xs
xsm
sm
md
lg

“ข้าว”กับ..สถานการณ์เงินเฟ้อ ความผันผวนที่ควรเตรียมรับมือ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ในช่วงที่ผ่านมา หนังสือพิมพ์แทบทุกฉบับ รวมทั้งสื่อวิทยุ โทรทัศน์ ต่างนำเสนอเรื่องราวราคาข้าว พืชผลทางการเกษตรอันดับต้นของประเทศไทย มีราคาเพิ่มสูงขึ้น จนสร้างความวิตกกังวลในเรื่องนี้ให้แก่ทุกคนทุกชนชั้น

ผู้จัดการกองทุนรวม ฉบับนี้ขอนำเสนองานวิจัยของ “ศูนย์วิจัยกสิกรไทย” พบงานวิจัยที่มีคุณค่า ที่ออกมาเผยแพร่และน่าสนใจยิ่ง ได้แก่ ”ราคาข้าวที่สูงเป็นประวัติการณ์ ... เพิ่มแรงกดดันต่ออัตราเงินเฟ้อ” และ  “บทเรียนข้าวแพง : เร่งปรับโครงสร้าง...เตรียมรับมือความผันผวนราคาข้าว”โดยหวังว่าผู้อ่านจะได้รับทราบถึงความรู้ ความเข้าใจในสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ณ ขณะนี้ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อไป

ราคาข้าวที่สูงเป็นประวัติการณ์ ... เพิ่มแรงกดดันต่ออัตราเงินเฟ้อ

นับตั้งแต่เข้าสู่ปี 2551 ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคภายในประเทศปรับตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ตัวเลขอัตราเงินเฟ้อที่กระทรวงพาณิชย์ประกาศในแต่ละเดือนสูงเหนือความคาดหมายของตลาด โดยในเดือนมีนาคม 2551 อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ร้อยละ 5.3 ใกล้เคียงกับร้อยละ 5.4 ในเดือนกุมภาพันธ์ (ที่เป็นระดับสูงสุดในรอบ 20 เดือน) ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อในไตรมาสแรกมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 5.0 ซึ่งเป็นระดับที่สูงที่สุดนับตั้งแต่ไตรมาสที่ 3 ปี 2549 และถ้ามองสถานการณ์ราคาสินค้าในขณะนี้จะเห็นได้ว่ายังมีปัจจัยกระทบจากหลายด้านที่อาจส่งผลกดดันต่อภาวะค่าครองชีพ จนอาจทำให้อัตราเงินเฟ้อในระยะข้างหน้าไม่สามารถชะลอตัวได้มากดังที่เคยคาดการณ์ไว้

สิ่งที่น่ากังวลอย่างยิ่งในขณะนี้คือสถานการณ์ราคาข้าวในตลาดโลกที่ทะยานสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ อันเป็นผลมาจากประเทศผู้ผลิตรายสำคัญโดยเฉพาะเวียดนามและอินเดียประสบภาวะผลผลิตเสียหายจากภัยธรรมชาติ ปริมาณผลผลิตข้าวลดลง ทำให้รัฐบาลทั้งสองประเทศมีมาตรการชะลอการส่งออก ซึ่งการที่ราคาข้าวในตลาดโลกพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็วนับเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลทำให้ราคาข้าวในประเทศไทยมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และยังคงมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นต่อไป

ราคาข้าวที่สูงขึ้นจะมีผลต่อประชาชนในวงกว้าง เพราะเป็นสินค้าจำเป็นต่อการบริโภคในชีวิตประจำวัน จากการประเมินผลกระทบของทิศทางราคาข้าวต่อภาระค่าครองชีพของผู้บริโภค พบว่า ราคาข้าวที่สูงขึ้นเกินความคาดหมายนี้จะมีผลทำให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้นอีกร้อยละ 0.6-1.0 จากกรอบประมาณการเดิม ด้วยเหตุนี้
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงปรับประมาณการอัตราเงินเฟ้อในปี 2551 นี้ขึ้นไปเป็นร้อยละ 4.0-5.5 โดยมีค่ากลางที่ร้อยละ 4.8 จากประมาณการเงินเฟ้อเดิมอยู่ที่ร้อยละ 3.5-4.5 ซึ่งช่วงประมาณการที่กว้างนี้สะท้อนความเสี่ยงที่สูงขึ้นจากราคาสินค้าอาหารและพลังงานที่อาจปรับตัวสูงกว่าที่คาด

แรงกดดันเงินเฟ้ออาจจะกลายเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศ โดยอาจจะมีผลต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและภาคธุรกิจ อันจะส่งผลให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปีนี้อาจไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่รัฐบาลกำหนดไว้ได้ ดังนั้น ปัญหาราคาสินค้าที่สูงขึ้นในขณะนี้จึงเป็นปัญหาเร่งด่วนที่รอคอยการแก้ไข ทั้งนี้ ในภาวะที่ปัญหาราคาสินค้าแพงขึ้นเนื่องมาจากปัจจัยด้านอุปทานดังเช่นในขณะนี้ หนทางออกที่ดีที่สุดควรเป็นการแก้ไขปัญหาที่ต้นทาง โดยในเรื่องปัญหาราคาข้าว กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์การเกษตร และหน่วยงานอื่นๆที่เกี่ยวข้อง ควรร่วมกันหาแนวทางในการดูแลระดับราคา ความสมดุลของกลไกอุปสงค์และอุปทาน รวมถึงการบริหารนโยบายการส่งออกข้าวอย่างเหมาะสม เพื่อให้ผู้บริโภคในประเทศได้รับความเดือดร้อนน้อยที่สุดจากราคาในตลาดโลกที่พุ่งสูง ขณะที่มาตรการทางการเงินและการคลังที่มีเป้าหมายในการเพิ่มอำนาจซื้อแก่ผู้บริโภคนั้น อาจมีข้อจำกัดในด้านประสิทธิผลของนโยบาย รวมทั้งยังมีประเด็นในด้านเสถียรภาพที่จะต้องพิจารณาอย่างระมัดระวังรอบคอบ

บทเรียนข้าวแพง : เร่งปรับโครงสร้าง...เตรียมรับมือความผันผวนราคาข้าว

ขณะเดียวกันจากปัจจัยเอื้อจากตลาดต่างประเทศที่มีความต้องการข้าวไทยมากขึ้นนี้ มีผลกระทบต่อเนื่องทำให้ชาวนาเร่งขยายปริมาณการผลิตข้าว โดยการปลูกข้าวนาปรังในรอบสองและรอบสามในบางพื้นที่ ซึ่งเป็นความเสี่ยงอย่างมากที่จะต้องเผชิญปัญหาน้ำไม่เพียงพอ และการแพร่ระบาดของโรคและแมลงศัตรูพืช รวมทั้งการต้องยอมรับการตกเขียว หรือ การกู้ยืมเงินนายทุนเพื่อซื้อพันธุ์หรือการซื้อเชื่อพันธุ์ข้าวรวมทั้งปุ๋ย และยากำจัดศัตรูพืชกับร้านจำหน่ายพันธุ์ข้าว และปัจจัยการผลิตอื่นๆ โดยเฉพาะปุ๋ยและยากำจัดศัตรูพืช โดยการจ่ายคืนเป็นข้าว ผนวกกับปัญหาที่ชาวนาไทยต้องเผชิญอยู่แล้วคือ ต้นทุนการผลิตข้าวมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากราคาปัจจัยการผลิตเพิ่มขึ้น ทำให้ชาวนาไทยไม่ได้รับอานิสงส์จากราคาข้าวที่สูงขึ้นมากนัก

ส่วนผู้ที่อยู่ในวงการค้าข้าวและเจ้าของธุรกิจโรงสีเกิดความกังวลว่าปริมาณข้าวในประเทศจะไม่เพียงพอกับความต้องการทั้งเพื่อบริโภคในประเทศและการส่งออก ทำให้ผู้ประกอบการบางส่วนเข้าไปรับซื้อจากชาวนาก่อนที่ชาวนาจะลงมือปลูกข้าวนาปรังและสนับสนุนให้ชาวนาปลูกข้าวนาปรังรอบสอง ผู้บริโภคในประเทศต้องเผชิญกับราคาข้าวที่มีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และเมื่อเกิดกระแสความวิตกว่าข้าวจะขาดแคลน ทำให้เกิดการกักตุนข้าวในระดับครัวเรือนโดยผู้ส่งออกข้าวต้องเผชิญกับความเสี่ยงที่จะต้องขาดทุนในการรับคำสั่งซื้อล่วงหน้าเป็นระยะเวลานาน เนื่องจากราคาข้าวมีการปรับขึ้นอย่างรวดเร็ว และในกรณีที่มีการรับคำสั่งซื้อก็คงต้องมีข้าวอยู่ในมือประมาณร้อยละ 70 ของปริมาณข้าวที่จะรับคำสั่งซื้อ

ทั้งนี้เพื่อลดความเสี่ยงในการที่จะไม่สามารถหาข้าวส่งออกได้ทันตามกำหนด รวมทั้งอาจจะต้องมีการเพิ่มเงื่อนไขในการทำสัญญาซื้อขายข้าวว่าจะต้องมีการปรับราคาข้าวตามสภาพตลาดด้วย รัฐบาลและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องต้องร่วมมือกันในการแก้ไขปัญหาไม่ให้เกิดวิกฤตการขาดแคลนข้าวและราคาข้าวพุ่งสูงขึ้นอันเป็นผลมาจากการเก็งกำไรหรือกักตุนข้าว ซึ่งจะเป็นการฉวยโอกาสค้ากำไรโดยไม่คำนึงถึงความเดือดร้อนของผู้อื่น โดยแนวนโยบายของกระทรวงพาณิชย์คือจะนำข้าวในสต็อกของรัฐบาลบางส่วนมาบรรจุถุงจำหน่ายให้กับผู้บริโภค ทั้งนี้เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของผู้บริโภคในประเทศในช่วงที่ราคาข้าวมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น

วงการค้าข้าวคาดการณ์ว่าราคาข้าวจะทรงตัวอยู่ในระดับสูงไปอีกไม่ต่ำกว่า 2-3 ปี แม้ว่าการที่ราคาข้าวสูงจะจูงใจให้มีการเพิ่มปริมาณการผลิตข้าว แต่จากสถานการณ์แย่งพื้นที่ปลูกระหว่างพืชพลังงานและพืชอาหาร รวมทั้งการแย่งพื้นที่ปลูกข้าวกับพืชเศรษฐกิจชนิดอื่นๆที่มีราคาอยู่ในเกณฑ์สูงเช่นกัน ทำให้การเพิ่มปริมาณการผลิตข้าวนั้นอยู่ที่การเพิ่มผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ ซึ่งต้องอาศัยเทคโนโลยีที่ทันสมัยทั้งทางด้านการพัฒนาพันธุ์ ตลอดจนการใส่ปุ๋ยและยากำจัดศัตรูพืช ฯลฯ รวมทั้งปัจจัยเสี่ยงของการผลิตข้าว คือ ภาวะโลกร้อนที่ส่งผลกระทบต่อความแปรปรวนของสภาพอากาศและเพิ่มโอกาสในการแพร่ระบาดของโรคและแมลงศัตรู
 
นอกจากนี้ผู้ที่เกี่ยวข้องในวงการค้าข้าวคงต้องเตรียมรับมือกับการแข่งขันการค้าข้าวในตลาดโลกที่จะกลับมารุนแรงอีกครั้ง เมื่อทั้งเวียดนามและอินเดียกลับเข้าตลาดอีกครั้ง ซึ่งทำให้เห็นได้ว่าการวางนโยบายระยะยาวที่มีความยืดหยุ่นและสามารถเปลี่ยนแปลงได้ทันกับสถานการณ์ทางการตลาดที่เปลี่ยนไปทั้งในช่วงเวลาที่ราคามีแนวโน้มสูงขึ้นและราคาตกต่ำเป็นสิ่งสำคัญ เนื่องจากวงการค้าข้าวมีผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียหลายฝ่าย โดยการเกลี่ยผลประโยชน์ที่ทุกฝ่ายยอมรับได้จึงเป็นบทบาทสำคัญอย่างยิ่งของรัฐบาล รวมทั้งการวางแผนการปรับโครงสร้างการผลิตและการตลาดข้าวเพื่อเตรียมรับมือกับความผันผวนของราคาข้าวที่อาจจะเกิดขึ้นได้อีกในอนาคต

เมื่อได้รับทราบถึงสาเหตุและที่มาของปัญหา และผลกระทบที่จะเกิดขึ้นแล้ว เชื่อว่างานวิจัยที่นำมาเสนอทั้ง 2 เรื่องในครั้งนี้ น่าจะเป็นประโยชน์กับทุกท่านได้เป็นอย่างดี ส่วนวิธีการแก้ไขปัญหาในท้ายที่สุดนั้นจะเป็นเช่นไร คงต้องขึ้นอยู่กับแผนการดำเนินงาน หรือวิธีการแก้ไขปัญหาของภาครัฐนั่นเอง...ว่าบทสุดท้ายของเรื่องดังกล่าวจะจบลงอย่างไร?

“ข้าวเอย..ข้าวสุก
จะต้องกินทุกบ้าน..ทุกฐานถิ่น
กว่าจะได้มาเป็นข้าวให้เรากิน ...
ชาวนาต้องสิ้นกำลังเกือบทั้งปี..
ต้องทน..แดด..ทน..ฝน ทน..ลมหนาว
กว่าจะได้ข้าวจากน...มาถึงนี่
คนกินข้าวควรคิดดูให้ดี ...
ชาวนานี้มีคุณแก่เราไม่เบา..เอย”

กำลังโหลดความคิดเห็น