xs
xsm
sm
md
lg

ความรู้ความเข้าใจในตราสารหนี้ (1)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คอลัมน์ 9 สู่การลงทุน
ดร. ธีระศักดิ์ ณ ระนอง อาจารย์ประจำภาควิชาการเงินการธนาคาร มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ (ABAC)


สวัสดีปีใหม่ครับนักลงทุนทุกท่าน ขออวยพรทุกท่านให้มีแต่ความสุขความเจริญในปี 2551 นี้ครับ เพื่อเป็นการผ่อนคลายต้อนรับปีใหม่ ผมขอเริ่มบทความสบายๆ เกี่ยวกับความรู้ความเข้าใจของตราสารหนี้ เนื้อหาจะเป็นในแนวทางทฤษฎีเพื่อปูพื้นฐานความเข้าใจให้แก่นักลงทุนก่อน ซึ่งจะแบ่งเป็นหลายๆ ตอน โดยเริ่มจากความหมายของตราสารหนี้ ข้อดีของการลงทุนในตราสารหนี้โดยเปรียบเทียบกับการลงทุนในตราสารทุนก่อนในบทความนี้

ตราสารหนี้ (Debt instruments) คือตราสารทางการเงินที่สามารถเปลี่ยนมือได้ แสดงการกู้ยืมเงินระหว่าง ลูกหนี้ (ผู้กู้หรือผู้ออกตราสารหนี้ : borrower or issuer) กับ เจ้าหนี้ (ผู้ให้กู้หรือนักลงทุนตราสารหนี้ : lender or investor) ที่แสดงภาระผูกพันทางกฎหมายที่จ่ายผลตอบแทนดอกเบี้ย (coupon payment) หรือผลประโยชน์อื่นตามข้อกำหนด พร้อมเงินต้นหรือมูลค่าไถ่ถอน (principal value) เมื่อครบกำหนด

ถามว่าการลงทุนในตราสารหนี้นั้นมีข้อดีอย่างไร เมื่อเทียบกับการลงทุนในหุ้นหรือตราสารทุน และการฝากเงินธนาคารซึ่งได้รับดอกเบี้ยอยู่แล้ว ในบทความนี้สามารถสรุปให้เข้าใจได้ดังนี้

1) เป็นวิธีกระจายความเสี่ยง (Diversification) อย่างหนึ่ง ซึ่งช่วยได้มากกว่าการลงทุนในตราสารทุนเพียงอย่างเดียว

กล่าวคือ เมื่อมีการเคลื่อนไหวของอัตราดอกเบี้ยไม่ว่าขาขึ้นหรือขาลง ผลตอบแทนของการลงทุนในตราสารหนี้จะแปรผกผันกับอัตราดอกเบี้ย ซึ่งตรงข้ามกับการลงทุนในตราสารทุน

2) การลงทุนในตราสารหนี้เป็นการลงทุนที่มีความเสี่ยงต่ำกว่าการลงทุนในหุ้น

3) การลงทุนได้รับผลตอบแทนที่ค่อนข้างแน่นอนและสม่ำเสมอ

4) ตราสารหนี้มีสภาพคล่อง (liquidity) โดยสามารถเปลี่ยนมือได้ง่าย และสำหรับธนาคารพาณิชย์หรือสถาบันการเงิน สามารถใช้เป็นสินทรัพย์สภาพคล่องตามกฎหมาย

เพื่อความชัดเจนในข้อแตกต่างระหว่างการลงทุนในตราสารหนี้กับตราสารทุน ในส่วนต่อไปบทความจะพูดถึงส่วนต่างๆ โดยสามารถแยกออกได้เป็น 5 ประเภทด้วยกัน คือ

1) สิทธิในการเรียกร้อง (Priority of financial claim) : สิทธิในการเรียกร้องของตราสารหนี้จะสูงกว่าตราสารทุน กล่าวคือ ผู้ถือตราสารทุนจะได้รับเงินเมื่อบริษัทชำระเงินคืนให้แก่ผู้ถือตราสารหนี้ครบถ้วนก่อน

2) สิทธิในการบริหาร (Managerial claim) : ผู้ถือตราสารทุนมีสิทธิออกเสียงในการประชุมหรือตัดสินใจในการดำเนินงานของบริษัท แต่ผู้ถือตราสารหนี้ไม่ได้สิทธินั้นๆ

3) ผลตอบแทน (Return) : ผู้ถือตราสารนี้จะได้ผลตอบแทนค่อนข้างสม่ำเสมอในรูปกระแสเงินสดที่เป็นดอกเบี้ยตามระยะเวลาที่กำหนด (coupon payment) แต่สำหรับผู้ถือตราสารทุนจะเป็นในทางตรงกันข้ามคืออาจไม่สม่ำเสมอ โดยจะได้ผลตอบแทนในรูปของเงินปันผล (Dividend) ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับผลประกอบการ และนโยบายในการจ่ายเงินปันผลของบริษัท

4) อายุของตราสาร : อายุของตราสารหนี้จะมีระยะเวลาที่กำหนดไว้แน่นอน เช่น 5 ปี หรือ 10 ปี ในขณะที่อายุของตราสารทุนจะไม่จำกัด กล่าวคือ มีอายุนานตราบเท่าบริษัทจะดำเนินกิจการ ซึ่งทุกบริษัทก็มีจุดมุ่งหมายที่จะประกอบการและสร้างผลกำไรอย่างต่อเนื่องอย่างไม่จำกัด

5) ผลประโยชน์ทางภาษีสำหรับผู้ออกตราสาร (Tax privilege) : ผู้ออกตราสารหนี้จะได้รับประโยชน์ทางภาษี โดยดอกเบี้ยที่จ่ายให้กับผู้ลงทุนจะทำให้กำไรก่อนภาษีลดลง ส่งผลให้บริษัทจ่ายภาษีน้อยลง และทำให้บริษัทมีกำไรสุทธิต่อหุ้นเพิ่มขึ้น ในขณะที่ผู้ออกตราสารทุนจะไม่ได้รับผลประโยชน์ดังกล่าว เพราะเงินปันผลไม่เป็นรายจ่ายที่ทางรัฐอนุญาตให้หักภาษี

ในส่วนสุดท้ายของตอนนี้ ขอพูดถึงส่วนประกอบที่สำคัญของตราสารหนี้เป็นการเกริ่นนำถึงบทความต่อไป ซึ่งได้แก่

1.มูลค่าที่ตราไว้หรือ par value ซึ่งเป็นมาตรฐานสากล คือ 1,000 บาท

2.อัตราดอกเบี้ยหน้าตั๋ว (coupon rate)

3.งวดการจ่ายดอกเบี้ย (coupon frequency) คือปีละครั้ง (annually) หรือปีละ 2 ครั้ง (semiannually) โดยระบุว่าจ่ายทุกวันที่เท่าไรด้วย

4.วันครบกำหนดการไถ่ถอน (maturity date) เช่น 5 ปี หรือ 10 ปี เป็นต้น

5.ผู้ออกตราสารหนี้ หรือ issuer ซึ่งจะมีทั้งภาครัฐและภาคเอกชน

6.ประเภทของตราสารหนี้ (ยกไปอธิบายในบทความต่อไป)

7.ข้อสัญญา (covenants) โดยระบุเงื่อนไขสำคัญๆ ของตราสารหนี้นั้นๆ ไว้

ติดตามตอนต่อไปของความรู้ความเข้าใจในตราสารหนี้ในบทความหน้าครับ

**ที่มา : Thailand Securities Institute (TSI)**
กำลังโหลดความคิดเห็น