xs
xsm
sm
md
lg

กองทุนMIF-LTFอ่วมพิษซับไพรม์เดือนม.ค.ผลตอบแทนติดลบ13.87%

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กองทุนเปิด เอ็มเอฟซี อิสลามิก หุ้นระยะยาวอ่วม พิษซับไพรม์ฉุดผลตอบแทนติดลบ 13.87% รั้งท้ายตารางผลตอบแทนกองทุนแอลทีเอฟเดือนมกราคม ส่วนบลจ.วรรณ โชว์ผลงานกองทุนเปิดวรรณเอเอ็มสมาร์ทหุ้นระยะยาว เข้าป้ายอันดับ 1 ด้วยผลตอบแทนเป็นบวก 0.81% ขณะที่ผลตอบแทนเฉลี่ยทั้ง 53 กองทุนติดลบ 7.39%

รายงานข่าวเปิดเผยว่า ภาวะการลงทุนในตลาดหุ้นไทยในช่วงเดือนมกราคมที่ผ่านมา มีทิศทางผันผวนตามแนวโน้มการลงทุนในตลาดโลกที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจถดถอยของสหรัฐอเมริกา อันเป็นผลพวงมาจากปัญหาสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ด้อยคุณภาพ (ซับไพรม์)

ซึ่งความไม่มั่นใจต่อเศรษฐกิจสหรัฐดังกล่าว ฉุดความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติจนเกิดการเทขายหุ้นออกมาเป็นจำนวนมาก จนดัชนีหุ้นไทยขยับลงมาจากระดับ 850 จุดในช่วงสิ้นปีที่แล้วมาอยู่ที่ระดับ 740 จุด ก่อนจะสวิงขึ้นๆ ลงๆ ตามปัจจัยในต่างประเทศมาปิดที่ระดับ 780 จุดในวันซื้อขายวันสุดท้ายของเดือนมกราคม

ทั้งนี้ ความผันผวนดังกล่าวส่งผลถึงการลงทุนของกองทุนรวมด้วยเช่นกัน ซึ่งจากรายงานของลิปเปอร์ ถึงผลการดำเนินงานของกองทุนรวม สิ้นสุด ณ วันที่ 31 มกราคม 2551 พบว่ากองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) เป็นกองทุนที่ให้ผลตอบแทนติดลบในอัตราที่สูงที่สุด ขณะเดียวกันยังต่ำกว่าผลตอบแทนดัชนีตลาดหลักทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนในเดือนมกราคมอยู่ที่ -8.61% อีกด้วย

โดยกองทุนที่ได้รับผลกระทบจากความผันผวนของดัชนีหุ้นมากที่สุดคือ กองทุนเปิด เอ็มเอฟซี อิสลามิก หุ้นระยะยาว ภายใต้การบริหารจัดการของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน) โดยเดือนมกราคม กองทุนดังกล่าวมีผลตอบแทนอยู่ในอันดับ 53 ซึ่งเป็นอันดับท้ายสุด โดยผลตอบแทนติดลบถึง 13.87% ต่ำกว่าผลตอบแทนดัชนีตลาดหลักทรัพย์ 5.26%

ส่วนกองทุนที่มีผลตอบแทนต่ำสุดรองจากกองทุนเปิด เอ็มเอฟซี อิสลามิก หุ้นระยะยาว โดยเรียงลำดับจากท้ายตารางขึ้นมาประกอบด้วย กองทุนเปิดทุนทวีหุ้นระยะยาว ของบลจ.กสิกรไทย ในอันดับที่ 52 ซึ่งกองทุนให้ผลตอบแทนติดลบ 10.65% ต่ำกว่าผลตอบแทนดัชนีตลาดหลักทรัพย์ 2.04%

กองทุนเปิด เค หุ้นระยะยาว ของบลจ.กสิกรไทย อยู่ในอันดับที่ 51 ด้วยผลตอบแทนติดลบ 10.61% ต่ำกว่าผลตอบแทนดัชนีตลาดหลักทรัพย์ 2.00% อันดับที่ 50 กองทุนเปิด เค 20 ซีเล็คท์หุ้นระยะยาวปันผล ของบลจ.กสิกรไทย ให้ผลตอบแทนติดลบ 10.29% ต่ำกว่าผลตอบแทนดัชนีตลาดหลักทรัพย์ 1.68%

ขณะที่กองทุนเปิดวรรณเอเอ็มซีเล็คทีฟหุ้นระยะยาว ของบลจ.วรรณ ให้ผลตอบแทนติดลบ 10.19% ต่ำกว่าผลตอบแทนดัชนีตลาดหลักทรัพย์ 1.58% อยู่ในอันดับ 49 โดยมีกองทุนเปิดวรรณเอเอ็มซีเล็คทีฟโกรทหุ้นระยะยาว ของบลจ.วรรณ อีก 1 กองทุนให้ผลตอบแทนเหนือกว่าเป็นอันดับ 48 ด้วยผลตอบแทน 10.17% ต่ำกว่าผลตอบแทนดัชนีตลาดหลักทรัพย์ 1.56%

อันดับที่ 47 กองทุนเปิด JUMBO 25 ปันผลหุ้นระยะยาว ของบลจ.ทหารไทย ให้ผลตอบแทนติดลบ 10.06% ต่ำกว่าผลตอบแทนดัชนีตลาดหลักทรัพย์ 1.45% กองทุนเปิด เค หุ้นระยะยาวปันผล ของบลจ.กสิกรไทย อยู่ในอันดับที่ 46 ด้วยผลตอบแทนย้อนหลังติดลบ 10.06% ต่ำกว่าผลตอบแทนดัชนีตลาดหลักทรัพย์ 1.45%

ด้านกองทุนเปิด ฟินันซ่า หุ้นระยะยาว ของบลจ.ฟินันซ่า อยู่ในอันดับที่ 45 ด้วยผลตอบแทนติดลบ 9.88% ต่ำกว่าผลตอบแทนดัชนีตลาดหลักทรัพย์ 1.27% และอันดับ 44 กองทุนเปิด เค โกรทหุ้นระยะยาวปันผล ของบลจ.กสิกรไทย ซึ่งให้ผลตอบแทนย้อนหลัง 1 เดือนติดลบ 9.86% ต่ำกว่าผลตอบแทนดัชนีตลาดหลักทรัพย์ 1.25%

ทั้งนี้ รายงานข่าวกล่าวว่า กองทุนแอลที่เอฟที่ให้ผลตอบแทนเป็นอันดับ 1 ได้แก่ กองทุนเปิดวรรณเอเอ็มสมาร์ทหุ้นระยะยาว ของบลจ.วรรณ ด้วยผลตอบแทนย้อนหลัง 1 เดือนเป็นบวก 0.81% เพียงกองเดียว และสูงกว่าผลตอบแทนดัชนีตลาดหลักทรัพย์ประมาณ 9.42% ในขณะที่กองทุนแอลทีเอฟทั้ง 53 กองทุนให้ผลตอบแทนเฉลี่ยในเดือนมกราคมอยู่ที่ -7.39% ดีกว่าผลตอบแทนดัชนีตลาดหลักทรัพย์ 1.22%

สำหรับกองทุนเปิดเอ็มเอฟซีอิสลามิกหุ้นระยะยาว (MIF-LTF) มีนโยบายการลงทุนไม่น้อยกว่า 65% ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวม โดยลงทุนในหลักทรัพย์ประเภทตราสารทุนซึ่งผ่านการคัดเลือกตามหลักศาสนาอิสลาม โดยมีนโยบายการปันผลไม่เกินปีละ 2 ครั้งในอัตราไม่เกินร้อยละ 30 ของกำไรสะสมหรือกำไรสุทธิเเต่ละงวดบัญชีที่จะจ่ายเงินปันผลแล้วเเต่จำนวนใดต่ำกว่า

โดยการลงทุนของกองทุน MIF-LTF มีการลงทุนในตราสารแห่งทุน (หุ้น)ในกลุ่มพลังงานถึง 42% กลุ่มเทคโนโลยีสารสนเทศเเละการสื่อสาร 14.86% กลุ่มพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ 14.86% กลุ่มปีโตรเคมีเเละเคมีภัณฑ์ 13.28% และกลุ่มเหมือง 10.05% ส่วนการลงทุนในตราสารหนี้และตราสารทางการเงินอื่นๆ อยู่ที่ 4.7% (ณ.ข้อมูลวันที่ 25 มกราคม 2551)

ขณะที่ตราสารเเห่งทุนที่กองทุนเปิดเอ็มเอฟซีอิสลามิกหุ้นระยะยาวเข้าไปลงทุนได้แก่ 1.บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์เซอร์วิส 14.86% 2.บมจ.พฤษา เรียลเอสเตท 14.86% อันดับที่ 3.บมจ.ผลิตไฟฟ้า 14.34% 4. ไออาร์พีซี 14.16% 5.บมจ.ปตท.สำรวจเเละผลิตฟปิโตรเลียม 13.73% 6.บมจ.ปตท.เคมิคอล 13.28% และอันดับสุดท้ายคือ บมจ.ผาแดงอินดัสทรี 10.05% (ณ.ข้อมูลวันที่ 25 มกราคม 2551)
กำลังโหลดความคิดเห็น