xs
xsm
sm
md
lg

ความรู้ความเข้าใจในตราสารหนี้ (2)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ดร. ธีระศักดิ์ ณ ระนอง
อาจารย์ประจำภาควิชาการเงินการธนาคาร
มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ (ABAC)


บทความนี้เป็นภาคต่อเนื่องจากบทความที่ผ่านที่พูดกันในเรื่องของตราสารหนี้ว่าคืออะไร มีข้อดีและข้อแตกต่างอย่างไรเมื่อเทียบกับการลงทุนในตราสารทุน โดยบทความนี้จะพูดถึงประเภทต่างๆ ของตราสารหนี้ซึ่งสามารถแบ่งออกเป็น 6 ประเภทด้วยกัน คือ แบ่งตามประเภทของผู้ออก แบ่งตามหลักประกัน แบ่งตามสิทธิเรียกร้อง แบ่งตามดอกเบี้ย แบ่งตามสิทธิแฝง และแบ่งตามการจ่ายคืนเงินต้นหรือเงินสด
1. แบ่งตามประเภทของผู้ออก มี 3 ประเภทด้วยกัน คือ ตราสารหนี้ที่ออกโดยรัฐบาล ออกโดยองค์กรภาครัฐและเอกชน

ตราสารหนี้ที่ออกโดยรัฐบาล : โดยกระทรวงการคลัง (Ministry of Finance) เป็นผู้ออกตราสารให้แก่ผู้ถือ และผู้ถือหรือนักลงทุนมีฐานะเป็นเจ้าหนี้ของรัฐบาล ซึ่งท่านทราบอยู่แล้วว่าตราสารประเภทนี้ ปลอดจากความเสี่ยงจากการผิดนัดชำระดอกเบี้ย และเงินต้น (default risk) ตัวอย่างของตราสารประเภทนี้ที่รู้จักกัน คือ ตั๋วเงินคลัง (Treasury Bill) และพันธบัตรรัฐบาล (Treasury Bond)

ตราสารหนี้ที่ออกโดยองค์กรภาครัฐ : เป็นตราสารหนี้ที่ออกตามองค์กรภาครัฐและมีชื่อเรียกตามองค์กรนั้นๆที่ออกตราสารหนี้ ซึ่งมีความเสี่ยงประเภท default risk ต่ำ ตัวอย่างเช่น พันธบัตรรัฐวิสาหกิจ พันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทย และพันธบัตรกองทุนเพื่อการฟื้นฟู เป็นต้น

ตราสารหนี้ภาคเอกชนหรือหุ้นกู้ภาคเอกชน (Debenture) เป็นตราสารหนี้ที่มีอายุมากกว่า 1 ปี ที่ออกโดยเอกชนเพื่อระดมทุนซึ่งเป็นอีกทางเลือกหนึ่งนอกเหนือจากการออกจำหน่ายหุ้น ในเรื่องของความเสี่ยงประเภท default risk ก็จะมีมากกว่าตราสารหนี้ที่กล่าวมาข้างต้น โดยขึ้นอยู่กับ credit ของแต่ละบริษัทนั้นๆ

2. แบ่งตามหลักประกัน มี 2 ประเภท คือ หุ้นกู้มีหลักประกัน และไม่มีหลักประกัน หุ้นกู้มีหลักประกัน (Secured Bond) เป็นหุ้นกู้ที่มีสินทรัพย์เป็นหลักประกัน และหากมีการผิดนัดชำระหนี้ ผู้ถือ หรือ Bond holder ก็สามารถเรียกร้องสิทธิในหลักประกันนั้นได้ก่อนคนอื่น หุ้นกู้ที่ไม่มีหลักประกัน (Unsecured Bond) เป็นหุ้นกู้ที่ไม่มีสินทรัพย์ใดๆ มาวางเป็นหลักประกัน

3. แบ่งตามสิทธิในการเรียกร้อง หุ้นกู้ด้อยสิทธิ (Subordinated Bond) ผู้ถือมีสิทธิเรียกร้องการชำระหนี้จากสินทรัพย์ของบริษัทผู้ออกตราสารหนี้ หลังจากที่มีการชำระหนี้ให้กับเจ้าหนี้อื่นๆ หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ (Senior Bond) ในกรณีที่บริษัทมีการเลิกกิจการ (Liquidation) จะมีสิทธิในการเรียกร้องการชำระหนี้จากสินทรัพย์ได้ก่อนผู้ถือหุ้นกู้ด้อยสิทธิ หรือ Subordinated Bond โดยเรียงลำดับของสิทธิเรียกร้อง จะเริ่มจากมากไปน้อยสุดดังนี้ คือ ผู้ถือหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ (Senior Bond) ผู้ถือหุ้นกู้ด้อยสิทธิ (Subordinated Bond) ผู้ถือหุ้นกู้บุริมสิทธิ (Preferred Stock) และผู้ถือหุ้นสามัญ (Common Stock) ตามลำดับ

4. แบ่งตามอัตราดอกเบี้ย หุ้นกู้ที่จ่ายดอกเบี้ยคงที่ (Fixed rate Bond) ซึ่งจ่ายดอกเบี้ยในอัตราคงที่ทุกงวดตามที่ได้ระบุไว้ตั้งแต่ออกหุ้นกู้นั้น หุ้นกู้จ่ายดอกเบี้ยแบบลอยตัว (Floating rate Bond) มีการจ่ายดอกเบี้ยที่เปลี่ยนแปลงตามอัตราอ้างอิงที่กำหนด เช่น LIBOR + Spread หุ้นกู้ที่ไม่ได้จ่ายดอกเบี้ย (Zero Coupon Bond) เป็นหุ้นกู้ที่ผู้ซื้อหรือนักลงทุนซื้อได้ในราคาที่ต่ำกว่าราคาหน้าตั๋ว หรือเรียกว่า ซื้อได้ในราคา discount

5. แบ่งตามชนิดของสิทธิแฝง (Embedded Option) หุ้นกู้ที่ปราศจากสิทธิแฝง เป็นหุ้นกู้ที่จ่ายดอกเบี้ยคงที่และปราศจากสิทธิแฝงหุ้นกู้ที่มีสิทธิแฝง ซึ่งมีอยู่หลายประเภทด้วยกัน เช่น หุ้นกู้แปลงสภาพ (Convertible Bond) หุ้นกู้ที่ผู้ออกมีสิทธิเรียกคืนก่อนกำหนด (Callable Bond) และหุ้นกู้ที่ผู้ถือมีสิทธิไถ่ถอนก่อนกำหนด (Puttable Bond)

6. แบ่งตามประแสการจ่ายเงินต้นหรือเงินสด หุ้นกู้ที่จ่ายดอกเบี้ยคงที่และปราศจากสิทธิแฝง (Straight / Fixed rate and option free bond) หุ้นกู้ประเภททยอยจ่ายเงินต้น (Amortizing bond) โดยผู้ออกทยอยจ่ายคืนเงินต้นแก่ผู้ถือตามระยะเวลาที่กำหนดเป็นงวดๆ งวดละเท่าๆ กัน ซึ่งเงินที่จ่ายเป็นงวดนั้นประกอบด้วยเงินต้นและดอกเบี้ยด้วย

ทั้งหมดนี้ถือเป็นความรู้ความเข้าใจในประเภทต่างๆ ของตราสารหนี้ ก่อนที่เราจะไปศึกษากันในบทบาทที่สำคัญของตลาดตราสารหนี้ต่อนักลงทุน รวมทั้งบทบาทที่สำคัญของ BEX หรือ Bond Electronic Exchange ในฉบับต่อไปครับ

ที่มา : Thailand Securities Institute (TSI)

กำลังโหลดความคิดเห็น