เกรท วอลล์ มอเตอร์ ในฐานะบริษัทที่ให้บริการเทคโนโลยีอัจฉริยะระดับโลก (Global Intelligent Technology Company) และผู้นำด้านยานยนต์พลังงานไฟฟ้าในประเทศไทย (xEV Leader) เข้าร่วมการประชุมกับนักธุรกิจจีนทั่วโลกที่งาน World Chinese Entrepreneurs Convention ครั้งที่ 16 ระหว่างวันที่ 24 –26 มิถุนายน 2566 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กรุงเทพฯ ประกาศเดินหน้าและผลักดันสร้างการเติบโตของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยและอาเซียน สนับสนุนความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีขั้นสูงด้านการขับขี่ และการลงทุนในโรงงานอัจฉริยะในจังหวัดระยอง พร้อมร่วมผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางรถยนต์พลังงานไฟฟ้าของแบรนด์ยานยนต์จีนในอาเซียน
ไมเคิล ฉง ผู้จัดการทั่วไปของ เกรท วอลล์ มอเตอร์ (ประเทศไทย) กล่าวในงานประชุมว่า “ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา แบรนด์ต่าง ๆ ในอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศจีนให้ความสำคัญกับการขยายการดำเนินงานสู่ต่างประเทศเพื่อสร้างการเติบโตและนำเสนอเทคโนโลยีอันล้ำสมัยจากประเทศจีนออกสู่เวทีโลก มีโอกาสมากมายสำหรับผู้ประกอบการจากประเทศจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภูมิภาคอาเซียน ภายหลังจากที่มีการฟื้นตัวจากการระบาดของโรคโควิด-19 เราเห็นการเติบโตขึ้นทีละน้อยอย่างมั่นคงของอุตสาหกรรมยานยนต์ของภูมิภาคนี้ โดยมีการคาดการณ์ว่าภายในปี 2566 ยอดขายรถยนต์ภายในภูมิภาคอาเซียนจะสูงถึง 3.35 ล้านคัน ซึ่งแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของอาเซียนที่เป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมยานยนต์โลก นอกจากนี้ เรายังคงเห็นถึงกระแสการเปลี่ยนแปลงของความต้องการรถยนต์พลังงานใหม่และเทคโนโลยีขั้นสูง รวมถึงการให้ความสำคัญกับคุณภาพของผลิตภัณฑ์และการบริการ ซึ่งกระแสความต้องการดังกล่าวเป็นจุดแข็งของรถยนต์จากประเทศจีน และเป็นโอกาสอันสดใสในการขยายธุรกิจออกสู่ตลาดโลก”
ความพยายามของเกรท วอลล์ มอเตอร์ มีความสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลจีน ไม่ว่าจะเป็นโครงการ One Belt One Road ที่จะครบรอบ 10 ปี หรือสนธิสัญญาไมตรีและความร่วมมือในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่จะครบรอบ 20 ปี ในปี 2566 นี้ รวมไปถึงพันธมิตรทางธุรกิจระหว่างจีนและอาเซียนที่ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ได้ประกาศจัดตั้งขึ้นในปี 2564 เช่นเดียวกันกับความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership) ซึ่งเป็นข้อตกลงการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดซึ่งครอบคลุมประชากรจำนวนมากที่สุดและภูมิภาคที่กว้างที่สุดทั่วโลก ที่มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2565 ที่ผ่านมา ทั้งนี้ เกรท วอลล์ มอเตอร์ เชื่อว่าตลาดอาเซียนมีทั้งศักยภาพ และโอกาสที่จะกลายเป็นจุดเปลี่ยนใหม่สำหรับแบรนด์ยานยนต์จีนในการเข้าสู่ตลาดโลก เช่นเดียวกับเป็นส่วนสำคัญของโครงสร้างระดับโลกของ เกรท วอลล์ มอเตอร์ อีกด้วย
“การสร้างความแตกต่าง เป็นกลยุทธ์หลักของเราในตลาดอาเซียนที่มุ่งเน้นการสร้างข้อได้เปรียบทางการแข่งขัน ทั้งด้านการนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่ล้ำสมัยและการบริการที่เปี่ยมด้วยคุณภาพ รวมถึงมอบประสบการณ์ที่ไม่เหมือนใคร โดยยึดถือจากค่านิยมของแบรนด์ที่ว่า 'New Energy, New Intelligence, New Experience' ส่งผลให้เราได้ก้าวขึ้นสู่การเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์พลังงานไฟฟ้าในประเทศไทย ทั้งนี้ บริษัทฯ ได้มีการปรับปรุงแบรนด์และสร้างระบบแบรนด์ที่สอดคล้องกับยุคสมัยเป็นสากล และมีชีวิตชีวา ด้วยการสื่อสารกับผู้บริโภคด้วยแนวคิดที่เปิดกว้าง และการสร้างสรรค์รูปแบบการขายในตลาดอาเซียนด้วยแนวคิด “ONE PRICE POLICY” อย่างจริงจัง ผ่านการกำหนดราคาที่โปร่งใส ยุติธรรม และ “Partner Stores”ที่ช่วยส่งเสริมรูปแบบการทำธุรกรรมแบบออนไลน์จนถึงการจัดส่งออฟไลน์ เพื่อเลี่ยงแรงกดดันด้านสินค้าค้างสต็อกในร้านค้า พร้อมลดการแข่งขันระหว่างช่องทางต่าง ๆ เพื่อมุ่งเน้นให้ผู้บริโภคได้รับประสบการณ์ที่ดีที่สุด รวมไปถึงยกระดับประสบการณ์ของลูกค้าไปอีกขั้นผ่านการบริการหลังการขายและการจัดส่งผลิตภัณฑ์ที่มีประสิทธิภาพ”
ฉง ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า “เกรท วอลล์ มอเตอร์ ยังให้ความสำคัญกับการยึดผู้บริโภคเป็นศูนย์กลาง (User-centric)
โดยมุ่งเน้นที่การรับฟังความคิดเห็นของผู้ใช้และสร้างประสบการณ์ให้แก่ผู้ใช้ใหม่อย่างต่อเนื่อง เป้าหมายของบริษัทฯคือการทำให้เกรท วอลล์ มอเตอร์ เป็นแบรนด์ที่มีผู้ใช้เป็นศูนย์กลางอย่างแท้จริงรายแรกในตลาดประเทศไทย ซึ่งการพัฒนานี้ไม่เพียงแต่สอดคล้องกับกลยุทธ์ไทยแลนด์ 4.0 เพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยโดยรวมเท่านั้นแต่ยังเป็นทางเลือกที่สำคัญในการสนับสนุนการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนและบรรลุการพัฒนาที่ยั่งยืนในสังคมไทยอีกด้วย”
สำหรับตลาดไทยนั้น เกรท วอลล์ มอเตอร์ ได้สร้างโรงงานผลิตยานยนต์พลังงานใหม่ครั้งแรก ซึ่งเป็นโรงงานอัจฉริยะในประเทศไทย ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2563 และเปิดตัวแบรนด์ "เกรท วอลล์ มอเตอร์" อย่างเป็นทางการในประเทศไทย ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564 นับตั้งแต่วันแรกที่ เกรท วอลล์ มอเตอร์ เข้าสู่ตลาดอาเซียน บริษัทฯ มุ่งมั่นที่จะไม่เพียงแค่อยู่ในระดับสากล แต่ยังมีเป้าหมายที่จะก้าวสู่อันดับสูงสุดของแบรนด์ที่เป็นที่ยอมรับทั่วโลก และกลายเป็นแบรนด์ยานยนต์ระดับโลกที่ปรับตัวเข้ากับตลาดอาเซียนได้อย่างแท้จริง
นอกจากนี้ เกรท วอลล์ มอเตอร์ ยังเสริมสร้างโอกาสในการจ้างงานในประเทศไทย โดยปัจจุบันมีพนักงานชาวไทยมากกว่า 1,000 คนทำงานกับบริษัทฯ และบริษัทในเครือที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจของเกรท วอลล์ มอเตอร์ มีการเปิดโอกาสในการทำงานรวมทั้งหมด 3,000 ตำแหน่ง ซึ่งพนักงานในประเทศไทยมีสัดส่วนมากกว่า 86% สะท้อนถึงความมุ่งมั่นในด้านการเพิ่มศักยภาพของบุคลากรซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการสร้างรากฐานของบริษัทในประเทศไทย ส่งผลให้การดำเนินธุรกิจของ เกรท วอลล์ มอเตอร์ ก้าวหน้าอย่างมีนัยสำคัญในการฝึกอบรมและเสริมสร้างความแข็งแกร่งในประเทศไทย
ทั้งนี้ เกรท วอลล์ มอเตอร์ ยังเดินหน้าขยายการดำเนินธุรกิจเพื่อรุกตลาดในภูมิภาคอาเซียน โดยปัจจุบันทางบริษัทฯ
ได้ดำเนินการอย่างเป็นทางการแล้วใน 5 ประเทศ ได้แก่ ไทย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ บรูไน และลาว โดยเมื่อต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา เกรท วอลล์ มอเตอร์ได้เปิดตัวอย่างเป็นทางการในประเทศกัมพูชา และกำลังวางแผนดำเนินธุรกิจอย่างเต็มรูปแบบในสิงคโปร์ และเวียดนาม ภายในปี 2566
ปัจจุบัน เกรท วอลล์ มอเตอร์ นำเสนอรถยนต์ไฮบริดในประเทศไทยทั้งหมด 4 รุ่น และรถยนต์ไฟฟ้า 100% ทั้งหมด 2 รุ่นโดยรถยนต์ทุกรุ่นนี้ มาพร้อมกับระบบเทคโนโลยีอัจฉริยะที่ล้ำสมัยของ เกรท วอลล์ มอเตอร์ จนได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางและสร้างปรากฏการณ์ที่เป็นประวัติศาสตร์ครั้งใหม่ในประเทศไทย โดย HAVAL H6 HEV ได้ครองตำแหน่งรถเอสยูวีขนาดกลาง (C-segment) ที่ขายดีที่สุดอย่างต่อเนื่อง และสามารถก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งผู้นำยานยนต์ไฟฟ้าได้นับตั้งแต่ปีแรกที่เข้าสู่ประเทศไทย ในขณะเดียวกัน เจ้าเหมียวไฟฟ้า ORA Good Cat สามารถครองส่วนแบ่งตลาดรถยนต์ไฟฟ้าของไทยมากถึงหนึ่งในสามในปี 2565 ถือเป็นข้อพิสูจน์ถึงความนิยมในหมู่ผู้บริโภคชาวไทย สมรรถนะการขับขี่ และเทคโนโลยีการขับขี่ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
เกรท วอลล์ มอเตอร์ ยังคงมุ่งมั่นเติมเต็มระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย โดยบริษัทฯ ได้ร่วมมือกับองค์กร
ด้านพลังงานและพลังงานไฟฟ้าหลักของประเทศไทยทั้งสามแห่งจนส่งผลให้มีเกิดสถานีซุปเปอร์ชาร์จ
แบบ "Light-storage-charge Integrated" แห่งแรกนอกประเทศจีน ปัจจุบัน แผนที่สถานีชาร์จของ เกรท วอลล์ มอเตอร์ยังได้เชื่อมต่อให้กับผู้ประกอบการสถานีชาร์จรถยนต์อีกกว่า 800 สถานี และครอบคลุมมากกว่า 80% ของเครือข่ายการชาร์จสาธารณะทั้งหมดของประเทศไทย ระบบนิเวศการชาร์จที่ครอบคลุมนี้รองรับความต้องการการชาร์จของแบรนด์รถยนต์ไฟฟ้าส่วนใหญ่ในตลาด ส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนของอุตสาหกรรมรถยนต์พลังงานใหม่ของประเทศไทย