บลจ.ไทยพาณิชย์ เตรียมเปิดขายเอฟไอเอฟกองใหม่ ลงทุนตลาดหุ้นอีเมอร์จิ้ง มาร์เก็ตแถบเอเชีย ผ่านกองทุนใหญ่ Templeton Asian Growth Fund ที่ให้ผลตอบแทนสูงถึง 66%ในปีที่ผ่านมา หวังตอบโจทย์นักลงทุนที่ชื่นชอบผลตอบแทนก้อนโต แม้มีความเสี่ยงสูง ชี้จีน – อินเดีย ยังน่าลงทุน หลายปัจจัยบวกหนุน เปิดขาย 24 ม.ค.-5 ก.พ. นี้
นายกำพล อัศวกุลชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการ สายงานธุรกิจกองทุนรวม บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ไทยพาณิชย์ จำกัด กล่าวในงาน ATIC @Bangkok 2008 (Asia Traders & Investors Convention) หรือ มหกรรมสัมมนาทางการเงินการลงทุนระดับภูมิภาคเอเชีย 2551 ที่ผ่านมาว่า ในวันที่ 24 มกราคม – 4 กุมภาพันธ์ นี้ บริษัทจะเสนอขายหน่วยลงทุนในกองทุนเปิด ไทยพาณิชย์ เอเชียน อีเมอจิ้ง มาร์เก็ต ฟันด์ (SCB Asian Emerging Market Fund) หรือ SCBAEM ซึ่งเป็นการเสนอขายครั้ง โดยกองทุนดังกล่าวมีมูลค่าโครงการ 1,500 ล้านบาท และขายเพิ่มได้ไม่เกิน 225 ล้านบาท
สำหรับกองทุน SCBAEM จะจดทะเบียนจัดตั้งกองทุนในวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2551 มีนโยบายเน้นลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุนรวมระหว่างประเทศ (Templeton Asian Growth Fund) ใน Class I Shares ซึ่งจดทะเบียนจัดตั้งในประเทศลักเซมเบิร์ก โดยเฉลี่ยในรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน ขณะเดียวกัน บริษัทจัดการอาจพิจารณาลงทุนในหรือมีไว้ซึ่งสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่มีตัวแปรเป็นอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศ เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากการลงทุน (Hedging) และจะไม่ลงทุนในหรือมีไว้ซึ่งตราสารที่มีลักษณะของสัญญาซื้อขายล่วงหน้าแฝง (Structured Note)
ทั้งนี้ กองทุน SCBAEM มีธนาคารฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้แบงกิ้งคอร์ปอเรชั่น จำกัด เป็นผู้ดูแลผลประโยชน์ และมีสำนักงานสอบบัญชี ดี ไ อ เอ เป็นผู้สอบบัญชี โดยมีธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) (SCB) ทำหน้าที่ นายทะเบียนหน่วยลงทุน ควบคู่ไปกับผู้สนับสนุนการขายหรือรับซื้อคืนหน่วยลงทุน เช่นเดียวกับ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ไทยพาณิชย์ แต่ไม่มีนโยบายการจ่ายปันผล และขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการยื่นขออนุมัติจัดตั้งโครงการกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)
“กองทุนไทยพาณิชย์ เอเชียน อีเมอจิ้ง มาร์เก็ต กำหนดมูลค่ากาสั่งซื้อขั้นต่ำในครั้งแรกที่ 10,000 บาท เช่นเดียวกัยมูลค่าการสั่งซื้อในครั้งต่อไป นอกจากนี้มูลค่าการขายคืนขั้นต่ำ และมูลค่าการสับเปลี่ยนขั้นต่ำ รวมถึงมูลค่าคงเหลือในบัญชี จะอยู่ที่อัตรา 10,000 บาทเช่นกันโดยกองทุนนี้เหมาะสมกับผู้ลงทุนที่ต้องการผลตอบแทนจากการลงทุนที่สูงขึ้น และสามารถยอมรับความเสี่ยงจากการนำเงินไปลงทุนในต่างประเทศได้”
โดยระดับความเสี่ยงของ SCBAEM ถือว่าอยู่ในระดับสูง เนื่องจากเป็นการลงทุนประเภทหุ้นสามัญในต่างประเทศ ซึ่งอาจมีความผันผวนของมูลค่าหน่วยลงทุน อันเนื่องจากมูลค่าหุ้นที่เปลี่ยนแปลงตามภาวะเศรษฐกิจ สังคม การเมือง หรือปัจจัยทางการเงิน ดอกเบี้ยของแต่ละประเทศ ตลอดจนผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงอัตราแลกเปลี่ยน ในแต่ละสุกลเงินที่กองทุนไปลงทุน
นายกำพล กล่าวว่า หากมองดูอัตราผลตอบแทน Templeton Asian Growth Fund ที่กองทุน SCBAEM เข้าไปถือหน่วยลงทุน แล้วจะพบว่าในปีที่ผ่านมาให้ผลตอบแทนสูงถึง 66% ขณะที่ผลตอบแทนเฉลี่ยในตลาดเอเซียอยู่ที่ 44% และผลตอบแทนในตลาดหลักทรัพย์ไทยอยู่ที่ 26% เท่านั้น จึงถือว่าอัตราผลตอบแทนในกองทุนนี้อยู่ในระดับที่สูงมาก และเม่อย้อนกลับไปดูในอัตราผลตอบแทนในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา กองทุนดังกล่าวจะมีผลตอบแทนอยู่ที่ 274%
“กองทุน Templeton Asian Growth Fund เป็นกองทุนที่มีอัตราการเติบโตในด้านผลตอบแทนที่ดีที่สุดในภูมิภาค และมีทีมผู้บริหารที่มีฝีมือ ดังนั้นคาดว่าผู้ลงทุนจะได้รับผลตอบแทนจากกองทุนนี้ในระดับที่น่าพอใจ โดยบริษัทจะมีการจัดสัมมนาถึงกองทุนดังกล่าวที่ โรงแรมแรฟเฟิล ปาร์คนายเลิศ ในวันที่ 24 มกราคมนี้ เพื่อให้ผู้ที่ต้องการลงทุนในดังกล่าวรับฟัง”
ทั้งนี้ Templeton Asian Growth Fund จะลงทุนในหุ้นในประเทศจีน ฮ่องกง อินเดีย เกาหลี สิงคโปร์ และประเทศไทย โดยลงทุนในอุตสาหกรรมต่างๆ อาทิ อุตสาหกรรมด้านพลังงาน ด้านเทคโนโลยี อุตสาหกรรมด้านซอฟแวร์ เนื่องจากมองว่าการเติบทางเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียยังมีการขยายตัวต่อเนื่อง
ส่วนสาเหตุที่ไม่เข้าไปลงทุนในประเทศ บราซิล และรัสเซีย ซึ่งเป็นตลาดเกิดใหม่เหมือนกับ อินเดีย และจีน ว่าบราซิล ในเป็นประเทศที่ไกลจากประเทศไทยมาก อีกทั้งประเทศในกลุ่มละตินอเมริกานั้นมีปัญหาในเรื่องการผิดนัดจ่ายตราสารหนี้เป็นจำนวนมาก นอกจากนี้รัฐบาลในบางประเทศยังมีการยึดทรัพย์และกิจการจากเอกชน หรือบริษัทต่างประเทศเข้าไปเป็นของรัฐบาล จึงทำให้ความเชื่อมั่นในการลงทุนมีน้อย
ขณะที่ ประเทศรัสเซีย ในปีที่ผ่านมามีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูงจริง แต่ว่ามาจากการเติบโดยการขายทรัพยากรน้ำมัน นอกจากนี้รัฐบาลของประเทศดังกล่าว ยังมีนโนบายสร้างอาวุธเพิ่มเติม ซึ่งไม่ใช่การพัฒนาด้านเศรษฐกิจและการลงทุนที่แท้จริง ส่วนอินเดีย และจีน นั้นทางบริษัทเชื่อว่ายังมีแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจที่มั่นคงกว่า จากปริมาณความต้องการอุปโภคบริโภคของประชากรในประเทศ และแหล่งทรัพยากรด้านพลังงานที่ยังมีอยู่มาก รวมถึงการย้ายฐานการผลิตของบริษัทใหญ่ในต่างประเทศที่เข้ามาลงทุนที่มีอยู่มาก
ที่ผ่านมา บลจ.ไทยพาณิชย์ ได้ออกกองทุนรวมที่ลงทุนต่างประเทศ (เอฟไอเอฟ) ประเภทลงทุนตราสารหนี้ ภายใต้ชื่อกองทุนไทยพาณิชย์ FIX3M5 มูลค่าโครงการ 10,000 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะให้ผลตอบแทนประมาณ 2.9% ขึ้นไป อายุ 3 เดือน เปิดขายช่วง 7-14 มกราคมที่ผ่านมา ขณะเดียวกันบริษัทมีแผนที่จะออกกองทุนเอฟไอเอฟ ที่ลงทุนใน Commodity เช่น น้ำมัน สินแร่ ทองคำ เป็นต้น และ ลงทุนในตราสารที่มีลักษณะของสัญญาซื้อขายล่วงหน้าแฝงที่ให้ผลตอบแทนน่าสนใจ ด้วยเช่นกัน
นอกจากนี้ ในปี 2551 บริษัทจะให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการลงทุนให้ลูกค้าหรือผู้ถือหน่วยเพื่อเพิ่มความหลากหลายลงทุนเพิ่มขึ้น เพื่อเป็นทางเลือกให้ผู้ฝากเงินหลังจากพ.ร.บ.สถาบันคุ้มครองเงินฝากเริ่มมีผลบังคับใช้ครึ่งปีแรกนี้
อนึ่ง ในปัจจุบัน ผู้ถือหน่วยลงทุนของกองทุนรวมภายใต้การบริหารของบริษัทประมาณ 70-80% ของทั้งหมดประมาณ 2 แสนราย ลงทุนในกองทุนตราสารหนี้ระยะสั้น ดังนั้นบริษัทจึงต้องการเสนอให้ผู้ถือหน่วยกระจายการลงทุนไปยังกองทุนประเภทอื่น อาทิ กองทุนหุ้น กองทุนหุ้นระยะยาว(แอลทีเอฟ) กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (อาร์เอ็มเอฟ) รวมทั้งกองทุนรวมที่ลงทุนต่างประเทศ(เอฟไอเอฟ)
อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าลูกค้าที่เคยลงทุนผ่านกองทุนรวมจะมั่นใจลงทุนที่มีความเสี่ยงมากขึ้น รวมทั้งการที่พ.ร.บ.สถาบันคุ้มครองเงินฝากฯมีผลบังคับใช้จะทำให้ลูกค้าเงินฝากประมาณ 60 ล้านราย คิดเป็นเงินจำนวน 6.88 ล้านล้านบาท มองหาแหล่งลงทุนที่ให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าเงินฝาก โดยกลุ่มแรกที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบก่อนคือกลุ่มที่มีเงินฝาก 100 ล้านขึ้นไป จึงเป็นโอกาสที่ดีของธุรกิจกองทุนรวม