xs
xsm
sm
md
lg

มาตรการภาษีกระตุ้นเศรษฐกิจใช้จ่าย-ลงทุนดี...แต่รายได้รัฐทรุด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจแรกภายใต้การดูแลของรัฐมนตรีกระทรวงการคลัง นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี อย่างมาตรการทางภาษี เพื่อกระตุ้นการลงทุน และลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน คงจะโดนใจใครหลายคนอยู่เหมือนกัน แต่ไม่รู้ว่าการใช้ประชานิยมแบบนี้จะได้ผลมากน้อยขนาดไหน หลังจากที่ประเทศพี่เบิ้มสหรัฐอเมริกาเองยังงัดมาตรการนี้ออกมาใช้ในช่วงที่ผ่านมาเพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจชะลอตัวจากปัญหาซับไพรม์เช่นกัน

การใช้มาตรการต่างๆ ของภาครัฐแน่นอนว่าจะมีผลทั้งในด้านบวกและลบตามมา ส่วนมาตรการนี้จะให้ผลในด้านใดมากกว่าต้องดูตามสถานการณ์ว่า ขณะนี้เหมาะแล้วหรือ?...ที่ต้องนำมาตรการนี้ออกมาใช้ ในเมื่อเศรษฐกิจไทยยังมีอัตราการการเติบโตที่ดีอยู่ หลังจากที่สภาพัฒน์ฯ ได้ออกมาปรับตัวเลขการขยายตัวของจีดีพีจากเดิม 4-5 เป็น 4.5-5.5 เลยทีเดียว

ส่วนผลในด้านลบคงเป็นเรื่องรายได้ของภาครัฐที่ต้องขาดหายไป โดยมาตรการหลักที่นำมาใช้จะทำให้ภาครัฐขาดรายได้จากส่วนนี้รวมกันเป็นจำนวนมาก ซึ่งการต่ออายุการคงอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มที่ระดับ 7% ไปอีก 2 ปีทำให้สูญเสียรายได้ที่พึงจะได้รับในอนาคตหากปรับเป็น 10% ตกประมาณปีละ 1.46 แสนล้านบาท และการที่บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ หรือบจ.เดิม จะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีในการลดหย่อนอัตราภาษีนิติบุคคลจาก 30% เป็น 25% สำหรับกำไรสุทธิไม่เกิน 300 ล้านบาทแรกคาดว่าจะสูญเสียรายได้ประมาณ 4,400 ล้านบาท

ดร.พิชิต อัคราทิตย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน) ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับการใช้มาตรการทางภาษีเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลว่า เป็นแนวทางที่ดีอย่างหนึ่ง ซึ่งการใช้นโยบายการเงิน และการคลังนั้นจะต้องควบคู่กันไป โดยที่ผ่านมานโยบายทางด้านการเงินในส่วนของอัตราดอกเบี้ยได้มีการปรับตัวลงต่ำมากแล้ว และการใช้นโยบายการเงินในช่วงนี้น่าจะเหมาะสมอยู่เหมือนกัน

ทั้งนี้ หลังจากนำมาตรการนี้ออกมาใช้แล้วคาดว่า จะทำให้มีการกระตุ้นการใช้จ่ายของประชาชนมากขึ้น เนื่องจากประชาชนจะเหมือนมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการที่ไม่ต้องเสียภาษีในจำนวนมาก อีกทั้งจะเป็นการส่งผลดีในเรื่องของจิตวิทยา โดยที่ประชาชนจะมีความเชื่อมั่นในรัฐบาล ที่มีผลงานออกมาเป็นรูปธรรมมากขึ้นในการกระตุ้นเศรษฐกิจ

"การใช้มาตรการภาษีคงจะส่งผลดีต่อการใช้จ่ายของประชาชน และความเชื่อมั่นต่อรัฐบาลที่มีผลงานในการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาเป็นรูปธรรม แต่การใช้มาตราการนี้จะมีผลมากหรือน้อยจะต้องดูในระยะยาวว่าจะมีการกระตุ้นให้จีดีพีโตมากน้อยขนาดไหน"ดร.พิชิตกล่าว

ผลกระทบต่อรายได้ของรัฐบาล

ดร.พิชิต กล่าวถึงผลกระทบต่อการใช้มาตรการภาษีว่า การใช้มาตรการนี้จะทำให้ภาครัฐขาดรายได้จากการจัดเก็บภาษี แต่หากมีการใช้มาตรการนี้ในระยะยาวการขาดรายได้ส่วนนี้จะถูกชดเชยด้วยฐานภาษีที่กว้างขึ้น โดยที่การใช้จ่ายจะเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการลงทุน จนเกิดการจ้างงาน และรายได้ที่เพิ่มขึ้นทำให้ฐานภาษีมีการขยายตัวจนสามารถชดเชยรายได้ในส่วนนี้ได้

"ผลกระทบทางทฤษฎีเมื่อมีการใช้มาตรการภาษีในระยะยาวจะทำให้ประชาชนมีการใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้น และเมื่อดีมานมีเพิ่มมากขึ้นแล้ว สินค้าที่นำออกมาขายร่วมทั้งสินค้าที่คงเหลืออยู่ในสต๊อกหมดไป จะทำให้ผู้ประกอบการมีการลงทุนเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเมื่อเป็นแบบนี้แล้วการจ้างงานจะเพิ่มตามมาด้วย โดยหากเป็นไปตามนี้แล้วเชื่อว่าฐานภาษีจะมีการขยายตัวจนทำให้สามารถกลบรายได้ที่ต้องสูญเสียไปจากการใช้มาตรนี้ของรัฐได้"ดร.พิชิตกล่าว

อย่างไรก็ตาม การใช้มาตรการนี้จะได้ผลหรือไม่ต้องดูในระยะยาว เพราะหากใช้เพียงระยะสั้นจะมีผลแค่การกระตุ้นการใช้จ่าย กับจิตวิทยาของประชาชนต่อรัฐบาลใหม่เท่านั้น ส่วนในระยะยาวหากมาตรการนี้จะได้ผลการเติบโตของจีดีพีจะต้องสูงขึ้นด้วยเท่านั้น

ส่วนการขาดรายได้ในส่วนนี้คาดว่าคงจะไม่มีผลต่อการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่(เมกะโปรเจกต์) ของรัฐบาล เนื่องจากการลงทุนของรัฐบาลยังคงมีอยู่หลายวิธี โดยวิธีที่ให้เอกชนเข้ามีส่วนร่วมในการลงทุนเป็นส่วนหนึ่งในแบ่งเบาภาระในเรื่องนี้ได้ และการจัดการที่ดีน่าจะทำให้มีการลงทุนของรัฐบาลในโครงการใหญ่ๆ ด้วยความร่วมมือในลักษณะนี้ได้

ดร.พิชิต กล่าวอีกว่า มาตรการภาษีนอกเหนือจากการกระตุ้นการใช้จ่ายแล้ว ยังมีบางมาตรการที่ส่งเสริมให้ประชาชนหันมาออมเพื่อการลงทุนมากขึ้นด้วย อย่างเช่นมาตรการลดหย่อนภาษีในการลงทุนกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ RMF ที่สามารถหักลดหย่อนได้เพิ่มขึ้นเป็น 500,000 จากเดิม 300,000 ซึ่งการออมในส่วนนี้ของประชาชน และสถาบันจะเป็นแหล่งเงินทุนที่ดีในการกระตุ้นด้านการลงทุนส่วนหนึ่งด้วย

"วัตถุประสงค์ของการลดหย่อนภาษีในส่วนของการลงทุนผ่านกองทุนอาร์เอ็มเอฟจะแตกต่างจากข้ออื่น ซึ่งที่ผ่านมามีการส่งเสริมในเรื่องนี้อยู่แล้ว แต่เมื่อมีการเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้สามารถหักลดหย่อนในเรื่องนี้ได้มากขึ้น เชื่อว่าจะเป็นผลดีทำให้มีประชาชนหันมาลงทุนเพิ่มมากขึ้น และที่ผ่านมากการลงทุนในส่วนนี้ทั้งของประชาชน และสถาบันเป็นที่ต้องการเป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นแหล่งเงินทุนที่ดีสำหรับผู้ประกอบการต่างๆ"ดร.พิชิตกล่าว

ด้าน ดร. ธนวรรธ์น พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย พูดถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่กระทรวงการคลังประกาศใช้เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายของประชาชนว่า เป็นมาตรการที่ใช้ได้ โดยภาพรวมเป็นการเพิ่มอำนาจการซื้อของประชาชน เช่นบางมาตรการเป็นการส่งเสริมคนมีรายได้น้อยซึ่งทำให้คนกลุ่มนี้มีรายได้เพื่มมากขึ้นจากมาตรการลดหย่อนภาษีส่งผลให้ประชาชนมีอำนาจในการออมเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) ซึ่งเป็นผลดีต่อกลุ่มผู้มีรายได้น้อย

สำหรับกลุ่มคนที่มีรายได้มากนาย ธนวรรธ์นกล่าวว่า จะมีผลดีต่อการลดหย่อนภาษี และยังเป็นการเพิ่มอำนาจซื้อได้ด้วยรวมถึงเป็นการประหยัดภาษีของบรรดากองทุน และมาตการกระตุ้นเศรษฐกิจนี้ยังส่งผลดีต่อตลาดหลักทรัพย์เพราะเป็นตัวเร่งให้บริษัทต่างๆเข้าไปจดทะเบียนมากขึ้นและยังเป็นการส่งเสริมตลาดทุนได้มากขึ้นอีกด้วย

ด้านผลกระทบต่อเศรษฐกิจในระยะยาวนาย ธนวรรธ์นมองว่า ในระยะยาวนั้นเป็นการส่งเสริมการออมโดยเฉพาะการออมเพื่อใช้จ่ายเมื่อเกษียณอายุรวมทั้งยังเป็นการพัฒนาส่งเสริมตลาดทุนและยังเป็นการเสริมเศรษฐกิจในระยะสั้นได้ในระดับหนึ่ง

นาย ธนวรรธ์นยังกล่าวต่อว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจนี้มีผลทางจิตวิทยาต่อการใช้จ่ายของประชาชนโดยเป็นการลดหย่อนภาษีซึ่งทำให้ประชาชนรู้สึกว่าตนเองมีเงินมากขึ้น แต่ยังไม่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะยาวได้ ส่วนผลกระทบที่จะตามมานั้นมองว่า ไม่ส่งผลกระทบอะไรในระยะสั้น แต่เป็นห่วงในเรื่องการที่รัฐจะเสียรายได้จากมาตราการลดหย่อนภาษีนี้โดยอยากให้รัฐแสดงตัวเลขการสูญเสียรายได้ออกมาให้ชัดเจน เพราะยังมีมาตรการต่างๆที่ยังรอดำเนินการอยู่เช่น มาตราการพักหนี้เกษตรกร

อย่างไรก็ตามเชื่อว่า มาตรการนี้จะไม่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานเม็กกะโปรเจ็กของรัฐบาลเพราะรัฐบาลจะมีวงเงินกู้อยู่แล้วและยังให้เอกชนเข้ามาลงทุนด้วยอยู่แล้ว

เห็นอย่างนี้แล้วพอสรุปได้ว่าการใช้มาตรการนี้คงเป็นเรื่องดีในการกระตุ้นการบริโภค และการลงทุน แต่มีผลพวงในเรื่องการขาดรายได้ของรัฐบาลเข้ามาเป็นตัวประสำคัญ ซึ่งหากมีการใช้นโยบายประชาชนนิยมอย่างที่ประกาศไว้ คงมีคำถามต่อมาว่าจะนำเงินจากแหล่งในมาลงทุนในโครงการต่างๆ แต่หากเป็นไปตามทฤษฏีแล้วในระยะยาวมาตรการนี้คงจะส่งผลดีมากว่าผลเสีย แต่หากไม่เป็นไปตามทฤษฎีแล้วจะรู้ได้อย่างไรว่า ถึงเวลาแล้วหรือยังที่ประเทศไทยจะต้องใช้มาตรการนี้ หรือว่าจะมาตรการที่ควรใช้ควรเป็นนโยบายด้านการเงินมากกว่า
กำลังโหลดความคิดเห็น