ครบ 12 ปี LINE เตรียมก้าวสู่ยุคใหม่ที่เน้นความเป็นท้องถิ่นในแต่ละประเทศมากขึ้น หลังบริษัทแม่ที่ญี่ปุ่นปลดล็อกข้อจำกัด เปิดทางให้ LINE ประเทศไทย ระดมนักพัฒนาปรับปรุงแอปพลิเคชันให้ผู้บริโภคในไทยใช้งานได้เกิดประโยชน์สูงที่สุด มั่นใจจะเป็นเครื่องมือสื่อสารที่มัดใจผู้ใช้งานในไทยต่อเนื่อง
ประเด็นสำคัญที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้คือการที่ Yahoo Japan ได้เข้ามาเป็นหนึ่งในผู้ถือหุ้นหลักของ LINE ส่งผลให้แนวทางในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ และบริการของ LINE สำนักงานใหญ่ที่ญี่ปุ่นเกิดการเปลี่ยนแปลง ไปโฟกัสกับการพัฒนาเพื่อตอบโจทย์ของผู้ใช้งานในประเทศเป็นหลัก
ที่กลายเป็นว่ารูปแบบการใช้งาน LINE ของคนญี่ปุ่นยังถูกผูกไปกับการใช้สำหรับติดต่อสื่อสารระหว่างเพื่อนฝูง และครอบครัว รวมถึงการใช้เป็นช่องทางในการติดต่อกับร้านค้าผู้ประกอบการต่างๆ แต่ไม่ได้ถูกนำไปใช้กับการ ‘ทำงาน’ เหมือนในประเทศไทย
สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาคือนักพัฒนา LINE ของญี่ปุ่นจึงไม่ได้หันมาโฟกัสกับการพัฒนาแอปให้รองรับกับการทำงาน แต่ไปเน้นในเรื่องการสร้างอีโคซิสเต็มในการสื่อสารที่กลายเป็นโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลให้แก่ผู้ใช้งานทุกคน ตามจุดกำเนิดเริ่มต้นของ LINE ที่เป็นแอปที่ได้ไอเดียมาจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว ทำให้ต้องมีแพลตฟอร์มในการสื่อสารเกิดขึ้นมา
นรสิทธิ์ สิทธิเวชวิจิตร รองประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ LINE ประเทศไทย กล่าวว่า ในปีนี้ LINE ประเทศไทยจะหันมาให้ความสำคัญกับการพัฒนาบริการที่ตอบรับกับความต้องการของคนไทยมากขึ้น ซึ่งนับว่าเป็นช่วงเวลาที่ดีที่บริษัทแม่เปิดกว้างให้แต่ละประเทศสามารถเข้าไปร่วมพัฒนาบริการหลักได้
“ด้วยแนวคิดในการทำ Hyper Localization ของ LINE ในช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดที่ผ่านมา ทำให้ในหลายๆ ประเทศเริ่มปรับแนวทางการให้บริการให้เหมาะสมกับรูปแบบการใช้งานในแต่ละประเทศมากยิ่งขึ้น และที่สำคัญคือ LINE มักจะไม่ถูกยกไปเทียบกับโซเชียลมีเดียอื่นๆ เพราะถือว่าให้บริการในแง่ของการสื่อสารเป็นหลัก”
***เพิ่มเซอร์วิส รับการใช้งานของ Gen Y
ข้อมูลจากการสำรวจของ LINE พบว่า กลุ่มช่วงอายุที่มีการใช้งาน LINE เป็นประจำมากที่สุดคือกลุ่ม Gen Y หรือช่วงอายุ 28-42 ปี ที่ปัจจุบันกลายเป็นกลุ่มหลักที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เนื่องจากไทยได้เข้าสู่สังคมสูงอายุมาสักพักแล้ว และจะมีปัญหาหนักขึ้นเมื่อ Gen Z ที่มีสัดส่วนประชากรราว 20% เติบโตขึ้นมาเป็นแกนหลัก
“สิ่งที่ LINE เข้าไปช่วยได้คือการพัฒนาเทคโนโลยีให้สามารถทำงานในระยะเวลาเท่าเดิม แต่ได้ประสิทธิภาพมากขึ้น โดยผู้ใช้งาน LINE ในกลุ่ม Gen Y กว่า 82% มีการสร้างกรุ๊ปสำหรับการทำงาน และยังพบว่า 88% ของกลุ่มนี้ใช้งานบนคอมพิวเตอร์มากยิ่งขึ้น”
จากเทรนด์การทำงานในลักษณะของไฮบริดเวิร์กที่ในแต่ละบริษัทมีการสื่อสารกันตลอดเวลามากขึ้น ทำให้กลายเป็นว่า LINE ถือเป็นเครื่องมือสำคัญที่ถูกนำไปใช้ในการสื่อสารระหว่างพนักงาน ในการทำงาน ซึ่งปัจจุบันจะพบว่าตั้งแต่ช่วง 8.00-20.00 น. จะมีการใช้งานที่ค่อนข้างแอ็กทีฟตลอดเวลา
ประเด็นสำคัญในจุดนี้กลายเป็นว่าที่ญี่ปุ่นไม่มีใครใช้ LINE ในการทำงาน เมื่อคนที่เป็นเจ้าของแพลตฟอร์มไม่ได้ใช้งาน จึงไม่ได้พัฒนาเครื่องมือที่เหมาะสมกับการทำงานมาให้ ทำให้ในปีนี้ทีมของ LINE ประเทศไทย จะหันมาให้ความสำคัญกับการรีเสิร์ชข้อมูล เพื่อพัฒนาบริการให้ตอบโจทย์ผู้ใช้งานในกลุ่มนี้ และคาดว่าจะได้เห็นความเปลี่ยนแปลงอย่างฟีเจอร์ใหม่ หรือบริการที่เหมาะสมในช่วงปลายปีนี้ถึงต้นปีหน้า
นรสิทธิ์ ระบุว่า หลังจากนี้ LINE ประเทศไทย จะระดมนักพัฒนาเข้ามาช่วยปรับปรุงให้การทำงานบน Group Chat ดีขึ้น พร้อมนำ AI เข้ามาช่วย โดยเปิดกว้างในการทำงานร่วมกับพันธมิตร เพื่อเข้ามาเสริมประสิทธิภาพการใช้งาน เพื่ออำนวยความสะดวกให้กลุ่มผู้ใช้งานหลักใน Gen Y
“ก่อนหน้านี้ หน้าที่ของ AI ส่วนใหญ่จะใช้เพื่อเข้าใจ หรือจดจำข้อมูลในลักษณะของ Recognition AI แต่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เริ่มปรับเปลี่ยนเข้าสู่การนำ AI มาช่วยในการสร้างสรรค์ผลงานอย่าง Generative AI ทำให้การนำ AI มาใช้งานเกิดประโยชน์ในวงกว้างมากขึ้น”
ทุกวันนี้ AI ยังเป็นเทคโนโลยีที่ทันสมัย แต่ยังจับต้องได้ยาก ทำให้ LINE มองถึงการพัฒนาให้ AI เข้ามาช่วยในแง่ของการสื่อสารให้สะดวกขึ้น อย่างการใช้งานในครอบครัวหรือกับผู้ประกอบการ SMEs ที่ต้องการเครื่องมือเข้าไปช่วยในการขายผ่าน Chat Commerce
เบื้องต้น การสำรวจความต้องการของกลุ่มผู้ใช้งาน LINE ในการทำงานจะเกิดขึ้นในรูปแบบของการสำรวจจากองค์กรภายนอก เพื่อให้มั่นใจว่าข้อมูลที่ได้สามารถนำไปใช้งานได้ เนื่องจาก LINE ให้ความสำคัญกับข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้งาน ทำให้ต้องใช้ระยะเวลาในการรวบรวมข้อมูลให้ตรงและแม่นยำที่สุด
หลังจากนั้น เมื่อได้ข้อมูล และรูปแบบบริการที่ต้องการแล้ว จะเริ่มทำงานร่วมกับนักพัฒนาไทย เพื่อเสริมโซลูชันบางตัวที่มีความจำเป็นต้องใช้งานเข้าไปก่อนในช่วงปลายปีนี้ ถึงต้นปีหน้า ก่อนที่จะขยับขยายให้ครบถ้วนมากขึ้นตามมา
แน่นอนว่า การพัฒนา Group Chat ให้ใช้ได้สะดวกขึ้น ไม่ได้เจาะจงเกี่ยวกับการทำงานเพียงอย่างเดียว แต่รวมถึงการสร้างประโยชน์ให้ใช้งานภายในครอบครัว กลุ่มเพื่อน หรือแม้แต่การใช้งานในโรงเรียนที่ปัจจุบันผู้ปกครองมีการเข้ากรุ๊ปเรียนของบุตรหลานเพื่อสื่อสารกับครู อาจารย์อยู่แล้ว
ทั้งนี้ การพัฒนา Group Chat ของ LINE จะไม่ได้เน้นที่ไปแข่งขันกับผู้ให้บริการรายอื่นที่ให้บริการในส่วนนี้โดยตรง แต่จะใช้การเพิ่มประโยชน์ให้ผู้ใช้งานเดิมได้มีเครื่องมือที่ดีขึ้นเพื่อการทำงาน โดยอาจจะเป็นการเก็บค่าบริการเพิ่มเติมจากผู้ใช้ที่ต้องการฝากไฟล์ให้สามารถเก็บไว้ใช้งานระยะยาวได้ หรือการเพิ่มความสามารถในการนำ AI มาช่วยจัดการภายในกลุ่มแชต ซึ่งมั่นใจว่าท้ายที่สุดแล้วถ้าการใช้งานยังสร้างประโยชน์อยู่ LINE ก็จะยังมีคนใช้งานต่อเนื่องไปอย่างแน่นอน
***ชอปปิ้งดุไม่แพ้ทำงาน
ไม่ใช่แค่เรื่องของการใช้ LINE เพื่อสื่อสารกับการทำงานเท่านั้น แต่ในกลุ่ม Gen Y ยังมีพฤติกรรมการเลือกซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ที่มากกว่ากลุ่มอื่นถึง 2 เท่า โดยเฉพาะในช่วงเวลา 8.00-12.00 น. รวมถึงระยะเวลาการใช้งานบน LINE ที่สูงถึงราว 100 นาทีต่อวัน และมีการเข้าถึง LINE OA มากถึง 60%
ทำให้กลายเป็นว่า LINE OA (LINE Offcial Account) ยังเป็นช่องทางหลักในการสื่อสารถึงกลุ่มผู้ใช้งาน LINE ที่เป็น Gen Y ได้เป็นอย่างดี ซึ่งปัจจุบันมีการเปิดใช้งานบัญชี LINE OA ราว 6 ล้านบัญชี พร้อมกับการพัฒนาเครื่องมือ LINE OA Plus เข้าไปช่วยผู้ประกอบการในการสื่อสารเชิงธุรกิจได้มากขึ้น
สำหรับแผนในการพัฒนา LINE OA Plus ปีนี้ จะมีทั้งการออกเครื่องมือบริหารความสัมพันธ์ลูกค้า MyCRM ในรูปแบบใหม่ ที่จากเดิมเน้นฟังก์ชันที่ใช้งานง่ายเป็นหลัก เพิ่มเติมด้วยเพิ่มฟีเจอร์ที่ผู้ประกอบการสามารถเก็บข้อมูลลูกค้าที่ละเอียดขึ้นอย่าง MyCustomer ทำให้การนำดาต้ามาใช้งานได้มากขึ้น
พร้อมกันนี้ ยังมีแผนที่จะปรับปรุง MyResteurant ระบบริหารจัดการร้านอาหารใหม่ เนื่องจากก่อนหน้านี้ถูกพัฒนามาในช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดทำให้หลายๆ ฟีเจอร์ยังไม่ตอบโจทย์กับการใช้งานในปัจุบบัน รวมถึงการเปิดช่องทางให้นักพัฒนาสามารถนำโซลูชันเข้ามาเชื่อมต่อกับ LINE OA ได้ผ่าน LINE OA Store ที่เป็นแหล่งรวมโซลูชันที่ได้รับรองจาก LINE มาให้บริการ
นรสิทธิ์ กล่าวเสริมว่า LINE ไม่ได้มองแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซเป็นคู่แข่ง แต่เข้าไปเสริมให้ธุรกิจมีหน้าร้านออนไลน์เพื่อให้ข้อมูลเป็นของตัวเอง เหมือนที่ในต่างประเทศแบรนด์ร้านค้าต่างๆ จะมีการทำตลาดผ่านทั้งมาร์เก็ตเพลส และเว็บไซต์ ทำให้ LINE มองถึงการผลักดันให้ MyShop กลายเป็นช่องทางหลักในการแสดงข้อมูลสินค้า และสื่อสารกับผู้บริโภคมากกว่า
“การพัฒนาฟีเจอร์ของ LINE หลังจากนี้จะมีความเข้มข้น และลงลึกในแต่ละด้านมากขึ้น เพื่อให้รับกับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งสิ่งหนึ่งที่ LINE ประเทศไทยมีโอกาสพัฒนาไปได้ไกลกว่านี้ คือการที่ทีมนักพัฒนาของไทยมีคนเก่งๆ อยู่จำนวนมาก ทำให้สามารถพัฒนาระบบเข้าไปเชื่อมต่อกับแพลตฟอร์มหลักได้อย่างน่าสนใจ”
นอกจากเรื่องของการใช้ LINE เพื่อสื่อสาร ทำงาน และชอปปิ้ง ที่จะมีการปรับปรุงเพิ่มเติมแล้ว ยังมีในฝั่งของการใช้งานของผู้บริโภคในเชิงของไลฟ์สไตล์ อย่าง LINE OpenChat ที่เป็นการรวมกลุ่มของผู้ที่สนใจในเรื่องเดียวกันแบบไม่ต้องระบุตัวตน ทำให้เกิดความสบายใจในการใช้งาน
ที่กลายเป็นว่าปัจจุบันมีผู้ใช้งานกว่า 17 ล้านคน ที่เข้าถึง LINE OpenChat อย่างต่อเนื่อง ทำให้ LINE มองถึงการพัฒนาฟีเจอร์เพิ่มเติมอย่าง Live Talk ให้สามารถพูดคุยด้วยเสียงกันแบบเรียลไทม์ เสริมประสบการณ์ใช้งานใน LINE ให้ครอบคลุมมากขึ้น รวมถึงบริการในกลุ่มอื่นๆ อย่าง LINE Today ที่จะทำงานร่วมกับพันธมิตรที่หลากหลายมากขึ้น การขยายขอบเขตของธุรกิจ LINE Stickers เพื่อสร้างรายได้จากค่าลิขสิทธิ์เพิ่มเติม จนถึงการขยายธุรกิจดูดวง ขอพร ทำบุญออนไลน์ ในการบริจาคช่วยเหลือสังคม