xs
xsm
sm
md
lg

กระแสFIFปี51คึกคักต่อเนื่องตราสารหนี้-ตลาดเกิดใหม่บูม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


บลจ.มองกระแสเอฟไอเอฟบูมต่อเนื่องตลอดปีนี้ ชี้แต่ละบริษัทเตรียมเข็นกองทุนต่างประเทศออกมาหลากหลายโดยเฉพาะการลงทุนในตราสารหนี้ เหตุอัตราดอกเบี้ยในประเทศยังอยู่ในระดับต่ำ ส่วนปัญหาซับไพรม์ไม่น่าวิตก ทุกค่ายหลีกเลี่ยงเข้าไปเกี่ยวข้อง ด้านเอ็มเอฟซี เล็งอีเมอร์จิ้งมาร์เก็ต น้ำมัน และเทคโนโลยีใหม่ๆ เป็นตัวชูโรงปีหน้า

นายบุญชัย เกียรติธนาวิทย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน(บลจ.) ธนชาต จำกัด กล่าวว่า กองทุนรวมต่างประเทศ (FIF)ใน ปีที่ผ่านมาถือว่ามีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก โดยสาเหตุที่นักลงทุน และบลจ.ต่างๆ ให้ความสนใจออกไปลงทุนในต่างประเทศนั้นเนื่องมาจากความต้องการที่จะกระจายความเสี่ยงของการลงทุน พร้อมทั้งหาผลตอบแทนที่มากกว่าจากการลงทุนภายในประเทศ อีกทั้งในต่างประเทศเองยังมีเครื่องมือ และทางเลือกในการลงทุนให้พิจารณาหลากหลาย โดยกองทุนที่ได้รับความนิยมส่วนใหญ่จะเป็นกองทุนที่เข้าไปลงทุนในตราสารหนี้เป็นหลัก เพราะอัตราดอกเบี้ยภายในประเทศขณะนี้ยังอยู่ในระดับที่ต่ำมาก อีกทั้งตราสารหนี้ที่เข้าไปลงทุนนั้นยังมีความเสี่ยงต่ำอีกด้วย

สำหรับสัดส่วนของนักลงทุนที่ให้ความสนใจออกไปลงทุนในต่างประเทศนั้น จะมีทั้งนักลงทุนที่มีความเข้าใจในเรื่องนี้อยู่แล้ว และนักลงทุนที่ต้องการผลตอบแทนเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามการลงทุนในต่างประเทศนั้นยังคงมีความเสี่ยงในเรื่องของอัตราแลกเปลี่ยนอยู่ แต่ส่วนใหญ่เชื่อว่านักลงทุนมีความเข้าใจในเรื่องนี้อยู่แล้ว เพราะอัตราผลตอบแทนที่ได้รับแม้ค่าเงินในช่วงนั้นจะมีการเปลี่ยนแปลงแต่ก็ยังอยู่ในระดับที่สูงกว่าอัตรดอกเบี้ยในประเทศอยู่ดี

"กอง FIF ในปีนี้มีการขยายตัวสูงมาก ซึ่งการลงทุนในต่างประเทศนั้นจะทำให้นักลงทุนมีทางเลือกเพิ่มขึ้น และได้รับผลตอบแทนที่มากกว่าได้ โดยเฉพาะในเรื่องของตราสารหนี้ ที่ขณะนี้อัตราดอกเบี้ยบ้านเราปัจจุบันยังอยู่ในระดับต่ำมาก โดยนักลงทุนส่วนใหญ่มักจะมีความเข้าในเรื่องของความเสี่ยงจากค่าเงินอยู่แล้ว"

ทั้งนี้ แนวโน้มของกองทุน FIF ในปีหน้า กรรมการผู้จัดการ บลจ.ธนชาต คาดว่าจะมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นอีกเป็นจำนวนมากจากกระแสและความต้องการของนักลงทุน โดยที่ลักษณะของกองทุนจะมีความหลากหลายมากขึ้น แล้วแต่บลจ.ต่างๆ ว่าจะมีการนำเสนอออกมาเพื่อดึงดูดนักลงทุน ซึ่งอาจจะเป็นกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ (อีเมอร์จิ้งมาร์เก็ต) หรือ ประเทศในกลุ่มบริค ที่ได้รับความนิยมในปีที่ผ่านมาก็ได้

ส่วนความกังวลในเรื่องปัญหาซับไพรม์ของการลงทุนในต่างประเทศนั้น คาดว่าทุกบลจ.จะยังคงหลีกเลี่ยงการลงทุนที่มีความเกี่ยวข้องกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอยู่ อย่างไรก็ตาม หากปัญหาการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ และปัญหาซับไพรม์มีการคลี่คลายลงในอนาคต ทางนักลงทุนเองก็อาจมีการลงทุนในสหรัฐ หรือสินทรัยพ์ที่มีความเกี่ยวข้องกับค่าเงินดอลลาร์เพิ่มขึ้น ซึ่งจากนี้จะต้องมีการจับตาและปรับเปลี่ยนการลงทุนเพื่อให้ตรงกับสถานะการณ์ในขณะนั้นมากที่สุด

ด้านนายพิชิต อัครทิพย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน(บลจ.) เอ็มเอฟซี จำกัด(มหาชน) กล่าวว่า ในปีที่ผ่านมากองทุนที่ออกไปลงทุนในต่างประเทศได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก ซึ่งทางบลจ.เอ็มเอฟซี มีแผนที่จะออกกองทุนประเภทนี้เพิ่มขึ้นอีก เนื่องจากคาดว่าการลงทุนในต่างประเทศปีหน้าคงจะได้รับความนิยมเช่นเดียวกับในปีนี้ ส่วนลักษณะของกองทุนคาดว่าจะได้เห็นกองทุนในลักษณะที่แตกต่างกันออกไป โดยกองทุนFIF ที่คาดว่าจะได้รับความสนใจจากนักลงทุนเป็นพิเศษจะเป็นกองทุนที่เข้าไปลงทุนในประเทศใหม่ๆ ที่กำลังมีการเจริญเติบโต อย่างเช่นประเทศที่มีการลงทุนเกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐาน หรือประเทศที่มีความเกี่ยวข้องกับธุรกิจน้ำมัน รวมถึงในการลงทุนในเรื่องของเทคโนโลยีใหม่ๆ ด้วย

ก่อนหน้านี้ นายอนุสรณ์ บูรณกานนท์ กรรมการผู้จัดการ บลจ. บีที จำกัด กล่าวว่า สาเหตุที่ปี 2550 มูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนเอฟไอเอฟเพิ่มขึ้นมาจากผลตอบแทนการลงทุนในประเทศไทยปรับตัวลดลง จากภาวะดอกเบี้ยขาลงและสถานการณ์การลงทุนในตลาดหลักทัรพย์ที่มีความผันผวน ทำให้นักลงทุนเลือกที่จะออกไปลงทุนในต่างประเทศมากขึ้น เพราะต้องการรับผลตอบแทนที่มากกว่า

"การลงทุนในกองทุนเอฟไอเอฟปีหน้า คงจะมีรูปแบบกองทุนที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น เนื่องมาจากนักลงทุนมีความรู้ ความคุ้นเคยมากขึ้นกว่าในอดีต ประกอบกับผลตอบแทนในประเทศที่อาจจะต่ำ ทำให้กองทุนที่มีโอกาสจะให้ผลตอบแทนที่สูงกว่าด้วยการลงทุนในต่างประเทศน่าจะได้รับความนิยม ซึ่งหลังจากนี้แต่ละบลจ.ก็คงพยายามหาสินค้าที่มีคุณภาพเพื่อนำเสนอแก่นักลงทุน ทำให้คาดว่าในปีหน้ากองทุนเอฟไอเอฟก็ยังคงเป็นสีสันที่สำคัญสำหรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมกองทุนรวม"

ทั้งนี้ รายงานจากสมาคมบริษัทจัดการลงทุน (สมาคม บลจ.) ล่าสุด ณ วันที่ 7 ธันวาคม 2550 พบว่ามียอดจัดตั้งกองทุนรวมที่มีนโยบายลงทุนในต่างประเทศ (กองทุนเอฟไอเอฟ) เป็นจำนวนถึง 98 กองทุน คิดเป็นมูลค่าเงินลงทุนรวมประมาณ 1.37 แสนล้านบาท และมีส่วนแบ่งการตลาด 8.77% หรือเพิ่มขึ้น 36.84 หมื่นล้านบาท จากสิ้นเดือนตุลาคมที่ยอดเงินลงทุนรวม 1 แสนล้านบาท
กำลังโหลดความคิดเห็น