2019 มีเหตุการณ์เกิดขึ้นมากมายในอุตสาหกรรมรถยนต์ทั่วโลก โดยประเด็นหลักคือ เรื่องการแยกตัวของอังกฤษในสหภาพยุโรป ซึ่งส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ในประเทศ เพราะ 3 โรงงานหลักจาก 3 แบรนด์รถยนต์ประกาศปิดโรงงานเพื่อมองหาฐานการผลิตอื่นๆ
นอกจากนั้น ข่าวเรื่องการเปิดตัว Cybertruck หรือปิกอัพไฟฟ้าของค่าย Tesla ก็ถือเป็นเรื่องที่ฮือฮารับปลายปี เพราะถือเป็นครั้งแรกที่ Tesla วางแผนเจาะตลาดรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ และได้รับยอดจองจำนวนมากหลังจากเปิดตัว และขณะเดียวกันในปีนี้มีความสูญเสียเกิดขึ้นเมื่อบุคคลสำคัญของวงการรถยนต์ และมอเตอร์สปอร์ตเสียชีวิตในช่วงเวลาห่างกันร่วม 4 เดือน
Tesla แหวกแนวเปิดตัว Pickup พลังไฟฟ้าแห่งอนาคต
ข่าวรับปลายปี 2019 ที่สร้างกระแสได้ดีเห็นจะหนีไม่พ้นเรื่องการเปิดตัว Cybertruck ซึ่ง Tesla ระบุว่าออกแบบ Cybertruck เพื่อให้เป็นรถปิกอัพที่มีความอเนกประสงค์พร้อมกับสมรรถนะของรถสปอร์ต จึงทำให้รถมาพร้อมกับคุณสมบัติในด้านความแกร่ง อเนกประสงค์ ความสามารถในการลุย พร้อมสมรรถนะทั้งบนถนนและเส้นทางออฟโรด โดยรถปิกอัพที่มีทั้งรูปทรงและรูปลักษณ์เหมือนหลุดออกมาจากภาพยนตร์ไซ-ไฟมีความยาว 5,885 มม. กว้าง 2,027 มม. และสูง 1,905 มม. และมาพร้อมกับเบาะสองแถวสำหรับการเดินทาง 6 คนในห้องโดยสาร
สำหรับ Cybertruck มีหลากหลายกำลังและระยะการเดินทางให้เลือก โดยรุ่นสูงสุดใช้มอเตอร์ 3 ตัวพร้อมระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ จะสามารถทำความเร็วจาก 0-96 กม./ชม. ไม่ต่างจากรถสมรรถนะสูงด้วยเวลา 2.9 วินาที สามารถวิ่งควอเตอร์ไมล์ด้วยเวลา 10.8 วินาที โดยจะมีความเร็วสูงสุด 209 กม./ชม. และสามารถเดินทางได้มากกว่า 800 กิโลเมตร
เปิดตัวออกมาแล้วก็จริง แต่จะเริ่มส่งมอบให้ลูกค้าได้ต้องรอจนถึงปี 2021 โดยในตอนนี้ว่ากันว่ามียอดจองมากกว่า 250,000 คันแล้ว
PSA จับมือ FCA ขยับขึ้นเป็นเบอร์ 4 ตลาดรถยนต์โลก
กลุ่ม PSA แห่งฝรั่งเศส ซึ่งประกอบไปด้วย Peugeot และ Citroen รวมถึงแบรนด์ Opel และ Vauxhall ประกาศจับมือกับกลุ่ม FCA Group หรือ Fiat Chrysler Automobile ซึ่งประกอบด้วยแบรนด์รถยนทั้งในสหรัฐอเมริกาและอิตาลีอย่าง Fiat, Alfa Romeo, Maserati, Chrysler, Dodge, Ram และ Jeep ซึ่งนั่นจะทำให้พวกเขาเป็นกลุ่มรถยนต์ที่มีความแข็งแกร่ง และมียอดขายรวมกันทุกแบรนด์อยู่ในอันดับที่ 4 ของโลกเลยทีเดียว
ก่อนหน้านี้ทาง FCA Group สนใจที่จะร่วมมือกับ Renault แต่สุดท้ายแล้วการเจรจาล้มเหลวและไม่สามารถหาข้อตกลงร่วมกันได้ ทำให้ต้องเบนเข็มมาทาง PSA ที่เป็นคู่ปรับของ Renault แทน ทั้ง FCA และ PSA ได้ออกมาแถลงร่วมกันถึงการเห็นชอบในรวมกันในลักษณะถือหุ้นฝ่ายละ 50 เปอร์เซ็นต์เพื่อสร้างกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ใหญ่สำหรับรับมือกับค่าใช้จ่ายด้านเทคโนโลยีใหม่ที่มีราคาแพงในขณะที่การเติบโตของตลาดช้าลง ทั้ง 2 กลุ่มอุตสาหกรรมได้บอกว่ามุ่งหวังที่จะมีการรวมกันเพื่อสร้างกลุ่มอุตสาหกรรมมูลค่า 5 หมื่นล้านดอลล่าร์ มีสำนักงานในปารีส มิลาน และนิวยอร์ก ขณะที่โครงสร้างบริหารจะมีคณะกรรมการ 11 คน ซึ่ง 5 คนมาจาก FCA พร้อมกับมี John Elkann จาก FCA เป็นประธาน และคณะกรรมการอีก 5 คนจาก PSA ซึ่งมีตำแหน่งผู้อำนวยการอาวุโสและรองประธานรวมอยู่ด้วย โดย Carlos Tavares จาก PSA เป็นซีอีโอในวาระแรก 5 ปี และคาดว่าการรวมตัวครั้งนี้จะทำให้ทั้งกลุ่มมียอดขายรถยนต์ทั่วโลกมากกว่า 8.7 ล้านคันเป็นรองแค่ Volkswagen Group Toyota และ Renault-Nissan Alliance
ปีแห่งการสูญเสีย
นับเป็นอีกปีที่แวดวงรถยนต์ทั้งในด้านอุตสาหกรรม และมอเตอร์สปอร์ตต้องสูญเสียบุคคลสำคัญถึง 2 คนในปีนี้
Niki Lauda (1949-2019)
วันที่ 20 พฤษภาคมถือเป็นวันที่เกิดความสูญเสียครั้งใหญ่ในวงการรถแข่ง โดยเฉพาะรถสูตร 1 หรือ F1 เมื่อแชมป์โลก 3 สมัยชาวออสเตรียนามว่า Nikki Lauda ได้เสียชีวิตลงด้วยวัย 70 ปี Lauda เป็นแชมป์โลก F1 ในปี 1975, 1977 และ 1984 โดยฉายา King Rat นั้นได้หลังจากที่เขาประสบอุบัติเหตุครั้งสำคัญจนเกือบเสียชีวิตเมื่อปี 1976 จนเสียโฉม ซึ่งชีวิตการแข่งขันของเขากับคู่ปรับคนสำคัญอย่าง James Hunt ได้เคยถูกสร้างเป็นภาพยนตร์เรื่อง Rush โดย Ron Howard นอกจากนั้นตัวเขาเองยังเคยเป็นเจ้าของสายการบิน Lauda Air อีกด้วย
ในเรื่องทางด้านสุขภาพร่างกาย นับจากอุบัติเหตุที่เขาถูกไฟคลอกในปี 1976 นั้น ทำให้ปอดของเขามีปัญหา เช่นเดียวกับไต นิกิ และในปี 1997 ต้องเข้ารับการผ่าตัดปลูกถ่ายไต 2 ครั้ง และในปี 2005 ก็เผชิญกับภาวะไตล้มเหลว แต่ก็ได้รับการบริจาคไตจากแฟนของเขา ก่อนจะเสียชีวิตที่โรงพยาบาลในเมืองซูริค ประเทศสวิตเซอร์แลนด์เพราะภาวะไตล้มเหลว
Ferdinand Piech (1937-2019)
ถือเป็นข่าวใหญ่รับปลายปี 2019 เมื่อมีการเปิดเผยว่าอดีตนายใหญ่ผู้พลิกฟื้นกิจการของ Volkswagen อย่าง Ferdidnand Piech ได้เสียชีวิตลงด้วยวัย 82 ปี หลังจากที่มีอาการป่วยอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ต้นเดือนสิงหาคม และเสียชีวิตในวันที่ 25 สิงหาคม 2019
Piech เกิดเมื่อวันที่ 17 เมษายน 1937 และเป็นหลานของ Ferdinand Porsche ผู้ก่อตั้ง Porsche โดยเข้าดำรงตำแหน่งซีอีโอของ Volkswagen ในปี 1993 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่บริษัทประสบปัญหาด้านการเงินอย่างหนัก และเขาสามารถพลิกสถานการณ์ให้ Volkswagen เป็นบริษัทที่อำนาจของโลกยานยนต์ได้ด้วยการซื้อแบรนด์จำนวนมากเข้ามาอยู่ใน Volkswagen Group โดยมีบางแบรนด์ที่อยู่ภายใต้การดูแลของเขาโดยตรง เช่น Bentley, Bugatti และ Porsche รวมทั้งนอกจากด้านการบริหารแล้ว Piech ยังมีความหลงใหลในรถยนต์ด้วยโดยมีส่วนร่วมในการทำรถหลายรุ่นซึ่ง Bugatti Veyron เป็นหนึ่งในนั้นที่ประสบความสำเร็จ
5 บ.รถญี่ปุ่นผนึกกำลังพัฒนาระบบขับขี่อัตโนมัติ
ผู้ผลิตรถยนต์ญี่ปุ่น 5 รายซึ่งประกอบด้วย Mazda, Suzuki, Subaru, Isuzu และ Daihatsu ได้เข้าร่วมในโครงการร่วมทุนเพื่อการพัฒนารถยนต์ขับขี่อัตโนมัติซึ่งเป็นความร่วมมือที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ระหว่าง SoftBank Corp และ Toyota โดยแต่ละบริษัทจะถือหุ้น 2 เปอร์เซ็นต์ในโครงการความร่วมมือพัฒนาที่ถูกตั้งชื่อว่า Monet
การเปิดตัว Monet ซึ่งเป็นการร่วมทุนระหว่าง SoftBank Corp กับ Toyota มีขึ้นครั้งแรกในเดือนตุลาคมปีที่แล้วเพื่อพัฒนาแพลตฟอร์มบริการขับขี่อัตโนมัติแบบออนดีมานด์ ซึ่งต่อมาเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมาก็ได้มีการลงทุนเพิ่มขึ้นจาก Honda และ Hino Motors ซึ่งทำให้มีการลงทุนร่วมกลายเป็น 23.2 ล้านดอลล่าร์ โดยแม้ล่าสุดจะมีการลงทุนเพิ่มขึ้นจากอีก 5 ผู้ผลิตรถยนต์ แต่มีรายงานว่าทั้ง Softbank และ Toyota จะถือหุ้นอยู่ฝ่ายละ 35 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่ Honda และ Hino ถือหุ้นฝ่ายละ 10 เปอร์เซ็นต์ การร่วมมือครั้งนี้ทำให้คาดการณ์ได้ว่าอนาคตของการขับเคลื่อนในยุคหน้า จะเป็นเรื่องของรถยนต์พลังไฟฟ้า ที่ขับเคลื่อนได้เองอัตโนมัติ หรือ Autonomous อย่างแน่นอน
Bugatti ครองสถิติรถโรงงานแล่นเร็วที่สุดในโลก
Bugatti Chiron กลายเป็นรถยนต์จากสายการผลิตที่ครองสถิติแล่นเร็วที่สุดในโลก หลังจากที่มีการนำออกมาแล่นทดสอบ และสามารถโค่นสถิติเดิมของ Koenigsegg Agera R ลงได้ โดยมีตัวเลขสูงสุดอยู่ที่ 304.773 ไมล์ต่อชั่วโมงหรือ 490.4 กิโลเมตรต่อชั่วโมง โดยได้รับการรับรองจาก TUV เยอรมนี เมื่อต้นเดือนกันยายน
สำหรับ Bugatti Chiron คันที่ถูกใช้สร้างสถิติความเร็วใหม่มีความยาวกว่า Chiron มาตรฐาน 25 ซม. ความยาวที่เพิ่มขึ้นด้านหลังของรถนี้เป็นส่วนของสปอยเลอร์และแอร์เบรกเพื่อช่วยในการควบคุมรถ นอกจากนี้รถยังมีการใช้ท่อไอเสีย 4 ท่อใหม่ พร้อมกับ Diffuser ที่มีความลึกและใหญ่ขึ้นเพื่อช่วยในการสร้างความเร็ว ในขณะที่ด้านหน้าของรถมาพร้อมกับ Splitter ขนาดใหญ่ขึ้นและช่องระบายอากาศเหนือซุ้มล้อ สำหรับขุมกำลังในรถสร้างสถิติความเร็วทะลุ 300 ไมล์ต่อชั่วโมงเป็นเครื่องยนต์ W16 8,000 ซีซี ควอตเทอร์โบ ที่ถูกอัพเกรดกำลังจาก 1,500 แรงม้าเป็น 1,600 แรงม้า และในเวลาต่อมาได้ทาง Bugatti มีการผลิต Chiron รุ่นพิเศษโดยอ้างอิงรูปลักษณ์จากคันที่ใช้แล่นทำสถิติออกมาขายด้วยในชื่อ Supersport 300 มีการผลิตเพียง 30 คัน และมีราคา 3.5 ล้านยูโร
ยุโรปบีบรถใหม่ต้องติดอุปกรณ์ความปลอดภัยใหม่ที่เปิดตัวปี 2022
คณะกรรมการยุโรปหรือ European Commission เตรียมผ่านกฏหมายที่จะทำให้ต้องมีการติดตั้งระบบความปลอดภัยใหม่ๆ เพื่อเป็นอุปกรร์มาตรฐานให้กับรถใหม่ที่จะถูกผลิตตั้งแต่ปี 2022 เพื่อสร้างความปลอดภัย และลดการเกิดอุบัติเหตุโดยระบบที่อยู่ในลิสต์ที่ผู้ผลิตจะต้องติดตั้งจากโรงงานประกอบด้วยระบบเบรกฉุกเฉินอัตโนมัติ, ระบบเตือนเมื่อรถเบี่ยงออกจากเลน, กล้องหรืออุปกรณ์ตรวจจับด้านหลัง ระบบตรวจจับสมาธิและความง่วงของผู้ขับ รวมถึงการที่ผู้ผลิตรถยนต์ต้องออกแบบแกนพวงมาลัยที่มีการล็อกพวงมาลัยเป็นการทำงานมาตรฐานเมื่อตรวจพบระดับแอลกอฮอล์ ระบบสัญญาณหยุดรถฉุกเฉินซึ่งไฟเบรกและไฟฉุกเฉินจะสว่างออกมาเมื่อรถตรวจจับการหยุดรถฉุกเฉินที่มีการใช้ในบางพื้นที่ก็จะถูกรวมเข้ามาด้วย การออกข้อบังคับนี้ครั้งเพื่อกระตุ้นให้ผู้ผลิตรถยนต์สร้างความมั่นใจว่าระบบและการทำงานเหล่านี้ถูกพัฒนาในแนวทางที่จะรับประกันว่าผู้ใช้รถจะยอมรับได้ และรถยนต์ใหม่ที่เปิดตัวในปี 2022 จะต้องมีระบบเหล่านี้ทันที ส่วนรถที่ถูกจำหน่ายในปัจจุบันจะถูกอนุโลมให้ติดตั้งการทำงานภายในปี 2024
Brexit พ่นพิษ บ.รถเตรียมปิดโรงงานในสหราชอาณาจักร
แม้ว่ากำหนดการตกลงถอนตัวออกจากสหภาพยุโรปของอังกฤษหรือที่เรียกว่า Brexit จะยังไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจน เพราะถูกเลื่อนเดดไลน์ในการบังคับใช้ออกไปสิ้นเดือนมกราคม 2020 แต่สิ่งหนึ่งที่สหราชอาณาจักรจะได้รับผลกระทบเต็มๆ คือ บรรดาแบรนด์รถยนต์ที่มีโรงงานผลิตอยู่ในพื้นที่แถบนี้ต่างประกาศเตรียมปิดโรงงานและถอนตัวออกจากสหราชอาณาจักรและมองหาพื้นที่ใหม่ในการตั้งโรงงาน
หลังจากที่มีข่าวเรื่องการถอนตัวออกจากสหภาพยุโรปนั้น ทั้ง Honda ซึ่งมีโรงงานที่เมืองสวินดอน Nissan ที่มีโรงงานในเมืองซันเดอร์แลนด์ และ Ford ที่มีโรงงานอยู่ในประเทศเวลส์ ต่างยืนยันอย่างแน่นอนที่จะปิดโรงงานของตัวเองในอีก 2-3 ปีข้างหน้าหากข้อตกลงนี้ผ่านความเห็นชอบจากสภาสูงของอังกฤษซึ่งเป็นด่านสุดท้ายในการผลักดันให้นโยบาย Brexit มีผล
การปิดโรงงานของทั้ง 3 แบรนด์นั้นคาดว่าจะก่อให้เกิดผลกระทบอย่างมากต่อภาคแรงงานของอังกฤษ เพราะอย่างน้อยจะมีพนักงานและคนงานมากกว่า 20,000 คนที่จะต้องตกงาน อย่างในกรณีของ Honda นั้นโรงงานที่เมืองสวินดอนถือว่าใหญ่เป็นอันดับที่ 4 ของอังกฤษ และมีคนงานเกือบ 4,000 คนซึ่งการประกาศปิดโรงงานในปี 2021 จะทำให้คนทั้งหมดถูกลอยแพทันที
ส่วนภาพรวมตลาดรถยนต์ในยุโรปเองปัจจุบันเริ่มมีความต้องการลดลง ยิ่งการส่งนโยบายไร้มลพิษของประเทศต่างๆ ในพื้นที่นี้ ก็ทำให้ค่ายรถยนต์ดั้งเดิมต้องคิดหนัก นอกจากนี้การเกิด Brexit ก็ทำให้มูลค่าการลงทุนในอุตสาหกรรมรถยนต์ของอังกฤษนั้นลดลงครึ่งหนึ่งจากปีก่อนเหลือเพียง 589 ล้านปอนด์ (ราว 24,000 ล้านบาท) ในปี 2019 เท่านั้น ซึ่งถือว่าน้อยมาก
Benz ฉลองผลิต S-Class รุ่นปัจจุบันครบครึ่งล้าน
ถือเป็นเรื่องที่ไม่ธรรมดาเหมือนกันที่รถยนต์ระดับหรูหราจะมียอดการผลิตในเจนเนอเรชั่นเดียวชนิดที่ทะลุหลักครึ่งล้าน และ Mercedes-Benz S-Class รุ่นปัจจุบันที่เป็นเจนเนอเรชั่นที่ 6 ในรหัสตัวถัง W222 สามารถทำได้ เมื่อยอดการผลิตนับจากเริ่มทำตลาดเมื่อปี 2014 สามารถครบ 500,000 คันเมื่อต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา และมียอดผลิตสะสมนับจากเริ่มทำตลาดด้วยรุ่นแรกเมื่อปี 1951 มากกว่า 4 ล้านคันแล้ว
แม้ตัวเลขการผลิต S-Class จะสูงมาก แต่เมื่อมองว่าเป็นรถยนต์หรูระดับเรือธงที่มีราคาเริ่มต้นตั้งแต่ 94,240 ดอลล่าร์ไปจนถึง 173,000 ดอลล่าร์ ก็ถือว่ามากพอสมควร และด้วยตัวเลขนี้ยังส่งให้ S-Class กลายเป็นรถซาลูนหรูที่ขายดีที่สุดในโลก โดยปัจจัยที่ S-Class รุ่นปัจจุบันประสบความสำเร็จเป็นรถซาลูนหรูขายดีที่สุดในโลกก็คือ ความนิยมในประเทศจีนซึ่งเป็นตลาดใหญ่อันดับหนึ่งของรถหรูรุ่นนี้ โดยมี S-Classเจนเนเรชั่น W222 มากกว่า 1 ใน 3 ที่ผลิตออกมาถูกส่งไปที่นั่น ในขณะที่ตลาดใหญ่อันดับ 2 ของ S-Classคือสหรัฐอเมริกาและตามมาด้วยเยอรมนี