xs
xsm
sm
md
lg

“พิเชษฐ” ติงงบกลาง หนุนประชานิยม รับเลือกตั้งใหม่ปี 51

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


รองนายกเงาฯ ตำหนิการเร่งรีบตั้งงบประมาณกลาง ไม่ต่างยุค"แม้ว" หวังปูพรมนโยบายประชานิยม เรียกคะแนนนิยม รองรับเลือกตั้งเลือกตั้งใหม่ไม่เกินปี 51

วันนี้ (18 ก.พ.) นาย พิเชษฐ พันธุ์วิชาติกุล กรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะรองนายกรัฐมนตรีเงา อภิปรายว่า การเขียนนโยบายรัฐบาล ไม่แตกต่างกับนโยบายชุดพ.ต.ท.ทักษิณ โดยเฉพาะการแก้ปัญหาเศรษฐกิจมหภาค เปรียบเหมือนนโยบายที่เตรียมข้อแก้ตัวไว้ล่วงหน้า เขาจึงเชื่อว่าจะเกิดปัญหาที่รุ่นแรงตามมา

ทั้งนี้อยากให้ รัฐบาลออกมาเปิดเผยข้อมูลว่าเหตุใดยังไม่ยกเลิกมาตรการกันสำรอง 30% ไม่ และเปิดเผยตัวเลขที่แท้จริงของเงินทุนสำรอง ว่ามีจำนวนเท่าใด ขณะเดียวกันหากยกเลิกมาตรการกันสำรอง 30% จะทำให้เงินบาทแข็งหรืออ่อน และธปท. จะขาดทุนหรือได้กำไรเท่าไร ซึ่งตนประเมินว่าน่าจะน้อยกว่า 3 แสนล้านบาท ขณะเดียวกันพฤติกรรมที่ ธปท. และรัฐบาลทำขณะนี้กลายเป็นว่ายังคงปกป้องค่าเงินเหรียญตลอดเวลา ตนอยากถามว่า รัฐบาลทราบหรือไม่ว่า รัฐบาลสมัยพ.ต.ท.ทักษิณ มีการพิมพ์พันธบัตรไปกี่แสนล้านบาท เป็ยเรื่องที่กลืนไม่เข้าคลายไม่ออก รัฐบาลกลับไม่ปกป้องค่าเงินบาท ไปทำตรงกันข้าม

รองนายกฯเงา ยังตั้งข้อสังเกตถึงการตั้งงบประมาณกลางปี 2551 ว่าจริงหรือไม่ เพราะถ้าจริง ตามปกติทุกปี รัฐบาลจะต้องเรื่มร่างแผนงบประมาณรายจ่าย ปี 2552 ตั้งแต่เดือนม.ค.-พ.ค. และเสนอเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรในเดือน มิ.ย.นี้

“ทำไมถึงรีบที่จะขอเพิ่มงบกลางในช่วงนี้ เพราะถ้าต้องการใช้เงินเพิ่มก็ควรจะไปเพิ่มต้นปี 52 ทำไมถึงต้องเตรียมตัวเพิ่มงบกลาง ทำให้เกิดสงสัยว่า ที่เร่งรีบทำเพราะ รธน. 169 กำหนดการใช้งบกลางและเงินคงคลัง ทำให้ผมเกิดความเป็นห่วงว่า อาจจะรีบใช้เงินไปใช้ในนโยบายประชานิยม เพราะมีการพูดกันว่า จะมีการเลือกตั้งอีกไม่นานนี้ ขณะที่รับบาลเขียนนโยบายว่าจะเข้มงวดในวินัยการเงินการคลัง กลายเป็นว่ารัฐบาลชุดนี้กำลังย่ำยีอย่างน่าเป็นห่วง”

นายพิเชษฐ กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมารัฐบาลทักษิณ มีการตั้งงบ เอสเอ็มแอล จากงบกลางปี 2548 ลงหมู่บ้านและตำบล โดยไม่ผ่านส่วนราชการ ทำให้ตั้งข้อสังเกตว่า ต้องการซื้อเสียงล่วงหน้าตั้งแต่บัดนี้หรือไม่ เพราะบุคคลที่เป็นหัวคะแนนในการสั่งจ่ายงบ ก็ยังอยู่ในรัฐบาลชุดนี้ แต่ยังขุดนโยบายประชานิยมขึ้นมาอีก ประกอบกับพฤติกรรมการเพิ่มงบกลางทำให้บางคนคิดว่า รัฐบาลชุดนี้ จะอยู่ได้ไม่เกินปี 2551 ถึงแต่เตรียมการที่จะมีการซื้อเสียง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากนั้นสมาชิกทั้ง ส.ส.รัฐบาล ฝ่ายค้าน รัฐบาล และสนช.ได้สลับกันอภิปรายอย่างต่อเนื่อง โดยนายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ สนช.ได้อภิปรายว่า ในภาพรวมนโยบายทางสังคมพบว่ารัฐบาลได้วางไปยัง3 กลุ่มเป้าหมายใหญ่ๆ คือ ฐานเกษตรกร ฐานชุมชน และกลุ่มเป้าหมายพิเศษเฉพาะ อาทิ เด็ก สตรี คนพิการ นอกจากนี้ยังมีฐานความรู้สึกในเรื่องการปราบยาเสพติด ผู้มีอิทธิพลและปัญหา 3 จังหวัดในภาคใต้

โดยเห็นว่าโครงการการพักหนี้ ขณะนี้การเข้าสู่อาชีพเกษตรกรน้อยลงโครงการพักหนี้ก็ไม่เป็นผล ดังนั้นรัฐบาลควรต่อยอดโครงการยุวชนเกษตรกรโดยทำข้อตกลงกับกระทรวงศึกษาธิการเพื่อให้มีเกษตรกรรุ่นใหม่เข้ามาต่อยอดเกษตรกรรุ่นก่อน ส่วนการประกันพืชผลการเกษตรของเกษตกรนั้น ธกส.กับเกษตกร จะต้องเข้าทำงานร่วมกันเพื่อการออมเงินในอนาคต โดยกระทรวงเกษตรฯ จำเป็นต้องขยายการออมในอนาคต 1 ล้านคนต่อปี จะเกิดประโยชน์ต่อเกษตรกร เพราะระบบนี้คล้ายๆ กับระบบประกันสังคม หรือประกันชีวิต แต่เป็นการประกันผลผลิตการเกษตร รวมทั้งขอเสนอให้รัฐบาลใช้ “ศูนย์ปราชญ์ชาวบ้าน”เป็นที่ปรึกษาแลกเปลี่ยน เป็นเครือข่ายขยายปราชญ์ชาวบ้านตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง จะทำให้สังคมไทยผ่านวิกฤติไปได้

“สิ่งที่ขอทักท้วงรัฐบาล มี4คำถาม ที่ต้องการคำตอบจากรัฐบาลคือกรณีหวยออนไลน์ จะทำอย่างไร เพราะเป็นการมอมเมาอย่างชัดแจ้ง การจัดระบบโซนนิ่ง ร้านเกม จะทำอย่างไร รัฐบาลจะกล้าบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังแค่ไหน ส่วนประเด็นการศึกษา กองทุน กยศ.และกรอ.ควรอยู่กองทุนเดียวกัน และโรงเรียน”นายวัลลภ กล่าว

ด้านนายวิริยะ นามศิริพงศ์พันธ์ สนช. อภิปรายว่า นโยบายของรัฐบาลให้ความสำคัญกับคนพิการพอสมควร แต่ตนอยากให้เน้นในเรื่องนโยบายทางด้านการศึกษาสำหรับคนพิการ ควรจะจัดสรรงบประมาณเพื่อส่งเสริมการศึกษาให้กับคนพิการอย่างพอเพียง เน้นการศึกษาที่นำไปสู่การสร้างอาชีพ สนับสนุนให้มีการจัดสรรเบี้ยยังชีพสำหรับคนพิการอย่างทั่วถึง เบี้ยเลี้ยงช่วยเหลือเด็กพิการ จัดสรรงบให้กับศูนย์การศึกษาพิเศษสำหรับคนพิการ นอกจากนี้อยากเรียกร้องให้รัฐบาล ได้ให้สัตยาบันในอนุสัญญาสิทธิคนพิการ ให้ผ่านกฎหมายส่งเสริมพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ซึ่งผ่านมาหลายปีแล้วก็ยังไม่เป็นผล
กำลังโหลดความคิดเห็น