xs
xsm
sm
md
lg

ตลาดข้าวโลกพุ่งไม่หยุด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ราคาข้าวในตลาดโลกทะยานต่อ สัญญาซื้อขายล่วงหน้าของชิคาโกพุ่งขึ้นทำนิวไฮติดต่อกันเป็นวันที่ 4 โดยที่ผู้เชี่ยวชาญคาดหมายว่าราคาอาจจะเริ่มลดความหวือหวาลงในเดือนหน้า เมื่อผลผลิตฤดูใหม่ออกสู่ตลาด ด้านพาณิชย์ อัดผู้ส่งออกปั่นราคาข้าวจนเว่อร์ แถมยังบ่นว่าไม่มีข้าวจะส่งออก ทั้งๆ ที่กอดสต๊อกไว้สูงถึง 1.6 ล้านตัน รอจังหวะเทขาย ส่วนผลการตรวจสต๊อกรัฐ 2.1 ล้านตัน มีข้าวอยู่ครบ

ความวิตกเรื่องราคาข้าวในตลาดโลก ยังคงเป็นสถานการณ์ที่ยังคงต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ไม่แตกต่างกับราคาน้ำมันที่ยังคงมีแนวโน้มผันผวน ล่าสุด สัญญาล่วงหน้าสำหรับข้าวเปลือก เพื่อการส่งมอบเดือนกรกฎาคม ของตลาดชิคาโก บอร์ด ออฟ เทรด ซึ่งมาซื้อขายกันในแถบเอเชียวานนี้ (18) ราคาไต่ขึ้นไปอยู่ที่ 24.550 ดอลลาร์ต่อฮันเดรดเวต นับเป็นการทำสถิติสูงสุดเป็นวันที่ 4 ต่อเนื่องกัน และทำให้เฉพาะในปีนี้ราคาเพิ่มขึ้นมาแล้วกว่า 76%

ในการซื้อขายทางชิคาโกเองเมื่อวันพฤหัสบดี(17) ปรากฏว่าสัญญาล่วงหน้าของข้าวชนิดต่างๆ ได้ทะยานขึ้นจนติดเพดานสูงสุดที่อนุญาตให้ไต่ขึ้นได้ไม่เกิน 75 เซ็นต์ ทางตลาดจึงประกาศขยายเพดานเป็น 1.15 ดอลลาร์สำหรับการซื้อขายเมื่อวานนี้

ตลาดล่วงหน้าที่ชิคาโกเวลานี้ ข้าวถือเป็นสินค้าโภคภัณฑ์ตัวที่มีราคาขึ้นโด่งกว่าสินค้าอื่นๆ ในปีนี้ โดยขึ้นไปมากกว่าข้าวสาลี ซึ่งเคยมีราคาทะยานขึ้นเป็นสองเท่าตัวในระหว่างเดือนกันยายนปีที่แล้วถึงเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้ แต่หลังจากนั้นก็ถอยร่นลงมาราวๆ 30%

มาถึงตอนนี้ พวกเทรดเดอร์กำลังมองว่า ข้าวสาลีน่าจะไต่ขึ้นไปได้ใหม่อีกครั้งแล้ว นอกจากนั้น ราคาข้าวโพดก็เพิ่งทำสถิตินิวไฮเมื่อวันพฤหัสบดี

ในส่วนของข้าว การที่ราคาทะยานแรง นักวิเคราะห์มองกันว่าเพราะดีมานด์ที่พุ่งขึ้นมากโดยเฉพาะทางแถบเอเชีย อีกทั้งทั่วโลกต่างกำลังไม่สบายใจที่ซัปพลายอาหารกำลังลดต่ำลง ภายหลังประเทศซัปพลายเออร์อาหารรายใหญ่ๆ จำนวนมากต่างพากันลดการส่งออก

ซัปพลายซึ่งหดหายลงมานี้ สามารถเห็นได้ชัดเจนจากกรณีของฟิลิปปินส์ ประเทศผู้นำเข้าข้าวรายใหญ่ที่สุดของโลก โดยในสัปดาห์นี้ทางการผู้รับผิดชอบได้จัดประมูลซื้อข้าวเป็นจำนวน 500,000 ตัน ทว่ามีผู้เสนอขายเพียง 325,750 ตัน นับเป็นครั้งที่ 3 ติดต่อกันแล้วที่ฟิลิปปินส์ไม่อาจได้ข้าวมาเต็มจำนวนที่ต้องการ

ทางด้านกระทรวงเกษตรสหรัฐฯก็เพิ่งประกาศในวันพฤหัสบดีว่า ยอดส่งออกข้าวของสหรัฐฯในสัปดาห์ที่แล้ว ทำสิถติสูงสุดในรอบ 5 เดือน โดยเกือบครึ่งหนึ่งเป็นการขายให้ฟิลิปปินส์

สหรัฐฯนั้นแม้จะไม่ใช่ผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ แต่ผู้ซื้อจำนวนมากก็กำลังมองหาซัปพลายจากอเมริกา ส่วนหนึ่งก็เพราะประเทศผู้ส่งออกรายใหญ่อย่างเช่น เวียดนาม และอินเดีย ประกาศลดการส่งออกลง ทั้งเพื่อสงวนข้าวไว้บริโภค และทั้งเพื่อไม่ให้ราคาขายภายในประเทศสูงเกินไป

อย่างไรก็ตาม การปลูกข้าวในหลายๆ มลรัฐของสหรัฐฯ รวมทั้ง อาร์คันซอส์ ซึ่งเป็นมลรัฐปลูกข้าวมากที่สุด กำลังประสบปัญหาอากาศชื้นเกินไป จนต้องชะลอการปลูกไว้ก่อน

นักวิเคราะห์หลายคนเตือนว่า โลกจะต้องเผชิญภาวะราคาข้าวแพงกันไปอีกนานทีเดียว

"ราคาข้าวที่พุ่งขึ้นไป ไม่ควรมองว่าเป็นเพียงชั่วคราว แต่มันเป็นส่วนหนึ่งของตลาดกระทิงที่กำลังกระหน่ำใส่ตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ต่างๆ ทั่วทั้งหมด" อาคิโอะ ชิบาตะ กรรมการคนหนึ่งของสถาบันวิจัยมารูเบนิ ในกรุงโตเกียว ให้ความเห็น

"มันน่าที่จะกลับมามีเสถียรภาพในระดับราคาที่สูง หรือกระทั่งสูงขึ้นไปอีก" เขากล่าว "มันเป็นเรื่องซัปพลายไม่เพียงพอที่จะสนองทันดีมานด์ได้"

อย่างไรก็ตาม โรเบิร์ต ซิกเลอร์ ผู้อำนวยการใหญ่สถาบันวิจัยข้าวระหว่างประเทศ (ไออาร์อาร์ไอ) ซึ่งตั้งอยู่ที่ฟิลิปปินส์ ยังมองโลกในแง่ดีกว่านั้น โดยเขากล่าววานนี้ว่า ราคาข้าวน่าจะเริ่มมีเสถียรภาพได้ในอีกประมาณ 1 เดือนข้างหน้า เพราะผลผลิตฤดูกาลใหม่ออกสู่ตลาด

"เราจะเห็นราคาพุ่งไปจนถึงขีดสูงสุด แล้วมันจะถอยลงมาอย่างค่อนข้างรวดเร็วทีเดียว ทว่ามันจะไม่ลงมาถึงขั้นเฉียดๆ 300 ดอลลาร์ต่อตันหรอก"

ทั้งนี้ ราคาข้าวขาวชนิด 5% ของไทย ซึ่งได้รับการยอมรับกันมากว่าเป็นมาตรวัดราคาข้าวตลาดโลก มีราคาอยู่แถวๆ ตันละ 950 ดอลลาร์ในสัปดาห์นี้ สูงเป็นสามเท่าตัวของเมื่อเริ่มต้นปี 2007

เมื่อตอนที่ข้าวอยู่ในภาวะขาดแคลนตอนทศวรรษ 1970 นั้น ไออาร์อาร์ไอเป็นสถาบันที่มีบทบาทมากในการวิจัยพบพันธุ์ข้าวที่โตเร็วให้ผลผลิตมาก จนเรียกกันว่าเป็น "การปฏิวัติเขียว" สำหรับในครั้งนี้ ซิกเลอร์เสนอแนะว่า รัฐบาลประเทศต่างๆ ตลอดจนองค์การระหว่างประเทศต่างๆ จะต้องเร่งปฏิบัติการเพื่อเพิ่มผลผลิตข้าว และทำให้คนยากจนเข้าถึงธัญญาหารได้ง่ายขึ้น

ทางด้าน ประธานธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) ฮารุฮิโกะ คุโรดะ แถลงวานนี้ว่า ราคาอาหารที่แพงลิ่วในปัจจุบัน มีผลกระทบฝีก้าวในการลดปัญหาความยากจนในบางประเทศแถบเอเชียแล้ว โดยเฉพาะในประเทศรายได้ต่ำอย่างเช่น บังกลาเทศ และประเทศเหล่านี้อาจจะต้องขอรับความช่วยเหลือจากต่างประเทศ

คุโรดะกล่าวว่า สำหรับไทย ฟิลิปปินส์ และมาเลเซีย น่าจะมีภูมิคุ้มกันเศรษฐกิจของพวกตนให้อยู่รอดปลอดภัยจากภาวะราคาสินค้าโภคภัณฑ์เฟ้อทั่วโลกคราวนี้ได้ เพราะได้ปล่อยให้ค่าเงินตราของพวกตนไต่สูงขึ้นในระยะไม่กี่ปีที่ผ่านมา ทว่าสำหรับประเทศอย่างเวียดนาม ซึ่งเวลานี้มีปัญหาขาดดุลบัญชีเดินสะพัดจำนวนมาก การปล่อยให้ค่าเงินแข็งขึ้นอาจจะไม่เหมาะสม

สำหรับประเทศอย่างจีน ประธานเอดีบีบอกว่าดุลบัญชีเดินสะพัดอยู่ในสภาพเกินดุลเข้มแข็งมาก อีกทั้งเศรษฐกิจก็แข่งขันได้ดีเยี่ยม จึงอยู่ในฐานะที่จะปล่อยให้ค่าเงินเพิ่มค่าขึ้น ซึ่งจะช่วยให้ลดความเจ็บปวดจากราคานำเข้าอาหารซึ่งแพงขึ้นด้วย

จวกผู้ส่งออกปั่นราคาโอเวอร์

นายยรรยง พวงราช อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยถึงการประมูลซื้อข้าวของประเทศฟิลิปปินส์ 500,000 ตัน ซึ่งไทย เวียดนาม และปากีสถาน เข้าร่วมประมูลด้วยเมื่อวันที่ 17 เม.ย.ที่ผ่านมา ว่า ผู้ส่งออกไทยไม่ควรอ้างว่าราคาเสนอขายข้าวขาว 25% ที่เวียดนามเสนอที่ตันละ 1,200 เหรียญสหรัฐ ซึ่งเป็นราคาซีไอเอฟ โดยรวมราคาส่งออก ค่าประกัน และค่าระวางสินค้า เป็นราคาที่สูงเกินจริง เพราะรัฐบาลฟิลิปปินส์ยังไม่ได้ตัดสินว่าจะซื้อจากประเทศใด และต่อรองเหลือเท่าไร หรือจะล้มประมูลหรือไม่

ทั้งนี้ เห็นว่า ราคาที่เวียดนามเสนอเป็นราคาตามกลไกตลาดที่แท้จริง เพราะฟิลิปปินส์เป็นลูกค้ารายใหญ่ของเวียดนาม และซื้อขายกันเป็นประจำทุกปีอยู่แล้ว จึงย่อมรู้ถึงราคาตลาดเป็นอย่างดี และเสนอราคาตามต้นทุนที่แท้จริง อีกอย่างผู้ส่งออกไทยก็ไม่ควรเสนอราคาต่ำเกินไป เพื่อมุ่งหวังแต่จะส่งออกให้ได้อย่างเดียว โดยไม่คำนึงถึงว่า หากเสนอราคาต่ำมากจะกระทบราคาภายใน ทำให้เกษตรกรขายข้าวได้ในราคาต่ำกว่าความเป็นจริงได้

ข้าวอยู่ในมือผู้ส่งออก 1.6 ล้านตัน

ขณะเดียวกัน ผู้ส่งออกไม่ควรกังวลว่าจะไม่มีตลาดส่งออก จนต้องขายตัดราคากันเอง และไม่จำเป็นต้องเร่งรีบส่งออก จนมีข่าวว่า หาซื้อข้าวในตลาดเพื่อส่งออกไม่ได้ ซึ่งไม่เป็นความจริงเลย โดยขณะนี้ ข้าวในมือผู้ส่งออกมีประมาณ 1.6 ล้านตัน เป็นข้าวที่มีในสต๊อกผู้ส่งออก 800,000 ตัน และอีก 800,000 ตันเป็นข้าวที่ประมูลได้จากสต๊อกรัฐบาลเมื่อปลายปีก่อน แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่มารับมอบ ส่งผลให้รัฐต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเก็บรักษาข้าวจำนวนดังกล่าวเป็นมูลค่ามหาศาล

“ผมไม่เชื่อว่าผู้ส่งออกไม่มีข้าวจะส่งออก เท่าที่ทราบ ผู้ส่งออกมีสต๊อกในมืออยู่แล้วประมาณ 800,000 ตัน และยังไม่มารับมอบข้าวที่ประมูลได้จากรัฐอีก 800,000 ตัน เชื่อว่า ที่อ้างแบบนี้เป็นการยึกยักกันระหว่างผู้ส่งออก กับโรงสี ซึ่งผู้ส่งออกก็ยังอยากเก็บข้าวเอาไว้เพื่อปล่อยขายในช่วงที่ได้ราคาสูงสุด อย่างไรก็ตาม ผู้ส่งออกไม่ควรกังวลกับตลาดส่งออกมากนัก แต่ควรกังวลว่า จะทำให้อย่างไรให้ราคาส่งออกมีเสถียรภาพ สร้างกลไกการค้าระหว่างประเทศอย่างไร และรัฐบาลจะดูแลราคาในประเทศอย่างไร”

นายยรรยง กล่าวว่า สำหรับการตรวจสต๊อกข้าวของรัฐบาล 2.1 ล้านตันในช่วงวันหยุดเทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมา กรมการค้าภายในได้ร่วมกับองค์การคลังสินค้า (อคส.) ออกตรวจสอบสต๊อกข้าวรัฐใน 13 จังหวัดของภาคเหนือตอนล่าง และภาคกลางตอนบน ซึ่งเก็บข้าวรัฐจำนวนมาก เช่น จ. อยุธยา สระบุรี สุพรรณบุรี นครสวรรค์ พิจิตร กำแพงเพชร สุโขทัย ชัยนาท ฉะเชิงเทรา โดยตรวจสอบในโกดังกลาง 185 แห่ง และโรงสี 25 แห่ง ซึ่งในโกดังกลางพบมีข้าวครบตามจำนวนที่รับฝากเก็บไว้ 1.99 ล้านตัน และโรงสีอยู่ครบเช่นกัน โดยมีข้าวสาร 23,479 ตัน และข้าวเปลือกอีก 32,949 ตัน

ส่วนสถานการณ์ราคาข้าวในประเทศ ล่าสุดเมื่อวันที่ 17 เม.ย.2551 ราคาข้าวสารตลาดกรุงเทพมหานคร ข้าวหอมมะลิ 100% ชั้น 2 ตันละ 33,300-33,400 บาท ข้าวขาว 5% ตันละ 25,000-25,050 บาท ข้าวขาว 100% ตันละ 26,000-26,050 บาท ส่วนข้าวเปลือกหอมมะลิตันละ 18,500-19,600 บาท ข้าเปลือกเจ้า ตันละ 12,900-14,000 บาท ขณะที่ข้าวสารบรรจุถุง 5 กิโลกรัม ข้าวหอมมะลิ 100% ถุงละ 134-179 บาท ข้าวขาว 5% ถุงละ 80-90 บาท

"หอมมะลิ"มหาสารคาม 37 บาท/กก.

จากความผันผวนของราคาข้าวสารที่ปรับตัวสูงขึ้นตามปริมาณความต้องการบริโภคที่เพิ่มสูงขึ้น แต่ปริมาณการผลิตข้าวหลายประเทศผลผลิตลดลง เนื่องจากพื้นที่ปลูกข้าวประสบภัยธรรมชาติ ล่าสุดที่ จ.มหาสารคาม ข้าวหอมมะลิ ราคาอยู่ที่กิโลกรัม 35-37 บาท จากเมื่อต้นเดือน เม.ย.ที่ผ่านมาอยู่ที่กิโลกรัมละ 28-30 บาท ขณะที่ข้าวสารเหนียวล่าสุดอยู่ที่กิโลกรัมละ 25-27 บาทจากราคาเมื่อต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมาราคากิโลกรัมละ 22-24 บาท

ส่วนข้าวจ้าวเหลือง ก็ปรับตัวขึ้นสูงเช่นกันถึงกิโลกรัมละ 27 บาท ส่งผลให้ประชาชนในพื้นที่ จ.มหาสารคาม กว่าร้อยละ 30 ของจำนวนประชากร ต้องซื้อข้าวสารไปหุงรับประทาน รวมถึงบรรดาร้านอาหารตามสั่งที่ซื้อข้าวไปหุงจำหน่ายให้กับลูกค้าปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการซื้อข้าว

เจ้าของร้านจำหน่ายข้าวสารแห่งหนึ่งในเขตเทศบาลเมืองมหาสารคาม กล่าวว่า ช่วงที่ราคาข้าวปรับราคาสูงขึ้นมากนี้ ทำให้พฤติกรรมการซื้อข้าวของลูกค้าเปลี่ยนแปลงไป ปกติประชาชนทั่วไปที่เคยซื้อข้าวสารครั้งละ 10 กิโลกรัมขึ้นไป ได้เปลี่ยนมาซื้อเพียงครั้งละ 3-4 กิโลกรัม เพื่อให้สอดคล้องกับรายได้รายวัน ที่ต้องเจียดจ่ายไปซื้อสิ่งของเครื่องใช้ที่จำเป็นอย่างอื่นด้วย ส่วนร้านอาหารตามสั่งจะหันไปซื้อข้าวจ้าวเหลืองไปหุงจำน่ายแทนข้าวหอมมะลิ

อย่างไรก็ตาม ผลจากราคาข้าวสารที่ปรับตัวสูงขึ้น ยังทำให้ประชาชนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมหันไปรับประทานอาหารประเภทก๋วยเตี๋ยว และร้านอาหารตามสั่งใกล้บ้านเพิ่มมากขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่ยังจำหน่ายในราคาเดิม เริ่มจากจานละ 20-30 บาท ซึ่งหากทำอาหารรับประทานเองต้นทุนจะสูงกว่าไปซื้ออาหารรับประทานนอกบ้าน

ชาวนาสารคามแห่ทำนาปรังแสนไร่

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ในพื้นที่ จ.มหาสารคาม ราคาซื้อขายข้าวเปลือกสูงเป็นประวัติการในรอบ 50 ปีโดยราคารับซื้อข้าวเปลือกหอมมะลิ ล่าสุดอยู่ที่ราคาตันละ 20,000 บาท และราคาข้าวเปลือกเหนียว ตันละ 14,000 บาท แม้ราคารับซื้อข้าวเปลือกจะสูงแต่เกษตรกรส่วนใหญ่ก็ไม่มีข้าวเหลือจำหน่ายให้กับพ่อค้า จึงยอมเสี่ยงไปลงทุนปลูกข้าวนาปรังเพื่อให้ทันเก็บเกี่ยวขณะข้าวเปลือกราคายังดี จนถึงขณะนี้รวมพื้นที่ปลูกแล้ว กว่า 120,000 ไร่ พื้นที่ปลูกส่วนใหญ่อยู่ในเขตโครงการชลประทานน้ำพองหนองหวาย และเขตสูบน้ำด้วยพลังงานไฟฟ้าที่อาศัยสูบน้ำจากลำน้ำชี และลำห้วยคะคาง รวม 60 กว่าสถานี แถบ อ.โกสุมพิสัย, กันทรวิชัย เชียงยืน และ อ.เมือง ซึ่งคาดว่าจะสามารถเก็บเกี่ยวข้าวได้ในเดือน พ.ค.นี้

พัทลุงข้าวสารพุ่ง 38 บาท/กก.

ด้านนายชัยวัฒน์ พิพัฒน์รัตนเสรี อายุ 55 ปี ตัวแทนจำหน่ายข้าวสารรายใหญ่ในพื้นที่ จ.พัทลุง ระบุว่า ผลผลิตข้าวที่ออกมาเพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภค แต่ทางร้านจะไม่ซื้อข้าวสารมาสต็อกไว้ เพราะราคายังไม่นิ่ง ในขณะที่โรงสีข้าวไม่ยอมสีข้าว และขึ้นราคาข้าวสารกระสอบละ 100 บาท ทุกครั้งที่สั่งซื้อมาจำหน่าย ทางร้านจึงชะลอการสั่งซื้อข้าวจากโรงสีในท้องถิ่นไว้ก่อน เพราะสู้ราคาไม่ไหว

ในขณะที่บริษัทยักษ์ใหญ่ระดับประเทศ ไม่ยอมส่งสินค้าให้เป็นเดือนแล้ว ส่วนผู้บริโภคเลือกซื้อข้าวสารราคาถูกไปบริโภคทดแทน โดยข้าวสารที่ขายดีในปัจจุบัน คือ ข้าวหอมมะลิ ราคาขายปลีกกิโลกรัมละ 30 บาท ในขณะที่ข้าวสารถุงขนาด 5 กิโลกรัม บางยี่ห้อที่เคยขายดี แต่เมื่อราคาพุ่งสูงถึงถุงละ 200 บาท ขายแทบไม่ออก เพราะผู้บริโภคหันไปเลือกซื้อข้าวสารถุงที่ราคาประมาณ 150 ถึง 170 บาทแทน

ชาวนาหวั่นเจอปุ๋ยปลอม

นายศรชัย สิบหย่อม ประธานชมรมผู้ใช้น้ำในโครงการชลประทานเพื่อทำนาปรังในเขตพื้นที่ จ.พิจิตร ได้ออกมาเรียกร้องขอให้รัฐบาลดำเนินการเรื่องปุ๋ยราคาถูกที่จะจัดสรรให้เกษตรกร ที่มีข่าวออกมาว่าในวันที่ 20 เม.ย.51 จะถึงมือชาวนาว่า ขณะนี้มีแต่ข่าวเท่านั้น แต่ความจริงแล้วยังไม่มีความเคลื่อนไหวใดๆเลย และปุ๋ยนั้นเป็นชนิดใด คุณภาพเป็นอย่างไร เพราะเกรงว่าจะเจอปุ๋ยปลอมหรือด้อยคุณภาพ จึงอยากเสนอว่าถ้าจะช่วยชาวนาเร็วๆนี้ก็ขอให้ผ่านระบบสหกรณ์หรือธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ที่เชื่อถือได้ แต่ถ้าหากชาวนาไปลงชื่อเองเพื่อเข้าแถวซื้อปุ๋ยจากภาครัฐเกรงว่าจะไม่ได้เรื่อง
ข้าวขาวพุ่งตันละ 950 เหรียญ แนวโน้มวิกฤตลามทั่วโลก!
วิกฤตในตลาดข้าวโลกยังคงไม่มีทีท่าจะผ่อนคลายเมื่อวานนี้ โดยราคาข้าวชนิด 5% ในกรุงเทพฯ ซึ่งถือเป็นมาตรวัดราคาข้าวโลก พุ่งขึ้นไปอีก 10% ภายในช่วงเพียงหนึ่งสัปดาห์ ส่วนราคาในตลาดชิคาโกก็ทำนิวไฮเช่นกัน ขณะที่การประมูลซื้อข้าวจำนวนครึ่งล้านตันของฟิลิปปินส์ ผู้นำเข้ารายใหญ่ที่สุดในโลก ก็ปรากฏว่าได้ไปเพียงสองในสาม ทำให้เก็งกันว่าต้องเปิดประมูลกันอีก แถมประเทศผู้ซื้อรายใหญ่อื่นๆ อย่าง อิหร่าน และญี่ปุ่น จะหาซื้อเพิ่ม ขณะที่พาณิชย์ ตรวจราคาข้าวถุงห้างค้าปลีก-ผลตรวจสต๊อกข้าวไม่พบสูญหาย
กำลังโหลดความคิดเห็น