xs
xsm
sm
md
lg

ปธ.หอการค้าฯ จวก! นโยบายพักหนี้ ซ้ำเติมภาวะตลาดเงินที่เปราะบาง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ประธานสภาหอการค้าฯ ห่วงนโยบายพักชำระหนี้ 3 ปี กำลังสร้างปัญหาต่อระบบการเงินของประเทศ รัฐบาลอาจขาดสภาพคล่องในอนาคต ส่วนกองทุนหมู่บ้าน ทำให้ประชาชนเสพติด-ขาดวินัยการใช้เงิน

วันนี้ (4 ก.พ.) นายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในฐานะประธานกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) กล่าวถึงภารกิจเร่งด่วน 7 มาตรการ ตามที่พรรคพลังประชาชน (พปช.) ในฐานะแกนนำฝ่ายรัฐบาล ได้ออกมาประกาศว่ามีภารกิจ 3 เรื่องที่สำคัญซึ่งอยู่ในความสนใจของภาคเอกชน ได้แก่ การชำระหนี้เกษตรกรทั้งระบบ 3 ปี ซึ่งน่าเป็นห่วงว่าหากเป็นการพักชำระหนี้โดยไม่กลั่นกรองเกษตรกรเฉพาะที่มีความเหมาะสม ก็จะเป็นการใช้เงินจำนวนมาก ส่งผลให้กระแสเงินออกจากตลาด และธนาคารรัฐขาดสภาพคล่องได้

นอกจากนี้ มาตรการประชานิยมโดยการเพิ่มเงินสนับสนุนเงินให้กับกองทุนหมู่บ้าน ซึ่งต้องสร้างความแข็งแกร่งให้เกิดขึ้นกับชนบทอย่างแท้จริง ไม่เช่นนั้นอาจจะกลายเป็นการสร้างหนี้สินเพิ่มได้

ส่วนการพิจารณายกเลิกมาตรการกันเงินทุนสำรอง 30% ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ต้องมีมาตรการอื่นมาเสริม ไม่ใช่การแทรกแซงค้าเงินบาท

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับการพักชำระหนี้ทั้งระบบ 3 ปี เพราะยังไม่เห็นถึงเหตุผลทำไมต้องพักหนี้อีก ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้มีการพักชำระหนี้มาแล้ว และในภาวะผลผลิตเกษตรมีราคาดีขึ้น หนี้น่าจะลดลงหรือหมดไป แสดงถึงการไม่มีวินัยการใช้เงิน และไม่มีเครื่องมือดูแลที่ดีพอ แต่หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ ก็ต้องปรับปรุงวิธีการดูแลและพักหนี้ในเพียงบางส่วนบางเรื่อง ในกลุ่มคนที่ประสบปัญหาอย่างหนักจริงๆ หรือกลุ่มต้องเร่งด่วนต่อการฟื้นฟูกิจการ หรือทำควบคู่กับการฟื้นฟูประสิทธิภาพการผลิตหรือเพาะปลูก ขณะที่ภารกิจด้านอื่นๆ เช่น โครงการเอสเอ็มแอล กองทุนหมู่บ้าน หรือโอท็อป นั้นมีเหตุผลรับได้ และหากมีการวางระบบบริหารจัดการที่ดีย่อมเกิดประโยชน์สูงสุด

“ประชานิยมไม่ใช่สิ่งผิด ทำให้คนชื่มชม แต่ต้องดูความพร้อมภาคประชาชนด้วย พักหนี้เป็นการเข้าแทรกแซงระบบการทำงานของสถาบันเจ้าของหนี้ แต่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจเพราะคนมีเงินเหลือไม่ต้องจ่ายหนี้ แต่หากนำเงินที่เหลือไปซื้อของ แต่ไม่ได้ทำการฟื้นฟูหรือปรับปรุงชีวิตหรือกิจการ กลับเป็นการทำร้ายต่อประชาชนและระบบเศรษฐกิจในระยะยาว จะเกิดผลเสียมากกว่าผลดี วินัยการเงินยิ่งแย่ลงไปอีก เพราะเชื่อว่าหากยุบสภาหรือเลือกตั้งใหม่ก็จะหาเสียงพักหนี้อีก”
กำลังโหลดความคิดเห็น