xs
xsm
sm
md
lg

ซี.พี.คาดราคาข้าวพุ่งอีก 20% หลังฟิลิปปินส์เปิดประมูล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ซี.พี.คาดราคาข้าวพุ่งอีก 20% หลังฟิลิปปินส์ประมูล ประเมินช่วง 10 ปีข้างหน้า ความต้องการพืชพลังงานสูง ดันราคาข้าวเปลือกตันละ 10,000 บาท คาดข้าวนาปรังปีนี้ทะลุ 1.5 หมื่นบาทต่อตัน หนุนรัฐบาลลงทุนชลประทานเต็มที่ในพื้นที่นาข้าว เพิ่มผลผลิตให้เกษตรกร

นายไตรรัตน์ อุดมศรีโยธิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการด้านจัดซื้อข้าวโครงการพิเศษ บริษัท ซี.พี.อินเตอร์เทรด จำกัด กล่าวว่า ปัจจุบันราคาข้าวเปลือกนาปรังของแต่ละจังหวัด มีราคาแตกต่างกัน โดยราคาข้าวเปลือกความชื้น 25% ที่จังหวัดกำแพงเพชร อยู่ที่ตันละ 11,500-11,800 บาท จังหวัดนครสวรรค์ ตันละ 12,200 บาท จังหวัดสุพรรณบุรี ตันละ 13,000 บาท และราคาข้าวสารขาว 5% ที่กรุงเทพมหานคร อยู่ที่ตันละ 25,500-26,000 บาท ซึ่งเป็นราคาที่สูงกว่าราคาเฉลี่ยปี 2550 ประมาณ 100% จากราคาเฉลี่ยข้าวเปลือกปีก่อนอยู่ที่ตันละ 6,000 บาท และข้าวสารตันละ 12,000 บาท

นายไตรรัตน์ กล่าวว่า ในสัปดาห์นี้ ไทยจะทราบว่าฟิลิปปินส์จะรับซื้อข้าวที่เปิดประมูลไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้วหรือไม่ หากฟิลิปปินส์ซื้อข้าวตามราคาที่ผู้ส่งออกประมูลตันละ 1,000-1,200 ดอลลาร์ จะทำให้ราคาข้าวในตลาดโลกสูงขึ้น เพราะราคาข้าวดังกล่าว เมื่อคำนวณเป็นราคาเอฟโอบีแล้ว จะอยู่ที่ตันละ 950-1,050 ดอลลาร์ ซึ่งสูงกว่าราคาเอฟโอบีปัจจุบันที่มีราคาตันละ 750-800 ดอลลาร์ หรือสูงขึ้น 20% โดยการประมูลครั้งนี้ มีโอกาสทำให้ราคาข้าวสารที่กรุงเทพมหานครและราคาข้าวเปลือกของชาวนาสูงขึ้นอีก 20% ตามไปด้วย

ปัจจุบันกำหนดได้ยากว่าราคาข้าวสูงสุดในประเทศจะอยู่ที่ราคาเท่าใด แต่มีโอกาสสูงกว่าราคาปัจจุบันอีก ตามความต้องการข้าวในตลาดโลกที่สูงขึ้น โดยในเดือน พ.ค.2551 ฟิลิปปินส์จะเปิดประมูลข้าวอีกครั้ง รวมทั้งอิหร่านจะรับซื้อข้าว จะทำให้ราคาข้าวในตลาดโลกสูงขึ้นอีก

การนำเข้าข้าวช่วงที่ผ่านมา ไม่ได้เป็นการกักตุนของประเทศผู้นำเข้า แต่เป็นการสั่งซื้อตามความต้องการที่แท้จริง เพราะเมื่อพิจารณาจากปริมาณการส่งออกของไทยเปรียบเทียบกับปีที่แล้ว ต่างกันไม่มาก โดยช่วงต้นปี 2550 ไทยส่งออกข้าวเดือนละ 700,000-800,000 ตัน และช่วงต้นปีนี้ไทยส่งออกเดือนละ 1 ล้านตัน

นายไตรรัตน์ กล่าวอีกว่า ราคาข้าวได้สูงขึ้นมาตั้งแต่ปลายปี 2550 เพราะราคาน้ำมันสูงทำให้มีความต้องการพืชพลังงานสูงขึ้น จึงส่งผลต่อพืชคาร์โบไฮเดรตสูงขึ้นในอนาคต โดยจะทำให้ในช่วง 10 ปี ข้างหน้า ราคาข้าวเปลือกนาปรังจะไม่ต่ำกว่าตันละ 10,000 บาท ซึ่งเป็นราคาที่ชาวนาพอใจและทำให้ชาวนาไม่ต้องกังวลว่าราคาข้าวจะตกลง เมื่อถึงฤดูกาลเก็บเกี่ยวเหมือนในอดีต ที่บางช่วงตกลงมาอยู่ที่ตันละ 5,000 บาท และจะทำให้ในระยะ 2-3 ปีข้างหน้า รัฐบาลไม่จำเป็นต้องเข้ามารับจำนำข้าว เพราะกลไกตลาดในช่วงนี้เดินไปได้

นายวิชัย พูนพิริยะทรัพย์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บริษัท เจริญโภคภัณฑ์เมล็ดพันธุ์ จำกัด กล่าวว่า ราคาข้าวที่สูงอยู่ในปัจจุบัน จะไม่ทำให้เกิดภาวะขาดแคลนข้าวในประเทศ เพราะขณะนี้ข้าวนาปรังมีการเก็บเกี่ยวทุกวัน ซึ่งบางพื้นที่เริ่มเก็บเกี่ยวตั้งแต่เดือน ก.พ.2551 บางพื้นที่เก็บเกี่ยวเสร็จในเดือน ก.ค.2551 และในพื้นที่ชลประทานเมื่อชาวนาเก็บเกี่ยวแล้ว ส่วนใหญ่จะลงมือปลูกข้าวต่อทันที โดยในปีนี้คาดว่าจะมีข้าวนาปรังออกมาประมาณ 6-7 ล้านตันข้าวเปลือก และจะมีข้าวนาปีออกมาอีก 21-22 ล้านตันข้าวเปลือก จึงทำให้มั่นใจได้ว่าข้าวจะไม่ขาดแคลน

การที่ราคาน้ำมันสูงขึ้นอย่างเนื่อง จะทำให้ราคาสินค้าคาร์โบไฮเดรตสูงขึ้น เพราะสินค้าเกษตรบางชนิดถูกนำไปผลิตพลังงานทดแทน ซึ่งเริ่มตั้งแต่สหรัฐนำข้าวโพดไปผลิตเอทานอล ส่งผลให้ข้าวโพดหายไปจากตลาด 60 ล้านตัน จนเป็นการช็อกตลาด และอินเดียมีผลผลิตข้าวไม่เพียงพอในการส่งออก ซึ่งส่งผลตามมาให้ราคาข้าวปรับตัวสูงขึ้น จากราคาเฉลี่ยข้าวขาว 5% ปีที่แล้วอยู่ที่ตันละ 350 ดอลลาร์ มาอยู่ที่ตันละ 750 ดอลลาร์ ในปัจจุบัน

นายมนตรี คงตระกูลเทียน ประธานคณะผู้บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ร่วม กลุ่มธุรกิจพืชครบวงจร เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) กล่าวว่า ปัจจุบัน ซีพี รับซื้อข้าวเปลือกนาปรังที่จังหวัดกำแพงเพชร ในราคาประมาณตันละ 12,000 บาท ซึ่งเป็นราคาที่สูงกว่าตลาดเล็กน้อย และการให้ราคาสูงกว่าเพราะตลาดมีความต้องการข้าวสูงขึ้น โดยต่อไปมีโอกาสที่ราคาข้าวจะสูงกว่าปัจจุบัน เพราะโลกกำลังมีปัญหาธรรมชาติ ทำให้ผลผลิตออกมาไม่เต็มที่ ซึ่งทำให้ปีนี้มีโอกาสที่ข้าวเปลือกนาปรังราคาสูงกว่าตันละ 15,000 บาท

นายมนตรี กล่าวว่า สถานการณ์ราคาข้าวที่มีแนวโน้มดีในอนาคต จำเป็นที่รัฐบาลควรมีการจัดโซนนิ่งพื้นที่ปลูกข้าว เพื่อให้ข้าวได้ผลผลิตเต็มที่ โดยในพื้นที่สำหรับปลูกข้าวจะต้องมีการจัดระบบชลประทานให้ทั่วถึง ซึ่งในภาคกลางส่วนใหญ่จะมีระบบชลประทานเข้าถึง แต่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือยังไม่ครอบคลุมทุกพื้นที่ จึงจำเป็นที่รัฐบาลจะต้องเร่งลงทุนระบบชลประทานเต็มรูปแบบ โดยจะต้องหาทางใช้ประโยชน์จากแม่น้ำมูล ชีและโขง ซึ่งไม่ว่าจะลงทุนมากน้อยเพียงใดก็เป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องลงทุน เพราะลงทุนไปครั้งเดียวแล้วสามารถใช้งานได้มากกว่า 100 ปี
กำลังโหลดความคิดเห็น