xs
xsm
sm
md
lg

กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ...เรื่องใกล้ตัวที่ลูกจ้างต้องรู้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

มื่อเร็วๆนี้ “ผู้จัดการกองทุนรวม”ได้นำเสนอรายงานเรื่อง “กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ อีกหนึ่งสมรภูมิรบของบลจ.” ซึ่งเป็นการนำเสนอแนวโน้มการเติบโต และความต้องการของตลาดกองทุนประเภทดังกล่าว รวมถึงกลยุทธ์และแผนการดำเนินงานของบริษัทจัดการลงทุนต่างๆที่จะเข้ามาแข่งขัน เพื่อเพิ่มมาร์เก็ตแชร์ในกองทุนประเภทนี้
แต่ในความจริงขั้นพื้นฐาน คุณรู้หรือยัง...? ว่า “กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ มีกี่ประเภท แล้วทำอย่างไรจึงจะมีส่วนร่วม หรือเข้าไปลงทุนในกองทุนประเภทนี้ได้
"กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ” หรือ PROVIDENT FUNDถือว่าเป็นกองทุนส่วนบุคคลชนิดหนึ่งที่อยู่ภายใต้การดูเเลของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน(บลจ.)หรือสถาบันการเงินที่ได้รับใบอนุญาตจัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ โดยมีนายจ้างเเละลูกจ้างร่วมกันจัดตั้งขึ้นด้วยความสมัครใจ และเลือกบลจ.-สถาบันทางการเงินเข้ามาบริหารดูแลเพื่อนำเงินไปลงทุนให้เกิดผลประโยชน์สูงสุด

สำหรับ วัตถุประสงค์ที่แท้จริงในการตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เกิดจากความต้องของภาครัฐที่อยากให้ประชาชนทั่วไป หรือผู้ที่ทำงานสามารถมีเงินสำรองเก็บไว้ใช้เมื่อยามเกษียณอายุหรือออกจากงาน ซึ่งถือว่าเป็นการช่วยเหลือลูกจ้างไปอีกช่องทางหนึ่ง นอกจากนี้เม็ดเงินดังกล่าวยังมีส่วนในการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ เพราะจะเป็นเม็ดเงินที่ใช้ไปลงทุนในภาคธุรกิจต่างๆเพื่อสร้างผลตอบแทนกลับคืนมาสู่ผู้ลงทุนนั่นเอง

ส่วนเงินที่ไหลเข้าสู่กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ มีแหล่งที่มา 2 ส่วน ประกอบด้วย เงินสะสมจากลูกจ้าง คิดเป็น 2-15%ของเงินเดือน และเงินสมทบจากนายจ้าง ต้องเท่ากับหรือมากกว่าเงินสะสมของลูกจ้าง เช่น นายสมพรเลือกอัตราเงินที่เข้าสู่กองทุนฯที่ 5% ดังนั้นนายจ้างจะจ่ายเงินสมทบเท่ากับที่นายสมพรจ่ายที่ 5% หรืออาจมากกว่านั้น แต่ห้ามต่ำกว่าการจ่ายขั้นต่ำของนายสมพร ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความเอื้ออาทรของนายจ้าง....นั่นเอง

ประเภทของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
1.กองทุนเดี่ยว (Single Fund) ซึ่งในการแก้ไขพระราชบัญญัติ (พรบ.)กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ฉบับที่ 3 พ.ศ2530ที่มีได้ผลบังคับตั้งแต่วันที่ 27 มกราคม 2551นั้นได้เปลี่ยนชื่อกองทุนดังกล่าวว่า กองทุนนายจ้างเดียว หมายถึง กองทุนที่มีนายจ้างคนเดียว ทำให้มีอิสระในการกำหนดหรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงชื่อกองทุน นโยบายการลงทุน และข้อบังคับของกองทุนรวมถึงรับผิดชอบค่าใช้จ่ายของกองทุนทั้งหมด

2.กองทุนกลุ่ม (Group Fund) หมายถึง กองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่จัดตั้งขึ้นโดยมีหลายนายจ้างร่วมกันเป็นผู้จัดตั้ง แต่นายจ้างเหล่านั้นล้วนเป็นกลุ่มบริษัทในเครือเดียวกัน อาทิ กลุ่มเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) หรือ กลุ่ม ปตท. เป็นต้น แต่ในพ.ร.บใหม่มีการแก้ไขชื่อใหม่เป็น กองทุนหลายนายจ้าง ขณะที่ลักษณะอื่นๆจะเหมือนกับกองทุนนายจ้างเดียวทุกประการ

3.กองทุนร่วมทุน(Pooled Fund) หมายถึง กองทุนร่วมทุน แต่ในพ.ร.บ.ให้ชื่อว่า กองทุนหลายนายจ้างเช่นกัน แต่ลักษณะของกองทุนจะมีความแตกต่างจากกองประเภทที่2 (Group Fund) เพราะกองทุน Pooled Fund นี้ จะมีนายจ้างหลายรายร่วมกันจัดตั้งขึ้นมา 1 กองทุน แต่นายจ้างเหล่านี้ไม่ได้เป็นบริษํทที่อยู่ในเครือเดียวกัน ทำให้ไม่มีอิสระในการกำหนดหรือแก้ไข ชื่อกองทุน นโยบายการลงทุน ตลอดจนข้อบังคับส่วนกลาง ซึ่งนโยบายการลงทุนจะมีเพียงนโยบายเดียว อีกทั้งชื่อกองทุนและนโยบายจะถูกกำหนดโดย บลจ. โดยแต่ละนายจ้างจะต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายตามสัดส่วนของเงินลงทุนที่มีอยู่ในกองทุนนั้น

ภาษีกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ...สำคัญไฉน?

สิ่งที่ทุกคนมักสงสัยก็คือวิธีการคำนวณภาษีของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ว่ามีการคิดภาษีอย่างไรและทำอย่างไรจะได้รับการลดหย่อนทางภาษีหรือทางที่ดีคือการที่ไม่ต้องเสียภาษีเลย

การลงทุนผ่านกองทุนสำรองเลี้ยงชีพแล้วสามารถนำไปลดหย่อนภาษีเงินได้นั้นมีหลักง่ายๆคือ เมื่อเราจ่ายเงินเข้ากองทุนเท่าไรเราก็จะได้รับการลดหย่อนภาษีเท่านั้นแต่ต้องไม่เกิน 300,000 บาทและต้องไม่เกิน 15% ของค่าจ้าง

อย่างไรก็ตาม ถ้าเรานำเงินออกจากกองทุนนี้ก่อนกำหนด ไม่ว่าจะเป็นเพราะการเกษียณอายุ หรือลาออก ก็จะมีการคิดค่าภาษีที่ต่างกัน (อายุทำงานไม่ใช่ตัวนับอายุกองทุน เพราะอายุกองทุนสำรองเลี้ยงชีพจะเกิดขึ้นเมื่อผู้ลงทุนสมัครใจเข้าลงทุนเท่านั้น)

ดังนั้น สิ่งที่ช่วยทำให้จำง่ายๆคือเราต้องแบ่งเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเป็น “4ขา” หรือ “4ส่วน” ได้แก่ 1.เงินสะสมของสมาชิก 2.ผลประโยชน์จากเงินสะสมของสมาชิก 3.เงินสมทบจากนายจ้าง และ 4.ผลประโยชน์จากเงินสมทบของนายจ้าง

กรณีไหนต้องเสียหรือไม่เสียภาษี...?

1.กรณีการเกษียณ ทุพพลภาพ และเสียชีวิต จะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี คือไม่ต้องเสียภาษีเมื่อนำเงินออกจากกองทุน

2.กรณีลาออก หรือต้องการออกจากการเป็นสมาชิกภาพของกองทุน มีการคิดค่าภาษี 2 กรณี ดังนี้

A.กรณีอายุงานน้อยกว่า 5 ปี มีวิธีการคิด คือ เงินในส่วนที่สมาชิกจ่ายสะสมมานั้น สามารถนำออกไปได้โดยไม่ต้องนำไปคำนวณภาษี แต่เงินผลตอบแทนจากเงินสะสมของสมาชิก+เงินสะสมของนายจ้าง+ผลตอบแทนจากเงินสะสมของนายจ้าง จะไม่ได้สิทธิทางภาษี โดยทั้ง 3 ส่วนนี้จะต้องถูกนำไปคำนวณภาษีรวมกับรายได้อื่นๆ และส่วนที่เหลือจะนำกลับมามอบให้สมาชิกอีกที

B.อายุงานตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไป นั้นเงินในส่วนที่สมาชิกจ่ายสะสมมา จะไม่ถูกนำไปคำนวณภาษีเช่นกัน แต่ใน 3 ส่วนที่เหลือจะถูกนำมารวมกันและคำนวณภาษีโดยหักค่าใช้จ่ายได้ 2 ส่วน คือ อายุงาน x 7,000 บาท (ซึ่งเป็นค่าเฉลี่ยรายได้ที่ภาครัฐกำหนด) และส่วนที่เหลือนำมาหักค่าใช้จ่ายได้อีก 50%

พ.ร.บ.ฉบับใหม่เอื้อประโยชน์ต่อเราอย่างไร?

สำหรับประเด็นสำคัญที่มีการแก้ไขใน พ.ร.บกองทุนสำรองเลี้ยงชีพฉบับใหม่ มีดังนี้คือ 1.การรับโอนเงินจากกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) กรณีนี้เกิดขึ้นมาเพื่อรรองรับข้าราชการที่ลาอออกจากราชการและเข้าทำงานกับเอกชน

2.การจัดตั้งกองทุนที่มีหลายนโยบาย (Master Fund) เป็นกองทุนที่เพิ่มอิสระให้กับสมาชิก โดยสามารถเลือกลงทุนด้วยตัวเองได้ เพื่อรอรับผลตอบแทนที่ดีสุด ตามความเสี่ยงตนเองสามารถยอมรับได้ อาทิ บริษัท ปาล์มไทย จำกัด มีกองทุนสำรองลี้ยงชีพที่หลายนโยบาย ซึ่งทางบลจ.ที่ดูแลกองทุนมีนโยบายลงทุน 3 ช่องทาง คือ ลงทุนในหุ้น , ตราสารหนี้ และลงทุนในตลาดเงิน
โดยนางวัญญา เลือกที่จะยอมรับความเสี่ยงน้อย จึงลงทุนในหุ้นเพียง 20% และเลือกลงทุนในตราสารหนี้ 60% ขณะเดียวกันได้กระจายความเสี่ยงโดยลงทุนในตลาดเงิน 20% ซึ่งทางบลจ.จะนำเงินสะสมและเงินสมทบของนายจ้างกระจายลงทุนไปตามที่นางวัญญากำหนด ดังนั้นผลประโยชน์ที่ได้รับก็จะเป็นไปตามสัดส่วนการลงทุนของนางวัญญานั่นเอง

3.การขอรับเงินเป็นงวดกรณีสมาชิกที่เกษียณอายุ จากเดิมต้องรับคืนทั้งก้อน (เงินสะสม+เงินสมทบ+ผลประโยชน์จากการลงทุน) แต่ในพ.ร.บ.ฉบับใหม่ ทำให้สมาชิกสามารถขอรับคืนเป็นงวดได้ตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ในข้อบังคับของกองทุน

4.การให้สมาชิกเกษียณอายุคงเงินไว้ในกองทุน โดยสมาชิกสามารถคงเงินไว้ในกองทุนตามเงื่อนไขข้อบังคับของแต่ละกองทุนแต่ต้องไม่น้อยกว่า 90 วันนับตั้งแต่วันที่ออกจากงาน และสมาชิกรายนั้นมีสิทธิที่จะได้รับดอกผลจากกการคงเงินอีกด้วย

5.การกำหนดเงื่อนไขหรือเงื่อนเวลาที่สมาชิกจะได้รับเงินสมทบและผลประโยชน์ของเงินสมทบ (Vesting clause) ซึ่งข้อกำหนดทั้งหมดนี้จะต้องไม่ตัดสิทธิของลูกจ้างโดยปราศจากเหตุผลอันสมควร

บทสรุปส่งท้าย

นอกจากนี้มีเสียงถามไถ่แล้วว่า “กองทุนที่มีหลายนโยบาย” จะต้องรอนานหรือไม่? คำตอบคือคงไม่นานเกินรอแน่นอน เพราะบลจ.ต่างๆก็เริ่มขยับตัวรับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่นี้แล้ว คาดการณ์ว่าเราอาจจะได้เห็นกองทุนประเภท Master Funds ประมาณเดือนมิถุนายน หรือปลายๆไตรมาส ที่ 2

อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญหลายฝ่ายมองว่า การแข่งขันทางการตลาดของ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพจะเกิดขึ้นอย่างดุเดือด เนื่องจากบลจ.ต่างๆอยากจะจูงใจลูกค้ากลุ่มใหม่ๆ และสร้างความพอใจให้กับฐานลูกค้าเดิม อาทิเช่น อาจจะมีการปรับลดค่าธรรมเนียม ที่บลจ.จะจัดเก็บเพิ่มขึ้นจากความยุ่งยากในการดูแลการลงทุนของกองทุนแบบ Master Fund หรืออาจมีข้อเสนอใหม่ๆที่ตื่นตาตื่นใจแก่ลูกค้าเกี่ยวกับผลตอบแทน นั่นเอง
กำลังโหลดความคิดเห็น