การตลาด - สหพัฒน์ ลุยหนัก ยกเครื่อง ธุรกิจทีวีโฮมช้อปปิ้ง “ช้อป ชาแนล” สู่ ไลฟ์ คอมเมิร์ซ รับเทรนด์โลก ไม่ย่ำอยู่กับแคทีวีเท่านั้น ปูพรม เซ็น 5 MOU กับ 7 องค์กรชั้นนำ เสริมแกร่งทั้งช่องทางใหม่และฐานตลาดที่กว้างขึ้นสู่ต่างประเทศ หวังผลักดันให้ปีนี้มีกำไรและสร้างยอดขายเพิ่มเป็น 600 ล้านบาท
ธุรกิจทีวีโฮม ช้อปปิ้ง ของเครือสหพัฒน์ ในนาม ช้อป ชาแนล (Shop Channel) เดินทางมาถึงปีนี้เป็นปีที่ 10 แล้ว ผ่านการเปลี่ยนแปลงมามากมาย ทั้งในตัวบริษัทเอง และภาพรวมตลาดการแข่งขันของทีวีโฮมช้อปปิ้ง
ทั้งนี้ บริษัท ช้อป โกลบอล จำกัด ผู้บริหาร ช้อป ชาแนล ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2556 ด้วยการร่วมทุนสามฝ่ายประกอบด้วย เครือสหพัฒน์ กลุ่มเซ็นทรัล และญี่ปุ่น แต่ต่อมาภายหลังกลุ่มเซ็นทรัลได้ถอนหุ้นออกไป และล่าสุดเมื่อปี 2563 ทางฝ่ายญี่ปุ่นก็ถอนหุ้นออกไปตามนโยบายของญี่ปุ่นในช่วงนั้น ซึ่งเป็นช่วงที่เริ่มเกิดระบาดของโควิด -19 ส่งผลให้ ปัจจุบันนี้ สหพัฒน์ ถือหุ้นทั้งหมด 100% และเป็นเจ้าของ ช้อป ชาแนล อย่างเต็มตัว
อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่สุดอย่างมีนัยสำคัญของ ช้อป ชาแนล ก็คือ ปีนี้ซึ่งเป็นปีที่ 10 นั่นเอง
เนื่องด้วยสถานการณ์ของภาพรวมธุรกิจทีวีโฮมช้อปปิ้ง ในวันนี้แตกต่างจากอดีตอย่่างสิ้นเชิง จากที่เคยเป็นธุรกิจดาวรุ่งพุ่งแรง ตลาดบูมอย่างมาก มีผู้ประกอบการแห่เข้ามาทำกันมากมาย แข่งขันค่อนข้างสูง แต่ขณะนี้ การเติบโตค่อนข้างทรงตัวหรือต่ำกว่า 10% และไม่หวือหวาแล้ว
กลุ่มเป้าหมายหลักในอดีต มาถึงวันนี้ก็ค่อนข้างที่จะมีอายุมากขึ้นแล้ว หรือเป็นกลุ่มเจนเนอเรชั่น GEN Y กับ Baby Boomer เป็นหลัก ที่ทุกวันนี้ก็เข้าสู่สังคมผู้สูงวัยกันมากแล้ว ไม่ได้เป็นกำลังซื้อหลักอีกต่อไป
ส่วนคนรุ่นใหม่ทุกวันนี้ก็มีการบริโภคสื่ออื่นโดยเฉพาะโซเชียลมีเดียกันเป็นหลัก สื่อทีวีแทบจะเป็นทางเลือกสุดท้ายหรือไม่ก็ไม่บริโภคเลยก็ว่าได้ ทำให้ทีวีโฮมช้อปปิ้งเข้าไม่ถึงกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีกำลังซื้อสูงไม่แพ้กัน จึงเป็นการเสียโอกาสของทีวีโฮมช้อปปิ้งอย่างมาก
*** สหพัฒน์ ยกเครื่อง ช้อป ชาแนล
นายสรโชติ อำพันวงษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ช้อป โกลบอล (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ดำเนินธุรกิจทีวีช้อปปิ้ง ในเครือสหพัฒน์ เปิดเผยว่า ปีนี้จะเป็นปีที่ ช้อป ชาแนล ของสหพัฒน์ มีการเปลี่ยนแปลงและเคลื่อนไหวครั้งใหญ่ที่สุด จากเดิมที่เป็นทีวีอย่างเดียว 100% เราจะหันมาเป็นสื่อออนไลน์หรือช่องทางใหม่ๆเช่น ไลฟ์ คอมเมิร์ซ (Live Commerce) ผ่านสื่อโซเชียลมีเดียต่าง ๆ เพราะปัจจุบันไม่มีใครทำช่องทางทีวีชอปปิ้งอย่างเดียวแล้ว ตลาดส่วนใหญ่ทำแบบออมนิแชนแนลเลย ซึ่งเราอาจจะมาช้า แต่เราก็มีความพร้อมไม่แพ้กัน
“ปัญหาหลักๆของ ทีวีโฮมช้อปปิ้ง คือต้นทุนที่สูงมากโดยเฉพาะการเช่าเวลาออกอากาศ แต่การทำไลฟ์คอมเมิร์ซ ต้นทุนน้อยมาก แต่การเติบโตสูงและเร็วมากกว่า 300% อย่างไรก็ตาม เรายังต้องทำช่องทีวีต่อ เพราะเป็นฐานใหญ่ และมีมูลค่าสูงอยู่แม้จะทรงตัวก็ตามเพราะทำมานาน ส่วนช่องทางใหม่ๆก็ต้องขยายตัวอย่างเต็มที่” นายสรโชติ กล่าว
โดยตลาดรวมทีวีโฮมช้อปปิ้ง มูลค่ามากกว่า 16,000 ล้านบาท เมื่อปีที่แล้ว ค่อนข้างทรงตัว ต่อเนื่องมาถึงปีนี้ เติบโตไม่มากนักไม่เหมือนในอดีตและไม่มีแนวโน้มเติบโตมากไปกว่านี้แล้ว แต่จะไปเติบโตในช่องทางอื่นเป็นหลัก ซึ่งในส่วนของสมาคมที่มีสมาชิกจำนวน 6 รายนั้นมียอดขายรวมกันประมาณ 8,000 ล้านบาท หรือประมาณ 50% ของตลาดรวม
นี่คือเหตุผลทั้งหมด ที่ทำให้ทางสหพัฒน์ต้องทำการปรับตัวปรับแนวทางการทำธุรกิจของช่องช้อป ชาแนล ใหม่
ที่ผ่านมาช้อป ชาแนล ของสหพัฒน์อาจจะยังไม่มีกำไร เพราะต้นทุนการทำทีวีช้อปปิ้งที่สูงมากกว่า 10 เท่าโดยเฉพาะการเช่าเวลาออกอากาศ ซึ่งออกอากาศทาง PSI ช่อง 41,445 / True Vision ช่อง 52,341 / GMMZ ช่อง 39, 46, 109 และ Youtube ช่อง Shop ch Thailand
ช่วงหลัง สหพัฒน์ แยกออกมา 2 แบรนด์ คือ ช้อป ชาแนล เป็นช่องที่เจาะตลาดระดับกลางถึงบน คือมีกำลังซื้อมาก แต่ปริมาณลูกค้าอาจจะไม่มากนัก ส่วนอีกแบรนด์คือ ช้อป นาว ที่่ร่วมมือกับทางช่องทรู จะเจาะกลุ่มแมสที่มีกำลังซื้อต่ำกว่าลงมา แต่มีปริมาณมาก เป็นกลุุ่มลูกค้าที่ไม่ประจำ หมุนเวียนตลอด ทำมาประมาณ 2 ปี ก็มีรายได้และพอมีกำไร
สำหรับสินค้าที่ขายผ่านช้อป ชาแนล ที่ผ่านมา ก็จะมีทั้งสินค้าในเครือสหพัฒน์ ทั้งหมด กับสินค้านอกเครือ รวมทั้ง มีจิวเวลรี่ด้วย ซึ่งจะเป็นสินค้าที่ออกแบบโมเดลมาจำหน่ายเฉพาะช้อปชาแนลเท่านั้น จะไม่มีดีไซน์ดังกล่าวจำหน่ายที่ช่องทางอื่น
โดยสัดส่วนยอดขายสินค้าที่ผ่านมา แบ่งเป็น กลุ่มหลักดังนี้คือ จิวเวลรี่ 50%, แฟชั่น 30% และ เฮลท์แอนด์ บิวตี้ 20% ส่วนปีที่แล้ว สัดส่วนเปลี่ยนมาเป็นดังนี้ จิวเวลรี่ 30%, แฟชั่น 30%, เฮลท์แอนด์บิวตี้ 30% และ สินค้าใช้ในบ้านกับเครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดเล็ก 10%
“แต่คาดว่าภายในปีนี้จะสามารถทำกำไรได้จากการปรับแนวทางธุรกิจใหม่ โดยปีที่แล้วมีรายได้จากการดำเนินงานประมาณ 400 กว่าล้านบาท แต่คาดว่าปีนี้จะมีรายได้รวมประมาณ 600 ล้านบาท ที่มาจากทั้ง ทีวีโฮมช้อปปิ้ง กับ อีไลฟ์ คอมเมิร์ซ และคาดหวังว่าภายใน 3-5 ปี จะมีสัดส่วนรายได้ที่เท่ากัน” เป็นคำกล่าวของบอสใหญ่ ช้อป ชาแนล อย่างมั่นใจ
*** เปิดเงื่อนไข 5 MOU
เพราะล่าสุดทางบอร์ดบริษัทอนุมัติการขยายธุรกิจตามแนวทางที่คณะกรรมการเสนอไป โดยได้เซ็นเอ็มโอยู (MOU )กับ 7องค์กรใหญ่ รวม 5 บันทึกข้อตกลงความร่วมมือผนึกกำลังเสริมทัพความแข็งแกร่ง สู่ Go Global Center ประกอบด้วย
MOU 1: Shop Global X SABUY TECH X GREEN MOONเพื่อพัฒนา Shop Channel สู่การเป็นศูนย์กลาง Live Commerceที่สมบูรณ์แบบ โดยพัฒนา KOLs ให้เข้าถึงกลุ่มผู้บริโภค พร้อมสร้าง E-catalog ในรูปแบบที่ Friendly เข้าถึงและใช้งานง่าย พร้อมการพัฒนา Affiliate Program เพื่อนำสู่ระบบบริหารจัดการอย่างครบวงจร
โดยบริษัท ช้อป โกลบอล (ประเทศไทย) จำกัด หรือ Shop Channelรับผิดชอบ ร่วมออกแบบโครงการการอบรม KOLs ซึ่งรวมไปถึงเนื้อหาการอบรม และการบริหารจัดการ KOLs ก่อน/หลังโครงการ , รวมศูนย์การปฏิบัติการภายใน Shop Channel และสินค้าอื่นๆ ในเครือสหกรุ๊ปฯ ด้วยระบบบริหารจัดการคำสั่งซื้อ (OMS) ของ Green moons, พัฒนา e-catalog รายการสินค้ากลางของสินค้าในเครือ เพื่อใช้ประโยชน์ในการเพิ่มความหลากหลายของสินค้าในทุกช่องทางการขาย, รวมออกแบบและจัดทำ Affiliate Program เพื่อเพิ่มช่องทางการขายสินค้าในเครือ, ร่วมออกแบบและพัฒนาระบบสมาชิกของเครือสหกรุ๊ป
ส่วนทางด้านบริษัท สบาย เทคโนโลยี จำกัด(มหาชน) หรือ SABUY TECHบริษัทเทคโนโลยีโดยคนไทย ที่พัฒนาศักยภาพจนมีเครือข่ายแม่ค้าออนไลน์อยู่ในระบบจำนวนมาก รับผิดชอบ ร่วมออกแบบโครงการการอบรม KOLs ซึ่งรวมไปถึงเนื้อหาการอบรม และการบริหารจัดการ KOLs ก่อน/หลังโครงการ, พัฒนาระบบ OMS ให้รองรับการใช้งานภายใน Shop Channel รวมไปถึงการพัฒนาระบบในการจัดการ e-catalog และ affiliate program ผ่านระบบ OMS, จัดการเชื่อมต่อระบบ OMS เข้ากับ e-catalog และระบบคลังสินค้า TSDC เพื่อจัดการการขายผ่านช่องทาง Affiliate และ e-commerce ของเครือสหกรุ๊ป
, สนับสนุนการขายสินค้าในเครือสหกรุ๊ปและเพิ่มช่องทางการขายผ่าน e-commerce solutions ของ Green moons, สร้างพันธมิตรทางธุรกิจเพื่อต่อยอดสินค้าและบริการของสหกรุ๊ป เช่น บริการคลังสินค้า TSDC, ร่วมออกแบบและพัฒนาระบบสมาชิกของเครือสหกรุ๊ป
ส่วน บริษัท กรีนมูนส์ จำกัด หรือ Green Moonบริษัท Software ที่พัฒนาระบบ เรียกว่า OASIS เพื่อช่วยออกแบบ E-Commerce Solutions สู่การพัฒนาในระบบสมาชิก จะรับผิดชอบ สนับสนุนการประชาสัมพันธ์ จัดหา และอบรม KOLs เพื่อเข้าร่วมโครงการ และสนับสนุนการใช้งานระบบบริหารจัดการคำสั่งซื้อ (OMS) ของ Green moons และ e-catalog ของเครือสหกรุ๊ป ให้แก่ผู้ใช้บริการของบริษัท สบาย สปีด จำกัด และบริษัทอื่นๆ ในเครือสบาย เทคโนโลยี, ให้การสนับสนุนต่อยอดโครงการการขายสินค้าผ่านเครือข่าย Affiliate และช่องทาง E-commerce ในอนาคต
MOU 2: Shop Global X eShoplive (No.1 Live Commerce ของประเทศมาเลเซีย) โดยร่วมมือในการทำธุรกิจแบบ Cross - Border Live Commerce ร่วมกันระหว่างประเทศไทย กับ มาเลเซีย และประเทศอื่นๆ โดยการส่ง KOLs ของประเทศมาเลเซีย มา Live สดจากประเทศไทย แล้วส่งสัญญาณออกอากาศกลับไปยังลูกค้าในประเทศมาเลเซีย ทั้งสินค้าประเภท Consumer, เสื้อผ้า, จิลเวอรี่, อาหาร เพื่อขยายฐานลูกค้าของ Shop Channel ให้กว้างมากขึ้น
MOU 3: Shop Global X SUKE TV (TV Shopping จากประเทศมาเลเซีย) โดยร่วมมือทำธุรกิจ TV Shopping และ E-Commerce แบบ Cross - Border ร่วมกันระหว่างประเทศไทย และประเทศมาเลเซีย โดยการแลกเปลี่ยนสินค้าเพื่อการขายร่วมกัน ช่วยขยายฐานลูกค้าของทั้ง 2 ประเทศให้มีทางเลือกมากยิ่งขึ้น และร่วมมือในการเรียนรู้ พร้อมแลกเปลี่ยนเทคนิคการขาย เพื่อเสริมจุดด้อยสร้างจุดแข็งระหว่างกัน
MOU 4: One Belt One Road South East Asian NGOS Alliance ใน 16 ประเทศ
เขตการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดของโลก วัน เบลท์ วัน โรด เซาท์อีสต์เอเชี่ยน เอ็นจีโอส์ อาไลแอนส์ ใน 16ประเทศ เพื่อพัฒนาให้ Shop Channel เป็น Go Global Center สำหรับธุรกิจ SME และเปิดตลาดไปยังต่างประเทศ
โดยบริษัท ช้อป โกลบอล (ประเทศไทย) จำกัด หรือ Shop Channel จะรับผิดชอบ พัฒนาเครือข่ายการตลาดและการขายช่องทางต่างๆทั้ง online / on ground ทั้งในและต่างประเทศ, พัฒนา Studio เพื่อการทำ Live Commerce และจัดหา KOLs , จัดหาผลิตภัณฑ์จากเครือสหพัฒน์ และสินค้าภายในประเทศเพื่อเข้าร่วมโครงการ, ดูแลบริหารคลังสินค้าและระบบการจัดการร้านค้าและ logistic
ส่วนเครือข่าย OBORSEANA (One Belt One Road South East Asian NGOS Alliance) ที่มีมิสเตอร์ อลัน ฮู (Mr. Alan Hoo) ประธานองค์กร มีหน้าที่ เชื่อมความสัมพันธ์ธุรกิจ พันธมิตรธุรกิจ และการตลาดผ่านเครือข่าย OBORSEANA 16ประเทศ, Knowledge provider จัดทำหลักสูตร สัมมนาต่างๆ เพื่อพัฒนาการตลาดการขายต่างประเทศสำหรับบริษัทไทย และผู้ที่สนใจ, ส่งเสริมเยาวชนให้มีแนวคิดแบบ Global Mindset Global Citizen, พัฒนารูปแบบการขายการตลาดใหม่ๆผ่านเทคโนโลยีและเครือข่ายต่างๆ
MOU 5: Shop Global X VEROFAX (บริษัทด้านเทคโนโลยีจากดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์) โดยร่วมมือในการทำตลาดเทคโนโลยีในระบบ ซีอาร์เอ็ม (CRM) ของเวโรแฟกซ์ (VEROFAX) ร่วมกัน เพื่อทำให้ Shop Channel เข้าไปอยู่ใน Digital Marketing เต็มตัวแบบ 100%
โดยทั้งสองฝ่ายตกลงที่จะร่วมมือกันในการสาธิตสินค้าและบริการร่วมกันในงานสหกรุ๊ปแฟร์, Shop channel ให้การสนับสนุนและส่งเสริมเทคโนโลยีของ Verofax แก่บริษัทในเครือสหพัฒน์
ทางด้านเวโรแฟกซ์ เอเซีย เซินดิเรี่ยน เบอร์ฮัด (VEROFAX ASIA SDN. BHD.) โดยมิสเตอร์ โกว เฉิน เทียน (Mr. Koh Chen Tien) ผู้ก่อตั้งและประธาน เป็นบริษัทด้านเทคโนโลยีจากดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ Verofax จะสนับสนุนและช่วยเหลือ Shop channel ในการใช้เทคโนโลยีในการพัฒนาธุรกิจ
*** ไฮไลท์ ขยายช่องทาง ตลาด
ความร่วมมือที่เป็นไฮไลท์ของการเปิดช่องทางใหม่ๆคือ MOU 2 กับ MOU 3 ที่จะขยายตลาดขยายช่องทางใหม่ๆนั่นเอง
กล่าวคือ การร่วมมือกับทาง อีช้อปไลฟ์ มาเลเซียของอินโนเวติก คอมเมิร์ส โซลูชั่น (เซินดิเรียน เบอร์ฮัด) (INNOVATIC COMMERCE SOLUTIONSDN. BHD) โดยมิสเตอร์ จอร์วี่ ตัน เจ๋อ หัว (Mr. Jorvy Tan Ze Hua) , ประธานเจ้าหน้าที่บริหารeShoplive: ก่อตั้งขึ้นโดยทีม TV Shopping ของประเทศมาเลเซีย จนกลายเป็น Live Commerce อันดับ 1 ของประเทศ จะมีหน้าที่ความรับผิดชอบ ให้คำแนะนำเชิงกลยุทธ์ และการสนับสนุนทางเทคโนโลยี เพื่อผลักดันสินค้าในเครือสหกรุ๊ปออกสู่ตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศมาเลเซีย ผ่านช่องทางการขายแบบ Live Commerce ของ eShoplive โดยมี KOL มากกว่า 10 คน กลุ่มนี้ทำในเกาหลีกับไต้หวันแล้ว และเตรียมขยายไป ที่เวียดนามด้วย ซึ่งก็จะทำให้สหพัฒน์ โดย ช้อป ชาแนล มีตลาดที่กว้างขวางมากขึ้นตามไปด้วย
สำหรับสินค้าที่จะขายกับ eShoplive มี 5 กลุ่ม คือ
1. อาหารและเครื่องดื่ม เช่น มาม่า bsc soy และ กิมชวนชู
2. Personal care และ household เช่น Essence เปา และ Salz
3. Beauty Product เช่น BSC Cosmetology KMA และ Enfant
4. Fashion เช่น Elle Homme BSC Bag และ Wacoal
5. Jewelry จาก Shop Channel
ส่วนความร่วมมือกับทาง SUKE TV (TV Shopping จากประเทศมาเลเซีย) ซึ่งก่อตั้งโดย ดาโต๊ะ เอซี มิซาล บิน ดาโต๊ะ ซาอีนี่ (Dato’ AC Mizal bin Dato’ Zaini) ผู้ก่อตั้งและประธาน ดีเอ็นเอฟ กรุ๊ป (เซินดิเรียน เบอร์ฮัด) (ซูเกอร์ ทีวี) (DNF Group Sdn. Bhd. (SUKE TV)) เป็นบริษัท Start-up ในวงการ TV ของประเทศมาเลเซีย ที่ได้ 3 Licenses จากรัฐบาล ทั้ง Free TV, TV Shopping และ Play TV มี Dato’ AC Mizal bin Dato’ Zaini เป็นผู้ก่อตั้งและเป็นประธาน และมี KOLs ในสังกัดมากกว่า 200 คน
โดยสินค้าที่จะขายกับ SukeTV จะเป็นกลุ่มสินค้า Fashion คือ
1. เครื่องประดับจาก shop Channel
2. กระเป๋า BSC
3. กระเป๋า St. Andrew
4. นาฟิกา Guy Laroche
การได้ฐานตลาดของพันธมิตรต่างๆเหล่านี้เข้ามาเกื้อหนุน ยิ่งเสริมความแข็งแกร่งให้กับ ช้อป ชาแนล ด้วยเช่นกัน
ปัจจุบัน ฐานผู้ติดตามของช่อง ช้อป ชาแนล คือ Shop CH Thailand Facebook = 3.6K, Shop CH Thailand, Tiktok = 8K+ และLine = 20K+
ส่วนผู้ติดตามของSuke TV คือ FB = 10K , Dato AC FB = 69K
อย่างไรก็ตาม ยังมีฐานผู้ติดตามของเหล่าบรรดา KOL ของแต่ละค่ายอีกมากมาย ซึ่งนายสรโชติ อธิบายว่า การใช้ KOL เข้ามาช่วยทำการ ไลฟ์คอมเมิร์ซนั้น ต้องแยกให้ออก ว่าเป็น 2 กลุ่มหลัก คือ กลุ่มที่ขายสินค้าเก่ง มีทักษะการขายเป็นเลิศ แต่อาจจะมีผ้ํูติดตามจำนวนไม่มากนัก ซึ่งกลุ่มนี้จะทำให้มียอดขายเป็นหลัก ส่วนอีกกลุ่มคือ กลุ่มKOL ที่มีผู้ติดตามแต่ละคนจำนวนมาก แต่อาจอะขายสินค้าไม่เก่ง แต่ก็จะทำให้สินค้าและแบรนด์เป็นที่รู้จักได้มากขึ้น เสมือนเป็นอาวุธในการโฆษณามากกว่า
คงต้องจับตาดูกันต่อไปว่า กลยุทธ์ การยกเครื่อง ช้อป ชาแนล ครั้งใหญ่ครั้งนี้ จะเดินหน้าไปสู่จุดหมายได้ตามที่ตั้งไว้มากน้อยอย่างไร