บลจ. บัวหลวง เผยแผนการดำเนินงานปี 2551 ตั้งเป้ามูลค่าทรัพย์สินสุทธิภายใต้การบริหารโตเพิ่มอีก 25% จากปีที่ผ่านมาซึ่งเติบโตถึง 30% พร้อมเน้นออกกองทุนตราสารหนี้ –กองทุนเพ่อการเลี้ยงชีพ (อาร์เอ็มเอฟ) เพิ่มเติมตามดีมานต์ที่มีอย่างต่อเนื่อง แนะการลงทุนในหุ้นระยสั้น –กลางต้องมีความระมัดระวังเป็นพิเศษ เพราะปัญหาซับไพรม์ และการเมืองที่ยังไม่ชัดเจน
นางวรวรรณ ธาราภูมิ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) บัวหลวง จำกัด กล่าวถึงผลการดำเนินงานในปีที่ผ่านมาว่า ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก จากที่ครั้งแรกบริษัทได้ตั้งเป้ามูลค่าทรัพย์สินสุทธิภายใต้บริหารจัดการ (เอยูเอ็ม)ในปี 2550 เติบโตเพิ่มขึ้น 25% จากปี 2549 ซึ่งอยู่ที่ประมาณ 100,938.11 ล้านบาท แต่ในช่วงสิ้นปีที่ผ่านมาบริษัทสามารถสร้างเอยูเอ็มได้มากว่า 30%
ส่วนในปี 2551 บลจ.บัวหลวง ตั้งเป้าเอยูเอ็มไว้ไม่ต่ำกว่า 25% โดยจะเน้นออกกองทุนประเภทตราสารหนี้ และกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (อาร์เอ็มเอฟ) เพื่อขึ้น เนื่องจากทั้งสองกองทุนดังกล่าวยังมีนักลงทุนที่ต้องการที่จะเข้ามาลงทุนอีกเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้จะยังนำกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (แอลทีเอฟ) ที่บริษัทมีอยู่นั้นนำออกขายเพื่อเป็นการขยายขนาดกองทุนแอลทีเอฟต่อไป ตามแผนการขยายกองทุนรวมไปพร้อม ๆ กับการขยายตัวของอุตสาหกรรมธุรกิจกองทุนซึ่งในปีนี้คาดการณ์ว่าจะมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นอีก 25%
"ในปีนี้บริษัทมีแผนที่จะออกกองทุนรวมอาร์เอ็มเอฟเพิ่มขึ้นอีก 2 กองทุน จากที่ในปัจจุบันมีกองทุนรวมอาร์เอ็มเอฟอยู่จำนวน 4 กองทุน นอกจากนี้แล้วบริษัทเตรียมที่จะออกกองทุนเฉพาะเพื่อผู้เกษียณอายุอีก 1 กองทุน ซึ่งในขณะนี้ยังไม่สามารถกำหนดมูลค่ากองทุนได้"นางวรวรรณ กล่าว
กรรมการผู้จัดการ บลจ.บัวหลวง กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับแนวโน้มการลงทุนในตลาดหุ้นปีนี้มองว่ายังคงต้องมีความระมัดระวังเป็นพิเศษ โดยเฉพาะนักลงทุนระยะสั้นและระยะกลาง เนื่องจากปัญหาเศรษฐกิจที่เกี่ยวกับเรื่องสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ด้อยคุณภาพ (ซับไพรม์) ที่ยังส่งผลกระทบอยู่ในขณะนี้ เพราะปัจจุบันในหลายอุตสาหกรรมของประเทศไทยส่วนใหญ่แล้วจะเป็นสินค้าส่งออกนอก ซึ่งผลกระทบจากซับไพรม์จึงมีผลกระทบโดยตรงต่อธุรกิจดังกล่าว ดังนั้นในปีนี้นักลงทุนและผู้บริโภคควรจะลงทุนอยู่ในประเทศมากกว่าที่จะออกนอกประเทศ เพื่อเป็นการลดปัญหาความเสี่ยงให้น้อยลง
"มุมมองเศรษฐกิจในช่วงระยะสั้นและระยะกลาง ยังไม่น่าจะดีนัก เนื่องมาจากปัญหาซับไพรม์ที่ยังคงฝุ่นตลบอยู่ ซึ่งความชัดเจนน่าจะเห็นในช่วงกลางปีนี้ที่น่าจะมีตัวเลขความเสียหายที่ชัดเจนออกมา และหลังจากนั้นคงจะต้องมีการประเมินว่าปัญหาที่เกิดขึ้นกับในแต่ละประเทศ จะกระทบต่อเศรษฐกิจไทยเพียงใด” นางวรวรรณกล่าว
นางวรวรรณ กล่าวอีกว่า สำหรับปัญหาภายในประเทศยังคงเป็นเรื่องทางการเมือง ที่ในขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนว่าใครจะเข้ามาบริหารประเทศ เพราะอยู่ในขั้นตอนของการฟอร์มทีมการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่อยู่ ซึ่งยังคงต้องใช้ระยะเวลาอีกซักระยะหนึ่ง จึงจะเห็นความชัดเจนของคณะรัฐมนตรีหรือผู้เข้ามาบริหารประเทศ
ส่วนการลงทุนในตลาดหุ้นช่วงระยะยาว ยังสามารถเข้าไปลงทุนได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งยังไม่น่าเป็นห่วงมากนัก เนื่องจากยังสามารถให้ผลตอบแทนที่ดีอยู่ ดังนั้นนักลงทุนในช่วงระยะดังกล่าวจึงไม่ควรหวั่นไหวต่อภาวะเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น
สำหรับการดำเนินงานของบลจ.บัวหลวง ในปี 2551 นั้น จะเป็นการทำงาร่วมกับกับผู้ถือหุ้นใหญ่ นั่นคือ ธนาคาร กรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BBL) มากขึ้น โดยเมื่อต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ทั้ง 2 ฝ่ายได้มีการประชุมร่วมกันเพื่อแก้ไขอุปสรรคต่างๆ ในการขยายตลาด และมีการร่วมดำเนินงานทั้งในส่วนผู้บริหาร จนถึงฝ่ายปฏิบัติ นอกจากนี้ บริษัทมีแผนที่จะร่วมงานกับบริษัทหลักทรัพย์หรือโบรกเกอร์ทั้งในเครือเดียวกัน และจากบริษัทอื่นๆ เพื่อเข้ามาช่วยเพิ่มช่องทางในการนำเสนอลูกค้า สำหรับโปรดักต์บางประเภท โดยขณะนี้เรื่องดังกล่าวยังอยู่ในขั้นศึกษารายละเอียด แต่คาดว่าได้เห็นความชัดเจนในเรื่องดังกล่าวได้ในเร็วๆนี้
ขณะเดียวกัน ที่ผ่านมา บริษัทได้ทำการเปิดบริการใหม่ผ่านทาง บัวหลวง ไอแบงก์กิ้ง ของธนาคารกรุงเทพ ด้วยบริการซื้อ-ขายหน่วยลงทุนผ่านระบบอินเตอร์เน็ต ซึ่งจะเริ่มเปิดใช้อย่างเปิดทางการในวันที่ 26 พฤศจิกายน 2550 โดยบริการเสริมดังกล่าว เป็นบริการที่ช่วยเพิ่มความสะดวกสบายให้กับนักลงทุนในการซื้อ-ขาย สับเปลี่ยนหน่วยลงทุน และสามารถสอบถามยอดหน่วยลงทุนคงเหลือผ่านระบบออนไลน์ ซึ่ง บลจ.บัวหลวงต้องการเพิ่มให้กับนักลงทุนทั้งฐานลูกค้าเก่า และลูกค้าใหม่ และคาดว่าเมื่อเปิดบริการเสริมดังกล่าวแล้วจะสามารถสร้างฐานลูกค้าใหม่เพิ่มขึ้นอีกประมาณ 10-20%
ปัจจุบันบลจ.บัวหลวงมีบริการซื้อ – ขาย และสับเปลี่ยนหน่วยลงทุน หลายช่องทางได้แก่ การซื้อขายผ่านทางธนาคารกรุงเทพ เอทีเอ็ม คอลเซ็นต์เตอร์ โดยในอนาคตบริษัทจะเปิดบริการเสริมอีก 1 บริการนั่นคือ การซื้อ การขายผ่านทางตัวแทนจำหน่าย ซึ่งคาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในปีหน้านี้
"การเติบโตของเราในปีหน้าคงจะต้องประเมินในการเติบโตของอุตสาหกรรมรวมของเราด้วย ซึ่งเราก็เชื่อในปีหน้า AUM ของเราก็น่าจะเติบโตในระดับเดียวกับปีนี้ มองแบบ Conservtive และหากสังเกตที่ผ่านมา บลจ.หลายแห่งได้มีการปรับเปลี่ยนแนวบริหารเพื่อสร้างสไตล์ของตัวเองจึงทำให้เกิดการแข่งขันที่มากขึ้น"