xs
xsm
sm
md
lg

‘ทิสโก้’ลั่นขึ้นเบอร์1กองทุนสำรองฯ ชี้พ.ร.บ.ใหม่รอก.ล.ต.-สรรพากรชัดเจน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

บลจ.ทิสโก้ มั่นใจปีนี้เป็นผู้นำธุรกิจกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หลังปี50 แอสเซท ไซต์โตเพิ่ม 17% เป็น 6.2 หมื่นล้านบาท ส่วนปีนี้ตั้งเป้าโตอีก 20% เป็น 7.3หมื่นล้านบาท ชูการบริการที่ดีเยี่ยมชนะใจสมาชิก และลูกค้าใหม่ ดันฐานขยายเพิ่มต่อเนื่อง ชี้พ.ร.บ.ฉบับใหม่ที่จะเริ่มใช้ยังขาดความชัดเจนจากก.ล.ต. และข้อสรุปในเรื่องภาษีจาก กรมสรรพากร

นางสาวอารยา ธีระโกเมน รองกรรมการผู้จัดการ และหัวหน้าธุรกิจกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ บลจ. ทิสโก้ และอุปนายกสมาคมและประธานกลุ่มธุรกิจกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ สมาคมบริษัทจัดการลงทุน กล่าวถึงผลการดำเนินงานของบริษัทในด้านในการบริหารกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PROVIDENT FUND )ว่าในปีที่ผ่านมา ณ สิ้นเดือน ธันวาคม บริษัทมีมูลค่าทรัพย์สินภายใต้การบริหารประมาณ 62,725 ล้านบาท หรือเติบโตเพิ่มขึ้น 17% จากปี 2549 และเติบโตสูงความภาพรวมอุตสาหกรรมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ซึ่งเติบโตเพิ่มขึ้นในปี 2550 ประมาณ 13-15% โดยมีเม็ดเงินลงทุนรวมทั้งสิ้นประมาณ 432,000 ล้านบาท

ขณะเดียวกัน กองทุน PROVIDENT FUND ของบริษัท สามารถให้อัตราผลตอบแทนในปี 2550 อยู่ที่ 37-40% ซึ่งสูงกว่าประมาณ 10% จากอัตราผลตอบแทนตลาดหลักทรัพย์ฯโดยเฉลี่ย ซึ่งอยู่ที่ 25-26%

สำหรับ สาเหตุการเติบโตของกองทุน PROVIDENT FUND ของบลจ.ทิสโก้ ในปี 2550 นั้นมาจาก การเอาใจใส่ในการให้บริการแก่ลูกค้า ด้วยการเพิ่มความสะดวกการรับบริการ ผ่านช่องทางที่หลากหลายมากขึ้น อาทิ โทรศัพท์ อินเตอร์เน็ต รวมทั้งการอัพเดตข้อมูลต่างๆให้ลูกค้าอย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งการระยะเวลาของการดำเนินธุรกิจที่ยาวนาน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้บริษัทมีฐานลูกค้าจำนวนมาก

“ทิสโก้ เราเน้นในเนื่องของการบริการที่ดี ซึ่งเป็นสิ่งที่เรามามาอย่างต่อเนื่อง จึงส่งผลให้มีลูกค้าหลายรายชื่นชอบการดำเนินงานของบริษัท แม้แต่ผู้ที่เคยใช้บริการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของบริษัทอื่นๆ ณ ปัจจุบันนี้ บางรายก็หันมาใช้บริการของบริษัทแทน รวมทั้งลูกค้ารายใหม่ที่มีเข้ามาอย่างต่อเนื่อง จากการรับรู้ข้อมูลในด้านการให้ความบริการของบริษัท นอกจากนี้ บริษัทไม่เน้นการจัดเก็บค่าธรรมเนียมในธุรกรรมนี้มากเท่าใด” นางสาวอารยา กล่าว

รองกรรมการผู้จัดการ บลจ.ทิสโก้ กล่าวว่า ตลอดกองทุนสำรองเลี้ยงชีพนั้น มีการเติบโตที่ไม่หวือหวาเหมือนกับกองทุนรวม เนื่องจากการตัดสินใจเลือกลงทุนนั้นขึ้นอยู่กับคณะกรรมการกองทุน ซึ่งมาจากนายจ้างและลูกจ้าง รวมทั้งขึ้นอยู่กับความสมัครใจของสมาชิกในการเลือกลงทุนด้วย ขณะที่ในอนาคตคาดว่าการแข่งขันในธุรกิจนี้จะมีรูปแบบที่หลากหลายมากขึ้น ซึ่งผู้ที่ได้รับผลประโยชน์มากที่สุดจะเป็นสมาชิกนั่นเอง

ทั้งนี้ บริษัทคาดว่า ในปีนี้จะสามารถขึ้นเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพได้ เนื่องจากมีจำนวนกองทุน และจำนวนลูกค้าที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกัน บริษัทได้ตั้งเป้าหมายปีนี้ในส่วนของ PROVIDENT FUND ว่าจะมีทรัพย์สินสุทธิเติบโตเพิ่มขึ้นอีก20% จากปีที่ผ่านมา หรือโตขึ้นประมาณ 72,000 – 73,000 ล้านบาท

“ในปี 2551 เราตั้งเป้าที่จะมีลูกค้าใหม่ในส่วนของนายจ้างเพิ่มขึ้นอีก 20% จาก 2,080 รายในปีที่ผ่านมา ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 2549 ประมาณ 250 ราย และจากตัวเลขการเติบโตของจำนวนลูกค้า รวมทั้งแอสเซท ไซต์ในปี50 ทำให้เรามั่นใจว่าตั้งแต่ช่วงต้นปีนี้เราจะกลายผู้นำตลาด PROVIDENT FUND แน่ โดยแผนดำเนินงานในปีนี้ บริษัทจะมุ่งเน้นการทำตลาดในกองทุนหลายนายจ้าง (Pooled fund) มากขึ้นเพื่อเป็นการขยายฐานลูกค้า โดยเฉพาะการเจาะกลุ่มลูกค้าใหม่ ซึ่งคาดจะเติบโตเพิ่มขึ้นอีก 20% เช่นกัน”

ข้อมูลจากสมาคมบริษัทจัดการลงทุน (สมาคมบลจ.) ระบุว่า ณ วันที่ 30 พฤศจิกายน 2550 มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่จัดตั้งขึ้น จำนวน 515 กองทุน จากการบริหารจัดการโดยบริษัทจัดการกองทุนจำนวน 17 ราย โดย บลจ.กรุงไทย มีจำนวนเงินกองทุนภายใต้การบริหารมากสุดถึง 70,062 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วน 16.18% ของอุตสาหกรรมรวม แต่ปรับตัวลดลงจากเดือนตุลาคม 2550 จำนวน 134.28 ล้านบาท หรือ 0.19% ซึ่งในเดือนต.ค. 2550 มีจำนวนเงินกองทุน 70,196 ล้านบาท หรือ 16.17%

ขณะที่ อันดับ 2 ได้แก่ บลจ.ทิสโก้ มีจำนวนเงินกองทุนภายใต้การรวม 61,304 ล้านบาท หรือ 14.16% อันดับ 3. คือ บลจ.เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน) มีจำนวนเงินกองทุนภายใต้การบริหาร 50,825 ล้านบาท หรือ 11.74% อันดับ4. บลจ.ไทยพาณิชย์ จำกัด มีจำนวนเงินกองทุน 50,624 ล้านบาท หรือ 11.69% และอันดับ 5. บลจ.กสิกรไทย จำกัด มีจำนวนเงินกองทุน 46,828 ล้านบาท หรือ 10.82%

อย่างไรก็ตาม หลายฝ่ายคาดการณ์ว่า ธุรกิจดังกล่าวจะเกิดการเปลี่ยนในเรื่องของส่วนแบ่งการตลาดเพิ่มขึ้นในปีนี้ เนื่องจากมีหลายบริษัทจัดการลงทุนที่ให้ความสำคัญในธุรกิจนี้เป็นพิเศษ โดยก่อนหน้านี้ บลจ.ไทยพาณิชย์ และบลจ.อยุธยา เป็นอีก 2 ราย ที่มีแผนจะเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดในธุรกิจดังกล่าว เพราะมองว่าเป็นตลาดที่มีเม็ดเงินอยู่สูง แต่การเติบโตของธุรกิจยังมีน้อย

นางสาวอารยา กล่าวเพิ่มเติมถึง การแก้ไขพ.ร.บ.กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ. 2550 ว่า การแก้ไขพ.ร.บ.ดังกล่าวนับเป็น ฉบับที่ 3 แล้ว โดยมีการประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา แล้วเมื่อวันที่ 28 ธ.ค. 2550 และจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 27 มกราคมนี้ โดย ประเด็นสำคัญของพ.ร.บ.กองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่มีการแก้ไข ได้แก่ การรับโอนเงินจาก กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ,การจัดตั้งกองทุนที่มีหลายนโยบายการลงทุน (Master Fund) ,การจัดตั้งกองทุนหลายนายจ้าง (Poolre Fund),การให้ลูกจ้างที่ออกงานมีสิทธิขอคงเงินไว้ในกองทุน,การให้ลูกจ้างที่เกษียณอายุมีสิทธิรับเงินเป็นงวด และการกำหนดหลักเกณฑ์จ่ายเงินเมื่อสิ้นสุดสมาชิกภาพ (Vesting
Clause)

อย่างไรก็ตาม พ.ร.บ.ฉบับใหม่นี้ยังมีความไม่ชัดเจนในเรื่องของการเลือกประเภทลงทุน หลังวันสุดท้ายที่กองทุนกำหนดให้สมาชิกเลือก ในกรณีที่อาจมีสมาชิกบางรายไม่ส่งประเภทการลงทุนที่ต้องการตามระยะเวลาที่กำหนด รวมทั้งสมาชิกใหม่ของบริษัทซึ่งเริ่มทำงานภายหลังจากที่การเลือกประเภทกองทุนแล้วเสร็จไปไม่นาน ซึ่งก.ล.ต.กำหนดว่า ในกรณีดังกล่าวให้คณะกรรมการกองทุนเลือกลงทุนให้ในลักษณะผสม และมีความเสี่ยงต่ำแทน แต่ผู้ที่ได้รับผลกระทบอาจไม่พอใจในการเลือกลงทุนที่ก.ล.ต.กำหนด นอกจากนี้ยังมีความกังวลว่าในกรณีดังกล่าวอาจสร้างความสับสนให้แก่คณะกรรมการกองทุนได้ จึงอยากให้เรื่องดังกล่าวมีความชัดเจนมากขึ้น เช่นเดียวกับ Pooled Fund ที่ยังรอการแก้ไขข้อบังคับกองทุน

นอกจากนี้ การให้ลูกจ้างออกจากงานและมีสิทธิของคงเงินไว้ในกองทุน เรื่องดังกล่าวทางสมาคมบลจ.ยังต้องความชัดเจนจากก.ล.ต.ในเรื่องระยะเวลาขอคงเงินว่าจะได้ค่า 90 วันตามที่กำหนด หรือมากกว่านี้ รวมทั้งความชัดเขนในเรื่องภาษีอากรจากกรมสรรพากร โดยเฉพาะรูปแบบการคิดภาษี เพราะผลตอบแทนจากการลงทุนของแต่ละบุคคลนั้นจะแตกต่างกันออกไป

ส่วน การให้ลูกจ้างที่เกษียณอายุมีสิทธิรับเงินเป็นงวด นั้น ยังต้องรอความชัดเจนในเรื่องภาษีอากรเช่นกัน พร้อมกับต้องรอการแก้ไขข้อบังคับกองทุนเพื่อกำหนดระยะเวลาการรับเงินเป็นงวด อีกทั้งในช่วงที่ไม่ได้รับการแก้ไขนี้ ลูกจ้างสามารถดำเนินการผ่านกองทุนรวมได้หรือไม่ ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องสำคัญที่บริษัทจัดการลงทุนต้องรอคามชัดเจนจากก.ล.ต.และสรรพากร
กำลังโหลดความคิดเห็น