xs
xsm
sm
md
lg

ไพรเวตฟันด์ เม.ย.NAVวูบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กองทุนส่วนบุคคลเดือนเม.ย. ติดลบอีก 1,216.36 ล้านบาท ฉุดเงินลงทุนทั้งระบบขยับลงเหลือ 1.77 แสนล้าน เหตุลูกค้ากังวลบรรยากาศลงทุนทั้งหุ้น-ตราสารหนี้ "กสิกรไทย" ยังรั้งแชมป์มาร์เกตแชร์อันดับ 1 ด้วยสินทรัพย์รวมกว่า 35,177.41 ล้านบาท แถมโกยเงินเพิ่มอีกประมาณ 103.28 ล้านบาท ขณะที่ "กรุงไทย" วูบไปกว่า 895.08 ล้าน ด้านผู้จัดการกองทุน เร่งจัดสรรพอร์ตการลงทุนให้ลูกค้า "เอวายเอฟ" เข้าถึงลูกค้าแบบ One on One จัดพอร์ตตามโจทย์จากลูกค้า ส่วน "ไอเอ็นจี" ใช้ความได้เปรียบจากเครือข่ายต่างประเทศ

รายงานข่าวจากสมาคมบริษัทจัดการกองทุน (สมาคมบลจ.) เปิดเผยถึงตัวเลขเงินลงทุนในกองทุนส่วนบุคคล (ไพรเวตฟันด์) ว่า ในเดือนเมษายนที่ผ่านมา บริษัทจัดการกองทุนส่วนบุคคลทั้งระบบจำนวน 23 ราย มีเงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 177,770.71 ล้านบาทจากจำนวน 1,127 กองทุน ลดลงประมาณ 1,216.36 ล้านบาท หรือคิดเป็นการลดลงในสัดส่วน 0.68% จากเงินลงทุนรวม 178,987.06 ล้านบาท และจำนวนกองทุน 1,129 กองในเดือนมีนาคม

ทั้งนี้ จำนวนเงินที่ลดลงดังกล่าว ส่วนหนึ่งมาจากความกังวลของนักลงทุนเกี่ยวกับการลงทุนในตลาดหุ้น ถึงแม้ในช่วงเดือนเมษายนจะไม่มีปัจจัยลบรุนแรง แต่ก็ขาดปัจจัยบวกเข้ามาหนุนตลาด ทำให้ความน่าสนใจลงทุนในยังไม่มี ขณะเดียวกันการลงทุนในตราสารหนี้เองก็ค่อนข้างผันผวน จากการส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ อันเป็นผลมาจากเงินเฟ้อ

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ภาพรวมของตลาดกองทุนส่วนบุคคลทั้งระบบจะลดลง แต่บริษัทจัดการบางส่วนก็มีเงินลงทุนเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน โดยจากรายงานแสดงการจัดการกองทุนส่วนบุคคล 10 อันดับแรก พบว่า บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) กสิกรไทย จำกัด ยังมีส่วนแบ่งการตลาด (มาร์เกตแชร์) เป็นอันดับ 1 ด้วยจำนวนเงินลงทุนรวม 35,177.41 ล้านบาท เพิ่มขึ้นประมาณ 103.28 ล้านบาท จากเงินลงทุนรวม 35,074.13 ล้านบาทในเดือนก่อนหน้านี้

อันดับ 2 บลจ.ทิสโก้ มีจำนวนเงินลงทุนรวม 31,461.16 ล้านบาท ลดลงประมาณ 198.43 ล้านบาท จากเงินลงทุนรวม 31,659.59 ล้านบาท อันดับ 3 บลจ.ไอเอ็นจี (ประเทศไทย) มีจำนวนเงินลงทุนรวม 22,731.02 ล้านบาท ลดลงประมาณ 43.75 ล้านบาท จากเงินลงทุนรวม 22,774.77 ล้านบาท อันดับ 4 บลจ.เอ็มเอฟซี ด้วยจำนวนเงินลงทุนรวม 21,134.30 ล้านบาท ลดลง 88.79 ล้านบาท จาก 21,223.09 ล้านบาทในเดือนมีนาคม

อันดับ 5 บลจ.วรรณ มีจำนวนเงินลงทุนรวม 20,711.90 ล้านบาท ลดลงประมาณ 18.10 ล้านบาท จากเงินลงทุนรวม 20,730.00 ล้านบาท อันดับ 6 ธนาคารกรุงเทพ ด้วยจำนวนเงินลงทุน 9,649.15 ล้านบาท เพิ่มขึ้นประมาณ 105.70 ล้านบาท จากเงินลงทุน 9,543.45 ล้านบาท อันดับ 7 บลจ.อเบอร์ดีน มีจำนวนเงินลงทุนรวม 6,569.43 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 69.92 ล้านบาท จากเงินลงทุนรวม 6,499.51 ล้านบาท

อันดับ 8 บล.บัวหลวง ด้วยจำนวนเงินลงทุนรวม 5,741.65 ล้านบาท ลดลงเป็นจำนวนเงิน 18.95 ล้านบาท จาก 5,760.60 ล้านบาทในเดือนมีนาคม อันดับ 9 บลจ.ไทยพาณิชย์ มีจำนวนเงินลงทุนรวม 5,443.85 ล้านบาท ลดลง 28.96 ล้านบาท จากเงินลงทุนรวม 5,472.81 ล้านบาท และอันดับ 10 บลจ.แอสเซท พลัส ด้วยจำนวนเงินลงทุนรวม 3,640.61 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนเงิน 44.15 ล้านบาท จาก 3,596.46 ล้านบาทในเดือนมีนาคม

ทั้งนี้ จากบริษัทจัดการทั้งระบบพบว่า บลจ.กรุงไทย เป็นบริษัทที่มีจำนวนเงินลงทุนลดลงสูงที่สุด โดยมีเงินลงทุนรวม 1,878.10 ล้านบาทในเดือนเมษายน ซึ่งลดลงประมาณ 895.08 ล้านบาท จากจำนวนเงินลงทุนรวม 2,773.18 ล้านบาทในเดือนมีนาคม

**บลจ.เร่งจัดพอร์ตลงทุนตปท.ให้ลูกค้า**

นายประภาส ตันพิบูลย์ศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่การลงทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) อยุธยา จำกัด เปิดเผยว่า ในช่วงที่ผ่านมา มีลูกค้าให้ความสนใจลงทุนในต่างประเทศค่อนข้างมาก หลังจากทราบว่าทางการได้เปิดโอกาสการลงทุนให้แล้ว อย่างไรก็ตาม ณ ขณะนี้ ยังไม่สามารถบอกได้ว่าเป็นจำนวนเงินลงทุนเท่าไหร่ เพราะกำลังอยู่ระหว่างการจัดสรรรูปแบบการลงทุนให้กับลูกค้า ด้วยการนำความต้องการลงทุนของลูกค้ามีตีโจทย์ เพื่อจัดสินทรัพย์ให้ตรงกับความต้องการของลูกค้า และส่วนหนึ่งเราก็ทำการบ้านเองด้วย ในการเสนอช่องทางการลงทุนให้ลูกค้าไปศึกษาว่าเหมาะกับการลงทุนของตัวเองหรือไม่

"หลังจากลูกค้าให้การบ้านเรามาว่าต้องการลงทุนในสินทรัพย์ใด ไม่ว่าจะเป็น หุ้น ตราสารหนี้ คอมมอดิตี้ หรือต้องการจะลงทุนระยะสั้น ระยะยาว เราก็จะนำโจทย์นั้นไปศึกษาเพื่อกำหนดรูปแบบการลงทุนให้กับลูกค้า"นายประภาสกล่าว

ทั้งนี้ ลูกค้ากองทุนส่วนบุคคลส่วนใหญ่ มีกรอบการลงทุนที่ค่อนข้างกว้่าง ดังนั้น เราต้องศึกษารูปแบบการลงทุนของลูกค้าเป็นคนๆ ไป หรือเป็นการคุยในลักษณะ One on One ขณะเดียวกัน รูปแบบการลงทุนแต่ละสินทรัพย์เองก็แตกต่างกันออกไป ทำให้มีงานหลังบ้านค่อนข้างเยอะ ประกอบกับการลงทุนดังกล่าวถือเป็นเงินลงทุนที่ค่อนข้างเยอะพอสมควร ไม่ว่าจะเป็นลูกค้ารายย่อยหรือนิติบุคคลเอง ทำให้กระบวนการลงทุนอาจต้องใช้เวลาในการศึกษาพอสมควร โดยมองว่าอาจจะต้องใช้เวลาในการตัดสินใจลงทุนก่อนประมาณ 3-6 เดือน

นายจุมพล สายมาลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายการตลาด-กองทุนรวม บลจ.ไอเอ็นจี (ประเทศไทย) กล่าวว่า ในขณะนี้มีลูกค้ากองทุนส่วนบุคคลให้ความสนใจลงทุนในต่างประเทศบ้างแล้วเช่นกัน แต่ยังอยู่ในกระบวนการคุยกับลูกค้าเกี่ยวกับความต้องการลงทุนเท่านั้น ยังไม่ได้ยื่นเสนอขอวงกับทางสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) แต่อย่างใด

ทั้งนี้ การลงทุนในต่างประเทศเอง บริษัทจะดูความต้องการของลูกค้าเป็นหลักว่าต้องการลงทุนในสินทรัพย์ประเภทใด แต่หากเป็นลูกค้ารายย่อยอาจจะแนะนำกองทุนรวมต่างประเทศ (FIF) ภายใต้การบริหารของบริษัทเลย หรืออาจจะลงทุนผ่านกองทุนหลักของกองทุนเอฟไอเอฟที่เราออกไปลงทุน ซึ่งไอเอ็นจีเองมีเครือข่ายต่างประเทศที่พร้อมรองรับการลงทุนดังกล่าวอยู่แล้ว ทั้งเทคโนโลยีและข้อมูลการลงทุน

ก่อนหน้านี้ นางลดาวรรณ เจริญรัชต์ภาคย์ กรรมการผู้จัดการ บลจ. แอสเซท พลัส กล่าวว่า บริษัทฯ ได้ร่วมกับผู้จัดการกองทุนชั้นนำในต่างประเทศ ทำการศึกษาและติดตามภาวะตลาดการลงทุนในต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง รวมถึงศึกษาและติดตามในเรื่องการพัฒนารูปแบบการลงทุนที่เหมาะสมกับกลุ่มลูกค้า โดยนำนวัตกรรมการเงินมาช่วยเพิ่มระดับผลตอบแทนที่สูงขึ้นจากการลงทุนในตราสารระดับเดียวกัน (Enhanced return) ซึ่งคาดว่า การลงทุนต่างประเทศของกองทุนส่วนบุคคลจะสามารถเริ่มลงทุนได้ในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปีนี้

ขณะที่ บลจ. เอ็มเอฟซี เปิดเผยว่า ขณะนี้มีลูกค้ากองทุนส่วนบุคคล (ไพรเวทฟันด์) แสดงความสนใจและเข้ามาปรึกษาเกี่ยวกับการลงทุนในต่างประเทศแล้วประมาณ 2 ราย แบ่งเป็นลูกค้าบุคคลธรรมดา 1 ราย และลูกค้าที่เป็นนิติบุคคล 1 ราย มูลค่าเงินลงทุนรวมกันประมาณ 6 ล้านเหรียญสหรัฐหรือประมาณ 192 ล้านบาท โดยในส่วนของลูกค้านิติบุคคลสนใจการลงทุนในตราสารหนี้ที่มีความเสี่ยงต่ำ ในขณะที่ลูกค้าบุคคลธรรมดาสนใจการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนสูง ทำให้สามารถจัดพอร์ตลงทุนในสินทรัพย์ได้หลายประเภทมากกว่า

ทั้งนี้ ในช่วงเริ่มต้นของการลงทุนเนื่องจากจำนวนผู้ลงทุนอาจจะไม่มาก ทำให้ต้องจัดพอร์ตตามความต้องการและตามความเสี่ยงที่ผู้ลงทุนสามารถรับได้ โดยในช่วงเริ่มต้น อาจจะแยกพอร์ตการลงทุนง่ายๆ ออกเป็น 3 ลักษณะ คือ การลงทุนที่มีความเสี่ยงสูง ความเสี่ยงปานกลาง และความเสี่ยงต่ำ

อย่างไรก็ตาม ในอนาคตบริษัทมีแผนจะจัดตั้งเป็นมาสเตอร์ฟันด์ หรือกองทุนหลักที่กำหนดกรอบการลงทุนและความเสี่ยงเอาไว้ในแต่ละระดับ โดยจะเป็นการรวบรวมเงินลงทุนของลูกค้าที่มีความต้องการลงทุนในรูปแบบที่ไม่แตกต่างกัน แล้วค่อยนำเงินดังกล่าวออกไปลงทุนในต่างประเทศผ่านมาสเตอร์ฟันด์เพียงกองทุนเดียว ซึ่งการลงทุนในลักษณะนี้จะทำให้มีความน่าสนใจในแง่ของขนาดเงินลงทุน โดยการจัดพอร์ตการลงทุนสำหรับกองมาสเตอร์ฟันด์นั้น จะกระจายการลงทุนออกไปตามความเสี่ยง เช่น การลงทุนในหุ้น สินค้าโภคภัณฑ์ สำหรับกองทุนที่มีความเสี่ยงสูง และจัดพอร์ตลงทุนในตราสารหนี้สำหรับผู้ลงทุนที่มีความเสี่ยงไม่มาก

สำหรับการลงทุนต่างประเทศของกองทุนส่วนบุคคล ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้อนุญาตให้นิติบุคคลที่มีทรัพย์สินตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป สามารถลงทุนในต่างประเทศได้โดยตรงในวงเงินไม่เกิน 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และลงทุนได้แต่ละครั้งไม่เกิน 5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่วนบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลที่มีทรัพย์สินต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท (ยกเว้นคณะบุคคล) สามารถลงทุนได้ไม่เกิน 5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และลงทุนในแต่ละครั้งไม่เกิน 5 แสนดอลลาร์สหรัฐฯ
กำลังโหลดความคิดเห็น