xs
xsm
sm
md
lg

กองทุนสำรองเลี้ยงชีพอีกหนึ่งสมรภูมิรบของบลจ.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ท่ามกลางสภาวะไม่แน่นอนของการลงทุนในขณะนี้ที่เหวี่ยงขึ้นลงแทบจะรายวัน ทำให้ธุรกิจกองทุนเริ่มได้รับความสนใจจากนักลงทุนเพิ่มมากขึ้น ดังจะเห็นได้จากมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ (เอ็นเอวี) ทั้งระบบที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งนอกจากกองทุนรวมที่มีเอ็นเอวีเพิ่มขึ้นแล้ว ธุรกิจกองทุนสำรองเลี้ยงชีพนับได้ว่าเป็นเสือซุ่มเงียบที่ในปีที่ผ่านมาเอ็นเอวีทั้งระบบมีการปรับตัวขึ้นและกลายเป็นธุรกิจหลักของบางบลจ. และเกิดการเปิดศึกแย่งลูกค้ากันอย่างต่อเนื่อง

รายงานจากคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ระบุว่า ปีที่ผ่านมาขนาดกองทุนส่วนบุคคล (โพวิเดนส์ ฟันด์) มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยสิ้นเดือนธันวาคม 2550 กองทุนสำรองเลี้ยงชีพทั้งระบบมีเอ็นเอวีจำนวน 441,710 ล้านบาท คิดเป็นการเพิ่มขึ้นกว่า 13% จากปลายปี 2549 และคิดเป็นการเพิ่มขึ้น 1.3% จากปลายไตรมาส 3 ปีเดียวกัน อย่างไรก็ตามแม้ว่าในช่วงไตรมาส 4 การขยายตัวของเอ็นเอวีของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพจะไม่มากนัก เแต่สำหรับการขยายตัวตลอดทั้งปีแล้ว ก็นับได้ว่าเป็นการขยายตัวในเกณฑ์ดีเมื่อเทียบกับการขยายตัวของ GDP ซึ่งในปีที่ผ่านมาที่มีการขยายตัวเพียง 4.8% จากปี 2549

โดยสิ้นไตรมาส 4 ทั้งระบบมีจำนวนกองทุนทั้งสิ้น 513 กองทุน แบ่งออกเป็นกองทุนนายจ้างเดียว (Single fund) จำนวน 218 กองทุน , กองทุนหลายนายจ้าง (Pooled fund) จำนวน 69 กองทุน และกองทุนหลายนายจ้างในกลุ่มเดียวกัน (group fund) จำนวน 226 กองทุน ขณะที่เอ็นเอวีเฉลี่ยรายสมาชิกอยู่ที่ 230,650 บาท เพิ่มขึ้น 6.8% เมื่อเทียบกับสิ้นปี 2549 ซึ่งสาเหตุหลักที่ทำให้เอ็นเอวีปรับตัวเพิ่มขึ้นในปีที่ผ่านมา เนื่องมาจากการเพิ่มขึ้นของจำนวนเงินนำส่งเข้ากองทุน และผลตอบแทนจากการลงทุน

ด้านจำนวนนายจ้างและลูกจ้างที่มีการลงทุนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพก็มีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่องเช่นเดียวกัน โดยสิ้นไตรมาส 4 ปี 2550 มีจำนวนนายจ้างทั้งสิ้น 8,187 ราย เพิ่มขึ้น 9.7% จากปี 2549 และ 1.3% จากไตรมาสก่อนหน้า ขณะที่มีจำนวนลูกจ้าง 1.9 ล้านคน คิดเป็นการเพิ่มขึ้น 5.8% จากปี 2549 และ 1.9% จากไตรมาสก่อนหน้า และคาดว่าในปีนี้จำนวนลูกจ้างและนายจ้างก็จะยังคงมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นเดียวกันจากการขยายฐานลุกค้าใหม่ของบริษัทจัดการ

ทั้งนี้จากการตรวจสอบพบว่า กองทุนสำรองเลี้ยงชีพส่วนใหญ่กว่า 75.9% ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ เน้นลงทุนในตราสารหนี้ รองลงมา 11.4% ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ เป็นกองทุนที่เน้นลงทุนในตราสารทุน และที่เหลือประมาณ 9.4% ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ เป็นกองทุนที่ลงทุนในเงินฝาก ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบรูปแบบการจัดสรรเงินลงทุนในไตรมาส 3 และ 4 ไม่แตกต่างกันมากนัก แต่เมื่อเทียบกับปี 2549 จะพบว่า กองทุนสำรองเลี้ยงชีพมีแนวโน้มที่จะลงทุนในเงินฝากลดน้อยลงเกือบ 50% และหันลงไปลงทุนในตราสารประเภทอื่นมากขึ้น โดยเฉพาะตราสารทุน

รายงานจาก ก.ล.ต.ระบุต่อว่า โดยภาพรวมแล้วในปีที่ผ่านมา กองทุนสำรองเลี้ยงชีพยังคงมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยมีนายจ้างรายใหม่จัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเพื่อเป็นสวัสดิการให้เแก่ลูกจ้างเพิ่มขึ้น ทั้งในรูปแบบ Pooled fund และSingle fund ขณะที่มีนายจ้างบางส่วนที่เลิกกอง Single fund ไปเข้า Pooled fund ซึ่งคาดว่าการเปลี่ยนแปลงรูปแบบกองทุนในลักษณะนี้จะยังคงเกิดต่อเนื่องในปี 2551 และอาจจะส่งผลทำให้จำนวนกองทุนโดยรวมในปีนี้ปรับตัวลดลง

สำหรับการจัดสรรเงินลงทุนในปี 2550 พบว่า กองทุนสำรองเลี้ยงชีพจะมีการลงทุนในตราสารทุนในสัดส่วนที่เพิ่มมากขึ้น เนื่องมาจากความน่าสนใจของผลตอบแทนจากการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ในปี 2550 และคาดว่าในปี 2551 กองทุนสำรองเลี้ยงชีพจะสามารถลงทุนในตราสารที่หลากหลายมากขึ้น เนื่องมาจากกฎหมายเปิดโอกาสให้หนึ่งกองทุนสามารถมีหลายนโยบายลงทุน และคาดว่าในปี 2551 เอ็นเอวีของอุตสาหกรรม จำนวนลูกจ้างและนายจ้างจะยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งจะมีการแข่งขันที่รุนแรงมาก ระหว่าง บลจ.ในการขยายฐานลูกค้าใหม่เพิ่มมากขึ้น

# เปิดกลยุกต์บลจ.ขยายNAV

สิ่งที่นำเสนอไปข้างต้นล้วนคือบทสรุปการแข่งขันในอุตสาหกรรมกองทุนสำรองฯ ในรอบปีที่ผ่านมา และการคาดการณ์จากผู้กำกับดูแลอย่าง ก.ล.ต. ส่วนความคิดเห็นจากตัวแทนฝั่งผู้ประกอบการอย่าง อารยา ธีระโกเมน รองกรรมการผู้จัดการ และหัวหน้าธุรกิจกองทุนสำรองเลี้ยงชีพบริษัทหลักทรัพยฺ์จัดการกองทุน (บลจ.) ทิสโก้ จำกัด และอุปนายกสมาคมและประธานกลุ่มธุรกิจกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ สมาคมบริษัทจัดการลงทุน มองอุตสาหกรรมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพว่า ตลาดกองทุนสำรองเลี้ยงชีพนั้น มีการเติบโตที่ไม่หวือหวาเหมือนกับกองทุนรวม เนื่องจากการตัดสินใจเลือกลงทุนนั้นขึ้นอยู่กับคณะกรรมการกองทุน ซึ่งมาจากนายจ้างและลูกจ้าง รวมทั้งขึ้นอยู่กับความสมัครใจของสมาชิกในการเลือกลงทุนด้วย ขณะที่ในอนาคตคาดว่าการแข่งขันในธุรกิจนี้จะมีรูปแบบที่หลากหลายมากขึ้น ซึ่งผู้ที่ได้รับผลประโยชน์มากที่สุดจะเป็นสมาชิกนั่นเอง

โดย สำหรับบลจ.ทิสโก้ นั้นตั้งเป้าหมายว่าในปีนี้จะสามารถขึ้นเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ด้วยจำนวนกองทุนและจำนวนลูกค้าที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันบริษัทได้ตั้งเป้าหมายปีนี้ในส่วนของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพว่าจะมีทรัพย์สินสุทธิเติบโตเพิ่มขึ้นอีก 20% จากปีที่ผ่านมา หรือโตขึ้นประมาณ 72,000 – 73,000 ล้านบาท

“ในปี 2551 เราตั้งเป้าที่จะมีลูกค้าใหม่ในส่วนของนายจ้างเพิ่มขึ้นอีก 20% จาก 2,080 รายในปีที่ผ่านมา ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 2549 ประมาณ 250 ราย และจากตัวเลขการเติบโตของจำนวนลูกค้า รวมทั้งแอสเซท ไซต์ในปี50 ทำให้เรามั่นใจว่าตั้งแต่ช่วงต้นปีนี้เราจะกลายผู้นำตลาดแน่ โดยแผนดำเนินงานในปีนี้ บริษัทจะมุ่งเน้นการทำตลาดในกองทุนหลายนายจ้าง (Pooled fund) มากขึ้นเพื่อเป็นการขยายฐานลูกค้า โดยเฉพาะการเจาะกลุ่มลูกค้าใหม่ ซึ่งคาดจะเติบโตเพิ่มขึ้นอีก 20% เช่นกัน”

อารยา กล่าวถึงการแข่งขันในวงการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพในปีนี้ว่า ธุรกิจดังกล่าวจะเกิดการเปลี่ยนแปลงในเรื่องของส่วนแบ่งการตลาด เนื่องจากมีหลายบริษัทจัดการลงทุนที่ให้ความสำคัญในธุรกิจนี้เป็นพิเศษ โดยก่อนหน้านี้ บลจ.ไทยพาณิชย์ และบลจ.อยุธยา เป็นอีก 2 ราย ที่มีแผนจะเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดในธุรกิจดังกล่าว เพราะมองว่าเป็นตลาดที่มีเม็ดเงินอยู่สูง แต่การเติบโตของธุรกิจยังมีน้อย

ด้าน ประภาส ตันพิบูลย์ศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่การลงทุน บลจ.อยุธยาประเมินอุตสาหกรรมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพในปีนี้ว่า น่าจะขยายตัวได้ประมาณ 15-20% จากผลตอบแทนที่ดีอยู่ในเกณฑ์เฉลี่ย 5% และจากเงินสมทบที่จะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในกรณีที่ลูกจ้างมีรายได้เพิ่ม รวมถึงการเพิ่มขึ้นจากนายจ้างใหม่ๆ ที่เข้ามาในระบบในอนาคตด้วย

สำหรับแนวทางการแข่งขันของบลจ.อยุธยา ประธานเจ้าหน้าที่การลงทุน บลจ.อยุธยา กล่าวว่า แนวทางของบริษัทจะไม่แข่งขันทางด้านราคาแน่นอน เพราะมีต้นทุนที่ค่อนข้างสูงหรืออาจจะขาดทุนด้วยซ้ำ ขณะเดียวกันกลุ่มที่มีการแข่งขันด้านราคาเองจะอยู่ในนายจ้างประเภทรัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่มากกว่า ซึ่งกลุ่มเป้าหมายของบลจ.จะเป็นบริษัทขนาดปานกลางและขนาดเล็กที่มีการแข่งขันน้อยมากกว่า

ขณะที่ พิชิต อัคราทิตย์ กรรมการผู้จัดการ บลจ.เอ็มเอฟซี กล่าวว่า บริษัทจะให้ความสำคัญในเรื่องของความเหมาะสม และมีคุณภาพมากขึ้น โดยจะออกกองทุนที่สามารถสร้างผลกำไรมากกว่าขาดทุน เพราะที่ผ่านมาหลาย ๆ บริษัทจัดการลงทุน จะใช้กลยุทธ์ปรับลดค่าธรรมเนียม (ฟี) มาแข่งขันกันเป็นว่าเล่น ซึ่งในส่วนนี้จะเป็นผลดีแก่ผู้ถือหน่วยแน่นอน แต่ในทางกลับกันผลเสียที่ตามมาคือ ผู้ถือหน่วยอาจจะไม่ได้กองทุนที่ดีและมีคุณภาพ

"ในปีนี้บริษัทจะรุกทำธุรกิจกองทุนสำรองเลี้ยงชีพในภาคเอกชนมากขึ้น แต่การบริหารจัดการจะไม่เน้นในขนาดกองทุนฯที่ใหญ่ แต่จะเป็นกองทุนฯขนาดเล็ก ๆ ที่มีคุณภาพมากกว่า” พิชิต กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น