xs
xsm
sm
md
lg

INGโกยเงินเข้าพอร์ตกองทุนสำรอง ปี50โต1.4หมื่นล.-อานิสงส์บริหารให้บิ๊กรัฐวิสาหกิจ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

"บลจ.ไอเอ็นจี" ยิ้มหน้าบาน ขนาดกองทุนสำรองเลี้ยงชีพปี 50 โตกว่า 1.4 หมื่นล้านบาท หลังได้ดูแลกองทุนให้รัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่ ส่วน "บลจ.ทิสโก้" ขนาดกองทุนเพิ่มขึ้น 9,700 ล้านบาทรั้งตำแหน่งอันดับ 2 ขณะที่ "บลจ.บีที" ผลงานไม่สวยขนาดกองทุนฮวบไปกว่า 7,800 ล้านบาท ด้าน "บลจ.ฟินันซ่า" รับงานดูแลกองทุนสำรองเลี้ยงชีพบริษัทแมทเทลเพิ่ม

รายงานข่าวจากการรวบรวมข้อมูลกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Provident Fund) จากสมาคมบริษัทจัดการลงทุน (AIMC) ของ "ผู้จัดการรายวัน" ระบุว่า ตลอดปี 2550 ที่ผ่านมาขนาดของอุตสาหกรรมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพมีการขยายตัวเพิ่มมากขึ้น โดย ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2550 ทั้งระบบมีขนาดกองทุนรวมทั้งสิ้น 441,720.26 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 55,063.32 ล้านบาท หรือ 3% จากสิ้นปี 2549 ที่ทั้งระบบมีขนาดกองทุนสำรองเลี้ยงชีพทั้งสิ้น 386,656.94 ล้านบาท

ทั้งนี้บริษัทจัดการ 5 อันดับแรกที่มีขนาดกองทุนสำรองเลี้ยงชีพในการบริหารจัดการเพิ่มขึ้นมากที่สุดในปี 2550 ปรากฎดังต่อไปนี้ อันดับ 1 บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ไอเอ็นจี (ประเทศไทย) จำกัด โดย ณ สิ้นเดือน ธันวาคม ปี 2550 มีขนาดกองทุนสำรองเลี้ยงชีพในการบริการจัดการ จำนวน 36,549.76 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 14,231.06 ล้านบาท จากสิ้นเดือนธันวาคม ปี 2549 ที่มีขนาดกองทุน 22,318.70 ล้านบาท , อันดับ 2 บลจ.ทิสโก้ โดย สิ้นปีก่อนมีขนาดกองทุนในการบริหารจัดการ 62,725.88 ล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่า 9,709.84 ล้านบาท จากสิ้นปี 2549 ที่มีขนาดกองทุน 53,016.04 ล้านบาท

อันดับ 3 คือ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL ซึ่งในปีที่ผ่านมามีมูลค่ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ 22,224.21 ล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่า 9,683.75 ล้านบาท จากสิ้นปี 2549 ที่มีขนาดกองทุน 12,540.46 ล้านบาท , อันดับ 4 ได้แก่ บลจ.กสิกรไทย โดย ณ สิ้นเดือนธันวาคม ปี 2550 มีขนาดกองทุนสำรองเลี้ยงชีพในการบริการจัดการ จำนวน 47,926.12 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7,949.50 ล้านบาท จากสิ้นเดือนธันวาคม ปี 2549 ที่มีขนาดกองทุน 39,976.62 ล้านบาท และอันดับ 5 บลจ.ไทยพาณิชย์ ซึ่งในปีที่ผ่านมามีมูลค่ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ 51,739.68 ล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่า 7,689.80 ล้านบาท จากสิ้นปี 2549 ที่มีขนาดกองทุน 44,049.88 ล้านบาท

ขณะที่ในส่วนของบริษัทจัดการที่ในปี 2550 ขนาดกองทุนในการบริหารจัดการลดลง ประกอบไปด้วย อันดับ 1 บลจ.บีที ซึ่ง ณ สิ้นปี 2550 มีขนาดกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ 22,397.71 ล้านบาท ลดลง 7,852.98 ล้านบาท จากสิ้นปี 2549 ที่มีขนาดกองทุน 30,250.69 ล้านบาท และบลจ.ฟินันซ่า ณ สิ้นเดือน ธันวาคม ปี 2550 มีขนาดกองทุนสำรองเลี้ยงชีพในการบริการจัดการ จำนวน 17,802.27 ล้านบาท ลดลง 2,021.20 ล้านบาท จากสิ้นเดือนธันวาคม ปี 2549 ที่มีขนาดกองทุน 19,823.47 ล้านบาท ขณะที่ธนาคารกรุงศรีอยุธยาและธนาคารทหารไทยได้มีการโอนกองทุนในการบริหารจัดการทั้งหมดให้แก่ บลจ.อยุธยา และ บลจ.ทหารไทย ตามลำดับ

นายมาริษ ท่าราบ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ไอเอ็นจี (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า สาเหตุที่ในปีที่ผ่านมาขนาดกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของบริษัทปรับตัวเพิ่มขึ้นกว่าช่วงปลายปี 2549 ค่อนข้างมาก เนื่องมาจากบริษัทได้รับคัดเลือกให้เข้าไปร่วมในการจัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของหน่วยงานรัฐวิสาหกิจรายใหญ่แห่งหนึ่ง ซึ่งในการบริหารจัดการกองทุนรัฐวิสาหกิจดังกล่าวได้มีการกระจายเงินทุนให้บริษัทจัดการ 2 แห่งช่วยกันบริหารจัดการ

ขณะเดียวกันนอกจากบริษัทจะได้บริหารจัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของรัฐวิสาหกิจดังกล่าวแล้ว ในปีที่ผ่านมาบริษัทยังได้รับความไว้วางใจให้บริหารจัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่มีนโยบายลงทุนอย่างเดียว (Single fund) เพิ่มขึ้นอีกจำนวน 4-5 กองทุน

ฟินันซ่าได้ดูแลกองทุนสำรองฯบ.แมทเทล
นายธีระ ภู่ตระกูล ประธานบริหาร บลจ.ฟินันซ่า เปิดเผยว่า บริษัทได้รับการแต่งตั้งจาก บริษัท แมทเทล กรุงเทพ จำกัด ซึ่งเป็นผู้ผลิตของเล่นรายใหญ่ ให้เป็นผู้จัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของพนักงานจำนวน 1,500 ราย ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2551 เป็นต้นไป โดยบริษัทจะนำนโยบายการบริหารกองทุนสำรองเลี้ยงชีพแบบ Employee’s Choice มาประยุกต์ใช้ โดยให้พนักงานแต่ละคนสามารถเลือกแผนการลงทุนเพื่อการเกษียณอายุให้เหมาะสมกับตนเองได้อย่างเป็นอิสระ และสามารถกระจายการลงทุนไปในสินทรัพย์ประเภทต่างๆ ได้ทั้งในประเทศและต่างประเทศตามความต้องการและระดับความเสี่ยงที่แต่ละคนสามารถยอมรับได้

ทั้งนี้จะแบ่งการลงทุนออกเป็น 2 กองทุน ประกอบด้วยกองทุนหลักคือ กองทุนกรุงเทพ 2 ซึ่งลงทุนในตราสารหนี้และลงทุนในหุ้น ส่วนกองทุนที่ 2 เป็นกองทุนทางเลือก คือกองทุนสำรองเลี้ยงชีพหุ้นมั่งคั่ง ซึ่งลงทุนในสินทรัพย์หลากหลายประเภททั้งในหุ้น พันธบัตร และสินค้าโภคภัณฑ์ทั่วโลก และให้ผลตอบแทนสูงถึง 11% ในปี 2550

นาย Arunagiri Manikam รองประธานกรรมการผู้จัดการ บริษัท แมทเทล กรุงเทพ จำกัด กล่าวว่า การที่บริษัทเลือกให้บลจ.ฟินันซ่า บริหารกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เนื่องจากมีความมั่นใจในประสบการณ์ด้านการบริหารกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ที่มีประสิทธิภาพ และมีผลงานการบริหารอัตราผลตอบแทนเป็นที่น่าพอใจ

ก.ล.ต.ประกาศรับจดทะเบียนเพิ่ม10กอง
รายงานข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า โดยที่มาตรา 8 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ. 2530 กำหนดให้นายทะเบียนกองทุนสำรองเลี้ยงชีพประกาศการรับจดทะเบียนกองทุนสำรองเลี้ยงชีพในราชกิจจานุเบกษา นายทะเบียนกองทุนสำรองเลี้ยงชีพจึงประกาศรายชื่อกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่ได้รับจดทะเบียนไว้เพิ่มเติมอีก 10 กองทุน ซึ่งประกอบด้วย 1.กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พนักงาน ปตท.สผ.2 ซึ่งจดทะเบียนแล้ว ทะเบียนเลขที่ 1/2550 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2550

2.กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เจ้าหน้าที่ของสหกรณ์ ซึ่งจดทะเบียนแล้ว ทะเบียนเลขที่ 2/2550 ตั้งแต่วันที่ 25 มกราคม 2550 3. กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กลุ่มบริษัท เอสซี แอสเสท ซึ่งจดทะเบียนแล้ว ทะเบียนเลขที่ 3/2550 ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2550 4.กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ บริษัท โตชิบาคอนซูมเมอร์โปรดัคส์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งจดทะเบียนแล้ว ทะเบียนเลขที่ 4/2550 ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2550

5.กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ บีทีเอส ซึ่งจดทะเบียนแล้ว ทะเบียนเลขที่ 5/2550 ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2550 6.กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ทหารไทยธนบดี ซึ่งจดทะเบียนแล้ว ทะเบียนเลขที่ 6/2550 ตั้งแต่วันที่ 20 กรกฎาคม 2550 7.กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ JUMBO 25 ซึ่งจดทะเบียนแล้ว ทะเบียนเลขที่ 7/2550ตั้งแต่วันที่ 20 กรกฎาคม 2550

8. กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ฮัพซูน โกลบอลกรุ๊ป ซึ่งจดทะเบียนแล้ว ทะเบียนเลขที่ 8/2550 ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2550 9. กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พนักงานธนาคารแห่งประเทศไทย (กองทุนที่ 1) ซึ่งจดทะเบียนแล้ว ทะเบียนเลขที่ 9/2550 ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2550 และ 10. กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พนักงานธนาคารแห่งประเทศไทย (กองทุนที่ 3) ซึ่งจดทะเบียนแล้ว ทะเบียนเลขที่ 10/2550 ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2550
กำลังโหลดความคิดเห็น