xs
xsm
sm
md
lg

กสิกรฯเบียดไทยพาณิชย์ ทวงบัลลังก์ผู้นำธุรกิจบลจ.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการรายวัน - กองทุนรวมแข่งเดือน บลจ.งัดสารพัดกลลุยธ์โกยเงินเข้าพอร์ต รักษาฐานลูกค้ากองทุน ECP ที่ทยอยครบอายุ "ไทยพาณิชย์" ขาดหัวเรือใหญ่สั่งการ ส่งผลเงินกองทุนรวมวูบกว่า 2.44 หมื่นล้านจากปลายปีที่แล้ว ฉุดพอร์ตเอยูเอ็ม 3 ธุรกิจตกบัลลังก์แชมป์ เปิดทางให้ "กสิกรไทย" แซงหน้าขึ้นเบอร์หนึ่งอีกครั้ง ด้วยสินทรัพย์รวม 3.34 แสนล้าน หลังได้เครือข่ายแบงก์แม่ ระดมทุนกองพันธบัตรเกาหลีใต้กว่า 3.6 หมื่นล้านบาท จับตาครึ่งปีหลังตลาดคึกคัก บลจ.เร่งเสริมทัพมาร์เกตติ้งเพียบ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภาพรวมการแข่งขันในธุรกิจกองทุนรวมตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ถือว่าดุเดือดพอสมควร เนื่องจากบริษัทจัดการกองทุนหลายราย พยายามสรรหากองทุนใหม่ๆ ออกมาระดมทุนเข้าพอร์ต เพื่อทดแทนเงินลงทุนในส่วนที่มาจากกองทุนตราสารหนี้ที่ลงทุนในตราสาร ECP (Euro Commercial Paper) ที่ทยอยครบกำหนดไถ่ถอนอย่างต่อเนื่อง หลังจากช่วงปลายปีที่แล้วต่อเนื่องมาถึงต้นปีนี้ ได้รับความสนใจจากผู้ลงทุนเป็นจำนวนมาก โดยได้แรงจูงใจจากผลตอบแทนที่สูงกว่าการลงทุนในประเทศ ก่อนจะหมดความนิยมลงหลังจากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ทยอยปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อกู้วิกฤตเศรษฐกิจ

ทั้งนี้ กองทุนพันธบัตรเกาหลีใต้ ถูกหยิบขึ้นมาเป็นเกมที่ใช้ในการแข่งขันระดมเงินจากผู้ลงทุนเข้าพอร์ต เพราะพันธบัตรเกาหลีใต้เองมีความน่าสนใจในแง่ของผลตอบแทนที่ไม่แพ้ ECP ซึ่งในช่วงแรกความนิยมเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับกองทุน ECP ก่อนจะซาลงหลังจากต้นทุนการป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน (เฮจด์) เพิ่มสูงขึ้น ทำให้ผลผตอบแทนไม่น่าจูงใจอีกต่อไป ในขณะที่การลงทุนในประเทศกลับมาได้รับความสนใจอีกครั้ง

นายประภาส ตันพิบูลย์ศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่การลงทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) อยุธยา จำกัด (เอวายเอฟ) กล่าวว่า สำหรับกองทุนตราสารหนี้ระยะสั้นที่ลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลเกาหลีใต้นั้น ขณะนี้บริษัทเองก็กำลังอยู่ระหว่างเปิดขายกองทุนอายุ 3 เดือนและ 6 เดือนอยู่ ซึ่งได้รับการตอบรับจากนักลงทุนเป็นอย่างดี แต่หลังจากนี้ ยังไม่แน่ใจว่าจะสามารถมีกองทุนเกาหลีออกมาอีกหรือเปล่า เพราะต้นทุนอัตราแลกเปลี่ยนปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้ผลตอบแทนลดต่ำลง

"ภาพรวมของกองทุนเกาหลีตอนนี้ยังพอไปได้ แต่หลังจากนี้อาจจะมีให้เห็นน้อยลง หรืออาจจะออกยากขึ้น ซึ่งจะเห็นได้ว่าตอนนี้ บลจ.เองก็เริ่มหันมาออกกองทุนพันธบัตรในประเทศเพิ่มมากขึ้น ส่วนหนึ่งเพราะอัตราดอกเบี้ยในประเทศอยู่ในช่วงขาขึ้น"นายประภาสกล่าว

รายงานข่าวระบุว่า จากการที่กองทุน ECP ทยอยครบอายุนี้เอง ส่งผลกระทบต่อสินทรัพย์สุทธิภายใต้การบริหารจัดการ (เอยูเอ็ม) ของบริษัทจัดการกองทุนพอสมควร โดยเฉพาะ บลจ. ในเครือธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ที่เปิดขายกองทุน ECP ออกมาและสามารถระดมทุนเข้าพอร์ตได้เป็นจำนวนมาก แต่หลังจากกองทุนดังกล่าวทยอยครบอายุ จึงส่งให้เอยูเอ็มของบลจ. เหล่านี้ลดลง

ก่อนหน้านี้ นางโชติกา สวนานนท์ กรรมการผู้จัดการ บลจ. ทหารไทย กล่าวว่า ในปีนี้การเติบโตของสินทรัพย์ภายใต้การบริหารจัดการ (เอยูเอ็ม) ของบลจ.ทหารไทยอาจจะต่ำกว่าเป้าหมายเดิมที่เคยคาดการณ์ว่าจะมีเม็ดเงินลงทุนใหม่เพิ่มขึ้น 15% จากปลายปี 2550 ที่บริษัทมีสินทรัพย์ภายใต้การบริหารจัดการ ประมาณ 130,000 ล้านบาท โดยในเดือนมิถุนายนบริษัทจะมีการพิจารณาเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวและทำการเสนอให้แก่คณะกรรมการบริษัทอีกครั้งในเดือนกรกฎาคม

ทั้งนี้ สาเหตุที่การเติบโตของเม็ดเงินลงทุนต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ เนื่องมาจากช่วงต้นปีที่ผ่านมากองทุนที่มีนโยบายลงทุนในตราสารของสถาบันการเงินในทวีปยุโรป (ECP) ของบริษัทได้ครบกำหนดอายุโครงการ ขณะเดียวกันธนาคารทหารไทยได้มีการระดมเงินฝาก รวมไปถึงเกิดการเปลี่ยนแปลงคณะผู้บริหาร ซึ่งจากปัจจัยดังกล่าวและความไม่ชัดเจนที่เกิดขึ้นส่งผลทำให้การเติบโตลดลงจากเป้าหมายเดิมที่ตั้งไว้

"ช่วงแรกเม็ดเงินลงทุนติดลบกว่า 8,000 ล้านบาท แต่ช่วงที่ผ่านมา บลจ.ได้มีการออกกองทุนในซีรีส์พันธบัตรเกาหลีใต้มูลค่ารวมประมาณ 20,000 ล้านบาท และกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ลักซ์ชัวรี่ ทำให้เมื่อปลายเดือนพฤษภาคมยอดเงินลงทุนเหลือติดลบเพียง 2,000 ล้านบาท และถ้าการขยายกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ CPN รีเทล โกรท สามารถดำเนินการได้ภายในปีนี้ตามแผนงานที่วางไว้ก็อาจจะทำให้ยอดเม็ดเงินลงทุนใหม่เพิ่มขึ้นได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ที่ 15% เช่นเดียวกัน " นางโชติกา กล่าว

อย่างไรก็ตาม การครบอายุของ กองทุน ECP เอง กลับไม่ได้ส่งผลสำหรับ บลจ. ที่สามารถปรับกลยุทธ์ทางการตลาดได้สอดคล้องกับสถานการณ์ ด้วยการส่งกองทุนใหม่ออกมาระดมทุนเพื่อชดเชยเงินลงทุนที่หายไป ซึ่งนั่นก็คือ การระดมทุนผ่านกองทุนพันธบัตรรัฐบาลเกาหลีใต้นั่นเอง

กสิกรไทยทวงบรรลังผู้นำธุรกิจบลจ.
ทั้งนี้ จากการสำรวจเงินลงทุนในส่วนธุรกิจกองทุนรวมจากบลจ.ทั้งระบบ ณ วันที่ 6 มิถุนายน 2551 ที่ผ่านมา พบว่า บริษัทจัดการที่มีส่วนแบ่งการตลาดสูงสุดเป็นอันดับ 1 ยังคงเป็น บลจ.ไทยพาณิชย์ ด้วยสินทรัพย์รวมทั้งสิ้น 276,998.49 ล้านบาท แต่กลับพบว่าลดลงค่อนข้างมากจากช่วงสิ้นปี 2550 ซึ่งมีสินทรัพย์รวมทั้งสิ้นกว่า 301,494.43 ล้านบาท คิดเป็นจำนวนเงินที่ลดลงประมาณ 24,495.94 ล้านบาท ในขณะที่บลจ.กสิกรไทย ซึ่งมีสินทรัพย์เป็นอันดับ 2 ด้วยจำนวนทั้งสิ้น 247,612.30 ล้านบาท กลับมาเงินลงทุนใหม่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจาก 231,879.13 ล้านบาทในช่วงสิ้นปีที่แล้ว หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 15,733.17 ล้านบาท

จากตัวเลขของธุรกิจกองทุนรวมดังกล่าว หากรวมกับธุรกิจกองทุนส่วนบุคคล และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพแล้ว ซึ่งเป็นตัวเลขเงินลงทุนในเดือนเมษายน 2551 พบว่า บลจ.กสิกรไทย มีสินทรัพย์รวมขยับขึ้นมาเป็นอันดับ 1 ของอุตสาหกรรมแทนบลจ.ไทยพาณิชย์แล้ว โดยบลจ.กสิกรไทย มีสินทรัพย์รวมทั้ง 3 ธุรกิจอยู่ที่ 334,009.17 ล้านบาท ซึ่งรวมกองทุนส่วนบุคคล 35,177.41 ล้านบาท และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ 51,219.46 ล้านบาทแล้ว ส่วนบลจ.ไทยพาณิชย์ มีสินทรัพย์รวม 328,558.67 ล้านบาท รวมกองทุนส่วนบุคคล 5,443.85 ล้านบาท และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ 46,116.33 ล้านบาท

สำหรับสาเหตุที่ทำให้บลจ. ไทยพาณิชย์ มีสินทรัพย์ลดลง ส่วนหนึ่งมาจากกองทุน ECP ที่ระดมทุนเข้ามาเป็นจำนวนมากในช่วงต้นปีทยอยครบอายุ ในขณะที่การออกกองทุนใหม่โดยเฉพาะกองทุนพันธบัตรเกาหลีใต้ กลับไม่สามารถชดเชยจำนวนเงินที่ลดลงไปได้ แต่ปัจจัยที่สำคัญไปมากกว่านั้น คือ ตลอด 5 เดือนที่ผ่านมา บลจ.ไทยพาณิชย์ว่างจากตำแหน่งกรรมการผู้อำนวยการที่เป็นหัวเรือใหญ่ในการกำหนดนโยบายและทิศทางการตลาด หลังจากนายอดิศร เสริมชัยวงศ์ ได้ขยับไปบริหารงานกับธนาคารไทยพาณิชย์ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ได้เข้ามาทำหน้าที่ดังกล่าวเรียบร้อยแล้ว

ในขณะที่บลจ.กสิกรไทย ภายใต้การนำของนางวิวรรณ ธาราหิรัญโชติ รองประธานกรรมการบริหาร กลับมีกองทุนใหม่ๆ ออกมาระดมทุนอย่างต่อเนื่องตลอดช่วง 5 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งไม่ใช่เฉพาะกองทุนพันธบัตรเกาหลีใต้เท่านั้น แต่ยังมีกองทุนรวมต่างประเทศ (FIF) ที่มีการลงทุนอย่างหลากหลายออกมาเป็นทางเลือกให้กับลูกค้าอีกด้วย นอกจากนั้น ยังบริการเสริมใหม่ๆ ที่เป็นความร่วมมือระหว่างบริษัทในเครือธนาคารกสิกรไทยออกมาอำนวยความสะดวกให้กับลูกค้าอย่างต่อเนื่องด้วยเช่นกัน

"ความเป็นเครือธนาคารกสิกรไทยที่มีการร่วมมือกันอย่างต่อเนื่องนี้เอง ถือเป็นจุดแข็งหนึ่งที่ทำให้บลจ.กสิกรไทย ประสบความสำเร็จในการระดมทุน ทั้งกองทุนใหม่และกองทุนเก่าที่มีอยู่แล้ว โดยเฉพาะกองทุนพันธบัตรเกาหลีใต้ ที่สามารถระดมทุนได้ถึง 16 กองทุนด้วยมูลค่าเงินลงทุนรวมกันถึง 36,909.62 ล้านบาท ซึ่งหลังจากนี้ บลจ.กสิกรไทย ยังมีแผนส่งกองทุนเดียวกันนี้ออกมาระดมทุนต่อเนื่องอีก 2 กองทุนเร็วๆนี้ โดยมีมูลค่ารวมประมาณ 3,400 ล้านบาท"

จากการแข่งขันที่ค่อนข้างสูงดังที่ได้กล่าวนี้เอง ส่งผลให้บรรดาบริษัทจัดการกองทุน ตื่นตัวและหันมาให้ความสนใจกับการปรับกลยุทธ์ทางการตลาดมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการดึงบุคลากรด้านการตลาดเข้ามาเสริมทีม และการสรรหากลยุทธ์ทางการตลาดรูปแบบใหม่ๆ เพื่อดึงดูดความสนใจจากผู้ลงทุนมากขึ้น โดยเฉพาะนักลงทุนทั่วไปที่ยังไม่เคยลงทุนผ่านกองทุนรวมมาก่อน เช่น บลจ.กรุงไทย ที่ดึงบุคลากรด้านการตลาดเข้ามาเสริมเพื่อรุกกลุ่มลูกค้าที่ไม่ใช่ลูกค้าธนาคารมากขึ้น ขณะที่บลจ.ทหารไทยเองก็เสริมทีมตลาดเช่นกัน โดยหวังว่าจะใช้เป็นไม้เด็ดในการแข่งกับบลจ. ไอเอ็นจี (ประเทศไทย) ที่เข้ามาอยู่ร่วมชายคาเดียวกันในเครือธนาคารทหารไทย ส่วนบลจ.ยูโอบี (ไทย) ก็เตรียมเปิดตัวกลยุทธ์ทางการตลาดรูปแบบใหม่เร็วๆ นี้ ด้านบลจ.บัวหลวง เน้นใช้เครือข่ายธนาคารกรุงเทพ จัดกิจกรรมกระตุ้นการลงทุนผ่านสาขาของธนาคารมากขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น