xs
xsm
sm
md
lg

สาขาแบงก์หนุนเอยูเอ็ม 5 บลจ.พุ่ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ในช่วงขวบปีที่ผ่านมา บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) มีการแข่งขันที่ค่อนข้างดุเดือด ผู้บริหาร บลจ.ต่างๆ ล้วนสรรหากลยุทธ์กันอย่างขะมักเขม้น ในออกผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ มาล่อใจนักลงทุนกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งปีนี้ ที่มีน้องใหม่กระโดดเข้ามาร่วมสมรภูมิตลาดกองทุนรวมถึง 3 รายด้วยกัน ทำให้ตลาดยิ่งทวีความเข้มข้นขึ้นอีกเป็นเงาตามตัว

ท่ามกลางเศรษฐกิจของประเทศที่ค่อนข้างซบเซา และพิษของมาตรการกันสำรอง 30% ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกมาในช่วงปลายปี 2549 เพื่อสกัดไม่ให้เงินไหลออกไปต่างประเทศ ทว่า กลับส่งผลร้ายให้นักลงทุนต่างชาติชะลอการนำเงินเข้ามาลงทุนออกไป และเพียงวันแรกของการใช้มาตรการนี้ดัชนีตลาดหุ้นไทยดิ่งทันทีกว่า 100 จุด

ขณะเดียวกัน ผลพวงจากปัญหาสินเชื่อด้อยคุณภาพในสหรัฐอเมริกา หรือ ซับไพรม์ ที่เกิดขึ้นในช่วงกลางปี 2550 ยังตามมาซ้ำเติมเศรษฐกิจประเทศไทยอีกระลอก ทำให้หลาย บลจ.ต้องกุมขมับกันทีเดียว แต่วิกฤติการณ์ทุกครั้งล้วนมีโอกาสที่ดีติดตามมาด้วยเสมอ ทำให้หลาย บลจ.เบนเข็มไปออกกองทุนรวมที่เน้นลงทุนในต่างประเทศเพิ่มขึ้นอย่างเป็นล่ำเป็นสัน

จากเม็ดเงินในอุตสาหกรรมบริษัทหลักทรัพย์จัดการลงทุนที่มีทีท่าว่าจะเติบโตอีกมาก ทำให้หลายรายทนความเย้ายวนไม่ไหว ตั้งท่ากระโจนเข้ามาในสมรภูมิด้วย โดยมีน้องใหม่อย่างน้อยอีก 2 รายที่เตรียมตัวเข้ามาไม่ว่าจะเป็นบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ยูไนเต็ด และ บล.กิมเอ็ง

จากการรายงานของสมาคมบริษัทจัดการลงทุน สิ้นสุด ณ วันที่ 7 ธันวาคม 2550 พบว่า มี บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ทั้งหมด 22 ด้วยกัน และมีเม็ดเงินที่ไหลเวียนอยู่ในระบบทั้งสิ้น 1,382,759.74 ล้านบาท** โดย บลจ.ที่มีสัดส่วนของทรัพย์สินสุทธิภายใต้การบริหารจัดการ (เอยูเอ็ม) เพิ่มขึ้นเป็น อันดับ 1 คือ บลจ.ไทยพาณิชย์ มีทรัพย์สินสุทธิภายใต้การบริหารจัดการเพิ่มขึ้น 118,194.59 ล้านบาท โดยมีทรัพย์สินสุทธิภายใต้การบริหารจัดการทั้งสิ้น 288,862.42 ล้านบาท

อันดับ 2 บลจ.กสิกรไทย มีทรัพย์สินสุทธิภายใต้การบริหารจัดการเพิ่มขึ้น 50,326.77 ล้านบาท โดยมีทรัพย์สินสุทธิภายใต้การบริหารจัดการทั้งสิ้น 216,286.74 ล้านบาท

อันดับ 3 บลจ.ทหารไทย มีทรัพย์สินสุทธิภายใต้การบริหารจัดการเพิ่มขึ้น 35,470.43 ล้านบาท โดยมีทรัพย์สินสุทธิภายใต้การบริหารจัดการทั้งสิ้น 136,072.21 ล้านบาท

อันดับ 4 บลจ.ธนชาต  มีทรัพย์สินสุทธิภายใต้การบริหารจัดการเพิ่มขึ้น 31,698.72 ล้านบาท โดยมีทรัพย์สินสุทธิภายใต้การบริหารจัดการทั้งสิ้น 73,582.34 ล้านบาท

และอันดับ 5 บลจ.บัวหลวง มีทรัพย์สินสุทธิภายใต้การบริหารจัดการเพิ่มขึ้น 26,416.18 ล้านบาท โดยมีทรัพย์สินสุทธิภายใต้การบริหารจัดการทั้งสิ้น 127,354.29 ล้านบาท

ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่า  บลจ.ที่มีทรัพย์สินสุทธิภายใต้การบริหารจัดการเติบโตมากที่สุด 5 อันดับแรก ล้วนเป็นบริษัทในเครือของธนาคารพาณิชย์ทั้งสิ้น เบื้องต้นคาดว่ามาจากการมีข้อได้เปรียบที่เป็นบริษัทในเครือของธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ซึ่งมีระยะเวลาในการบริการมายาวนาน และมีฐานลูกค้าเป็นจำนวนมากนั่นเอง

กำพล อัศวกุลชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการ สายธุรกิจกองทุนรวม บลจ.ไทยพาณิชย์ กล่าวว่า **ทรัพย์สินสุทธิภายใต้การบริหารจัดการในปี 2550 เจริญเติบโตขึ้นเป็นอย่างมาก คาดว่าจะสามารถขยับขึ้นแตะ 300,000 ล้านบาทได้ภายในสิ้นปีนี้** โดยมีกองทุนตราสารหนี้ระยะสั้นมีมูลค่าเม็ดเงินลงทุนเข้ามาประมาณ 70,000 ล้านบาท กองทุนรวม FIF ที่เน้นลงทุนในตราสารหนี้ยุโรป (ECP) ประมาณ 60,000 ล้านบาท และกองทุนรวม RMF และกองทุนรวม LTF ประมาณ 8,000 ล้านบาท ซึ่งช่วยในการผลักดันให้ทรัพย์สินสุทธิภายใต้การบริหารจัดการมีการเจริญเติบโตมากที่สุดโดยคิดเป็นสัดส่วน 46% ของทรัพย์สินสุทธิทั้งหมด

ส่วนกรณีที่มีทรัพย์สินสุทธิภายใต้การบริหารจัดการส่วนใหญ่เจริญเติบโตมาจากการซื้อขายผ่านทางสาขาของธนาคารไทยพาณิชย์นั้น เนื่องจากมีข้อดี คือ 1.ผู้ลงทุนสามารถได้ข้อมูลได้จากพนักงานของสาขาธนาคารอย่างใกล้ชิด 2.พนักงานสาขาธนาคารมีความรู้ความเข้าใจที่ดี สามารถให้ความรู้แก่ลูกค้าได้ ทั้งนี้ นอกจากการที่มีสาขาเป็นจำนวนมากแล้ว ยังสามารถให้คำแนะนำที่ดีแก่ลูกค้าได้ด้วย ทั้งนี้ ลูกค้าที่เข้ามาซื้อขายกองทุนรวมผ่านทางธนาคารคิดเป็น 90% ของลูกค้าทั้งหมด

สำหรับกลยุทธ์การดึงลูกค้าใหม่และรักษาฐานของลูกค้าเก่า "กำพล" กล่าวว่า สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการสร้างความไว้วางใจให้กับลูกค้าเป็นหลัก และไม่ได้เน้นการเจริญเติบโตของสินทรัพย์ โดยต้องรู้จักว่าลูกค้ามีการลงทุนอย่างไร มีเม็ดเงินในการลงทุนจำนวนเท่าไร เพื่อนำเสนอสิ่งที่ดีที่สุดให้แก่ลูกค้า ทั้งนี้ ในช่วงปีนี้มีลูกค้ารายใหม่เพิ่มขึ้น 60,000 ราย ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่มีอยู่ 140,000 ราย คิดเป็นสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นประมาณ 40%

วิวรรณ ธาราหิรัญโชติ รองประธานกรรมการบริหาร บลจ.กสิกรไทย กล่าวว่า ทรัพย์สินสุทธิภายใต้การบริหารจัดการภายในปี 2550 จะอยู่ประมาณ 200,000 ล้านบาท โดยกองทุนรวม FIF ที่เน้นลงทุนในตราสารหนี้ยุโรปมีส่วนสำคัญในการช่วยดึงดูดเม็ดเงินลงทุน และลูกค้ารายใหม่และรายเก่ามีสัดส่วนใกล้เคียงกัน

นอกจากนี้ ยังมองว่า**การขายกองทุนรวมผ่านธนาคารกสิกรไทยยังเป็นช่องทางที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดเนื่องจากมีสาขาเป็นจำนวนมาก โดยจะพยายามเน้นการให้ผลตอบแทนที่ดี เพื่อรักษาฐานลูกค้ารายเก่า ขณะที่ลูกค้ารายใหม่ก็จะเข้ามาโดยอิทธิพลของปากต่อปากจากลูกค้ารายเก่า**

บุญชัย เกียรติธนาวิทย์ กรรมการผู้จัดการ บลจ.ธนชาต กล่าวว่า ทรัพย์สินสุทธิภายใต้การบริหารจัดการภายในปี 2550 จะอยู่ประมาณ 80,000 ล้านบาท โดยมีกองทุนตราสารหนี้ระยะสั้นช่วยดึงดูดเม็ดเงิน และมีอยู่ประมาณ 70% ของพอร์ตลงทุนทั้งหมด ซึ่งการขยายตัวของทรัพย์สินสุทธิภายใต้การบริหารจัดการส่วนใหญ่มาจากอานิสงส์ของการขยายสาขาของธนาคารธนชาติซึ่งเพิ่มขึ้นเป็น 160 สาขาทั่วประเทศ ทำให้ช่องทางขายในการขายผลิตภัณฑ์เพิ่มขึ้นจากปีก่อนถึงเท่าตัว

ทั้งนี้ สาเหตุที่ลูกค้าเข้ามาลงทุนในตราสารหนี้เป็นจำนวนมาก เนื่องจากผู้ฝากเงินมองว่าอัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ยังต่ำกว่าการลงทุนกองทุนรวม ดังนั้น จึงส่งผลให้เงินไหลมายัง บลจ. โดยลูกค้าในกรุงเทพฯจะมีปริมาณเม็ดเงินเข้ามาซื้อมากกว่า ขณะที่จำนวนลูกค้ากรุงเทพฯ และต่างจังหวัดนั้นมีสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน

สำหรับกลยุทธ์การดึงลูกค้าใหม่เข้ามา คือ เริ่มจากผลิตภัณฑ์ หากมีผลิตภัณฑ์ที่โดนใจลูกค้า และเป็นที่น่าสนใจของลูกค้า รวมทั้งการที่มีสาขาจำนวนมาก ถือเป็นสิ่งสำคัญในการกระจายผลิตภัณฑ์ออกไป ขณะเดียวกัน การให้ความรู้กับลูกค้าในเรื่องผลิตภัณฑ์ สื่อสารไปยังลูกค้าอย่างชัดเจนก็ถือเป็นหัวใจสำคัญเช่นกัน ส่วนการการรักษาฐานลูกค้าเก่านั้น เราจะเน้นไปที่ข้อมูลข่าวสารว่า สภาพการลงทุนในแต่ละช่วงเป็นอย่างไร พร้อมกับอธิบายว่าเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้น และสิ่งที่นำเสนอไปแล้วลูกค้าจะลงทุนเพิ่มหรือไม่ ตลอดจนต้องดูแลให้นักลงทุนพอใจ ช่วงไหนภาวะตลาดอยู่ในช่วงขาลง ก็ต้องติดตามสภาพการลงทุน ไม่ทิ้งลูกค้า

วรวรรณ ธาราภูมิ กรรมการผู้จัดการ บลจ.บัวหลวง กล่าวว่า ทรัพย์สินสุทธิภายใต้การบริหารจัดการภายในปี 2550 จะอยู่ประมาณ 130,000 ล้านบาท โดยมีกองทุนตราสารหนี้ระยะสั้นอย่างกองทุนเปิดธนทวี โดยเป็นสัดส่วน 30% ของพอร์ตลงทุน เนื่องจากมีความได้เปรียบในด้านช่องทางการขาย ซึ่งสามารถกระจายได้มากกว่า และฐานของลูกค้าของธนาคารกรุงเทพที่มีเป็นจำนวนมาก ขณะเดียวกัน ช่องทางอินเทอร์เน็ตก็มีส่วนช่วยให้ทรัพย์สินสุทธิภายใต้การบริหารจัดการเพิ่มขึ้นเช่นกัน

ทั้งนี้ กลยุทธ์ในการดึงลูกค้าใหม่คือการที่ลูกค้าบอกต่อกันแบบปากต่อปากมากกว่า ซึ่งทาง บลจ.ยังไม่ลงมาสนับสนุนทางการตลาดอย่างเต็มตัว ซึ่งสิ่งที่ผู้ลงทุนได้ติดตามผลการดำเนินงานอยู่ก่อนแล้ว เมื่อเห็นว่าผลตอบแทนออกมาดีก็จะเข้ามาลงทุนด้วย ขณะที่การรักษาฐานลูกค้าเก่า คือการที่ออกผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ออกมาเพื่อตอบสนองให้แก่ลูกค้า และการบริหารกองทุนจนสามารถให้ผลตอบแทนที่ดี
กำลังโหลดความคิดเห็น