บลจ.แอสเซทพลัส โชว์ผลตอบแทนกองทุนหุ้นรอบปีหมูชนะดัชนีตลาดหลักทรัพย์ ชูฝีมือฟันด์แมเนเจอร์ หลังปรับสไตส์การบริหารกองทุน เทรดตามรอบ "แอสเซทพลัสกำไรปันผล" เจ๋งสุด ด้วยผลตอบแทน 40.96% ประเมินการลงทุนทั้งปีปรับตัวเพิ่มขึ้น หากได้รัฐบาลใหม่โดยเร็ว พร้อมแนะลงทุนอย่างระมัดระวัง และติดตามปัจจัยบวกลบอย่างใกล้ชิด
นางลดาวรรณ เจริญรัชต์ภาคย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) แอสเซท พลัส จำกัด เปิดเผยว่า ในรอบปี 2550 ที่ผ่านมา การลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ถือว่าค่อนข้างยาก เนื่องจากมีหลายปัจจัยทั้งภายในและภายนอกประเทศที่มีผลกระทบต่อตลาดหุ้นทำให้ตลาดหุ้นมีความผันผวนค่อนข้างสูง แต่อย่างไรก็ตามตลาดหุ้นไทย ณ สิ้นปี (28 ธันวาคม 2550) สามารถปรับตัวเพิ่มขึ้นโดยดัชนีตลาดหลักทรัพย์ฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาปิดที่ระดับ 858.10 จุด จากต้นปีซึ่งอยู่ที่ 679.84 จุด หรือคิดเป็นอัตราผลตอบแทน 26.22% (ที่มา : ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ข้อมูล ณ 28 ธันวาคม 2550) โดยมีหุ้นกลุ่มพลังงานเป็นกลุ่มหลักในการผลักดันตลาด
สำหรับการบริหารกองทุนหุ้นของบริษัทที่ผ่านมา ถึงแม้ตลาดจะมีความผันผวนมากจากหลาย ๆ ปัจจัยที่กดดันตลาด เช่น ความกังวลเกี่ยวกับปัญหาสินเชื่อด้อยคุณภาพ (ซับไพร์ม) ความผันผวนของตลาดหุ้นในเขตภูมิภาค รวมถึงความผันผวนของราคาน้ำมันในตลาดโลก แต่เนื่องจากผู้จัดการกองทุนสามารถคาดการณ์ภาวะตลาดได้ถูกทาง และปรับสไตล์การบริหาร โดยเน้นการถือครองหุ้นที่มีปัจจัยพื้นฐานดี มี P/E ต่ำ และมีการขายทำกำไรระยะสั้นในช่วงเวลาที่เหมาะสม จึงส่งผลให้ผลการดำเนินงานกองทุนหุ้น คือ กองทุนเปิดแอสเซทพลัสกำไรปันผล (ASP-GDF) กองทุนเปิดแอสเซทพลัสหุ้นระยะยาว (ASP-LTF) กองทุนเปิดแอสเซทพลัสหุ้นระยะยาวทวีกำไร (ASP-GLTF) และกองทุนเปิดแอสเซทพลัสตราสารทุนเพื่อการเลี้ยงชีพ (ASP-ERF) มีผลตอบแทนที่ดี อยู่ที่ 40.96%, 36.74%, 37.37% และ 36.83% ตามลำดับ
ทั้งนี้ ในส่วนของการลงทุนในตลาดหุ้นปีนี้มองว่า หากการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ได้ข้อสรุปโดยไม่มีความขัดแย้ง และมีนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ชัดเจน เชื่อว่า ตลาดหุ้นไทยจะสามารถปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากแนวโน้มเศรษฐกิจที่คาดว่าจะดีขึ้นอันเนื่องมาจากการบริโภคและการลงทุนภายในประเทศ โดยคาดว่าหุ้นกลุ่มที่มีศักยภาพในการเติบโต ได้แก่ กลุ่มพลังงาน ธนาคารพาณิชย์ และอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเป็นกลุ่มที่จะได้รับผลดีจากโครงการเมกะโปรเจกต์ที่จะเป็นนโยบายหลักในการกระตุ้นเศรษฐกิจ
อย่างไรก็ตาม การลงทุนในตลาดหุ้นปี 2551 ควรเป็นไปอย่างระมัดระวัง และต้องติดตามปัจจัยที่มีผลกระทบต่อการลงทุนอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะปัจจัยด้านการเมืองในประเทศ ปัญหาซับไพร์ม และแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันในตลาดโลก ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยได้