xs
xsm
sm
md
lg

แข่งตัดราคาโพรวิเดนฟันด์ ดึงเงินเป็นฐานรับกม.ใหม่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สงครามราคากองทุนสำรองเลี้ยงชีพระอุ จับตาผู้ประกอบการตัดราคาดึงเงินเข้าพอร์ตตัวเอง หวังกระจายสู่กองทุนอื่นๆ พร้อมใช้เป็นฐานรับการประกาศ พ.ร.บ. ใหม่ ชี้เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ จากการแข่งขันค่าฟีเป็นแข่งเสนอผลตอบแทน เหตุการลงทุนไม่จำกัดแค่ตราสารหนี้เท่านั้น เผยเดือนมกราคมพอร์ตเปลี่ยนมือกันสูง "กรุงไทย" เงินวูบกว่าหมื่นล้าน เช่นเดียวกับไทยพาณิชย์และบีที พบโผล่ที่แบงก์บัวหลวงกว่า 16,830.03 ล้านบาท ด้าน"ทิสโก้" เบียดขึ้นแชมป์

รายงานข่าวจากสมาคมบริษัทจัดการลงทุน (สมาคมบลจ.) เปิดเผยถึงตัวเลขเงินลงทุนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (โพรวิเดนฟันด์) ในเดือนมกราคมที่ผ่านมาว่า มีจำนวนเงินลงทุนทั้งระบบรวม 440,681.18 ล้านบาท จากจำนวนกองทุนทั้งหมด 508 กองและจากนายจ้างทั้งหมด 8,809 ราย โดยจำนวนเงินลงทุนดังกล่าวเป็นจำนวนที่ลดลงไปประมาณ 1,039.08 ล้านบาทจากจำนวนเงินลงทุนรวม 441,720.26 ล้านบาทในช่วงปลายปี 2550 ซึ่งเป็นสัดส่วนการลดลงทั้งระบบประมาณ 0.24%

ทั้งนี้ หากพิจารณาถึงภาพรวมในแง่ของจำนวนเงินลงทุนของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพทั้งระบบแล้ว อาจจะเป็นสัดส่วนการลดลงที่ไม่มากนัก แต่การเปลี่ยนแปลงในแง่ของจำนวนเงินลงทุนภายใต้การบริหารของบริษัทจัดการกองทุนแต่ละแห่งนั้น เห็นการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างชัดเจนว่า เงินลงทุนบางส่วนมีการโยกย้ายไประหว่างบริษัทจัดการแห่งหนึ่งไปยังบริษัทจัดการอีกแห่งหนึ่ง

โดยรายงานส่วนแบ่งการตลาด (มาร์เกตแชร์) กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ณ วันที่ 31 มกราคม 2551 พบว่า บริษัทจัดการที่มีจำนวนเงินลงทุนลดลงมากที่สุดคือ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) กรุงไทย จำกัด (มหาชน) โดยเป็นจำนวนเงินที่ลดลงถึง 11,035.28 ล้านบาท ทำให้สินทรัพย์รวมภายใต้การบริหารของบลจ.กรุงไทยขยับลงมาอยู่ที่ 60,338.53 ล้านบาท จากจำนวนเงินลงทุนรวม 71,373.81 ล้านบาทในเดือนธันวาคม 2550

ทั้งนี้ การปรับลดลงดังกล่าวเป็นผลมาจากบริษัทนายจ้างรายหนึ่งถอนเงินลงทุนออกไป ซึ่งลอดคล้องกับจำนวนกองทุนที่บลจ.กรุงไทยบริหารอยู่ในปัจจุบันลดลงมาอยู่ที่ 31 กองทุนจากจำนวน 32 กองทุนในช่วงสิ้นปีที่แล้ว

โดยบลจ.ไทยพาณิชย์ ก็เป็นบริษัทจัดการที่มีสินทรัพย์ลดลงค่อนข้างมาก โดยปรับลดลงประมาณ 6,366.90 ล้านบาท มาอยู่ที่ 45,372.78 ล้านบาทจากสินทรัพย์รวม 51,739.68 ล้านบาท ถึงแม้จำนวนกองทุนของบลจ.ไทยพาณิชย์จะไม่ลดลงจาก 40 กองทุน และจำนวนนายจ้างเพิ่มขึ้นอีก 25 รายก็ตาม

นอกจากนี้ บลจ.บีที ก็มีสินทรัพย์ลดลงเช่นกัน โดยจำนวนเงินลงทุนล่าสุดอยู่ที่ 17,217.32 ล้านบาท ลดลงกว่า 5,180.40 ล้านบาทจากจำนวนเงินลงทุนรวม 22,397.71 ล้านบาท ส่วนบริษัท อเมริกันอินเตอร์เนชั่นแนลแอสชัวรันส์ จำกัด (เอไอเอ) เป็นอีกหนึ่งบริษัทจัดการที่มีจำนวนเงินลดลงเป็นจำนวนมาก โดยเดือนมกราคม เอไอเอมีจำนวนเงินลดลงกว่า 4,201.16 ล้านบาท ทำให้จำนวนเงินลงทุนล่าสุดขยับลงมาอยู่ที่ 15,624.70 ล้านบาท ซึ่งการลดลงของทั้งบลจ.บีทีและเอไอเอเอง ก็เป็นผลมาจากนายจ้างถอนการลงทุนออกไป โดยสอดคล้องกับจำนวนกองทุนที่ลดลงไป 1 กองทุนทั้ง 2 บริษัท

ในขณะที่ธนาคารกรุงเทพ เป็นบริษัทที่มีจำนวนเงินภายใต้การบริหารเพิ่มขึ้นสูงสุดถึง 16,830.03 ล้านบาท และถึงแม้จำนวนกองทุนจะไม่เพิ่มขึ้นจากเดิมที่ 39 กองทุน แต่ในแง่ของนายจ้างกลับเพิ่มขึ้นอีกจำนวน 2 ราย ทั้งนี้ ธนาคารกรุงเทพมีจำนวนเงินลงทุนรวม 39,054.24 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเงินลงทุนรวม 22,224.21 ล้านบาทในเดือนธันวาคมปีที่แล้ว

ด้านบลจ.ไอเอ็นจี และบลจ.อยุธยา เป็นบริษัทจัดการที่สินทรัพย์เพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยบลจ.ไอเอ็นจี มีจำนวนเงินลงทุนเพิ่มขึ้นถึง 4,432.46 ล้านบาท ทำให้สินทรัพย์รวมขยับขึ้นมาอยู่ที่ 40,982.22 ล้านบาท ส่วนบลจ.อยุธยา มีจำนวนเงินลงทุนเพิ่มขึ้นอีก 2,739.79 ล้านบาท ส่งผลให้สินทรัพย์รวมโตขึ้นมาอยู่ที่ 9,323.11 ล้านบาท

นายประภาส ตันพิบูลย์ศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่การลงทุน บลจ.อยุธยา กล่าวว่า การเปลี่ยงแปลงของจำนวนเงินลงทุนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของแต่ละบริษัท ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นผลมาจากการเปลี่ยนผู้จัดการกองทุน หลังจากนายจ้างมีการรีวิวผลตอบแทนของการลงทุนในรอบปีแล้ว แต่อย่างไรก็ตาม มองว่าปัจจัยสำคัญส่วนหนึ่งอาจจะเป็นผลมาจากการแข่งขันทางด้านราคาหรือค่าฟี (ค่าธรรมเนียมการบริหารจัดการ) เพราะในแง่ของผลตอบแทนแล้วจะไม่แตกต่างกันมาก เพราะกองทุนสำรองเลี้ยงชีพส่วนใหญ่ลงทุนในตราสารหนี้เป็นหลัก

ทั้งนี้ การแข่งขันด้านราคาดังกล่าว อาจจะเป็นความต้องการเพิ่มขนาดของบริษัทจัดการเพื่อหวังจะให้เป็นฐานที่จะลงทุนต่อไปยังกองทุนอื่นๆ หรือเพื่อเป็นฐานรองรับ พ.ร.บ.กองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่จะมีผลบังคับใช้เร็วๆ นี้ ซึ่งหาก พ.ร.บ. ดังกล่าวมีผลเมื่อไหร่ การแข่งขันในธุรกิจนี้จะเริ่มหันมาให้ความสำคัญกับผลตอบแทนมากกว่าการแข่งขันด้านราคา เนื่องจากลูกจ้างกองทุนจะสามารถเลือกรูปแบบการลงทุนของตัวเองได้ โดยไม่จำกัดเพียงแค่การลงทุนในตราสารหนี้เท่านั้น

"การแข่งขันด้านราคาอาจจะมีอยู่ใระดับหนึ่ง ซึ่งอาจจะมีความเป็นไปได้ที่บริษัทจัดการจะใช้กลยุทธ์ด้านราคามาดึงลูกค้าเข้ามาเพื่อเป็นฐานการลงทุนต่อไปยังกองทุนอื่นๆ หรือเพื่อเป็นฐานรองรับ พ.ร.บ.กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ที่จะบังคับใช้เร็วๆ นี้ ซึ่งหาถึงเวลานั้นแล้ว การแข่งขันด้านราคาจะสามารถทำได้ยากขึ้น"นายประภาสกล่าว

สำหรับการแข่งขันของบลจ.อยุธยา นายประภาสกล่าวว่า แนวทางของบริษัทจะไม่แข่งขันทางด้านราคาแน่นอน เพราะมีต้นทุนที่ค่อนข้างสูงหรืออาจจะขาดทุนด้วยซ้ำ ซึ่งธุรกิจที่ทำไปแล้วไม่มีกำไรเราก็ไม่จับอยู่แล้ว ขณะเดียวกันกลุ่มที่มีการแข่งขันด้านราคาเองจะอยู่ในนายจ้างประเภทรัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่มากกว่า ซึ่งกลุ่มเป้าหมายของเราจะเป็นบริษัทขนาดปานกลางและขนาดเล็กที่มีการแข่งขันน้อยมากกว่า

ส่วนจำนวนเงินลงทุนรวมของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของบริษัทที่เพิ่มขึ้นมาอีกประมาณ 2,739.79 ล้านบาทนั้น มาจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของพนักงานธนาคารกรุงศรีอยุธยาที่โอนมาจากบริษัทจัดการรายอื่น ซึ่งเป็นคนละส่วนกับจำนวนเงินกว่า 6,000 ล้านบาทที่แบงก์โอนพอร์ตการบริหารมาให้บริษัทก่อนหน้านี้

ทั้งนี้ ประเมินว่าในปี 2551 คาดว่าธุรกิจกองทุนสำรองเลี้ยงชีพทั้งระบบ จะขยายตัวได้ประมาณ 15-20% จากผลตอบแทนที่ดีอยู่ในเกณฑ์เฉลี่ย 5% และจากเงินสมทบที่จะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในกรณีที่ลูกจ้างมีรายได้เพิ่ม รวมถึงการเพิ่มขึ้นจากนายจ้างใหม่ๆ ที่เข้ามาในระบบในอนาคตด้วย

ทิสโก้เบียดกรุงไทยขึ้นเบอร์1
รายงานส่วนแบ่งการตลาด (มาร์เกตแชร์) กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ณ วันที่ 31 มกราคม 2551 พบว่า บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ทิสโก้ จำกัด มีส่วนแบ่งการตลาดเป็นอันดับ 1 ด้วยมูลค่าทรัพย์สินสุทธิภายใต้การบริหารรวม 62,871.16 ล้านบาท ซึ่งมีจำนวนเงินลงทุนเพิ่มขึ้นเล็กน้อยอีกประมาณ 145.28 ล้านบาท จากจำนวนเงินลงทุนรวม 62,725.88 ล้านบาทในปี 2550

อันดับ 2 คือบลจ.กรุงไทย มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิที่ 60,338.53 ล้านบาท โดยมีจำนวนเงินในการลงทุนลดลงถึง11,035.28 ล้านบาท จากจำนวนเงินลงทุนรวม 71,373.81ล้านบาท ในปี 2550 ส่วนอันดับที่3 ได้แก่ บลจ.เอ็มเอฟซีมีทรัพย์สินภายใต้การบริหารงานรวม 52,637.68 ล้านบาท โดยจำนวนเงินลงทุนเพิ่มขึ้นถึง 895.55ล้านบาท จากจำนวนเงินลงทุน 51,742.13 ล้านบาทในปี 2550

ทางด้านบลจ. กสิกรไทยอยู่ในอันดับที่4 มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิอยู่ที่ 48,993.30 ล้านบาท ซึ่งมีจำนวนเงินลงทุนเพิ่มขึ้นมากถึง1,067.18 ล้านบาท จากจำนวนเงินลงทุนในปี2550 ที่มีการลงทุนที่ 47,926.12 ล้านบาท อันดับ 5 คือบลจ. ไทยพาณิชย์มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิอยู่ที่ 45,372.78 ล้านบาท โดยจำนวนเงินในการลงทุนลดลงประมาณ6,366.90 ล้านบาท จากจำนวนลงทุนในปี2550 ที่มีการลงทุนที่ 51,739.68 ล้านบาท

ในส่วนของอันดับที่ 6 ได้แก่ บลจ. ไอเอ็นจี มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิภายใต้การบริหารรวม 40,982.22 ล้านบาท ซึ่งมีจำนวนเงินลงทุนเพิ่มขึ้นถึง 4,432.46 ล้านบาท จากจำนวนเงินลงทุนรวม 36,549.76
กำลังโหลดความคิดเห็น