การบริหารงานของแต่ละบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ย่อมมีความแตกต่างกัน โดยเฉพาะในเรื่องการส่งเสริมการขาย ถ้าบลจ.ใดมีธนาคารเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่และคอยให้การสนับสนุนอยู่อาจจะเป็นเรื่องง่ายในการนำเสนอผลิตภัณฑ์ใหม่สู่สายตาลูกค้าผู้ลงทุนนั้น เช่นเดียวกับบลจ.ธนชาต ที่มีธนาคารธนชาตคอยให้การซับพอร์ตอยู่ และวันนี้เราลองมาดูนโยบายการทำงานของบลจ.ดังกล่าวกันว่าเค้ามีรูปแบบการทำงานเป็นอย่างไรกันบ้าง
บุญชัย เกียรติธนาวิทย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ธนชาต จำกัด บอกว่า ในส่วนของการนำเสนอขายกองทุนรวมนั้น บริษัทมองธุรกิจกองทุนรวมควรจะยืนอยู่ในลักษณะ 3 ขา โดย ขาแรกเป็นส่วนของธนาคารผู้ถือหุ้นใหญ่ที่ต้องเป็นขาหลักข้างหนึ่งในการบริหารกองทุนรวม ส่วนขาที่สองได้แก่ เป็นขาไดเร็คเซลล์ซึ่งถือว่าเป็นอีกขาที่สำคัญของบริษัท และขาสุดท้ายเป็นขาเอเยนต์ ซึ่งในขณะนี้บริษัทได้ให้ ดอยแบงก์ (จีอี) เข้ามาดูแลให้
กรรมการผู้จัดการ บลจ.ธนชาต กล่าวเสริมว่า อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจากขาทั้ง 3 ข้างแล้ว บลจ.จะต้องคำนึงถึงความสมดุลด้วยว่า โดยพิจารณาว่ากองทุนที่จะออกมาควรให้ขาไหนเป็นผู้รับผิดชอบหลัก ซึ่งถ้าบริษัทออกกองทุนประเภทตราสารหนี้ที่มีระยะเวลา 3 เดือน 6 เดือน ควรจะให้ขาที่เป็นแบงก์ทำหน้าที่การส่งเสริมการขายเป็นหลัก เพราะกลุ่มนักลงทุนจะมีความเหมาะสมมากที่สุด ส่วนกองทุนรวมต่างประเทศบริษัทจะทำการขายผ่านเอเยนต์ หรือขายผ่านกลุ่มไดเร็ค เซลส์ เป็นต้น เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มนักลงทุนที่ถูกกลุ่มมากที่สุด
“ถ้าบริษัทออกกองทุนตราสารหนี้ยังคงต้องเป็นแบงก์รับผิดชอบเป็นหลัก เพราะลูกค้าฐานแบงก์จะรับความเสี่ยงได้น้อย ส่วนฝ่ายไดเรทเซลล์ของบริษัทจะดูในส่วนของกองทุนที่เหมาะกับฐานลูกค้าของแต่ละคนมากกว่า ซึ่งแต่ละฝ่ายจะมีฐานลูกค้าที่แตกต่างกันออกไป อย่างอินเวสเมนท์บางอย่างเช่น กองทุนฟิกอินคัมธรรมดาในกลุ่มไดเร็คเซลส์ก็จะมีความคุ้นเคยกับนักลงทุนมากกว่า ซึ่งถือว่าเป็นกลยุทธ์อย่างหนึ่งของบริษัท” บุญชัย บอก
ปัจจุบัน โครงสร้างอุตสาหกรรมกองทุนรวมจะเห็นความชัดเจนมากขึ้น โดยจะมีการแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ กลุ่มแรกจะเป็นกลุ่มที่มีธนาคารขนาดใหญ่คอยให้การสนับสนุน โดยโปรดักต์ของบริษัทที่ออกมาจะเป็นไปในอีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งสินค้าที่ออกมาจะเหมาะกับลูกค้าฐานแบงก์ ที่ต้องการความเสี่ยงน้อย
ส่วนกลุ่มที่สองจะเป็นบริษัทที่เป็นบริษัทกองทุนรวมจริง ๆ ที่ไม่มีแบงก์แม่คอยให้การสนับสนุน โดยในบางบริษัทอาจจะมีบริษัทหลักอยู่ที่ต่างประเทศ และดำเนินธุรกิจหลักในด้านนี้จริงๆ ซึ่งจะเป็นการบริหารเงินโดยตรง ดังนั้นโปรดักต์ของบริษัทจะที่เสนอให้กับลูกค้าของบริษัทนั้น ๆ ก็จะเป็นไปในอีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งจะทำให้เราเห็นได้ชัดเจนเลยว่าฐานลูกค้าจะมีความแตกต่างกันและตัวผลิตภัณฑ์ที่ออกมาก็จะมีความแตกต่างกันอย่างสินเชิง
ส่วนสุดท้าย ได้แก่ธุรกิจประกันภัย ที่ปัจจุบันเริ่มเข้ามามีบทบาทในอุตสาหกรรมกองทุนรวมมากขึ้น ดังนั้นในส่วนนี้โปรดักต์ที่ออกมานำเสนอ จะต้องถูกออกแบบมาเพื่อให้เหมาะสมกับกลุ่มลูกค้าของเค้าด้วยเช่นกัน โดยรวมแล้วเราจะพบว่าโครงสร้างทั้ง 3 เริ่มที่จะไม่เหมือนกัน และมีความแตกต่างกันไปในเรื่องฐานลูกค้าของแต่ละบลจ.
บุญชัยบอกต่อว่า เทียบกับสมัยก่อน เมื่อมีบลจ.ใดเปิดตัวกองทุนใหม่มา บลจ.อื่นๆ ก็จะทำการออกตาม แต่ปัจจุบันนี้ไม่ใช่ เมื่อเขารู้ว่าฐานลูกค้าของเขาคือใครก็จะจัดตั้งกองทุนออกมาให้ตรงตามความต้องการของลูกค้า ซึ่งจะทำให้บลจ.นั้นๆสามารถขายผลิตภัณฑ์ได้ และเหมาะสมกับกลุ่มฐานลูกค้าของตัวเองที่มีอยู่ด้วย
นอกจากนี้ โครงสร้างในการทำตลาดของกลุ่มลูกค้าของบลจ.กลุ่มต่างๆก็จะมีความแตกต่างกัน ฉะนั้นจึงทำให้โครงสร้างที่จะเห็นอยู่ในบลจ. ที่มีแบงก์แม่สนับสนุนส่วนใหญ่ในวันนี้จะไม่มีกลุ่มไดเร็คเซลส์เป็นของตัวเองเหมือนอย่างบลจ. ธนชาต โดยบลจ.อื่นอาจจะให้แบงก์แม่เป็นตัวขายกองทุนให้เองซึ่งอาจจะเป็นนโยบายแบบถาวรไปแล้ว ส่วนในอีกลุ่มหนึ่ง ซึ่งเป็นบริษัทจัดการกองทุนรวมโดยตรงนั้น จะมีการบริหารงาน 3 รูปแบบด้วยกัน คือ 1. ขายกองทุนผ่านเอเยนต์ 2. เป็นการขายผ่านทางธนาคารต่าง ๆ และ 3. กลุ่มไดเร็คเซลล์โดยตรงของ บลจ. นั้น ๆ
" บลจ.ธนชาต มีนโยบายการทำงานว่า ต้องทำในสิ่งที่ตัวเองถนัดและมีความชำนาญมากที่สุด เพื่อให้งานที่ทำประสบความสำเร็จ อย่างเช่นกองทุนอสังหาริมทรัพย์ที่ขณะนี้บริษัทยังไม่มีนั้น เนื่องจากว่าบริษัทยังไม่ความชำนาญและไม่ถนัด จึงต้องทำการศึกษาอย่างละเอียดก่อนที่จะเปิดกองทุนออกไป"
สำหรับ อุปสรรคในการในการบริหารธุรกิจกองทุนรวมนั้นปัจจุบันทางสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้มีความพยายามที่จะเพิ่มความสะดวกสบายให้มากขึ้นกว่าสมัยก่อนไม่ว่าการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ที่สามารถเป็นขายได้ทันที ทางก.ล.ต. ก็ได้เปิดช่องทางให้ อีกทั้งยังช่วยผลักดันให้หน่วยงานหลาย ๆ หน่วยงานของตลาดทุนมีความคึกคักในการลงทุนผ่านตลาดกองทุนรวมอีกด้วย เช่นการที่ตลาดหลักทรัพย์ช่วยสนับสนุนในเรื่องกองทุนรวมอีทีเอฟ เป็นต้น โดยมองว่าทั้งหมดที่ก.ล.ต. สนับสนุนมานั้น จะเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับธุรกิจของบลจ. ในอีกทางหนึ่งด้วย
ส่วน ในเรื่องระยะเวลาหรือการออกกฎของ ก.ล.ต. นั้น บริษัทมองว่ามันเป็นเรื่องปกติ แต่ถ้ามองในทางที่ดีบริษัทเชื่อว่า จะมีเรื่องของการผลักดันโดยเฉพาะการลงทุนประเภทใหม่ ๆ ให้เข้าไปลงทุนมากขึ้น แต่บางครั้งการอนุมัติอาจจะมีการล้าช้าไปบ้าง ซึ่งบางทีบลจ.อาจจะใจร้อน ไปเพราะในบางครั้งในทางปฎิบัติมันอาจจะมีอุปสรรคบ้าง แต่เชื่อว่าทางกลต.คงจะหาทางแก้ไขอยู่เสมอ เพื่อให้การเข้าลงทุนมีความสะดวกสบาย และรวดเร็วมากยิ่งขึ้น