xs
xsm
sm
md
lg

ผลักดัน ‘SME’ สู่ดิจิทัล บทบาท AIS Business กับการพาธุรกิจเติบโต (Cyber Weekend)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เมื่อปริมาณการจดทะเบียนตั้งบริษัทในไทยเริ่มกลับมาเติบโต โดยเฉพาะในกลุ่ม SME ที่มีบางส่วนล้มหายตายจากไปช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดที่เกิดขึ้น แต่ในปัจจุบันธุรกิจเริ่มกลับมาฟื้นตัวเพิ่มมากขึ้นพร้อมไปกับเทรนด์ของการนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาช่วยให้ธุรกิจมีโอกาสในการเข้าสู่ตลาดได้ง่ายขึ้น

ที่ผ่านมา แนวทางของ AIS Business ที่เป็นกลุ่มธุรกิจลูกค้าองค์กรจะมีความชัดเจนในการนำโครงสร้างพื้นฐานที่ AIS มีเข้าไปช่วยส่งเสริมให้ธุรกิจสามารถ ‘เติบโต อุ่นใจ ไปด้วยกัน’ ภายใต้ระบบเศรษฐกิจแบบร่วมกัน (Ecosystem Economy) ในการเป็นพันธมิตรดิจิทัลที่มั่นใจได้ เพื่อพัฒนาธุรกิจ และสังคมไทย

AIS SME ถือเป็นอีกฟันเฟืองสำคัญในกลุ่มภาคธุรกิจที่ยังมีโอกาสในการเติบโต ทั้งจากผู้ประกอบการที่ปรับตัวสู่ดิจิทัล เริ่มมีการนำเครื่องมือมาช่วยทำธุรกิจแล้ว ไปจนถึงผู้ประกอบการรุ่นใหม่ในลักษณะของสตาร์ทอัปที่พร้อมปรับตัวเลือกใช้ดิจิทัลมาทำให้ธุรกิจมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ธนพงษ์ อิทธิสกุลชัย หัวหน้าคณะผู้บริหารกลุ่มลูกค้าองค์กร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ AIS
ธนพงษ์ อิทธิสกุลชัย หัวหน้าคณะผู้บริหารกลุ่มลูกค้าองค์กร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ AIS ให้ภาพรวมถึงตลาดองค์กรธุรกิจขนาดกลางและย่อยในประเทศไทยว่าปัจจุบันมีจำนวนมากกว่า 3.18 ล้านราย ซึ่งสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจเป็นสัดส่วน 34.2% ของ GDP ประเทศ

ขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการกลุ่มนี้ยังมีอัตราการจ้างงานกว่า 12.61 ล้านคน โดยอยู่ในอุตสาหกรรมหลักอย่างการจำหน่ายสินค้า (33%) และบริการ (53%) รวมถึงในอุตสาหกรรมการผลิต (13%) ซึ่งในช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดที่ผ่านมาได้เข้ามาเปลี่ยนแลนด์สเคปของการให้บริการตามพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป

“สิ่งสำคัญที่เห็นได้เลยคือพฤติกรรมการจับจ่ายใช้สอยของคนไทยเริ่มเข้าสู่ดิจิทัลมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะจากการผลักดันนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่หันมาใช้ช่องทางออนไลน์ และระบบชำระเงินดิจิทัลผ่านคนละครึ่ง และเป๋าตัง เช่นเดียวกับการปรับตัวของผู้ประกอบการที่เริ่มทำตลาดโปรโมชันเฉพาะบุคคลมากยิ่งขึ้น”

รวมถึงการขยายตัวของการจำหน่ายสินค้าออนไลน์ผ่านช่องทางอีคอมเมิร์ซ และแชตแพลตฟอร์ม ทำให้กลายเป็นว่าการแข่งขันของ SME ในปัจจุบันไม่ได้อยู่แค่หน้าร้าน แต่ครอบคลุมไปถึงช่องทางออนไลน์ได้ ทำให้ผู้ประกอบการที่ปรับตัวก่อนจะสามารถเติบโตได้ ในขณะที่ถ้ายังไม่ปรับตัวก็จะเผชิญกับปัญหาหลายอย่างตามมา

ความพิเศษของลูกค้า AIS SME ก็คือสามารถรับสิทธิพิเศษได้เช่นเดียวกับลูกค้าทั่วไป ทั้ง AIS Serenade และการสะสม AIS Points
อย่างไรก็ตาม ตัวแปรสำคัญที่ชี้ให้เห็นว่าภาคเศรษฐกิจของประเทศเริ่มกลับมาเป็นปกติแล้ว คือ การเปิดประเทศทำให้นักท่องเที่ยวเข้ามากระตุ้นเศรษฐกิจมากขึ้น ราคาสินค้า และบริการเริ่มปรับตัวกลับสู่ภาวะปกติ เพียงแต่ผู้บริโภคจะระมัดระวังในการจับจ่ายใช้สอยมากยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ AIS SME ยังสำรวจพบว่า ผู้ประกอบการกว่า 63% วางแผนที่จะเพิ่มยอดจำหน่ายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ ขณะที่ 40% ต้องมีการปรับลดต้นทุนลดพนักงานลงและหันมาใช้เทคโนโลยีเพื่อช่วยให้ได้มากที่สุด

***SME นำเทคโนโลยีช่วยขับเคลื่อนธุรกิจ

ในช่วงที่ผ่านมาผู้ประกอบการ SME ได้เริ่มนำเครื่องมือดิจิทัลมาใช้ในการประกอบธุรกิจมากขึ้น อย่างรูปแบบของการทำงานที่สามารถปรับตัวใช้การประชุมออนไลน์ หรือทำงานระยะไกล (Virtual Meeting - Remote Work) กันอย่างต่อเนื่อง

ในแง่ของการทำธุรกิจจะเริ่มนำโซลูชันทางการตลาดดิจิทัลเข้ามาช่วยเสริมไปกับการขยายแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซจาก Lazada Shopee เข้าสู่ TikTok Shop ที่กลายเป็นช่องทางใหม่ที่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ที่ผ่านมา AIS มีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่อเนื่องในประเทศไทย ทั้งเครือข่าย 5G ประสิทธิภาพสูง ที่ปัจจุบันมีลูกค้าใช้งานแล้วกว่า 7.2 ล้านราย เพิ่มขึ้นเท่าตัวในทุกๆ ปี ขณะเดียวกัน อินเทอร์เน็ตความเร็วสูง AIS Fibre ที่วางโครงข่ายครอบคลุม 1.31 แสนกิโลเมตรทั่วประเทศ


อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจากโครงสร้างพื้นฐานแล้ว AIS ยังพร้อมทำงานร่วมกับพาร์ตเนอร์ เพื่อนำเสนออีโคซิสเต็มที่ครบถ้วน โดยเฉพาะผู้ประกอบการ SME ที่แต่เดิมมีการผลักดันกลยุทธ์ 7S เข้าไปสนับสนุน ครอบคลุมทั้งโซลูชันและการดูแลระบบหลังบ้าน ประกอบไปด้วย 1.AIS SME Mobile Services บริการโทรศัพท์เพื่อการสื่อสาร 2.AIS SME Internet Services บริการอินเทอร์เน็ต 3.AIS SME Digital Marketing Services เครื่องมือด้านการตลาดออนไลน์ 4.AIS SME IT & Digital Solutions พัฒนาระบบไอทีหลังบ้าน

5.AIS SME Full e-Services งานบริการแบบ E-Service ที่อำนวยความสะดวกให้แก่นิติบุคคล 6.AIS SME Special Privileges สิทธิพิเศษที่ทำให้การทำธุรกิจง่ายขึ้นด้วย AIS SME BIZ UP และ 7.AIS SME Strategic Partnership การผนึกกำลังกับพันธมิตรทั้งในและต่างประเทศเพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการ

***ออกแพกเกจเจาะ SME

สำหรับในปีนี้ AIS SME ได้นำเทรนด์การใช้งานโมบายอินเทอร์เน็ตมาวิเคราะห์เพื่อทำตลาดแพกเกจสำหรับร้านค้าและผู้ประกอบการ เพื่อเข้าไปซัปพอร์ตการใช้งาน ไม่ว่าจะเป็น SME 5G ถุงเงิน แพกเกจมือถือเริ่มต้นเดือนละ 599 บาท ที่สามารถใช้งานแอปพลิเคชัน ‘ถุงเงิน’ แบบไม่เสียค่าอินเทอร์เน็ต ช่วยให้ร้านค้าสามารถใช้งานได้สะดวกขึ้น

รวมถึงแพกเกจสำหรับร้านค้าที่ขายสินค้าผ่าน TikTok Shop ที่มีแคมเปญพิเศษรับคูปองกระตุ้นยอดขายมูลค่ากว่า 10,800 บาทและโปรแกรมบัญชีจาก Flow Account ที่เป็นหนึ่งใน AIS The Startup มาช่วยดูแลบัญชีฟรีสูงสุด 12 เดือน หรือจะเลือกสมัครเฉพาะโปรแกรมบัญชี Flow Account ในราคาพิเศษเดือนละ 233 บาท ก็ได้เช่นกัน ยังมีบริการอย่าง SME Cloud Camera โซลูชันกล้องวงจรปิด พร้อมพื้นที่เก็บข้อมูลบนคลาวด์ ให้องค์กรธุรกิจสามารถเลือกสมัครใช้งานได้แบบรายเดือนในราคาเริ่มต้น 2,190 บาท เสริมเข้ามาให้นำไปเลือกใช้งานในแต่ละภาคธุรกิจ


ทั้งนี้ ความพิเศษของลูกค้า AIS SME คือสามารถรับสิทธิพิเศษได้เช่นเดียวกับลูกค้าทั่วไป ทั้ง AIS Serenade และการสะสม AIS Points ที่ปัจจุบันลูกค้า AIS SME กว่า 30% ได้เข้าร่วมแคมเปญดังกล่าว และทำการสะสมคะแนนไปแล้วกว่า 13 ล้านคะแนน เพื่อนำไปใช้กับร้านค้าถุงเงินมากกว่า 1.8 ล้านร้านค้าทั่วประเทศ

นอกจากนี้ AIS ยังได้ทำงานร่วมกับพันธมิตรร้านค้า และสตาร์ทอัป รวบรวมบริการมาให้ลูกค้า AIS SME เข้าถึงได้ในราคาพิเศษผ่านโครงการ BIZUP อย่างในธุรกิจโลจิสติกส์อย่าง Shippop ที่มาช่วยดูแลเรื่องการขนส่งหรือFoodStory ระบบจัดการร้านอาหาร

“ผู้ประกอบการ SME จะเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งการนำดิจิทัลเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการทำงาน และสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการดำเนินธุรกิจจะช่วยเสริมศักยภาพทางการแข่งขันได้ และ AIS พร้อมที่จะเข้าไปสนับสนุนให้ SME เติบโตไปด้วยกัน”




กำลังโหลดความคิดเห็น