xs
xsm
sm
md
lg

แอสเซทพลัสจ่อคิวFIFไตรมาสแรก เน้นลงทุนภาคอุตสาหกรรมแถบเอเชีย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

บลจ.แอสเซท พลัสเตรียมคลอดกองทุนรวมต่างประเทศมูลค่า 1,700 ล้านบาทไตรมาสแรก เน้นลงทุนภาคอุตสาหกรรม ในภูมิภาคที่มีแนวโน้มเติบโตสูง ล่าสุด อยู่ระหว่างขาย"กองทุนแอสเซทพลัสพรีเมี่ยม 6M2" เน้นลงทุนในเครดิตลิงค์โน้ตที่มีหลักทรัพย์อ้างอิงเป็นพันธบัตรรัฐบาลไทยในต่างประเทศ และพันธบัตรรัฐบาลเกาหลีใต้ คาดให้ผลตอบแทนที่ 3.0-3.1% ต่อปี เปิดไอพีโอถึง 3 มี.ค.นี้


นางสาวสุทธินี สิมะกุลธร ผู้จัดการกองทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) แอสเซท พลัส จำกัด เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการออกกองทุนต่างประเทศ (FIF) ว่า ยังคงเป็นไปตามแผนเดิม ที่วางไว้ว่าจะออก FIF ประเภท Fund of Fund 1 กองทุน ในไตรมาสที่ 1 โดยยังคงสนใจการลงทุนในกองทุนหุ้นต่างประเทศที่บริหารโดยบริษัทจัดการกองทุนชั้นนำของโลก ที่เน้นลงทุนในหุ้นของกลุ่มเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบน้อยจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวของสหรัฐฯ ยังคงเป็นทางเลือกที่น่าสนใจ โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ (Emerging Market) ที่มีเศรษฐกิจในประเทศที่แข็งแกร่งจากการประกอบธุรกิจของกลุ่มอุตสาหกรรมภายในประเทศ (Domestic Growth) ซึ่งมีอัตราการเติบโตในระดับสูง

ส่วนกลุ่มอุตสาหกรรมที่น่าสนใจ ได้แก่ กลุ่มอุตสาหกรรมสาธารณูปโภคพื้นฐานในแถบภูมิภาคเอเชีย (Asia Infrastructure) เนื่องจากยังเป็นอุตสาหกรรมที่สามารถขยายตัวได้อีกมาก กลุ่มสินค้าเกษตรกรรม (Soft Commodity) ที่ได้รับผลดีจากการบริโภคภายในประเทศที่มากขึ้น กลุ่มเวชภัณฑ์ (Healthcare) ที่มีแนวโน้มจะเติบโตในระยะยาวจากการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากร นอกจากนี้ ความตื่นตัวในเรื่องของภาวะโลกร้อน และการประหยัดพลังงานกัน จะเป็นผลดีต่อการเติบโตของกลุ่มอุตสาหกรรม พลังงานทางเลือก (Alternative Energy) เช่นกัน

โดยการคัดเลือกกองทุนที่บริหารจัดการโดยบริษัทจัดการระดับแนวหน้าของโลก และมีผลการดำเนินงานอยู่ในระดับ Top Performance ซึ่งทางบริษัทจะติดตามข้อมูลร่วมกับบริษัทจัดการต่างประเทศอย่างสม่ำเสมอ โดยมีมูลค่าโครงการประมาณ 1,700 ล้านบาท มูลค่าการซื้อขั้นต่ำ 5,000 บาท โดยขณะนี้กองทุนอยู่ระหว่างการพิจารณาอนุมัติจัดตั้งของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)

นอกจากนี้ บริษัทได้เปิดเสนอขายกองทุนเปิดแอสเซทพลัสพรีเมี่ยม 6M2 (ASP-Premium 6M2 : ASP-P6M2) มูลค่าโครงการ 1,700 ล้านบาท อายุโครงการ 6 เดือน และมีมูลค่าเงินลงทุนขั้นต่ำ 5,000 บาท โดยได้เปิดการเสนอขายหน่วยลงทุนครั้งแรก (IPO) ระหว่างวันที่ 25 กุมภาพันธ์ – 3 มีนาคม 2551 และมีมูลค่าเงินลงทุนขั้นต่ำ 5,000 บาท โดยกองทุนดังกล่าวเป็นกองทุนรวมผสม ที่ไม่มีการลงทุนในตราสารทุน ประเภทรับซื้อคืนหน่วยลงทุนที่มีการลงทุนในต่างประเทศ ไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน โดยกองทุนอาจพิจารณาลงทุนในตราสารหนี้ที่เสนอขายในต่างประเทศ และหรือเงินฝากระยะสั้น หรือตราสารที่เทียบเท่าเงินสด (Near Cash) ระยะสั้น ซึ่งสถาบันการเงินในประเทศที่กองทุนได้ลงทุนเป็นผู้ออก โดยอาจทำสัญญาสวอปและ/หรือสัญญาฟอร์เวิร์ดที่อ้างอิงกับอัตราแลกเปลี่ยน เพื่อป้องกันความเสี่ยง (Hedging) จากอัตราแลกเปลี่ยน

ทั้งนี้ กองทุนอาจพิจารณาลงทุนในตราสารหนี้ที่มีการจ่ายผลตอบแทนอ้างอิงกับตัวแปร (Structured Note) รวมถึง Credit Linked Note กองทุนอาจพิจารณาลงทุนในสินทรัพย์สภาพคล่อง ตราสารแห่งหนี้ เงินฝากในประเทศ ที่มีอายุคงเหลือไม่เกิน 1 ปี คาดว่าจะสามารถให้ผลตอบแทนได้ประมาณ 3.0-3.1% ต่อปี

สำหรับเครดิตลิงค์โน้ตถือเป็นตราสารทางการเงินใหม่ ที่ใช้นวัตกรรมทางการเงินมาช่วยบริหารผลตอบแทนและความเสี่ยงจากการลงทุน โดยสถาบันการเงินที่ออกตราสารดังกล่าวจะจ่ายคืนเงินต้นและผลตอบแทนให้กับนักลงทุน ที่หลักทรัพย์อ้างอิงเป็นพันธบัตรรัฐบาล จึงถือได้ว่าระดับความเสี่ยงของการที่จะผิดนัดชำระไม่มีเลย (Risk free) รวมถึงการปิดความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน (Fully hedged) ทำให้กองทุนไม่มีความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน จึงถือเป็นทางเลือกที่น่าสนใจ สำหรับผู้ที่เน้นลงทุนเฉพาะในตราสารหนี้

ก่อนหน้านี้ นายวสุ สุทธิพงษ์ชัย ผู้จัดการกองทุน บลจ.แอสเซทพลัส กล่าวว่า กองทุน ASP-P6M2 จะลงทุนในหลักทรัพย์อ้างอิงเป็นพันธบัตรรัฐบาลไทยในต่างประเทศที่มีอันดับความน่าเชื่อถือตั้งแต่ระดับ BBB+ ขึ้นไปจากสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ Standard & Poor (S&P) และลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลเกาหลีใต้ที่มีอันดับความน่าเชื่อถือตั้งแต่ระดับ A ขึ้นไปจาก S&P เช่นกัน โดยเป็นตราสารการเงินแบบกึ่งรัฐบาล โดยมีธนาคารพาณิชย์ของต่างชาติเป็นผู้ออกตราสาร

ส่วนปัญหาความกังวลในเรื่องเศรษฐกิจและปัญหาสินเชื่อด้อยคุณภาพในสหรัฐอเมริกา (ซับไพรม์) จะหมดไป เนื่องจากเป็นตราสารทางการเงินของรัฐบาล และหลังจากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงมา 0.50% ทำให้ผลตอบแทนของเครดิตลิงค์โน้ตใกล้เคียงกับตราสารหนี้ของสถาบันการเงินในยุโรป (Euro commercial Paper : ECP) แต่ยังสูงกว่าเล็กน้อย ทั้งนี้ ปัจจุบัน ECP ให้ผลตอบแทนอยู่ที่ประมาณ 2-7-2.8%
กำลังโหลดความคิดเห็น