากเมื่อปลายปี 2550 ยกตัวอย่างเช่น ราคาข้าวขาว 5% จากกิโลกรัมหนึ่งที่มีมูลค่าไม่ถึง 11 บาทเมื่อปลายปี 2550 กลายเป็นกิโลกรัมละ 25 บาท ณ ปลายเดือนเมษายน 2551
การที่ราคาสินค้าเกษตรเช่นข้าวมีการปรับสูงขึ้นจนเป็นประวัติการณ์ นอกจากเกษตรกร โรงสี ผู้ส่งออก และผู้บริโภคข้าว จะได้รับผลกระทบจากราคาข้าวที่แพงมากแล้ว ตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าซึ่งเป็นตลาดที่มีบทบาทต่อการป้องกันความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาสินค้าเกษตรก็ได้รับผลกระทบจากการปรับพุ่งของราคาข้าวเช่นเดียวกัน เพราะการที่ราคามีการเคลื่อนไหวที่ผันผวนหรือมีการเคลื่อนไหวไปทางใดทางหนึ่งด้วยความรุนแรงและร้อนแรง ก็จะส่งผลให้กลไกของตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าที่มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อป้องกันความเสี่ยงของราคาเริ่มทำงาน เนื่องจากผู้ที่เกี่ยวข้องในวงจรค้าข้าวได้เห็นถึงประโยชน์จากตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าในการป้องกันความเสี่ยง ก็ได้เริ่มที่จะเข้ามาในตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้า
แม้แต่กระทั้งนักลงทุนประเภทเก็งกำไรทั้งหลาย ที่เมื่อเห็นว่าราคาข้าวมีทิศทางที่ชัดเจน ก็ได้เล็งเห็นถึงลู่ทางในการแสวงหากำไร และทำให้เกิดความสนใจที่จะเข้ามาแสวงหากำไรจากส่วนต่างของราคาในตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้า
เหล่านี้ล้วนส่งผลให้บรรยากาศในการส่งคำสั่งซื้อขายในตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้า ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2551 มีความคึกคักเป็นอย่างมาก โดยตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าได้มีปริมาณการซื้อขายต่อวันสูงสุดนับตั้งแต่เปิดตลาดมาเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2551 ที่ 1,120 สัญญา และเมื่อบรรยากาศของตลาดมีความคึกคัก ความสำคัญของทิศทางของราคาสินค้าเกษตรจึงเริ่มเป็นอะไรที่ทุกคนทั้งในและนอกตลาดให้ความสนใจ จึงขอที่จะอธิบายถึงทิศทางราคาข้าวดังต่อไปนี้
ทิศทางราคาข้าว
การที่ราคาข้าวปรับตัวสูงกว่า 100% ภายในช่วงเวลาเพียงแค่ไม่กี่เดือน สาเหตุหลักๆก็มาจากการที่เกิดความไม่สมดุลระหว่างความต้องการบริโภคและฝั่งผลผลิตข้าวที่ออกสู่ตลาดโลก โดยสัญญาณของความไม่สมดุลดังกล่าว ก็มีจุดเริ่มต้นเมื่อประมาณกลางปี 2550 เมื่อประเทศเวียดนามซึ่งเป็นประเทศผู้ส่งออกข้าวคู่แข่งสำคัญของไทย เริ่มมีปัญหาด้านการส่งมอบข้าวจากปัญหาโรคระบาดในนาข้าวและการเกิดมรสุมเข้าถล่มในพื้นที่เพาะปลูกหลายพื้นที่ของประเทศ จากภาวะดังกล่าวก็ได้เริ่มส่งผลกระทบให้ราคาข้าวในประเทศไทยเริ่มปรับตัวเพิ่มสูง เช่นราคาข้าวขาว 5% ขึ้นจากระดับ 9 บาท/กก เมื่อต้นปี 2550 ต้องปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 10-11 บาท/กก. ในกลางปี 2550 และเมื่อเวียดนามซึ่งมีปัญหาในการผลิตข้าวอยู่แล้ว ประเทศจีนและอินเดียซึ่งก็ล้วนเป็นผู้ผลิตข้าวรายใหญ่ของโลก ล้วนต้องประสบกับปัญหากับสภาพอากาศที่แปรปรวนในช่วงปลายปี 2550 จนส่งผลให้ผลผลิตข้าวในประเทศลดลง จนมาถึงช่วงต้นปี 2551 ทั้งสามประเทศก็เริ่มประกาศมาตรการจำกัดการส่งออกข้าวออกสู่ตลาดโลก เพื่อกันสำรองข้าวไว้ใช้สำหรับบริโภคในประเทศเพื่อที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการไม่ให้สินค้าอุปโภคบริโภคในประเทศต้องมีการปรับราคาที่สูงขึ้นตามเงินเฟ้อที่สูงขึ้น
จากการที่ 3 ประเทศผู้ผลิตข้าวรายใหญ่ของโลกเริ่มที่จะจำกัดการส่งออกข้าวออกสู่ตลาด แน่นอนว่าผลที่ตามมาก็คือ ข้าวได้หายไปจากตลาดโลกกว่า 10% (จากตารางบัญชีสมดุลข้าวโลก) แต่ในขณะที่ความต้องการกลับไม่ได้ลดลงตาม อีกทั้งเมื่อบวกกับภาวะเงินเฟ้อที่พุ่งสูงตามราคาน้ำมัน เหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยสะท้อนให้ราคาข้าวต้องมีการปรับเพิ่มขึ้นสูงอย่างหลีกเลี่ยงมิได้
และเมื่อพิจารณาทิศทางข้าวในสินค้าเกษตรล่วงหน้า ณ. ปัจจุบันราคาข้าวขาว 5% ได้ขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 31.66 บาท/กก. ซึ่งเป็นการปรับเพิ่มขึ้นจากเมื่อต้นปีเมื่อวันที่ 3 มกราคม 2551 ที่ระดับ 11.54 บาท/กก หรือราคาข้าวได้ปรับเพิ่มขึ้นกว่า 274% ภายในระยะเวลาเพียงแค่ไม่ถึง 4 เดือน ก็สะท้อนได้ถึงภาวะความร้อนแรงของราคาจากแรงเก็งกำไรได้เป็นอย่างดี แต่เมื่อมาพิจารณาการเคลื่อนไหวของราคาข้าวขาว 5% จากสมาคมโรงสีข้าวที่ ณ ปัจจุบันราคาได้ขึ้นมาอยู่ที่ 26.05 บาท/กก จะเห็นได้ว่าราคาข้าวในตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้ามีส่วนต่างประมาณ 5 บาท/กก ซึ่งเป็นส่วนต่างที่ต่างจากตลาดจริงค่อนข้างมาก ซึ่งโดยปรกติควรจะมีระดับราคาที่ไม่ต่างกันเกิน 1 บาท/กก หรือไม่ควรแตกต่างกันเลย
การที่ส่วนต่างของราคาในตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้ากับในตลาดจริงมีมากขนาดนี้ ก็จะส่งผลให้เกิดการปรับเข้าหากันของราคาในทางทฤษฎี กล่าวคือราคาในตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าต้องมีการปรับลดลงและราคาในตลาดจริงต้องมีการปรับเพิ่มขึ้น เพื่อให้ราคาทั้งสองตลาดเข้าสู่จุดเดียวกัน
แต่เมื่อมองดูที่สถานการณ์ข้าว ณ ปัจจุบันที่ทางกระทรวงพาณิชย์ได้พยายามออกมาย้ำอยู่เสมอว่าข้าวในประเทศมีเพียงพอต่อความต้องการ และไม่มีความจำเป็นในการระงับการส่งออก และผลผลิตข้าวนาปรังก็มีแนวโน้มที่จะออกมาสู่ตลาดในเดือนเมษายนและพฤษภาคมกว่า 2 ล้านตัน (จากตารางผลผลิตข้าวนาปรัง) ทำให้ปริมาณข้าวในประเทศน่าจะเพียงพอต่อการบริโภคในประเทศ และเป้าหมายการส่งออกที่คาดไว้ว่าปีนี้ประเทศไทยจะส่งออกข้าวได้ 9 ล้านตันน่าจะยังคงอยู่
จากข่าวดังกล่าวก็ทำให้แนวโน้มของราคาในช่วงสั้นไม่น่าจะที่จะปรับเพิ่มขึ้นร้อนแรงอย่างที่ผ่านๆมา เพราะข้าวในฤดูกาลใหม่กำลังจะเริ่มออกสู่ตลาด ในขณะที่ประเทศไทยไม่จำกัดการส่งออก ก็จะทำให้ราคาข้าวในประเทศจะอยู่ในระดับสูงต่อไป และทำให้การกักตุนสินค้าทำได้ยากขึ้น
และเมื่อพิจารณาถึงการประมูลซื้อข้าวครั้งล่าสุดของประเทศฟิลิปปินส์ที่มีการกำหนดปริมาณไว้ที่ 500,000 ตัน แต่ก็มีผู้เสนอขายเข้ามาเพียงแค่ 325,750 ตันเท่านั้น โดยราคาประมูลอยู่ที่ 872.5-1,220 เหรียญต่อตัน ซึ่งถือว่าเป็นระดับราคาที่สูงมากจากราคาก่อนการประมูลที่จะที่ระดับประมาณ 850-900 เหรียญต่อตัน หากผู้ซื้ออย่างฟิลิปปินส์ตอบรับราคาใหม่ที่ประเทศผู้ขายเสนอจะส่งผลต่อโครงสร้างตลาดข้าวของโลกอย่างแน่นอน และเวลานี้แม้ความต้องการนำเข้าข้าวของหลายประเทศยังมีอยู่ แต่ประเทศยากจนหลายประเทศเริ่มไม่ตอบรับราคาข้าวที่สูงขึ้นอย่างรุนแรงแล้ว
แต่แนวโน้มที่ทางฟิลิปปินส์จะตอบรับราคาใหม่น่าจะมีค่อนข้างสูง เพราะว่าแม้การประมูลรอบที่ผ่านมาจะมีการเสนอราคาที่สูงแต่ปริมาณข้าวที่เสนอขายเข้ามาก็ไม่เพียงพอต่อความต้องการในการประมูลซื้อตั้งแต่แรก ซึ่งการเปิดประมูลของฟิลิปปินส์และไม่ได้ปริมาณตามต้องการเกิดขึ้นครั้งนี้เป็นครั้งที่ 3 ติดต่อกันแล้ว
จากกราฟราคาข้าวในตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าจะเห็นได้ว่าราคายังคงอยู่บริเวณเดียวกับราคาเมื่อวันที 17 เมษายน 2551 ที่ระดับราคาประมาณ 31 บาท/กก ซึ่งก็บ่งชี้ว่าราคาในตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้า แม้จะมีการปรับลดลงเพื่อให้ส่วนต่างราคาในตลาดจริงกับในตลาดล่วงหน้ามีค่าที่ใกล้เคียง ก็ไม่น่าจะมีการปรับลดลงไปต่ำกว่า 30 บาทมากนัก เนื่องจากว่าตลาดน่าจะยังคงรักษาระดับราคาไว้เพื่อเฝ้าดูสถานการณการตอบรับราคาข้าวและการที่ฟิลิปปินส์จะมีการพิจารณาเพื่อประมูลข้าวใหม่อีกครั้งในเดือนพฤษภาคม
จากการกระแสข่าวทั้งหมดก็พอที่จะทำให้สรุปทิศทางราคาข้าวได้ว่าในระยะสั้นราคาข้าวในตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าแม้จจะมีการปรับลดลงแต่ก็ไม่น่าจะลงไปต่ำกว่า 30 บาท/กก และคาดว่าราคาข้าวยังคงมีแนวโน้มที่จะปรับเพิ่มขึ้นไปถึง 32-33 บาท/กก
ที่มาข้อมูล : บริษัท ธนเกษตร จำกัด