เก็บตกงานผลการประกาศรางวัล "The Post-Lipper Thailand Fund Awards 2008" รางวัลเพียงหนึ่งเดียวที่มอบให้กับคนทำงานในแวดวงกองทุนรวมโดยเฉพาะอีกสักเล็กน้อย...หลังจากทราบไปแล้วว่า ค่ายไหนได้รางวัลอะไรมาบ้าง ก็ถึงเวลาที่เราจะไปทำความรู้จักกับกองทุนที่ได้รับรางวัลให้ลึกซึ้งมากขึ้น
วันนี้เลยถือโอกาสหยิบความสำเร็จของ "กองทุนเปิด แอสเซท พลัส ตราสารหนี้ปันผล (ASP-DI)" ภายใต้การบริหารจัดการของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) แอสเซท พลัส จำกัด มานำเสนอ...ซึ่งกองทุนดังกล่าวคว้ามาได้ถึง 2 รางวัล อันได้แก่ รางวัลกองทุนตราสารหนี้ที่ดีที่สุดในระยะเวลา 3 ปีและกองทุนตราสารหนี้ที่ดีที่สุดในระยะเวลา 5 ปี
จะว่าไปแล้ว...ท่ามกลางบรรยากาศการลงทุนในช่วงปีที่ผ่านมา ซึ่งมีความผันผวนค่อนข้างมาก นับว่าเป็นบททดสอบที่ท้าทายไม่น้อยสำหรับผู้บริหารกองทุนรวม เนื่องจากมีปัจจัยต่างๆ ที่ทยอยมาให้ได้เรียนรู้ และรับมืออยู่โดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นมาตรการสำรอง 30% ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ประกาศออกมาเมื่อประมาณปลายปี 2549 รวมถึงปัญหาสินเชื่อด้อยคุณภาพในสหรัฐอมเริกา (ซับไพรม์) ที่เริ่มผุดต้นตอของปัญหามาเมื่อกลางปี 2550
ทั้งนี้ รางวัลที่ได้รับคงเป็นบทพิสูจน์และบ่งบอกได้ถึงกึ๋น และวิสัยทัศน์ของผู้บริหารกองทุนรวมได้ระดับหนึ่งเช่นกัน ขณะเดียวกัน ยังแสดงให้เห็นว่าเป็นการลงทุนที่สามารถให้ผลตอบแทนที่ดีในระยะยาว ความสม่ำเสมอของการลงทุน และธุรกิจมีการทำกำไรได้ดี รักษากำไรได้นาน มีผู้บริหารที่มีความน่าเชื่อถือ รวมทั้งการเป็นบรรษัทภิบาลที่ดีด้วย
สุทธินี สิมะกุลธร ผู้จัดการกองทุน บลจ.แอสเซท พลัส เปิดเผยว่า การที่กองทุนเปิดแอสเซทพลัสตราสารหนี้ปันได้รับ 2 รางวัล จาก “The Post-Lipper Thailand Fund Awards 2008” ในฐานะเป็นกองทุนตราสารหนี้ที่ดีที่สุดในระยะเวลา 3 ปี และกองทุนตราสารหนี้ที่ดีที่สุดในระยะเวลา 5 ปี เนื่องจากมีหลักในการบริหารกองทุนแบบ active โดยจะมองภาพในระยะยาว ซึ่งมีหลายปัจจัยที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เช่น อัตราดอกเบี้ยนโยบาย อัตราเงินเฟ้อ อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจ ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยของไทยและต่างประเทศ ซึ่งหลายๆ ปัจจัยนี้ ส่งผลต่อตลาดตราสารหนี้อย่างรวดเร็วมาก
ดังนั้น การลงทุนที่ผ่านมาจึงต้องติดตามทุกวัน และได้เลือกจังหวะการลงทุนที่เหมาะสม เพื่อผู้ลงทุนจะได้รับผลตอบแทนที่ดี เช่น ลดการถือครองพันธบัตรรัฐบาลระยะยาว และเพิ่มการถือครองพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้น เมื่อคาดว่าอัตราผลตอบแทนจะปรับตัวสูงขึ้น หรือเลือกลงทุนในตราสารหนี้ระยะยาวขึ้น ในช่วงที่คาดว่าตราสารหนี้มีระดับผลตอบแทนที่น่าพอใจแล้วกับระดับความเสี่ยงที่กองทุนรับได้
สำหรับกลยุทธ์การลงทุนของกองทุน ASP-DI จะไม่มีการซื้อขายตราสารหนี้เพื่อเก็งกำไร แต่จะมองภาพรวมและตัวบริษัทผู้ออกตราสารหนี้ในระยะยาว และก่อนที่จะเลือกลงทุนจะต้องวิเคราะห์เครดิตอย่างถี่ถ้วน โดยเฉพาะตราสารหนี้ที่มีอายุเกิน 270 วัน จะต้องมีการประเมินกระแสเงินสดหรือไปพบผู้บริหารบริษัทที่จะลงทุน และคอยติดตามข่าวบริษัทนั้นๆ อย่างต่อเนื่อง
ขณะที่ผลจากวิกฤตซับไพรม์ในสหรัฐอเมริกานั้น ส่งผลต่อ “credit spread” ของตลาดตราสารหนี้ทั่วโลก ซึ่งทำให้ตราสารหนี้ที่ไม่ใช่พันธบัตรรัฐบาลจะต้องบวกค่าความเสี่ยงเพิ่มจากพันธบัตรรัฐบาล และสำหรับตลาดตราสารหนี้ในประเทศไทยต้องพิจารณาผลกระทบเป็นรายบริษัทไป ซึ่งกองทุนไม่ได้ให้ความสำคัญกับอันดับความน่าเชื่อถือที่บริษัทผู้ออกหุ้นกู้ได้รับจากสถาบันการจัดอันดับมากนัก เพราะว่าสิ่งที่ทำมาโดยตลอดคือการวิเคราะห์ความเสี่ยงภายในของกองทุนเอง เพื่อดูว่าแต่ละบริษัทมีความสามารถในการชำระหนี้มากแค่ไหน แต่หุ้นกู้ทุกตัวที่เราลงทุนอยู่ในระดับที่สามารถลงทุนได้ (Investment Grade) ขึ้นไป นอกจากนี้การตัดสินใจลงทุนจะต้องเร็วกว่าตลาดอีกด้วย
“เมื่อกลางปีที่แล้วอัตราดอกเบี้ยลงมาต่ำมาก แต่อยู่ๆ อัตราผลตอบแทนในตลาดก็เปลี่ยนเป็นขาขึ้น ซึ่งทำให้การลงทุนในตราสารหนี้ที่มีอายุยาวๆ จะขาดทุนจากการ mark to market แต่ช่วงนั้นเราตัดสินใจขายออกไปก่อนเป็นเดือน ซึ่งแม้ว่าจะไม่ได้ขายได้ราคาที่ดีที่สุด แต่เรามองเห็นแนวโน้มของตลาดมากกว่า ขณะที่ในระยะเวลา 3-4 เดือนที่ผ่านมา กองทุนนี้ถือตราสารหนี้ที่มีอายุยาวขึ้นกว่าเดิม โดยมีอายุเฉลี่ยไม่เกิน 1.5 ปี หุ้นกู้หลายตัวที่ออกในช่วงนั้นให้อัตราผลตอบแทนที่สูงมาก โดยหุ้นกู้ที่มีอันดับความน่าเชื่อถือสูงๆ มีอัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับ 4-5% แล้วเราก็มองทิศทางดอกเบี้ยในตลาดว่าจะไปในทิศทางไหน ก็คิดว่าระดับ 4-5% ถือว่ามากแล้ว เราก็เลยซื้อเอาไว้ค่อนข้างมาก และปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยก็ปรับลดลงแล้ว กองทุนนี้เลยได้รับผลดีจากหุ้นกู้ที่ซื้อไว้”เธอกล่าว
สำหรับกองทุน ASP-DI จะเน้นลงทุนในตราสารหนี้ ตราสารทางการเงิน และหรือเงินฝาก โดยอาจจะลงทุนใน หรือมีไว้ซึ่งสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (Derivatives) และหรือตราสารหนี้ที่มีการจ่ายผลตอบแทนอ้างอิงกับตัวแปร (Structured Notes) ตามที่สำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต.ให้ความเห็นชอบให้ลงทุน
ทั้งนี้ สัดส่วนการลงทุนของกองทุนดังกล่าว ณ วันที่ 28 ธันวาคม 2550 พบว่า ลงทุนในตราสารหนี้เอกชน 99.39% โดยหุ้นกู้ 5 อันแรกที่กองทุนนี้ถืออยู่ ได้แก่ บริษัท บัตรกรุงไทย (KTC) 22.54% ,ไทคอน อินดัสเทรียล คอนเน็คชั่น (TICON) 14.41% ,ไทยพาณิชย์ลิสซิ่ง (SCBL) 11.95% ,โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (TAC) 7.57% และธนาคารเกียรตินาคิน (KK) 7.02%
ส่วนผลการดำเนินงานกองทุนแอสเซทพลัสตราสารหนี้ปันผล ณ วันที่ 28 ธันวาคม 2550 สามารถให้ผลตอบแทนย้อนหลัง 3 เดือนอยู่ที่ 2.16% เมื่อเทียบกับเกณฑ์มาตรฐานอยู่ที่ 0.66% ผลตอบแทนย้อนหลังอยู่ที่ 6 เดือน 2.82% เมื่อเทียบกับเกณฑ์มาตรฐานอยู่ที่ 1.24% ผลตอบแทนย้อนหลัง 1 ปีอยู่ที่ 6.75% เมื่อเทียบกับเกณฑ์มาตรฐานอยู่ที่ 5.20% และสามารถให้ผลตอบแทนตั้งแต่เริ่มจัดตั้งกองทุนอยู่ที่ 5.92% เมื่อเทียบกับเกณฑ์มาตรฐานอยู่ที่ 3.59%
โดยตั้งแต่จัดตั้งกองทุน ASP-DI ได้มีการประกาศจ่ายเงินปันผลไปแล้วทั้งสิ้น 21 ครั้ง รวมเป็นมูลค่าต่อหน่วยรวม 2.54 บาท ซึ่งพบว่าได้มีการจ่ายปันผลมากที่สุด เมื่อครั้งที่ 19 ณ. วันที่ 3 ตุลาคม 2549 ในอัตรา 0.38 บาทต่อหน่วย และจ่ายเงินปันผลน้อยที่สุดในครั้งที่18 ในอัตรา 0.02 บาทต่อหน่วย สำหรับการจ่ายเงินปันผลรอบอื่นๆ มีดังนี้ รอบที่1 ในอัตรา 0.14 บาท รอบที่ 2 อยู่ที่ 0.15 บาท รอบที่3 จำนวน 0.15 บาท รอบที่ 4 เท่ากับ 0.09 บาท รอบที่ 5 คือ 0.30 บาท รอบที่ 6 อยู่ที่ 0.10 บาท รอบที่ 7 เท่ากับ 0.12 บาท รอบที่ 8 จำนวน 0.10 บาท รอบที่ 9 จำนวน 0.12 บาท รอบที่ 10 คือ 0.11 บาท
และในรอบที่11 ในอัตรา 0.06 บาท รอบที่ 12 อยู่ที่ 0.08 บาท รอบที่ 13 จำนวน 0.15 บาท รอบที่ 14 เท่ากับ 0.05 บาท รอบที่ 15 คือ 0.12 บาท รอบที่ 16 อยู่ที่ 0.09 บาท รอบที่ 17 เท่ากับ 0.04 บาท รอบที่ 18 จำนวน 0.02 บาท รอบที่ 19 จำนวน 0.38 บาท รอบที่ 20 คือ 0.09 บาท และรอบล่าสุดอยู่ที่ 0.08 บาท
"สุทธินี" กล่าวทิ้งท้ายว่า กองทุน ASP-DI นี้จะเหมาะสำหรับนักลงทุน ที่รับความเสี่ยงได้มาก เพราะหุ้นกู้เอกชนก็ยังมีความเสี่ยงสูงกว่าพันธบัตรรัฐบาล และพร้อมที่จะลงทุนในระยะยาว เพราะว่ากองทุนนี้ไม่ได้ทำกำไรได้ทุกวัน